KM ใช้ทำอะไร


จริงๆแล้ว KM ก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง ก็ย่อมต้องบอกได้ว่า เอาไว้ใช้ทำอะไร ถ้าเอามาเก็บโชว์ไว้ให้มีอยู่เฉยๆก็จะไม่ได้ประโยชน์

              ขณะนั่งเครื่องบินจากพิษณุโลกเข้ากรุงเทพฯและจากกรุงเทพฯไปหาดใหญ่เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมาเพื่อมาเล่าเกี่ยวกับการจัดการความรู้ในเวทีการจัดการความรู้ครั้งที่ 4 ของคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในวันที่ 30 มกราคมนี้ ผมได้คิดว่าจะใช้เพาเวอร์พ๊อยท์ชุดไหนในการนำเสนอเพราะจัดทำไว้หลายชุดและพยายามปรับตามเวลาและผู้ฟัง และได้เกิดประเด็นขึ้นในใจว่า เราใช้ KM ทำอะไรได้บ้าง

             ถ้าถามว่าเข็มเอาไว้เย็บผ้าหรือเอาไว้ฉีดยา เรือมีไว้พาคนข้ามน้ำ เบ็ดมีไว้ตกปลา จอบมีไว้พรวนดิน เคียวมีไว้เกี่ยวข้าวหรือเกี่ยวหญ้า ฯลฯ แล้ว KM  มีไว้ทำไม ที่ถามอย่างนี้เพราะที่ยกตัวอย่างมานั้นถือเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ทั้งนั้น จึงบอกได้ว่าเอาไว้ทำอะไร และจริงๆแล้ว KM ก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง ก็ย่อมต้องบอกได้ว่า เอาไว้ใช้ทำอะไร ถ้าเอามาเก็บโชว์ไว้ให้มีอยู่เฉยๆก็จะไม่ได้ประโยชน์

            ผมเองได้(บังอาจ)ให้นิยามKMหรือการจัดการความรู้ไว้ว่า คือเครื่องมือหรือกระบวนการที่ทำให้องค์การสามารถเก็บรับ สร้างและต่อยอดองค์ความรู้ที่นำมาใช้ในการพัฒนาองค์การให้สามารถทำงานตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และประหยัด เพื่อให้องค์การสามารถอยู่รอดและเติบโตได้โดยสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้ทำให้องค์การสร้างผลงานที่ดีกว่า ถูกกว่า เร็วกว่า โดยอาศัยพลังปัญญาหรือสินทรัพย์ทางปัญญาของคนในองค์การเป็นหลักและสามารถรวบรวมความรู้ที่ใช้ได้เหล่านั้นเอาไว้ให้บุคคลอื่นๆในองค์การได้นำไปใช้ต่อได้ง่ายจนกลายเป็นความฉลาดขององค์การที่แสดงให้เห็นในรูปของสมรรถนะหลักขององค์การ

          ที่ต้องใช้คำว่าบังอาจนิยาม เพราะผมเองไม่ใช่นักวิชาการ เป็นคนทำงานเด็กๆคนหนึ่ง ในหน่วยงานเล็กๆแห่งหนึ่งเท่านั้นแต่เขียนนิยามออกมาจากประสบการณ์ของตนเองเพื่อจะได้ใช้นิยามเจ้าตัวKMนี่ให้ชัด จะได้นำมันไปใช้งานได้อย่างถูกต้อง ถ้านิยามไม่ชัดเดี๋ยวจะกลายเป็นเอาเลื่อยไปตอกตะปู หรือเอาค้อนไปเลื่อยไม้   ซึ่งก็ถือว่าเป็นการนำเครื่องมือช่างไม้ไปใช้ทำงานเหมือนกัน แต่ที่ไม่เหมือนกันคือผลงานที่ได้จะไม่ดีเท่ากับที่ใช้เลื่อยเลื่อยไม้และใช้ค้อนตอกตะปู จริงไหมครับ

          KM นำไปใช้ได้ทั้งกับหน่วยงาน   คนในหน่วยงาน และลูกค้าหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเราจะนำไปใช้ได้ในกรณีต่อไปนี้

  1. การสร้างความรู้ขององค์การขึ้นเพื่อการสร้างกระบวนการหรือกิจกรรมเพื่อทำให้วิธีการทำงานดีขึ้น สะดวกขึ้น อันนี้รวมไปถึงการสร้างความเข้าถึงลูกค้า ความสัมพันธ์กับลูกค้า การปรับพฤติกรรมของลูกค้าด้วย
  2. การสร้างความรู้ขององค์การขึ้นเพื่อการสร้างผลลัพธ์ของการทำงาน อันนี้จะถึงตัวลูกค้าได้เลยโดยตรง
  3. การสร้างความรู้ขององค์การขึ้นเพื่อการสร้างคนในองค์การเพื่อไปสร้างกระบวนการหรือผลลัพธ์แก่ลูกค้า
              ท่านนึกออกหรือยังครับว่าท่านใช้ KM เป็นอะไร ใช้ทำอะไร แล้วท่านได้ผลลัพธ์จากการทำ KM หรือยัง เพียงแค่มีคนส่วนหนึ่งออกไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้างนอก เพียงแค่คนบางส่วนของแผนกเอามาเล่าในเวทีที่หน่วยงานจัดขึ้นนั้น   พอเพียงหรือยังกับการใช้ KM เพราะจริงๆแล้ว KM ของจริงมันอยู่ที่ตัวผู้ปฏิบัติกับตัวผู้ปฏิบัติได้มาพูดคุย ปรึกษาแลกเปลี่ยนกันจริงๆในขณะทำงาน โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีแม้เวทีขึ้นมาเพราะทำไปก็แลกเปลี่ยนกันไปได้ ให้เป็นอัตโนมัติ   หลายท่านอาจจะบอกว่ายากมาก จึงต้องพยายามหาคุณอำนวยเข้าไปช่วยแต่เราต้องแน่ใจนะว่าคนอื่นๆที่เข้าไปนั้นจะไม่เข้าไปเป็นปัจจัยที่ทำให้การแลกเปลี่ยนนั้นผันแปรไปจากสิ่งที่มันเป็นจริง  เพราะอาจจะเกิดสิ่งที่คนบางกลุ่มอยากให้เกิด แต่ไม่ใช่สิ่งที่มันเกิดขึ้นจริงเมื่อเขาทำงานอยู่ด้วยกันตามลำพัง
คำสำคัญ (Tags): #kmกับงานประจำ
หมายเลขบันทึก: 14073เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2006 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดิฉันชอบ LKASA Model ของคุณหมอมากคะ เท่าที่ดิฉันได้อ่านงานวิจัยทางด้าน KM มาโดยตลอด ยังไม่เห็นมีนักวิจัยคนใดประยุกต์และนำเสนอโมเดลในลักษณะนี้นะคะ

ดิฉันขอเชียร์ให้คุณหมอส่งตีพิมพ์โมเดลนี้ลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติคะ

ผมจะพยายามเขียนเป็นภาษาอังกฤษดูครับ ว่าจะทำได้แค่ไหน อาจจะพยายามเขียนเป็นAction researchในงานของโรงพยาบาลบ้านตาก แล้วสรุปเป็นโมเดลออกมา ก็ยังไม่รุ้ว่าจะได้เมื่อไหร่เพราะผมค่อนข้างอ่อนภาษาอังกฤษมาก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท