การปลูกทดสอบคัดเลือกข้าวพันธุ์ผสม


            มาถึงความรู้ก้อนนี้ ยังคงเป็นเรื่องต่อเนื่อง ที่นับได้ว่าขั้นตอนนี้มีความสำคัญไม่แพ้ขั้นตอนอื่นๆที่ได้นำเสนอไปแล้ว ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนการปลูกคัดเลือกข้าวลูกผสม ซึ่งข้าวลูกผสมนั้นจะมีการกระจายตัวที่หลากหลาย การปลูกคัดเลือกเพื่อค้นหาพันธุ์ที่ต้องการจึงควรมีรูปแบบวิธีการคัดเลือกให้เหมาะสมกับระบบการผลิต  เช่น การคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับระบบเกษตรยั่งยืน การปฏิบัติดูแลรักษาจำเป็นต้องสอดคล้องกับระบบ ตั้งแต่การคัดเลือกจนกว่าจะได้พันธุ์ใหม่ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ และจำเป็นต้องปลูกทดสอบคัดเลือกอย่างต่อเนื่อง 6-8 รุ่น ดังนี้
            1. ข้าวลูกผสมรุ่นที่ 1 ( F1 )
            นำเมล็ดพันธุ์ที่ได้มาเพาะกล้า เมื่ออายุครบ25 วัน ย้ายปลูกลงกระถางหรือลงแปลง จัดระยะปลูก 25X25 ซ.ม.ปักดำกอละ1 ต้น การปฏิบัติดูแลรักษาบำรุงดินด้วยปุ๋ยหมักควบคู่กับการใช้จุลินทรีย์ ใช้สมุนไพรในการป้องกันแมลงหรือหากพบว่าต้นข้าวไม่ต้านทานต่อโรค หรือแมลงให้กำจัดต้นข้าวนั้นทิ้งไป    การคัดเลือกในรุ่น 1 หากใช้แม่พันธุ์เป็นข้าวนาปี พ่อพันธุ์เป็นข้าวนาปรัง รุ่นลูกจะต้องออกรวงนอกฤดูกาลได้ ถ้าหากพบว่าต้นใดไม่ออกรวงแสดงว่าเกิดจาการผสมตัวเองให้ถอนกำจัดทิ้งไปคัดเลือกเก็บเกี่ยวเฉพาะต้นที่เข้าเกณฑ์ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
            2. ข้าวลูกผสมรุ่นที่ 2 ( F2  )
          ในรุ่นนี้จะมีการกระจายตัวทางพันธุกรรมมาก การปลูกคัดเลือกจะต้องปลูกข้าวทุกเมล็ดที่ผ่านการคัดเลือกจากรุ่น 1 วิธีการปลูกตกกล้าอายุ 25 วัน ถอนแยกปักดำระยะ 25 X25 ซ.ม. ปักดำจับละหนึ่งต้น การปฏิบัติดูแลรักษา เหมือนในรุ่นที่ 1      การคัดเลือกยึดตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เป็นเกณฑ์ ซึ่งอาจพบในลักษณะที่ต้องการในรุ่นนี้ แต่ยังไม่สม่ำเสมอ การเก็บเกี่ยวแยกกอ แบ่งตามลักษณะอายุการเก็บเกี่ยวแยกไว้เป็นชุด ๆ ทดสอบการเป็นท้องไข่ เลือกรวงที่ไม่เป็นท้องไข่ และมีคุณภาพเมล็ดดีปลูกในรุ่นที่ 3
            3. ปลูกลูกผสมในรุ่นที่ 3  ( F3  )
            นำเมล็ดที่ผ่านการคัดเลือกจากรุ่นที่ 2 มาตกกล้าแยกเป็นชุด ๆ เมื่ออายุกล้าได้ 25 วัน นำไปปักดำจัดแถวปลูกระยะ 25 X25 ซ.ม. โดยแยกปลูกชุดละ4 แถวหรือมากกว่า ความยาวประมาณ5 เมตร ต่อตัวอย่าง  การดูแลรักษาเหมือนรุ่น 1 กำจัดต้นที่แตกต่างจากวัตถุประสงค์ออกไป                              
          4.ข้าวลูกผสมรุ่นที่ 4 – 6  ( F4-F6 )
            ข้าวลูกผสมในรุ่นที่ 4 – 6 ในบางตัวอย่างพบว่ามีความสม่ำเสมอทางสายพันธุ์บ้างแล้ว การปลูกคัดเลือกในรุ่นนี้นำเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกจากรุ่นที่ 3 เพาะกล้าแยกเป็นชุด ๆ เมื่อต้นกล้าอายุ 25 วัน ถอนแยกปักดำจัดระยะแถวปลูก 25 X25 ซ.ม. ความยาวของแปลงปลูกประมาณ 5 เมตร การปฏิบัติดูแลรักษาเหมือนรุ่นที่ 1 การคัดเลือกกำจัดต้นที่อ่อนแอไม่ต้านทานโรค แมลง ทิ้งไปเลือกเก็บเกี่ยวเฉพาะต้นที่มีลักษณะดีตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เช่น การออกรวงสุกพร้อมกัน การให้ผลผลิตดี ต้านโรค แมลงได้ดี คุณภาพเมล็ดดี จากนั้นนำเมล็ดไปทดสอบคุณภาพความหอมและการเป็นท้องไข่ เลือกตัวอย่างที่ไม่เป็นท้องไข่ ปลูกคัดเลือกต่อในรุ่นที่ 6, 7, 8 พันธุ์ข้าวที่คัดเลือกได้อาจจะมีความแตกต่างกันหลายลักษณะในหนึ่งคู่ผสมขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้คัดเลือก สายพันธุ์ที่ผ่านการปลูกคัดเลือก 6 -8 รุ่น จะมีความนิ่งทางสายพันธุ์สูง สามารถนำไปปลูกขยายเปรียบเทียบผลผลิต และรับรองพันธุ์เพื่อปลูกเป็นพันธุ์ใหม่ต่อไป 

คุณคงคิดว่า เรื่องนี้จะเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับนักเรียนชาวนาใช่หรือไม่ แต่ขอบอกว่าในความเป็นจริงแล้ว เรื่องของการเรียนรู้ลงลึกในมิติของข้าว ถ้านักเรียนชาวนาไม่ให้ความสนใจ แน่นอนว่า องค์ความรู้นี้ น่าจะคล้ายกับว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่มีความจำเป็นที่ชาวนาจะต้องเข้าใจ จริงอยู่ในส่วนของรายละเออียดที่ถ้าคุณอ่าน คุณจะพบว่า มันมีความเป็นทางการเป้นวิชาการอย่างมาก แน่นอนว่า การให้ความรู้นักเรียนชาวนาโดยลอกวิธีการทั้งหมดไปบอกกับชาวนาตามขั้นตอนนั้น แม้แต่นักศึกษาที่เรียนมาทางเกษตร ก็คงจะบ่นอุบ ด้วยมันเป็นเรื่องเหมือนกับว่าไม่ชวนให้รู้สึกอยากเรียนรู้เลย แต่วิธีการที่ข้าวขวัญใช้กับนักเรียนชาวนานั้น เป็นเพียงการดึงข้ออ้างอิงทางวิชาการมาประกอบการเรียนรู้เท่านั้น เราจำเป็นต้องใช้เอกสารอ้างอิงทางวิชาการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่ความน่าเชือ่ถือก็ไม่เท่ากับความมั่นใจที่ได้ลงมือเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ ซึ่งวิธีการที่เราใช้ คือ การเรียนรู้ในแปลงนาจริงในช่วงฤดูกาลผลิตของนักเรียนชาวนาที่สนใจจะทดลองนั่นแหล่ะ ใช้พื้นที่จริง ใช้วิธีการที่อธิบายแบบง่ายๆไม่ยุ่งยากและซับซ้อน โดยมีเจ้าหน้าที่ข้าวขวัญและนักเรียนชาวนาที่ทดลอง รวมกันสังเกตุ และวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้น การได้มีโอกาสไปสังเกตุการเปลี่ยนแปลงของต้นข้าวในทุกๆสัปดาห์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักเรียนชาวนาได้เห็นพัฒนาการและสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นของระบบนิเวศน์ในนาข้าว สิ่งนี้ต่างหากที่เราอยากเห็น การเรียนรู้ที่จะช่วยจุดประกายความเชื่อมั่น ความศรัทธาในวิถีเกษตรยั่งยืนแก่ชาวนา....เรื่องนี้เป็นเรื่องสนุกของนักเรียนชาวนาเค้าเลยล่ะ ฉันของการันตี

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13875เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2006 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 01:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท