"สุนทรียสนทนา" ของชาวฮีมาโต


เป็น "KM ที่เนียนในเนื้องาน"จริงๆ
     พูดถึงหน่วย "ฮีมาโต" ใครๆก็ต้องมองเห็นภาพสาวน้อย(ๆ) กำลัง นั่งดูกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งเมื่อมีใครชะเง้อเข้าไปถามว่า ดูอะไรกันอยู่หรือจ๊ะ?  ก็จะได้รับคำตอบว่า "ดูสเมียร์เลือดค่ะ"

"สเมียร์เลือด"  ก็คือเลือดนั่นแหละค่ะ ที่ถูกนำมาไถให้เป็นแผ่นบางๆบนสไลด์แก้วก่อนนำไปย้อมสีแล้วตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์   

    เริ่มต้นงานประจำของชาวฮีมาโต ก็คือการเตรียมสเมียร์เลือด (500-800 แผ่นต่อวัน) แล้วก็วางเรียงกันปล่อยไว้ให้แห้ง (ใช้เวลาอย่างน้อย 5 นาที) เพื่อนำไปย้อมสี (เรียกว่าสีไรท์)
     และแล้ว กระบวนการพัฒนางานด้วยการวิเคราะห์ปัญหา และหาแนวทางแก้ไขก็เริ่มขึ้น  ด้วยสุนทรียสนทนา ต่อไปนี้ .....
"โอ๊ย ฝนตกอย่างนี้ อากาศชื้น แอร์ก็ชื้น สเมียร์ไม่ยอมแห้งซักกะที เมื่อไรจะได้เอาไปย้อมกันละเนี่ย ..ทำอย่างไรให้สเมียร์แห้งเร็วขึ้นได้บ้างนะ..?"   
"ผมเคยเห็นที่ ร.พ.. (ขออนุญาตไม่เอ่ยนาม) เค้าเอาโคมไฟมาส่องสเมียร์ให้แห้งเร็วขึ้นนะ
"คนที่นั่งไถสไลด์อยู่คงจะร้อนนะ ถ้ามีโคมไฟมาส่องใกล้ๆ นานๆ"
"ถ้าเราเจาะเคาน์เตอร์ แล้วใส่หลอดไฟไว้ข้างล่าง ส่วนด้านบนทำเป็นกระจกฝ้าเหมือนที่หมออ่านฟิล์มเอกซเรย์  เวลาเราวางสไลด์ไว้ก็จะอุ่นๆ แห้งเร็วดี"
" แล้วถ้ามันร้อนเกินล่ะ"
" ก้อ... ปิดไฟซิ..(..ยะ แหม แค่นี้ก็ต้องถาม)
" ปิดไฟทำไม  เราก็หาหลอดไฟที่กำลังวัตต์พอดี๊..พอดี  วางให้ห่างพอดี๊..พอดี  ใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิให้พอดี๊..พอดี  ต้องการเท่าไรก็กำหนดระยะห่างตามต้องการ"
" ดี  ดี  ตกลงเราทุบเคาน์เตอร์เลยดีมั๊ย"
"  ไม่ได้ ไม่ได้ ยากเกินไป  เอางี้ เราก็พลิกกลับขึ้นบน  ทำเป็นกล่องแบบอุโมงค์รถไฟนะ  แล้วเราก็วางสไลด์ให้เลื่อนผ่านไปเรื่อยๆ กว่าจะถึงทางออกก็แห้งพอดี"
       หลังจากวันที่สนทนาไม่นาน  พี่เม่ยก็ได้เห็นเครื่องทำสไลด์แห้งต้นแบบ ที่เกิดจากไอเดียของนักพัฒนาหลายๆคนวางเด่นเป็นสง่าอยู่ที่โต๊ะปฏิบัติการ อดใจไว้ไม่ได้อีกแล้วค่ะ จึงต้องนำภาพมาให้ดูกัน
  
   
 ตอนนี้สไลด์กำลังเดินทางผ่าน "อุโมงค์"       
                  ปรับอุณหภูมิภายใน "อุโมงค์"ด้วยการเลือกกำลังวัตต์และระยะห่างของหลอดไฟ
   
    ผลปรากฏว่าสไลด์แห้งเร็วขึ้นค่ะ  พร้อมที่จะนำไปย้อมสีภายในเวลา 1 นาที ขั้นตอนต่อจากนี้ไปก็คงเป็นเรื่องของการปรับปรุงรูปแบบ และสร้างเป็นนวัตกรรมใหม่พร้อมกับประเมินผลการใช้งานในไม่ช้า 
    ด้วยประสบการณ์ในการสร้างงานพัฒนา ภายใต้โครงการ Patho-otop(I) ของภาควิชาพยาธิวิทยา เกิดเป็น สุนทรียสนทนา ในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหา  ทำให้คุณภาพงานดีขึ้น
    เรียกว่าเป็น KM ที่เนียนในเนื้องาน จริงๆ
  
หมายเลขบันทึก: 14014เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2006 16:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เป็นนวัตกรรมใหม่ครับส่งเข้าประกวดได้เลยครับ ได้รับรางรัลแน่ๆ คนที่คิดได้น่าจะเป็นคนที่เลี้ยงไก่และฟักไข่เป็นดูเหมือนกับการฟักไข่แต่ดัดแปลงมาใช้กับ lab ได้ดีมากครับ คนคิดจริง ๆ ขอยกนิ้วให้เลย
เป็นนวัตกรรมใหม่ครับส่งเข้าประกวดได้เลยครับ ได้รับรางรัลแน่ๆ คนที่คิดได้น่าจะเป็นคนที่เลี้ยงไก่และฟักไข่เป็นดูเหมือนกับการฟักไข่แต่ดัดแปลงมาใช้กับ lab ได้ดีมากครับ คนคิดเก่งจริง ๆ ขอยกนิ้วให้เลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท