เสียงกระซิบเบื้องหลังปรากฎการณ์


ให้แข็งเหมือนหิน ก็ยังบิ่นด้วยฆ้อน ให้ใสเหมือนน้ำ ก็ยังขุ่นคล้ำด้วยตะกอน

                ปีพุทธศักราช ๒๕๔๔ ข้าพเจ้ารับหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาพระพุทธศาสนาให้กับนักเรียนในโรงเรียนของรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดชุมพร เกี่ยวกับการเรียนการสอนดูเหมือนทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้หวนคิดขึ้นมาคือ เสียงกระซิบเบื้องหลังปรากฏการณ์
                จำได้ว่า ช่วงหนึ่งเป็นช่วงของการรับประทานอาหารเที่ยง จะมีครูบาอาจารย์ผู้มีเวลาว่างเข้ามาพูดคุยกับคนที่คุ้นเคยในหมวดสังคม คำพูดชุดหนึ่งได้กล่าวถึงบัตรเชิญไปงานแต่งงานลูกสาวของนักการเมืองผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง ต่างคนต่างก็พูดหยอกล้อกันบ้างประชดประชันกันบ้างประสาคนคุ้นเคย ข้าพเจ้าไม่ได้ร่วมสนทนาด้วยเพราะไม่ได้รับบัตรเชิญ และมักจะชอบอยู่คนเดียวท่ามกลางเสียงความคุ้นเคยรอบข้าง
               
“เอ้า แจ๋น (นามสมมติ) เธอได้บัตรเชิญไปงานแต่งงานลูกสาว ส.ส.หรือเปล่า” “ได้สิพี่ ทำไมหรอ” “อ้าวเธอรู้จักลูกสาว ส.ส. หรือรู้จัก ส.ส.ล่ะ” “เปล่านี่พี่ หนูไม่รู้จักใครเลย” “ฉันก็เหมือนกัน ไม่ได้รู้จักเลย แต่ก็ได้รับบัตรเชิญ” “อ้าวหรอพี่ นึกว่าหนูเป็นคนเดียว แต่ก็ดีแล้วนี่ ถือว่าเป็นเกียรติ” “บ้า..ให้เกียรติเราหรือว่าให้เกียรติเขา หรือว่าเป็นเกียรติกับใคร” “เหอะน่า เขาเชิญมาแล้วก็ไปสักหน่อยแหละ” “ไม่ใช่โยมใช่ญาติอะไรของฉัน ฉันจะไปทำไม” “พี่คิดดู ถ้าไม่ไป เกิดมีการเซ็นชื่อหรือไม่เห็นซองของพี่นะ เมื่อมีการตรวจสอบว่าใคร พี่อาจเดือดร้อนได้นะ” “ก็ถูกของเธอ ไปน่ะดีแล้วไม่ใช่กลัวว่าจะเดือดร้อน แต่เห็นว่า ส.ส.คนนี้ฉันเลือกด้วยแหละ...”
                ทราบภายหลังว่า ส.ส.ท่านนี้ แสวงหารายชื่อข้าราชการในจังหวัดชุมพรมาจากที่แห่งหนึ่ง แล้วส่งบัตรเชิญแบบปูพรม ก็คงว่าอะไรกันไม่ได้ เพราะในจังหวัดเมื่อมีงานศพที่ใด จะเห็นพวงหรีดของ ส.ส.ท่านนี้ติดอยู่ทุกงาน ในเมื่อ ส.ส.คือผู้ที่ประชาชนเลือก การไปร่วมเป็นเกียรติให้กับคนที่เราไว้วางใจเป็นสิ่งถูกแล้ว การที่ ส.ส.ท่านนั้นจะไม่เชิญก็ไม่ได้เพราะคงจำไม่ได้ว่า พวงหรีด ส.ส. ไปอยู่ที่บ้านใครมาบ้าง แต่นั่นแหละ ถ้า ส.ส.ท่านนี้เดินเท้าไปพูดคุย เรียนเชิญคนด้วยปาก พร้อมกับยื่นบัตรเชิญให้ น่าจะมีอะไรที่ปลาบปลื้มใจมากกว่า ทำให้หวนคิดถึงตอนที่เล่าปี่เดินทางไปเชิญขงเบ้งให้มาเป็นที่ปรึกษาฉะนั้น อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วกับการที่ ส.ส.จะเดินเท้าไปแจกบัตรเชิญทั้งจังหวัด การที่เขาส่งบัตรเชิญมาก็คือการให้เกียรติอย่างแท้จริง
                และวันนี้ มีเสียงกระซิบเชิงหยอกล้อให้ข้าพเจ้าต้องคิดถึงความหลังอีกครั้งหนึ่ง และต้องเขียนออกมาเพื่อเตือนสติข้าพเจ้าว่า
๑) ฉันคือมนุษย์ตัวน้อยคนหนึ่ง ไม่ได้ยิ่งใหญ่หรือแปลกไปกว่ามนุษย์คนใด
๒) เหลาจื้อสอนว่า การอ่อนน้อมถ่อมตนจะเป็นผู้นำโลก (แต่ข้าพเจ้าก็ยังแข็งกระด้าง นิสัยเสียอยู่เป็นประจำ)
๓) การอ่อนน้อมถ่อมตนแต่มีวาระซ่อนเร้น สู้แข็งกระด้างจะดีกว่า
๔) สติตั้งมั่น สัมปชัญญะครองใจ ทำทุกสิ่งด้วยความปรารถนาดี
๕) อย่าเป็นคนอาศัยผู้อื่นเพื่อกลับมายืนเชิดหน้าท่ามกลางสังคม ดูเหมือนจะภาคภูมิใจในศักดิ์ศรี แต่มีความหมองใจซ่อนเร้นภายใน
๖) จงพยายามทำสิ่งที่ดี ด้วยความคิดสร้างสรรค์ แม้สิ่งดีนั้นจะเป็นสิ่งร้ายสำหรับบางคนก็ตาม ถ้าเชื่อมั่นว่าเป็นสิ่งที่ดี จงยืนหยัดในความเชื่อนั้น
๗) ชีวิตคือความว่างเปล่า

     ระหว่างที่ข้าพเจ้ากำลังเขียนเรื่องราวอยู่นี้ เสียงเพลงกระแทกสนั่นดังมาจากชั้นสองของโรงยิม ซึ่งอยู่ฟากถนนหนึ่งของห้องที่ข้าพเจ้าพักอาศัยอยู่ เสียงเพลงและดนตรีที่เร่าร้อน เสียงโห่ร้อง กรีดเสียง อย่างสะใจของนักศึกษาหอสอดแทรกความอึกทึกของดนตรีมาอย่างถี่ยิบ เพราะวันนี้คือวันฉลองการแข่งกีฬาของนักศึกษาหอพัก ให้หวนคิดถึงสาระที่ดี (สารคดี-หนัง) จาก “เสียงกู่จากครูใหญ่” ช่างแตกต่างกันนัก ขณะที่ฟากหนึ่งของชนบท เด็กน้อยล่องเรือไปโรงเรียนพร้อมด้วยครูบาอาจารย์ เสียงเพลงที่ร้องพร้อมกันคือเสียงเพลงแห่งชีวิตเพื่อการยกคุณภาพชีวิตที่ดี ฟังเสียงขณะนี้สิ เป็นเสียงเพื่อให้ศึกษาถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือว่าความมีคุณภาพชีวิตที่เร่าร้อน การแข่งขัน การแก่งแย่งเพื่อให้ได้สิ่งที่ปรารถนาเหนือกว่าผู้ใด ฯลฯ ข้างบนคงเป็นเด็กหนุ่มสาวที่กำลังดิ้นเร่าร้อนไปตามเสียงเร่าร้อนของเพลงสมัยใหม่ ต่อไปเด็กเหล่านี้แหละจะไปเป็นครูอาจารย์สอนลูกหลานของข้าพเจ้า ชีวิตคือการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา “เหนื่อยหรือยังลูกเอ๋ย กับการเต้นเร่าบนเวทีการแสดง พักบ้างเถอะ นี่คือการผ่อนคลายที่ดีที่สุดหรือ”
     การนั่งจินตนาการและเชื่อตามคำบอกเล่าของครูบาอาจารย์ที่ดูแลอย่างเดียวคงไม่ได้ ข้าพเจ้าควรขึ้นไปดูให้เห็นกับตาจะดีกว่า ๒๑.๔๐ น. หลังจากปิดคอมพิวเตอร์เรียบร้อยจึงเดินขึ้นไปดู ทุกอย่างเป็นไปตามที่เพื่อนท่านหนึ่งเล่าให้ฟังเมื่อปีที่แล้ว สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่ความจริง นักศึกษาบางคนที่มองว่าไม่น่าจะเป็นก็เป็น เธอเหล่านั้นเก่งเหลือเกินกับการเต้น การส่งเสียงกรีดร้องแหลมเล็กพร้อมกับจังหวะดนตรี เธอไปเรียนความเก่งเหล่านั้นมาจากไหน ฉันอยากไปเรียนบ้าง แต่ฉันคงรู้สึกละอายใจมากเวลาที่ฉันต้องเต้นไปตามจังหวะดนตรี แค่คิดถึงกิริยาอาการที่ฉันเต้น ฉันก็เวทนาแล้ว จะให้ฉันกรีดร้องให้เสียงแหบแห้ง ฉันว่าฉันทำไม่ได้แน่ๆ เพราะ แค่เพียงฉันใช้เสียงบรรยายในชั้นเรียนก็แหบแห้งพอแล้วกับการต้องใช้พลังเสียงให้ดังเพื่อส่งเสียงนี้ไปให้แก่คนที่ตั้งใจฟังโดยแข่งกับเสียงพูดคุยของเธอบางกลุ่ม ฉันเกิดผิดยุคเสียแล้วสิ คิดไปคิดมาต้องกลับมาที่ห้องเพื่อเปิดคอมพิวเตอร์อีกครั้งหนึ่ง บันทึกสิ่งนี้ไว้ในความทรงจำ เผื่อว่าวันหนึ่งฉันเรียนรู้และปฏิบัติได้อย่างคล่องแคล่วในสิ่งที่นักศึกษาเหล่านี้มีความรู้และปฏิบัติได้ดีกว่าฉัน ฉันจะได้หวนกลับมาคิดว่า ฉันลืมอดีตไปได้อย่างไร

คำสำคัญ (Tags): #ศาสนาและปรัชญา
หมายเลขบันทึก: 13852เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2006 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท