หลักธรรมของผู้ครองเรือน


ทุราวาสา ฆรา ทุกขา แปลว่า เรือนที่ครองไม่ดีย่อมนำทุกข์มาให้
            
             อ่านและได้ยินหลักธรรมเกี่ยวกับการครองเรือนมาเยอะ แต่ก็มาสะดุดกับหลักธรรมของผู้ครองเรือน ของพระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมโม)

             ท่านกล่าวไว้ว่า อันการครองเรือนย่อมเป็นสิ่งสำคัญไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ๆ ผู้ครองเรือนหากเป็นคนฉลาดรู้จักหลีกเลี่ยงเหตุอันจะทำให้การครองเรือนล่มจ่ม การครองเรือนก็จะมีแต่ความสมบูรณ์ไม่ตกอับ

             การครองเรือน มีด้วยกัน 2 วิธี

1.การครองเรือนแบบทางโลก หมายถึง ครองอย่างโลก ไม่มีกฏ ตามอารมณ์ เหมือนสวะลอยตามน้ำ น้ำขึ้นก็ขึ้นตาม น้ำลงก็ลงตาม คนหย่าร้าง ทะเลาะวิวาทก็ล้วนเกิดจากการครองเรือนแบบนี้

2.การครองเรือนชนิดธรรมวิธี หมายถึง การครองเรือนแบบยึดธรรมะไว้เป็นหลักปฏิบัติใช้ธรรมะคุมอารมณ์ตลอด มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง

            ประเภทของเรือนที่ครอง

1.เรือนนอก หมายถึง บ้านเรือนที่อาศัย ต้องรู้จักรักษาความสะอดาอยู่เสมอ ผู้ที่มีธรรมเมื่อบ้านเรือนสกปรกก็ขัดนัยน์ตา พาให้ทุกข์ใจ ทั้งเป็นพาหนะให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ  สามีภรรยาก็จัดเข้าประเภทเรือนนอกด้วย เพราะถ้าหากครองกันไม่ดี ไม่รู้จักเอาอกเอาใจกัน ละเลยต่อหน้าที่ของสามีภรรยาที่ดี ย่อมจะไม่สามารถครองรักครองน้ำใจในระหว่างกันไว้ได้ ลำบากเหมือนตกนรกทั้งเป็น

2.เรือนใน หมายถึง ตัวเราทุก ๆคน ร่างกายจัดเป็นเรือนด้วยประเภทหนึ่ง  หากครองไม่ดีก็ไม่มีความสุข  บางคนครองเรือนติดไปทางตระหนี่ ไม่รู้จักใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ ทนดอทนอยากต้องนั่งเฝ้าทรัพย์อย่างปู่โสมลงท้ายได้ดีลูกหลาน คนอย่างนี้ไม่น่านับถือ คนโกงตัวเอง  ท่านผู้รู้เตือนไว้ว่า "การครองเรือนต้องจัด 3 รายให้พอดี คือ รายรับต้องพอดี รายจ่ายก็ต้องพอดี และรายเหลือก็ต้องให้พอดี"ถ้าผิดจากนี้ไปก็เข้าข่ายขาดี เกินดี ตั้งตัวได้ยาก

3.เรือนใจ เป็นที่ทราบกันดีว่า ใจสำคัญกับคนเรา กายวาจาที่จะทำจะพูดขึ้นอยู่กับใจ ความสุขก็มาจากใจ  การครองเรือนใจก็คือการครองเรื่องที่เกิดกับใจ  เรื่องของใจมีมากทั้งเรื่องเย็นและเรื่องยุ่งนับไมถ้วนแต่ถ้าประมวล ก็แบ่งได้ 2 เรื่อง คือ เรื่องชอบกับเรื่องชัง ตลอดเวลาใจเราก็วิ่งวุ่นครุ่นคิดแค่นี้เป็นส่วนใหญ่

         การใช้ขันติเป็นหลักครองใจ 

ขันติ ความอดทน ธรรมะข้อนี้สำคัญที่สุด เปรียบเหมือนเสาบ้าน บ้านเรือนถ้าขาดเสาก็กลายเป็นไม้เราดี ๆ นี่เอง คนเราถ้าขาดความอดทน ความดีอื่นก็ไม่เจริญ

ขันติ ท่านแปลว่า ความอดทนเป็นคำแปลที่เหมาะเจาะได้ใจความ

อด คือ อดต่อสิ่งที่ชอบ ทน คือ ทนต่อสิ่งที่ชัง

ความอยากของคนเราบางอย่างแสลง เช่น อยากเล่นการพนัน อยากสุรุ่ยสุร่าย  ชอบใช้เงินเกินตัว เป็นเหตุกู้หนี้ยืมสิน

ทน คือ ทนต่อสิ่งที่ชัง พอประมวลได้ 3 อย่าง คือ

1.ทนต่อความเจ็บป่วย อันเป็นเรื่องธรรมดา บางคนเมื่อเจ็บป่วยทนไม่ไหว ตีคนโน้นคนนี่ไปหมด จนคนพยาบาลอิดหนาระอาใจ หมดความสงสาร บางคนถึงกับแช่งให้ตายไว ๆ

2.ทนต่อความลำบาก อันเกิดจากดินฟ้าอากศร้อนหนาว หิวกระหาย  ในการทำงานควรดูตัวอย่าง หญ้าแพรก ซึ่งทนแดดทนฝน ทนเหยียบย่ำ ทนได้ทั้งนั้น

3.ทนต่อความเจ็บใจ คือใจของคนเรารู้จักเจ็บเหมือนกัน ท่านว่า "เจ็บกาย หายไว เจ็บใจหายยาก"

ฉะนั้นถ้าใครรู้ว่าอาการเจ็บจะเกิดขึ้น จงรีบรักษาเสียด้วยยา คือความอดทน

       เรือนทุกประเภททั้งเรือนนอก เรือนใน เรือนใจ ถ้าเจ้าของครองไม่ดีก็ไม่มีความสุข ฉะนั้น พระพุทธเจ้าผู้ทรงเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาจึงได้ตรัสเตือนใจไว้ว่า ทุราวาสา ฆรา ทุกขา แปลว่า เรือนที่ครองไม่ดีย่อมนำทุกข์มาให้ดังนี้

หมายเลขบันทึก: 138524เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2007 20:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ในการครองเรือน

  • ดังที่กล่าวไว้ปลูกบ้านตามใจผู้อยู่
  • ผูกอู่ตามใจผู้นอน
  • ยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
  • ขอบคุณครับ 
     คงได้เรียนรู้กันนะคะ

ขอบคุณมากครับ..ที่เลิอกธรรมะที่อ่านแล้วเข้าใจง่ายๆ มาแบ่งปันให้ผู้ที่ยังไม่ค่อยมีความรู้ ความเข้าใจในหลักธรรมได้อ่าน

สวัสดีค่ะคุณกิตติคุณ

- ยินดีค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท