ระเบียบสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาว่าด้วย อกท. พ.ศ.2547


ระเบียบสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาว่าด้วยองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พ.ศ. ๒๕๔๗

ระเบียบสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

ว่าด้วยองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย
ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
พ.ศ. ๒๕๔๗
                โดยที่เป็นการสมควรให้มีระเบียบว่าด้วยองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย

ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เป็นไปด้วยความเหมาะสมกับสภาวการณ์
ในปัจจุบัน และสอดคล้องกับการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
                ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ว่าด้วยองค์การเกษตรกร
ในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พ.ศ. ๒๕๔๗”
                ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๗ เป็นต้นไป
                ข้อ ๓ ให้ยกเลิก ระเบียบกรมอาชีวศึกษาว่าด้วยองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๒
บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ  และคำสั่งอื่นใด ในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
                ข้อ ๔ ในระเบียบนี้
                “อกท.” หมายความว่า องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
                “FFT” หมายความว่า Future Farmers of Thailand
                “หน่วย อกท.” หมายความว่า องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ระดับหน่วย
                “กิจกรรม อกท.” หมายถึง การดำเนินกิจกรรมขององค์การในรูปแบบที่กำหนดไว้ในระเบียบ วิธีการปฏิบัติ หลักเกณฑ์และรายละเอียดของ อกท. เพื่อให้เป็นไปตามหลักการและวัตถุประสงค์
                ข้อ ๕ ให้รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มอบหมายรักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้
หมวด ๑
บททั่วไป
                ข้อ ๖ หลักการของ อกท.คือ เป็นของสมาชิก ดำเนินงานโดยสมาชิก เพื่อสมาชิก โดยมีคณะกรรมการอำนวยการ อกท. แต่ละระดับ ให้คำแนะนำ สนับสนุนและกำกับดูแล
                ข้อ ๗ วัตถุประสงค์ ของ อกท.
                                ๗.๑ เพื่อพัฒนาคุณภาพและความเป็นเลิศทางวิชาชีพของสมาชิก
                                ๗.๒ เพื่อพัฒนาให้สมาชิกมีลักษณะความเป็นผู้นำ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น
และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
                                ๗.๓ เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกเป็นพลเมืองดี ตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


                ข้อ ๘ คติพจน์ของ อกท.
                                ๘.๑ คติพจน์ของ อกท. ภาษาไทย คือ
                                                เราเรียนรู้ด้วยงานการฝึกหัด
                                                เราปฏิบัติเพื่อหวังทางศึกษา
                                                หาเลี้ยงชีพเพื่อชีวิตพัฒนา
                                                ใช้วิชาเพื่อบริการงานสังคม
                                ๘.๒ คติพจน์ของ อกท. ภาษาอังกฤษ คือ
                                                Learning to Do
                                                Doing to Learn
                                                Earning to Live
                                                Living to Serve

หมวด ๒

การกำหนดระดับ อกท.
                ข้อ ๙ อกท.แบ่งโดยกำหนดกิจกรรมออกเป็น ๓ ระดับ ได้แก่
                                ๙.๑ อกท.ระดับหน่วย
                                ๙.๒ อกท.ระดับภาค
                                ๙.๓ อกท. ระดับชาติ
                ข้อ ๑๐ อกท.ระดับหน่วย ดำเนินกิจกรรมโดยสมาชิก เพื่อสมาชิกภายในหน่วย อกท.ของตนเอง
ซึ่งตั้งอยู่ในสถานศึกษาของแต่ละจังหวัด
                ข้อ ๑๑ อกท. ระดับภาค ดำเนินกิจกรรมโดยสมาชิกของหน่วย อกท. ที่ตั้งอยู่ในภาคเดียวกัน
แบ่งออกเป็น ๔ ภาค โดยแต่ละภาคประกอบด้วยจังหวัด ดังต่อไปนี้
                                ๑๑.๑ ภาคเหนือ จังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย แพร่ ลำพูน เชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเชียงราย
                                ๑๑.๒ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ อุดรธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ  บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม สุรินทร์ เลย หนองคาย มุกดาหาร อำนาจเจริญ และหนองบัวลำภู
                                ๑๑.๓ ภาคกลาง จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี นนทบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี
ลพบุรี  ชลบุรี สิงห์บุรี ปราจีนบุรี กาญจนบุรี อ่างทอง ระยอง ตราด ประจวบคีรีขันธ์ สระแก้ว นครปฐม ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา นครนายก สมุทรสาคร อุทัยธานี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ชัยนาท จันทบุรี และกรุงเทพมหานคร
                                ๑๑.๔ ภาคใต้ จังหวัดชุมพร สุราษฏร์ธานี พัทลุง สตูล พังงา ตรัง สงขลา นราธิวาส ยะลา ปัตตานี ภูเก็ต นครศรีธรรมราช ระนอง และกระบี่
                ในกรณีที่มีการจัดตั้งหน่วย อกท. ในจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในภาคใด ให้ถือว่าเป็นหน่วย อกท.ในภาคนั้น
                ข้อ ๑๒ อกท.ระดับชาติ ดำเนินกิจกรรมโดยสมาชิกทุกหน่วย ทุกภาค เพื่อสมาชิกทั้งมวล


หมวด ๓

สมาชิกภาพ

                ข้อ ๑๓ ประเภทของสมาชิก อกท. ให้แบ่งเป็น ๓ ประเภท ดังนี้

                                ๑๓.๑ สมาชิกสามัญ หมายถึง ผู้ขึ้นทะเบียนเป็นนักเรียน นักศึกษาที่กำลังศึกษา
ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ในสถานศึกษาที่จัดตั้งหน่วย อกท.
                                ๑๓.๒ สมาชิกวิสามัญ หมายถึง ศิษย์เก่าจากสถานศึกษา ที่มีการจัดตั้งหน่วย อกท. หรือผู้สนใจ ซึ่งได้สมัครเป็นสมาชิกโดยความเห็นชอบ ของคณะกรรมการอำนวยการ อกท. หน่วยที่รับสมัคร
                                ๑๓.๓ สมาชิกกิตติมศักดิ์ หมายถึง บุคคลผู้ให้คำแนะนำ ส่งเสริม สนับสนุนหรือช่วยเหลือ
กิจกรรม อกท. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการ อกท. แต่ละระดับ เชิญเป็นสมาชิก
                ข้อ ๑๔ ระดับของสมาชิกสามัญ แบ่งเป็น ๔ ระดับ คือ
                                ๑๔.๑ สมาชิกใหม่
                                ๑๔.๒ สมาชิกระดับหน่วย
                                ๑๔.๓ สมาชิกระดับภาค
                                ๑๔.๔ สมาชิกระดับชาติ
                การเลื่อนระดับของสมาชิกสามัญ ให้เป็นไปตามวิธีการปฏิบัติของ อกท.
                ข้อ ๑๕ สมาชิกวิสามัญ และสมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่แบ่งระดับของสมาชิก
                ข้อ ๑๖ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
                                ๑๖.๑ สมาชิกสามัญ มีสิทธิ ดังนี้
                                                ๑๖.๑.๑ เข้าร่วมกิจกรรมของ อกท. ที่จัดขึ้นทุกประเภท
                                                ๑๖.๑.๒ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจาก อกท.
                                                ๑๖.๑.๓ สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก และมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการ ตามวิธีการปฏิบัติของ อกท.
                                                ๑๖.๑.๔ เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อความเจริญก้าวหน้าของ
อกท. ต่อคณะกรรมการอำนวยการ อกท.และหรือคณะกรรมการดำเนินงาน อกท.ในแต่ละระดับตามลำดับชั้น
                                                ๑๖.๑.๕ ได้รับสวัสดิการและบริการ ที่ อกท. จัดให้
                                                ๑๖.๑.๖ แต่งเครื่องแบบและประดับเครื่องหมายตามแบบของ อกท.
                                                ๑๖.๑.๗ ได้รับสิทธิ ตามมติของคณะกรรมการ อกท.
                                                ๑๖.๑.๘ ได้รับการพัฒนา ตามแนวทางการจัดกิจกรรม อกท.
                                                ๑๖.๑.๙ รับทราบข้อมูล ข่าวสาร คำชี้แจงและเหตุผล การดำเนินกิจกรรม อกท.
                                ๑๖.๒ สมาชิกสามัญ มีหน้าที่ ดังนี้
                                                ๑๖.๒.๑ ปฏิบัติตามระเบียบนี้ และวิธีการปฏิบัติ หลักเกณฑ์ตลอดจนรายละเอียด
ของ อกท.
                                                ๑๖.๒.๒ ใช้สิทธิในการเลือกตั้งของ อกท.
                                                ๑๖.๒.๓ ให้ความความร่วมมือ สนับสนุน ส่งเสริม และช่วยเหลือในการดำเนินงาน อกท. ทุกระดับ
                                                ๑๖.๒.๔ ปฏิบัติหน้าที่อื่น ตามที่คณะกรรมการ อกท. แต่ละระดับมอบหมาย
                      ข้อ ๑๗ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกวิสามัญ
                                ๑๗.๑ สมาชิกวิสามัญ มีสิทธิต่าง ๆ ดังนี้
                                                ๑๗.๑.๑ เข้าร่วมกิจกรรมการประชุมวิชาการของ อกท.
                                                ๑๗.๑.๒ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจาก อกท.
                                                ๑๗.๑.๓ ได้รับสวัสดิการและบริการต่าง ๆ ที่ อกท. จัดให้
                                                ๑๗.๑.๔ แต่งเครื่องแบบและประดับเครื่องหมายตามแบบของ อกท.
                                                ๑๗.๑.๕ ได้รับสิทธิ ตามมติของคณะกรรมการ อกท.ทุกระดับ
                                                ๑๗.๑.๖ ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นกรรมการอำนวยการ อกท.ทุกระดับ
                                ๑๗.๒ สมาชิกวิสามัญ มีหน้าที่ดังนี้
                                                ๑๗.๒.๑ ให้คำแนะนำ ส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือการจัดกิจกรรม อกท.
                                                ๑๗.๒.๒ ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการอำนวยการ อกท.
                                                ๑๗.๒.๓ เผยแพร่ชื่อเสียงของ อกท.
                                                ๑๗.๒.๔ ให้ความร่วมมือกับชมรมหรือสมาคมศิษย์เก่า อกท. ในกิจกรรมต่าง ๆ
                                                ๑๗.๒.๕ ปฏิบัติตามวิธีการปฏิบัติของ อกท.
                      ข้อ ๑๘ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกกิตติมศักดิ์
                                ๑๘.๑ สมาชิกกิตติมศักดิ์ มีสิทธิดังนี้
                                                ๑๘.๑.๑ เข้าร่วมกิจกรรมการประชุมวิชาการของ อกท.
                                                ๑๘.๑.๒ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจาก อกท.
                                                ๑๘.๑.๓ ได้รับสวัสดิการและบริการ ที่ อกท. จัดให้
                                                ๑๘.๑.๔ แต่งเครื่องแบบและประดับเครื่องหมายตามแบบของ อกท.
                                                ๑๘.๑.๕ ได้รับสิทธิ ตามมติของคณะกรรมการ อกท.
                                ๑๘.๒ สมาชิกกิตติมศักดิ์ มีหน้าที่ให้คำแนะนำ ส่งเสริม สนับสนุน หรือช่วยเหลือการจัดกิจกรรม อกท.
                      ข้อ ๑๙. การพ้นสมาชิกภาพ
                                ๑๙.๑ สมาชิกสามัญ พ้นสมาชิกภาพ เมื่อสิ้นสุดสภาพการเป็นนักเรียน นักศึกษาของสถานศึกษา
                                ๑๙.๒ สมาชิกวิสามัญ และสมาชิกกิตติมศักดิ์ พ้นสมาชิกภาพเมื่อ
                                                ๑๙.๒.๑ ตาย
                                                ๑๙.๒.๒ ลาออก
                                                ๑๙.๒.๓ คณะกรรมการอำนวยการ อกท. แต่ละระดับ มีมติให้พ้นสมาชิกภาพ


หมวด ๔
ตรา เครื่องหมาย และธงของ อกท.
                ข้อ ๒๐ ตรา อกท. มีลักษณะเป็นวงกลมล้อมรอบด้วยรวงข้าว ด้านบนวงกลมเป็นพระพิรุณ
ทรงนาค ขนาบด้วยธงชาติและคบเพลิง ภายในวงกลมมีข้อความว่า “เกษตรกรในอนาคต”
“ประเทศไทย” และ “FFT”
                ใต้ตรา อกท.มีข้อความ “ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี”
                ตรา อกท. ประกอบด้วยสัญลักษณ์ ๖ อย่าง คือ
                                ๒๐.๑ อาทิตย์รุ่งอรุณ หมายถึง ความก้าวหน้าของการเกษตรแผนใหม่
                                ๒๐.๒ ไถ หมายถึง แรงงานและเครื่องมือพลิกผืนดิน อันเป็นการปฏิบัติขั้นพื้นฐานของการเกษตร
                                ๒๐.๓ รวงข้าว หมายถึง พืชหลักของประเทศไทย
                                ๒๐.๔ ธงไตรรงค์ หมายถึง ประเทศไทย
                                ๒๐.๕ พระพิรุณทรงนาค หมายถึง การเกษตรแห่งชาติ
                                ๒๐.๖ คบเพลิง หมายถึง ประทีปนำทางไปสู่ความสว่างแห่งปัญญา
                สี ขนาดและการนำตรา อกท. ไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ เป็นไปตามวิธีการปฏิบัติของ อกท.
                ข้อ ๒๑ เครื่องหมายประจำตำแหน่งของกรรมการดำเนินงาน อกท. และครูที่ปรึกษา คือ
                                ๒๑.๑ รูปอาทิตย์รุ่งอรุณ เป็นเครื่องหมายประจำตำแหน่งของนายก อกท.
                                ๒๑.๒ รูปไถ เป็นเครื่องหมายประจำตำแหน่งของรองนายก อกท.
                                ๒๑.๓ รูปรวงข้าว เป็นเครื่องหมายประจำตำแหน่งของเลขานุการ
                                ๒๑.๔ รูปพระยาเทพศาสตร์สถิต เป็นเครื่องหมายประจำตำแหน่งของเหรัญญิก
                                ๒๑.๕ รูปธงไตรรงค์ เป็นเครื่องหมายประจำตำแหน่งของผู้สื่อข่าว
                                ๒๑.๖ รูปพนมมือไหว้ เป็นเครื่องหมายประจำตำแหน่งของปฏิคม
                                ๒๑.๗ รูปคบเพลิง เป็นเครื่องหมายประจำตำแหน่งของครูที่ปรึกษาคณะกรรมการดำเนินงาน
                ข้อ ๒๒ ธง อกท.
                                ๒๒.๑ ธง อกท. ระดับหน่วยมีขนาดกว้างแปดสิบเซนติเมตร ยาวหนึ่งร้อยยี่สิบเซนติเมตร
ใช้ธงสีเดียวกับของจังหวัด โดยมีตรา อกท. ขนาดความสูงสี่สิบสองเซนติเมตร อยู่ตรงกลางผืนธง และมีข้อความ
อยู่ใต้ตราดังนี้
                                                ๒๒.๑.๑ บรรทัดที่หนึ่ง “ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”
                                                ๒๒.๑.๒ บรรทัดที่สอง ชื่อหน่วย อกท.
                                                                อักษรทั้งสองบรรทัด ขนาดความสูงของตัวอักษรสี่เซนติเมตร
                                ๒๒.๒ ธง อกท.ระดับภาค มีขนาดกว้างหนึ่งร้อยเซนติเมตร ยาว หนึ่งร้อยห้าสิบเซนติเมตร
ใช้ธงสามแถบ แถบละสีเรียงลำดับจากบนลงล่างคือ สีเขียว ขาว และเหลือง แต่ละแถบมีขนาดเท่ากัน โดยมีตรา  อกท. ขนาดความสูงห้าสิบสองเซนติเมตร อย่ตรงกลางผืนธง และมีข้อความอยู่ใต้ตราดังนี้
                                                ๒๒.๒.๑ บรรทัดที่หนึ่ง “ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี”
                                                ๒๒.๒.๒ บรรทัดที่ ๒ ชื่อภาค
                                                                อักษรทั้งสองบรรทัด ขนาดความสูงของตัวอักษรห้าเซนติเมตร
                                ๒๒.๓ ธง อกท. ระดับชาติ มีขนาดกว้างหนึ่งร้อยยี่สิบเซนติเมตร ยาวหนึ่งร้อยห้าสิบเซนติเมตร ใช้ธงสามแถบ แถบละสี เรียงลำดับจากบนลงล่าง คือ สีเขียว ขาว และเหลือง แต่ละแถบมีขนาดเท่ากัน โดยมีตรา อกท. ขนาดความสูงหกสิบสองเซนติเมตร อยู่ตรงกลางผืนธง และมีข้อความอยู่ใต้ตราดังนี “ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” อักษรขนาดความสูงของตัวอักษรห้าเซนติเมตร

หมวด ๕

คณะกรรมการ อกท.

คณะกรรมการดำเนินงาน อกท. คณะกรรมการอำนวยการ อกท.

ครูที่ปรึกษา และ ที่ปรึกษา

                ข้อ ๒๓. ให้ อกท. แต่ละระดับ มีคณะกรรมการ อกท.ดังนี้
                                ๒๓.๑ คณะกรรมการ อกท. ระดับหน่วย ประกอบด้วย
                                                ๒๓.๑.๑ คณะกรรมการดำเนินงาน อกท. ระดับหน่วย
                                                ๒๓.๑.๒ คณะกรรมการอำนวยการ อกท. ระดับหน่วย
                                ๒๓.๒ คณะกรรมการ อกท. ระดับภาค ประกอบด้วย
                                                ๒๓.๒.๑ คณะกรรมการดำเนินงาน อกท. ระดับภาค
                                                ๒๓.๒.๒ คณะกรรมการอำนวยการ อกท. ระดับภาค
                                ๒๓.๓ คณะกรรมการ อกท. ระดับชาติ ประกอบด้วย
                                                ๒๓.๓.๑ คณะกรรมการดำเนินงาน อกท. ระดับชาติ
                                                ๒๓.๓.๒ คณะกรรมการอำนวยการ อกท. ระดับชาติ
                                จำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา การเลือก ประธานกรรมการ กรรมการ วาระและการพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามวิธีการปฏิบัติของ อกท.
                ข้อ ๒๔ หน้าที่คณะกรรมการ อกท.
                                ๒๔.๑ คณะกรรมการ อกท. ระดับหน่วย มีหน้าที่ดังนี้
                                                ๒๔.๑.๑ พิจารณาให้ความเห็นชอบผลการตรวจสอบคุณสมบัติการเลื่อนระดับสมาชิก การคัดเลือกสมาชิกดีเด่น ระดับหน่วย ตามวิธีการปฏิบัติของ อกท.
                                                ๒๔.๑.๒ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ร่างระเบียบ วิธีการปฏิบัติ หลักเกณฑ์และรายละเอียดของ อกท. ที่มีการเสนอ แก้ไข เพิ่มเติม เพื่อเสนอระดับภาคต่อไป
                                                ๒๔.๑.๓ แสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรม อกท.
                                                ๒๔.๑.๔ ประชุมเพื่อหาแนวทางในการพัฒนา ปรับปรุงแก้ไข หรือหาข้อยุติในข้อขัดแย้งในการดำเนินกิจกรรม อกท.
                                                ๒๔.๑.๕ ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามวิธีการปฏิบัติ หลักเกณฑ์และรายละเอียดที่ อกท. กำหนด
                                ๒๔.๒ คณะกรรมการ อกท. ระดับภาค มีหน้าที่ดังนี้
                                                ๒๔.๒.๑ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ผลการตรวจสอบคุณสมบัติการเลื่อนระดับสมาชิก การคัดเลือกสมาชิกดีเด่น การคัดเลือก อกท. หน่วยดีเด่นระดับภาค ตามวิธีการปฏิบัติของ อกท.
                                                ๒๔.๒.๒ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ร่างระเบียบ วิธีการปฏิบัติ หลักเกณฑ์และรายละเอียดของ อกท. ที่มีการเสนอ แก้ไข เพิ่มเติม เพื่อเสนอในระดับชาติต่อไป
                                                ๒๔.๒.๓ แสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรม อกท.
                                                ๒๔.๒.๔ ประชุมเพื่อหาแนวทางในการพัฒนา ปรับปรุงแก้ไข เพื่อหาข้อยุติ
ในข้อขัดแย้งต่าง ๆ ในการดำเนินกิจกรรม อกท.
                                                ๒๔.๒.๕ ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามวิธีการปฏิบัติ หลักเกณฑ์และรายละเอียดที่ อกท. กำหนด
                                ๒๔.๓ คณะกรรมการ อกท. ระดับชาติ มีหน้าที่ดังนี้
                                                ๒๔.๓.๑ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ผลการตรวจสอบ คุณสมบัติการเลื่อนระดับสมาชิก การคัดเลือกสมาชิกดีเด่น การคัดเลือก อกท. หน่วยดีเด่น ตามวิธีการปฏิบัติของ อกท.
                                                ๒๔.๓.๒ พิจารณาให้ความเห็นชอบในการ แก้ไข เพิ่มเติม ระเบียบนี้
                                                ๒๔.๓.๓ พิจารณาให้ความเห็นชอบในการกำหนด แก้ไข เพิ่มเติม วิธีการปฏิบัติของ อกท. หรือหลักเกณฑ์และรายละเอียด ประกอบวิธีการปฏิบัติของ อกท.
                                                ๒๔.๓.๔ แสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรม อกท.
                                                ๒๔.๓.๕ ประชุมเพื่อหาแนวทางในการพัฒนา ปรับปรุงแก้ไข หรือหาข้อยุติในเรื่องขัดแย้งในการดำเนินกิจกรรมของ อกท.
                                   

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13889เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2006 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ฝน เหรัญญิกอกท.หน่วยระนอง ปี50-51

สวัสดีค่ะคณะกรรมการอกท.หน่วยพรานทะเลทุกคน จากการที่ได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมการหน่วยพรานทะเลแล้ว ต้องยอมรับว่ามีความสามารถจริงๆค่ะ ขอให้อกท.หน่วยพรานทะเลอยู่คู่กับอกท.ตลอดไปนะค่ะ

ขอให้คณะกรรมการอกท.หน่วยพรานทะเลทำงานอย่างมีความสุขน๊ะ

(โชคร้ายตลอดด้วย)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท