เครื่องมือทำการประมงที่ทำลายล้าง


ทำไมต้องปฏิรูปพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐
เครื่องมือทำการประมงที่ทำลายล้าง
เรืออวนล้อมจับปลากะตักกลางวัน ( DAY ANCHOVY PURSE SEINER)
ลักษณะของเรือมี 2 ขนาดคือ
1. เรือขนาดเล็กจะมีความยาว 7 - 16 เมตร ใช้คนประมาณ 5 - 14 คน เรือขนาดเล็กความยาวอวน 160 - 250 เมตร ขนาดของตาอวน 0.4 - 0.6 เซนติเมตร
2. เรือขนาดใหญ่จะมีความยาว 20 - 22 เมตร ใช้คนประมาณ 30 คน เรือขนาดใหญ่ความยาว 250 - 400 เมตร ขนาดของตาอวน 0.8 เซนติเมตร
ไม่ใช้เครื่องมือในการปั่นไฟ ใช้เครื่องมีลักษณะอวนล้อมจับแบบใช้สายมาน
เรืออวนล้อมปั่นไฟปลากะตัก (LIGHTED ANCHOVY PURSE SEINE)
ประกอบด้วย เรืออวน (เรือแม่) 1 ลำ และเรือปั่นไฟ 1- 3 ลำส่วนใหญ่ 2 ลำทำหน้าที่ปั่นไฟล่อสัตว์น้ำ ความยาวเรืออวน 16 - 24 เมตร เรือปั่นไฟความยาว 9 - 14 เมตร ใช้กำลังไฟขนาด 15 - 20 กิโลวัตต์/ลำ
จำนวนคน 20 - 30 คน เรือทุกลำมีเครื่องเอคโค ซาวเดอร์ ช่วยค้นหาฝูงปลา บางลำมีโซน่าร์
ใช้อวนล้อมจับแบบใช้สายมานความยาวอวน 250 - 500 เมตร ลึก 50 - 80 เมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ ขนาดของตาอวน 0.7 - 0.8 เซนติเมตร
ส่วนใหญ่ทำการประมงในน้ำลึก 20 - 45 เมตร (ฝั่งอ่าวไทย) และลึก 20 - 80 เมตร (ฝั่งอันดามัน) จะทำการประมงในเวลากลางคืน ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดิน ถึงพระอาทิตย์ขึ้น เริ่มจากเรืออวนแล่นเรือค้นหาฝูงปลา ในช่วงเย็น ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน เมื่อพบฝูงปลาจะให้เรือปั่นไฟทั้งสองลำ ซึ่งแล่นตามมาแยกย้ายกัน ทอดสมอตรงจุดที่พบฝูงปลากะตัก และเปิดไฟล่อสัตว์น้ำ รอเวลาให้กระแสน้ำหยุดไหล จึงจะทำการจับสัตว์น้ำ ที่ตอมแสงไฟของเรือปั่นไฟทีละลำ จำนวนวันที่ออกทำการประมง เริ่มตั้งแต่ แรม 5 ค่ำ ถึง 12 ค่ำ หรือ 22 - 23 วัน / เดือน วางอวน 2 - 3 ครั้ง / คืน
จังหวัดที่พบมากคือ ตราด ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา สตูล กระบี่ สงขลา
ทำไมต้องปฏิรูปพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐
อธิบดีกรมประมง  นายธำรง  ประกอบบุญ ยอบรับว่า ปัจจุบันทะเลไทยจับปลาได้น้อยมาก เพราะว่าเราไม่ได้มีการวางแผนการจัดการประมงมาก่อน และปัญหาอวนลาก อวนรุนละเมิดกฎหมายรุกล้ำเข้ามากวาดจับสัตว์น้ำ ในเขต ๓,๐๐๐ ม.และเขตปิดอ่าว โดยที่กรมประมงยังไม่สามารถดำเนินการเรื่องห้ามทำการประมงในเขต ๓,๐๐๐ เมตรให้เป็นรูปธรรม รายงานการศึกษาของคณะอนุกรรมการศึกษาและกำหนดมาตรการที่เหมาะสม ในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงปลากะตักโดยใช้แสงไฟประกอบ กล่าวถึง ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและประสิทธิภาพของกฎหมายประมงไว้ว่า
- คดีความผิดตามกฎหมายประมงเป็นคดีขึ้นศาลแขวงต้องส่งฟ้องภายใน ๔๘ ชั่วโมงทำให้เรือประมงสามารถกลับไปทำการประมงได้อีกอย่างรวดเร็ว
- เป็นคดีที่ทำผิดในทะเล ทำให้การจับกุมและรวบรวมพยานหลักฐานยุ่งยาก จึงจับกุมได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
- ปัญหาเรื่องเขตอำนาจสอบสวน (เขตการปกครองทางทะเลไม่ชัดเจน ไม่สามารถระบุได้ว่า อยู่ในเขต จังหวัดใด)
- ปัญหาข้อกฎหมาย เรื่องเครื่องมือประมงที่ไม่รวมกับเรือ
- บทกำหนดโทษเบาทำให้ชาวประมงไม่เกรงกลัวเพราะผลประโยชน์ที่ได้คุ้มค่า
- ไม่มีการริบเรือหรือเครื่องมือประมง เพราะชาวประมงใช้ช่องว่างทางกฎหมายโดยทำสัญญาเช่าแสดงไว้ในการขอคืนของกลางต่อศาล เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓ (๑) กำหนดให้เป็นดุลยพินิจของศาล ในการรับทรัพย์สิน ซึ่งบุคคลได้ให้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิด แต่หากทรัพย์สินนั้นเป็นของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดจะริบไม่ได้

  พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ เริ่มบังคับใช้ช่วงต้นของการพัฒนาการประมงทะเล (ปี พ.ศ.๒๔๙๐ - ๒๕๑๕) แต่จากปี พ.ศ.๒๕๑๖ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า ๒๖ ปีที่การประมงทะเลเริ่มเข้าสู่ยุคของการ ทำลายตัวเองด้วย การประมงที่ทำลายทรัพยากร และมุ่งกวาดล้างสัตว์น้ำโดยที่การควบคุมและการบังคับใช้
  พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ไม่สามารถหยุดยั้งการทำลาย และในหลายกรณีกฎหมายได้เอื้ออำนวยให้ การทำลายล้างทวีความรุนแรงมากขึ้น
  พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ มีช่องว่างที่เปิดให้เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน ใช้เป็นเครื่องมือในการทุจริต ดังมติคณะรัฐมนตรี ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๓ เรื่องมาตรการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ เกี่ยวกับการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.๒๔๙๐ ให้แก้ไข พระราชบัญญัติดังกล่าวโดยเพิ่มบทลงโทษผู้ทำการประมงโดยใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายจนทำให้เกิดความเสียหาย แก่ทรัพยากรทางทะเลให้สูงขึ้นใกล้เคียงกับ อัตราโทษตามความผิดที่เกิดจากการสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐและให้เพิ่มบทบัญญัติว่าด้วย การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของเรือหรือ เจ้าของเครื่องมือประมงที่ใช้กระทำผิดมีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับการ กระทำผิดและให้ริบเรือประมงหรือเครื่องมือนั้นเสียโดยไม่ต้องคำนึงว่า จะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อปิดช่องว่างของกฎหมาย และป้องกันการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่

พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและการมีส่วนร่วมของบุคคล ชุมชนท้องถิ่นและองค์กรปกครองท้องถิ่น ในการมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษา ใช้ประโยชน์และได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13892เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2006 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2012 16:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท