การทำบรรณาธิกรณ์


การทำบรรณาธิกรณ์

 การทำบรรณาธิกรณ์

เมื่อตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขข้อความ ข้อคำถามจนเป็นที่พอใจแล้ว ก็นำมาทำบรรณาธิกรณ์ (editing) คือ การพิจารณาเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

1.  การจัดวางรูปแบบ (format) แบบสอบถาม เป็นการพิจารณาตั้งแต่ว่าจะใช้กระดาษชนิดใด ขนาดใด ใช้ตัวพิมพ์ชนิดใด และจะพิมพ์อย่างไร การเว้นที่ว่างให้เหลือจากกรอบตัวพิมพ์ควรเว้นไว้เท่าใด ที่ใดควรย่อหน้า ที่ใดควรเว้นวรรค จะใช้วรรคใหญ่หรือวรรคเล็ก หลักใหญ่ ๆ ในการจัดวางรูปแบบของแบบสอบถามนั้น ควรจะได้คำนึงถึงความสะดวกของผู้ตอบเป็นเกณฑ์ และในขณะเดียวกันก็ควรมีลักษณะที่โน้มน้าวใจให้อยากตอบด้วย

2.  ตรวจสอบเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำ ประโยค การเรียงลำดับประโยค รวมทั้งตัวสะกดการันต์ให้ถูกต้อง ซึ่งใช้หลักเช่นเดียวกับการตรวจสอบทางด้านภาษาตามที่กล่าวมาแล้ว

3.  การจัดทำจดหมายนำและแนะนำในการตอบแบบสอบถาม การทำจดหมายนำเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแบบสอบถาม ซึ่งจะต้องจัดทำไว้ให้เรียบร้อย เพื่อให้ผู้ตอบเข้าใจจุดมุ่งหมายของการตอบคำถามนั้น ๆ ว่าต้องการอะไร จดหมายนำนี้นับว่ามีส่วนสำคัญมากที่จะทำให้เราได้รับแบบสอบถามคืนมากน้อยเพียงใด โดยปกติจดหมายนำจะมีสาระสำคัญ ดังนี้

3.1  แจ้งให้ทราบถึงโครงการวิจัย ผู้ดำเนินการวิจัย วัตถุประสงค์ ขอบเขตระยะเวลา วิธีการและประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อโครงการนั้นสำเร็จ ตลอดจนชี้แจงถึงเหตุผลที่ส่งแบบสอบถามมาให้ตอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรเน้นความสำคัญในทำนองที่ว่าผลสำเร็จของการวิจัยนี้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือในการตอบ

3.2 คำมั่นสัญญาว่า คำตอบที่ส่งมาจะถือเป็นความลับ จะไม่มีการเปิดเผยว่าเป็นคำตอบของผู้ใด โดยเด็ดขาด

1.3  คำแนะนำในการตอบคำถาม

 การทดลองใช้

เมื่อทำบรรณาธิกรณ์ จัดทำเป็นชุดแบบสอบถามเรียบร้อยแล้ว ก่อนนำไปใช้จริงควรนำไปทดลองใช้เสียก่อน ซึ่งอาจจะทำง่าย ๆ โดยส่งแบบสอบถามไปให้กลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับตัวอย่างหรือประชากรที่จะใช้ศึกษาจำนวนหนึ่ง ซึ่งเหมาะสมกับเวลาและโอกาส แล้วนำผลการตอบนั้นมาพิจารณาเกี่ยวกับความเข้าใจคำถาม การแปลความหมายของข้อความ วิธีการตอบ ความชัดเจนของคำชี้แจง ปฏิกิริยาที่มีต่อคำถาม กระบวนการตอบ เป็นต้นว่า ผู้ตอบเข้าใจและตอบตรงที่เราคาดหมายไว้หรือไม่เพียงใด การเลือกคำตอบกระจายกันมากน้อยเพียงใด รวมทั้งนำผลการตอบมาลองวิเคราะห์ตามกระบวนการและวิธีการทางสถิติที่ต้องการทำวิจัยจริง เช่น การหาค่าอำนาจจำแนก และค่าความเชื่อมั่นหรือความเที่ยงของแบบสอบถาม จะได้รู้ว่าแบบสอบถามนั้นมีข้อเสีย ข้อบกพร่องอะไรบ้าง เพื่อแก้ไขให้สมบูรณ์ก่อนนำไปใช้จริง
หลังจากการทดลองใช้ และแก้ไขเรียบร้อยแล้วจึงจัดพิมพ์ข้อความเป็นแบบสอบถาม               ชุดใหม่ ตรวจสอบความผิดพลาดในการพิมพ์ เตรียมที่จะส่งไปให้บุคคลที่ต้องการต่อไป

หมายเลขบันทึก: 13792เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2006 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท