ฟังไม่รู้ภาษา พาเสียวินัย


"พูดไม่รู้ฟัง" หรือ "พูดไม่รู้ภาษา" คำสองคำนี้ ให้ปัญญาและทางสว่าง ถึงหนทางแก้ไขเรื่องวินัยที่อยากแบ่งปัน

ไม่ว่าการเรียนรู้จะเป็นไปในรูปแบบใด สิ่งแรกที่เด็กทุกคนต้องรู้จักเมื่อเขาได้ชื่อว่าเป็นนักเรียน ก็คือ กติกาในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพื่อให้ชีวิตในห้องเรียน และในโรงเรียนดำเนินไปได้อย่างปกติสุข แต่การฝึกวินัยให้เกิดขึ้นในเด็กไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องที่ต้องสร้างกันจนอยู่ตัว การฟังกับวินัยเกี่ยวข้องกันอย่างไร


ในวัยอนุบาล คุณครูสอนจะสอนให้นักเรียนรู้จักเก็บข้าวของเครื่องใช้ของตนให้เป็นที่ ด้วยการติดชื่อ หรือเครื่องหมายประจำตัวเอาไว้ที่สิ่งของ และที่ที่เด็กจะต้องนำของไปเก็บ หรือแม้แต่การนำตัวของเขาเองเข้าไปร่วมอยู่ในกิจกรรมกลุ่มให้ถูกตำแหน่ง เข้าไปนั่งรับประทานอาหารในที่ของตนให้ถูกต้อง เพื่อลดความวุ่นวาย และเพื่อที่จะสอนโดยไม่ต้องพร่ำสอน (ที่เมื่อพูดแล้วไม่มีใครฟังก็จะกลายเป็นการพร่ำบ่น...ทำให้สุขภาพจิตเสียทั้งครูและเด็ก) เมื่อเขาปฏิบัติจนเคยชิน นิสัยการเก็บของให้เป็นที่เป็นทางก็จะเกิดขึ้นได้เอง ทั้งนี้ทางบ้านต้องทำในสิ่งเดียวกันด้วย


เมื่อขยับขึ้นมาอยู่ชั้นประถม ศักยภาพที่เห็นได้อย่างชัดเจนระหว่างเด็กอนุบาล ๓ กับเด็กที่อยู่ชั้นประถม ๑ ก็คือ เด็กชั้นประถม ๑ จะ"พูดรู้ฟัง" มากขึ้น มีช่วงของความสนใจที่ยาวนานขึ้น ทำให้ครูผู้สอนสามารถจัดรูปแบบการเรียนรู้ที่เป็นแบบแผนได้มากขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาก็คือเด็กจะต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมความประพฤติของตน ให้เป็นไปตามกติกาที่ตกลงกันให้ได้ เพราะมิฉะนั้นแล้วแผนการสอนของคุณครูก็จะไม่เป็นไปตามแผน การควบคุมชั้นเรียนก็เป็นไปได้ยาก เพราะการให้ความร่วมมือเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น สุดท้ายห้องเรียนก็จะอยู่ในสภาพปั่นป่วน เพราะไม่มีใครฟังใคร และไม่มีใครฟังครู การสอนต้องหยุดชะงักลง เพราะครูต้องใช้เวลามาปรับพฤติกรรมเด็ก แล้วผลก็คือในชั่วโมงนั้นก็แทบจะไม่มีใครได้เรียนรู้อะไร จนแม้เด็กที่ตั้งใจเรียนที่สุดก็ยังบอกว่า"ครูขา..หนูเรียนไม่ได้ เพราะเพื่อนข้างๆคุยอยู่ตลอดเวลา"


ไม่เพียงแต่เด็กประถมเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากภาวะ"ห้องป่วน" การเรียนการสอนในชั้นมัธยมก็ไม่อาจดำเนินไปได้ในภาวะดังกล่าวเช่นกัน!!


ในสมัยก่อน ผู้ใหญ่มักจะเรียกขานเด็กที่พูดแล้วไม่รู้เรื่องว่า "พูดไม่รู้ฟัง" หรือ "พูดไม่รู้ภาษา" คำสองคำนี้ ให้ปัญญาและทางสว่าง ถึงหนทางแก้ไขเรื่องวินัยที่อยากแบ่งปัน


บางที "การฟัง" อาจเป็นต้นตอของปัญหาเรื่องวินัยที่คุณครูทั้งหลายกำลังปวดเศียรอยู่ในขณะี้นี้ การฟังที่รับสารมาไม่ครบก็ทำให้การปฏิบัติไม่ครบถ้วน หรือทำผิดขั้นตอน ทำให้ต้องมาคอยแก้ คอยตอบคำถามกันบ่อยๆ การดำเนินไปของกิจกรรมในชั้นเรียนจึงไม่ราบรื่นเท่าที่ควร และ ยิ่งไปกว่านั้นการฟังยังเป็นประตูบานแรกของการก้าวเข้าสู่"หัวใจนักปราชญ์" หรือความเป็นผู้ที่รักในการเรียนรู้ ดังปรากฏในคำโคลงโลกนิติว่า

 

      เว้นวิจารณ์ว่างเว้น   สดับฟัง 
เว้นที่ถามอันยัง  ไป่รู้ 
เว้นเล่าลิขิตสัง-  เกตว่าง เว้นนา 
เว้นดั่งกล่าวว่าผู้  ปราชญ์ได้ฤามี 
 
สมเด็จฯกรมพระยาเดชาดิศร 


หากพิจารณาตามนัยนี้ การฟังคือเครื่องมือที่สำคัญที่สุดของการเรียนรู้ หากเว้นซึ่งการสดับฟังซึ่งกันและกันเสียแล้ว การเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้นได้ยาก ต่างจากเมื่อมีการฟังกันเกิดขึ้นในห้องเรียน ที่มีทั้งเด็กฟังครู ครูฟังเด็ก และเด็กฟังเด็ก สภาพการเรียนรู้ได้ก็จะเกิดขึ้นได้เองอย่างเป็นธรรมชาติ และความเคารพซึ่งกันและกันก็จะเกิดตามมา อาการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางก็จะค่อยๆหมดไป


ขอเพียงฟังกันให้เป็นเท่านั้น กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันก็จะเกิดขึ้นได้ในทุกที่โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม หรือกฏระเบียบใดๆมาบังคับให้เกิดบรรยากาศของความตึงเครียดขึ้นในชั้นเรียน เพราะทุกคนจะสามารถรู้ได้ด้วยตนเองว่า ใครจะทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร และแค่ไหน ซึ่งเป็นภาพของการเรียนรู้ที่ทุกคนฝันเอาไว้ว่าอยากจะให้เกิดขึ้นในทุกที่ ทุกโอกาส






คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14000เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2006 15:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท