ดิน ปุ๋ย ข้าว กัลยาณมิตรแห่งการเรียนรู้


หากเราชาวนานักเรียนรู้ทั้งหลาย ได้เคยหมั่นเฝ้าสังเกตุสภาพของดินในแปลงต่างๆ ของเราแล้ว จะพบว่า ล้วนมีความแตกต่างกันไป  สิ่งที่นำมาสู่ความแตกต่างมีหลากหลายปัจจัย  แต่สิ่งที่นักเรียนชาวนาควรจะต้องสังเกตุและเรียนรู้คือ  การเชื่อมโยงระหว่างเรื่องของดิน  การใส่ปุ๋ยให้กับต้นข้าว  และการเจริญเติบโตของต้นข้าว  เพราะต้นข้าวอาศัยดินในการเจริญเติบโต  และอาศัยปุ๋ยในการเจริญเติบโตเช่นกัน 

            เคยฉุกใจคิดกันบ้างหรือไม่  ว่าดินอย่างไรต้นข้าวจึงจะเจริญเติบโตได้ดี  และจะใส่ปุ๋ยอะไรลงไปในดินเพื่อให้รากของต้นข้าวดูดธาตุอาหารแล้วเจริญเติบโตได้ดี  เรื่องราวของดิน  ปุ๋ย  และต้นข้าว  จึงเป็นสิ่งที่น่าท้าทายการเรียนรู้ของทั้งคุณกิจและคุณอำนวยเป็นอย่างยิ่ง

คุณกิจกับคุณอำนวยจึงลงไปในนาข้าว  เพื่อสุ่มเก็บตัวอย่างต้นข้าวจากแปลงนาต่างๆมาทำการศึกษาเปรียบเทียบ  ดูการเจริญเติบโตของต้นข้าว  เมื่อเก็บตัวอย่างต้นข้าวมาหลายกรณี  ก็พบว่าแต่ละต้นจากแต่ละนาตามแต่ละกรณีมีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกันไป  อย่างเช่น  บางต้นรากยาวมากและรากมีสีขาว  แต่บางต้นก็มีรากเป็นสีน้ำตาล  บางต้นรากสั้น  ทว่ามีจำนวนรากมากเกาะกลุ่มตามบริเวณโคนต้น  นั่นเป็นผลมาจากลักษณะดินในแปลงนาที่ไม่เหมือนกัน  และเป็นผลมาจากการใส่ปุ๋ยแต่ละอย่างลงไปในดินด้วย  

จากการสุ่มเก็บตัวอย่างต้นข้าวในแปลงนาของนักเรียนชาวนาจากหลายพื้นที่  ในเบื้องต้นนั้น  พบว่า  รากของต้นข้าวมีลักษณะการหาอาหารเลี้ยงต้นแตกต่างกัน  4  กรณี  ได้แก่

             -  กรณีของต้นข้าวที่เจริญเติบโตในดินที่ผ่านการเผาฟางมาก่อน 

             -  กรณีของต้นข้าวที่เจริญเติบโตในดินที่ใส่ปุ๋ยเคมี

             -  กรณีของต้นข้าวที่เจริญเติบโตในดินที่ใส่ปุ๋ยชีวภาพ

             -  กรณีของต้นข้าวที่เจริญเติบโตในดินที่ใส่ปุ๋ยชีวภาพร่วมกับจุลินทรีย์

ทั้ง  4  กรณี  ทำให้ทราบว่าการกระจายตัวของรากในการหาอาหารแตกต่างกัน  โดยที่ในกรณีของต้นข้าวที่เจริญเติบโตในดินที่ผ่านการเผาฟางมาก่อน  และในกรณีของต้นข้าวที่เจริญเติบโตในดินที่ใส่ปุ๋ยเคมีนั้น  รากจะแผ่ตัวกระจายไปตามผิวดินและรากจะสั้น  ทั้งนี้เพราะรากพยายามดูดธาตุอาหารที่มีอยู่บริเวณผิวดิน  ส่วนในกรณีของต้นข้าวที่เจริญเติบโตในดินที่ใส่ปุ๋ยชีวภาพ  และในดินที่ใส่ปุ๋ยชีวภาพร่วมกับจุลินทรีย์  รากจะยาว  รากแทงลงไปในดิน  เพราะรากพยายามดูดธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน

สำหรับในกรณีนี้  ได้นำตัวอย่างข้าวเบาหรือข้าวที่มีอายุ  3  เดือน  มาศึกษาเรียนรู้ดูการเจริญเติบโตของต้นข้าวในแต่ละช่วงอายุ  ทั้งคุณกิจและคุณอำนวยได้เฝ้าจับตาดูการเจริญเติบโตของ     ต้นข้าวทุกสัปดาห์

             ต้นข้าวในช่วงแรกถือเป็นระยะต้นกล้า  อายุประมาณ  14  วัน  จากนั้นต้นข้าวจึงเริ่มแตกกอ  หรือช่วงที่ต้นข้าวมีอายุกว่า  20  วัน  เมื่อต้นข้าวอายุกว่า  40  วัน  จะเป็นระยะย่างปล้อง  จนถึงช่วงอายุประมาณ  50 – 60  วัน  ข้าวจะอยู่ในระยะตั้งท้อง  และจะเข้าสู่ระยะแทงช่อดอก  เมื่อต้นข้าวอายุได้ประมาณ  70  วัน  จนเข้าสู่ระยะออกดอกในช่วงเวลาถัดมา  ซึ่งต้นข้าวจะอายุได้ประมาณ  70  กว่าวัน  และต้นข้าวอายุได้ประมาณ  80  กว่าวัน  จะอยู่ในระยะน้ำนม  แล้วต้นข้าวเข้าสู่ระยะเริ่มแข็ง  (เมล็ดข้าว)  ต้นข้าวจะอายุถึง  90  กว่าวัน  จวบจนต้นข้าวอายุกว่า  90  วัน  ถึง  100  วันกว่า จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

รากของต้นข้าวบอกอะไรแก่นักเรียนชาวนาบ้าง  ผลจากการหาอาหารของรากต้นข้าว  ทำให้นักเรียนชาวนาได้เรียนรู้อย่างเชื่อมโยงระหว่างดิน  ปุ๋ย  และต้นข้าว  โดยเฉพาะรากของต้นข้าว  ทำให้ต้องกลับมาคิดกันว่า  หากนักเรียนชาวนาต้องการได้ผลผลิตข้าวจะต้องดูแลรักษาต้นข้าวอย่างไร  การดูแลต้นข้าวอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ  จะต้องดูแลรักษาสภาพของดินด้วย  ถ้าดินดี  ข้าวก็ต้องดี  จนต้องมาคิดถึงเรื่องปุ๋ยที่จะใส่ลงไปในดิน  เพื่อให้ทั้งต้นข้าวและดินมีชีวิต  ซึ่งจะส่งผลต่อนักเรียนชาวนา  คุณกิจผู้คลุกคลีอยู่กับดินกับข้าว  ให้ได้มีสุขภาวะ  กาย  ใจ  สังคม  สิ่งแวดล้อม  ครบพร้อม  4  ประการ 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13896เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2006 08:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านดูแล้ว ผมรู้สึกได้ทันทีครับว่า ผมเห็นพลังแห่งความรักของแม่ธรณีเลยครับ เพราะจะสังเกตจากสิ่งที่พี่ชมพู่เล่ามาได้ว่า

            "ถ้าเราเลี้ยงแม่ธรณีเป็นอย่างดี แม่ธรณีก็จะเลี้ยงแม่โพสพให้กับเรา"

    อธิบายอย่างแกมวิทยาศาสตร์ก็คือ ถ้าทำให้แม่ธรณีปวดแสบปวดร้อนโดยการเผาฟางด้วยไฟที่แผดเผาร้อนแรง หรือ ใส่ปุ๋ยเคมีที่ปวดแสบปวดร้อนผิวกายและภายในร่างกาย(ขอให้นึกตามนะครับ เราจับปุ๋ยเคมีเฉยๆ ยังเย็นวาบๆเลย บางชนิดก็แสบอีกตะหาก) ก็จะทำให้แม่ธรณีอ่อนแอและตายในที่สุด(เพราะจุลินทรีย์ที่ดี เป็นมิตร พึ่งพาอาศัยอยู่อย่างเกื้อกูลกับต้นข้าว หรือ แม่โพสพก็จะตายหมด) แต่การทะนุถนอมโดยการให้อาหารกับแม่ธรณี โดยการใส่อินทรียวัตถุและปุ๋ยชีวภาพนั้นเป็นการให้พลังและชีวิตแก่แม่ธรณี ยิ่งถ้าใส่จุลินทรีย์แล้วละก็ยิ่งดีขึ้นอีก เพราะผมเคยดู สารคดีเรื่อง ชีวิตในดิน ของ ประเทศญี่ปุ่น ที่มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติที่ อ.วิวัฒน์ ศัลยกำธรได้นำมาเผยแพร่นั้น

     พบว่า บริเวณรอบ ๆรากของพืช(หรือ Rhizopheres) นั้นมีชีวิตเล็กๆอย่างจุลินทรีย์ อยู่มากมายที่ช่วยนำร่องให้กับรากพืชได้ชอนไชลงไปโดยการกินดินและอินทรียวัตถุต่างๆก่อนให้ยุ่ย แล้วปล่อยออกมาเป็นสารอาหารให้รากได้ดูดซึม แพร่เข้าไป และ แลกเปลี่ยนสารผ่านเนื้อเยื่อของรากเข้าไป   ตรงนี้จึงเป็นพลังความรักที่พระแม่ธรณีหรือดินที่มีชีวิต(มีจุลินทรีย์)มอบให้กับแม่โพสพหรือต้นข้าวได้เจริญเติบโตเติบใหญ่ ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ที่เป็นอาหารหรือโอชะของเทพยดาอย่างแม่โพสพที่ชาวนาได้ใส่ลงไปนั่นเอง    (ตามความเชื่อว่าเทวดาทั้งหลายจะโปรดปรานโอชะหรือง้วนดิน บนโลกมากบางองค์ที่ไม่สามารถละ รสชาดของง้วนดินได้ ก็กลายเป็นมนุษย์บนโลก ตรงนี้เองที่ผมคิดว่า มนุษย์เราจึงสามารถเข้าใจเองได้ว่า เทวดาชอบอะไร รวมถึงแม่ธรณีด้วย)

               สังเกตเห็นอะไรอย่างหนึ่งไหมครับว่า ชุดความเชื่อ หรือ ความรู้ที่เรียกว่า ภูมิปัญญาโบราณของคนไทย     ได้ตรงกับสิ่งวิทยาศาสตร์ศึกษาค้นคว้าและแสดงออกมา   จึงเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า แม่ธรณีมีอยู่จริง และ ความเชื่อต่อเรื่องดังกล่าวเป็นจริงอย่างไม่มีข้อกังขา 

            ขอสนับสนุน มขข. ต่อไปครับที่ได้ช่วยให้สังคมได้รับความรักและความรู้จากผืนแผ่นดิน ข้าวและชาวนา 

                                               แลกเปลี่ยนจากใจ

     ด้วยความเคารพนับถือในสิ่งที่พวกท่านได้ทำเพื่อสังคมครับ

ขอบคุณสำหรับคุณนครค่ะ ที่ยังคงเฝ้าติดตามและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อย่างที่ได้เคยกล่าวไว้ค่ะ ว่า ถ้าเราจะเดินทางสายนี้ สายเกษตรที่ลงลึกถึงจิตวิญญาณของชาวนา มันต้องเริ่มจากดึงชุดความเชื่อของตนเองมาให้ได้ มีความเชื่อมั่นเป็นพื้นฐาน ถ้าชาวนาไม่เชื่อว่า ดิน น้ำ หรือ ต้นข้าว เปรียบประดุจแม่ กระบวนการผลิตก็จะเป็นในลักษณะของการขาดซึ่งความเคารพนบนอบ คิดดูสิคะ ถ้าคนทำ ทำด้วยจิตใจไร้ซึ่งความเมตตาต่อสรรพสิ่ง ผลตอบแทนที่ได้ ก็จะออกมาในรูปของสิ่งที่มีเพียงร่าง แต่ไร้วิญญาณ ไร้พลัง ขอบคุณมากค่ะ สำหรับคนรุ่นใหม่เช่นคุณนคร ถ้าเด็กยุคใหม่ ให้ความสนใจเรื่องราวเกษตรในมุมของมิติเชิงวัฒนธรรม ก็คงจะเป็นพลังสำคัญในการเผยแพร่สืบสานต่อไป

ผมขอบคุณคุณต้นข้าวและคุณนคร ที่ได้แบ่งปันความรู้ดีๆ เหล่านี้ให้แก่กันครับ  สิ่งที่กล่าวมาทำให้ผมสำนึกได้ว่า ดินเองนั้นก็มีชีวิตเช่นกัน  โดยเฉพาะที่คุณนครกล่าวไว้ พืชและสิ่งมีชีวิตในดิน มีการพึงพิงอาศัยกันละกัน ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์และตอบแทนกัน 

ผมเคยได้ยินหลายคนพูดเช่นกันครับว่า "The soil is the common mother of all things" 

วิธีการเรียนรู้ของกลุ่มนักเรียนชาวนาและมูลนิธิฯ เป็นสิ่งที่ผมทึ่งและชื่นชมมากครับ  

เกษตรกรหรือคนทั่วไป สามารถที่จะเรียนรู้ ฝึกการสังเกตและวิเคราะห์ หลังจากนั้นก็สังเคราะห์สรุปผลออกมา ได้ด้วยกระบวนการที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนมากมายเหมือนกับการศึกษาวิจัยโดยนักวิชาการ  

ในอนาคตผมคงยินดีที่ได้พบว่า เกษตรกรกลุ่มต่างๆ  ก็มีการเรียนรู้ในลักษณะนี้เช่นกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท