เทคนิคการนำให้ถูกทาง (2)



บันทึกคุณเรียนรู้  คือ  อยากให้ผมเขียน  เทคนิคการนำ (โดยเฉพาะนำให้ถูกทาง)
                เทคนิคการนำให้ถูกทางนี่  เป็นข้อสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination) สำหรับนิสิตปริญญาเอก  สาขาวิชาการบริหารการศึกษาได้อย่างสบายเลยทีเดียว
                การบริหารมีแค่ 2 เรื่องครับ “คน” กับ “องค์การ”
                แค่ 2 เรื่องนี่แหละ  วุ่นวายที่สุด
                ก็คิดดูสิครับ  เอาแค่เรื่องคนก็วุ่นวายสุดๆ แล้ว  แถมมีองค์การมาประกบอีก  จะวุ่นวายแค่ไหน  ลองทำความเข้าใจนะครับ
                ในองค์การมี “คน” และไม่ใช่มีคนเดียว  ในการบริหารต้องมีคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป  คนที่สำคัญที่สุดในองค์กรคือ  “ผู้นำ”  และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ  ผู้ตาม  หรือ  ผู้ร่วมงาน
                ส่วน “องค์การ” ก็คือศูนย์รวมกลุ่มบุคคล  เพื่อดำเนินกิจการ  เป้าหมายสำคัญขององค์การแต่ละประเภทแตกต่างกัน  แล้วแต่วัตถุประสงค์ขององค์การ  เช่น
                                องค์การธุรกิจ  ต้องการ  ผลกำไร
                                องค์การรัฐกิจ  ต้องการ  ให้บริการ
                                องค์การการศึกษา  ต้องการ  คุณภาพคน
                เมื่อเป้าหมายขององค์การธุรกิจ  คือ  ผลกำไร  ดังนั้น  การบริหารธุรกิจจึงต้องใช้ยุทธวิธีหลากหลายให้คนซื้อสินค้า  ใช้สินค้า  ต้องสร้างสิ่งจูงใจคน  อาทิ  ใช้หลัก 4 P คือ
                1)  Product  คุณภาพของสินค้า
                2)  Price  ราคาของสินค้า
                3)  Packing  รูปลักษณ์  และบรรจุภัณฑ์สินค้า
                4)  Promotion  การประชาสัมพันธ์สินค้า
                ยามเมื่อธุรกิจมีปัญหาก็ใช้ 3 C  คือ  Chance (โอกาส)  Challenge (ความท้าทาย)  และ Change (การเปลี่ยนแปลง)  เพราะถ้าไม่แก้ปัญหา  ก็ขาดทุน  เจ๊ง  ล้มละลาย
                องค์การภาครัฐ  หรือรัฐกิจก็มุ่งที่การให้บริการสะดวก  รวดเร็ว  มีประสิทธิภาพ  ก.พ.จึงได้นำหลักการของ Balanced Scorecard (BSC) มาดัดแปลงเป็นมิติ 5 ด้าน  เพื่อให้หน่วยราชการต่างๆ ประเมินผลโดยประกอบด้วย
                1)  มิติด้านการพัฒนาศักยภาพ
                2)  มิติด้านความสามารถในการบริหารภายในของส่วนราชการ
                3)  มิติด้านความสามารถในการบริหารทรัพยากรด้านการเงิน
                4)  มิติด้านความพึงพอใจของผู้รับบริการ
                5)  มิติด้านประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ
                ส่วนเป้าหมายของการบริหารการศึกษา  อยู่ที่การพัฒนาคน  เช่น  ให้ “มีความรู้คู่คุณธรรม”  “คิดเป็น  ทำเป็น  แก้ปัญหาเป็น”  ดังนั้นจึงมุ่งไปที่  ตัวป้อน (Input)  กระบวนการ (Process)  ผลผลิต (Output)  และผลลัพธ์ (Outcome)  ตัวอย่างเช่น


ตัวป้อน (Input) --- กระบวนการ (Process) --- ผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcome) 
-   ครู                    -  การเรียนการสอน         -  ปริมาณ (จำนวนผู้สำเร็จการศึกษา)
-  หลักสูตร             -  บรรยากาศ                  -  คุณภาพนักศึกษา
-  นักเรียน              -  สิ่งแวดล้อม
-  เทคโนโลยี
-  ผู้บริหาร


                ผมเคยถูกนิสิตถามว่า  ระหว่างบริหารธุรกิจ  บริหารรัฐกิจ  และบริหารการศึกษา  อะไรสำคัญกว่ากัน
                ผมตอบว่า  ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบความสำคัญกันได้  เพราะมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ต่างกัน  ที่ตอบได้แน่นอนคือ  ค่าเรียนบริหารการศึกษา  ถูกที่สุด
                ขอแถมวิจารณ์เรื่องชื่อ  คนตั้งคำถาม  หน่อยนะครับ  คนถามใช้ชื่อแฝง “เรียนรู้”
                การ “เรียนรู้” (Learning) นั้น  ถูกแบ่งโดย  เบนจามิน  บลูม (Benjamin  Bloom)  ไว้ 3 ประเภท คือ
                1.  พุทธิพิสัย  (Cognitive Domain) ได้แก่  ความรู้  ความสามารถ  และสติปัญญา
                2.  จิตพิสัย  (Affective Domain)  ได้แก่  ความคิด  ทัศนคติ  ค่านิยม  คุณธรรม  จริยธรรม
                3.  ทักษะพิสัย  (Psychomotor Domain)  ได้แก่  ทักษะต่างๆ ที่ใช้อวัยวะของร่างกาย  เช่น  กีฬา  ดนตรี  จิตรกรรม  ประติมากรรม  เป็นต้น
                เชื่อว่าคุณเรียนรู้  มีครบทุกประเภทนะครับ
                ความต้องการ  ความจำเป็น  ความเชื่อของคน  เปลี่ยนไปตามสภาพสังคม  การบริหารก็ต้องเปลี่ยนให้ถูกทาง
                ในอดีต  ความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ) 4 อย่าง  คือ  อาหาร  เครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่อาศัย  ยารักษาโรค  แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น 4 C ครับ  คือ
                1.  Condominium (อาคารชุด)  ที่อยู่ต้องลอยอยู่ในอากาศ  เหมือนเทวดา
                2.  Car (รถยนต์)  ไม่มีเสียหน้ามาก  ขึ้นรถประจำทางอายแย่  เป็นสิ่งเชิดหน้าชูตา
                3.  Credit card (บัตรเครดิต)  ถ้าไม่มีบัตรเครดิตถือว่าไม่มีเครดิต  ทั้งที่ยังผ่อนหนี้ไม่หมด
                4.  Communication (การสื่อสาร)  คือโทรศัพท์มือถือ  จำเป็นยิ่งกว่าอาหารเสียอีก  ไม่ได้โทร.อาจตายได้
                มี C ที่ 5  ที่จำเป็นต่อชีวิต  เป็นความจำเป็นพื้นฐานแถมมาอีกแล้วครับ  โดยจะมีการตั้งตู้อัตโนมัติจำหน่ายในโรงเรียนด้วย   C-Condom (ถุงยางอนามัย) ไงครับ
                การบริหารไม่ยากอย่างที่คิด  แต่ต้องใช้ปัญญาด้วย 

หมายเลขบันทึก: 13994เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2006 15:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 20:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท