เครื่องมือการวิจัย การตรวจสอบคุณภาพ และการรวบรวมข้อมูล


3) แบบทดสอบ (Test)
ลักษณะของเครื่องมือชนิดหรือประเภทนี้มักจะหมายถึงเครื่องมือที่ใช้วัดพฤติกรรมประเภทความรู้ หรือลักษณะที่สามารถระบุได้ว่าผลการวัดที่ได้นั้น ถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่ หรือในลักษณะที่สามารถให้คะแนนได้ตามปริมาณความถูกต้องของคำตอบอาจให้ข้อละ 1 คะแนนหรือมากกว่าก็ได้ แต่มักจะไม่รวมถึงผลการวัดที่ให้คะแนนเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) เครื่องมือประเภทแรกนี้เรามักจะรู้จักกันดี เพราะต่างก็เคยถูกวัดกันมาตั้งแต่เด็ก ก็คือพวก      ข้อสอบทั้งหลาย ถ้าเป็นรายข้อก็เรียกว่า ข้อสอบ ถ้ารวมทั้งฉบับก็เรียกว่าแบบทดสอบ
แบบทดสอบยังแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้อีกหลายประเภท และแบ่งได้หลายแบบแล้วแต่ว่าผู้แบ่งจะแบ่งตามอะไร เช่น ถ้าแบ่งตาม สมรรถภาพที่จะวัด ก็จะแบ่งเป็น แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ (Achievement test) แบบทดสอบวัดความถนัด (Aptitude test) และแบบทดสอบวัดบุคลิกภาพ (Personality test) หรือ วัดการปรับตัว (Adjustment test) บางตำราก็เรียกว่า แบบทดสอบบุคคล-สังคม (Personal-social test) หรือถ้าจะแบ่งตามจุดมุ่งหมายในการสร้าง ก็จะแบ่งเป็นแบบทดสอบแบบอัตนัย (Subjective test) กับแบบทดสอบแบบปรนัย (Objective test) ซึ่งแบบทดสอบแบบปรนัยนี้ยังแบ่งเป็นอีกหลายแบบ คือ แบบถูก-ผิด แบบจับคู่ แบบให้เติมคำสั้น ๆ และ แบบเลือกตอบ ที่เรารู้จักกันดีที่สุดและนิยมใชักันมากที่สุดในประเภทปรนัยด้วยกัน หรือถ้าจะแบ่งตามการกระทำหรือการตอบ ก็อาจแบ่งเป็น แบบให้ลงมือกระทำ (Performance test) แบบให้เขียนตอบ (Paper-pencil test) และแบบให้ตอบปากเปล่า (Oral test) นอกจากนี้ยังมีการแบ่งตาม เวลาที่ให้ตอบ ซึ่งจะแบ่งเป็น แบบใช้ความเร็ว (Speed test) แบบใช้เวลามาก ๆ หรือไม่จำกัดเวลา (Power test) ถ้าเป็นการแบ่งตามจุดมุ่งหมายในการนำผลไปใช้ประโยชน์ ก็จะแบ่งเป็น แบบทดสอบเพื่อวินิจฉัย (Diagnostic test) และ แบบทดสอบเพื่อการทำนาย (Prognostic test)
ในการใช้แบบทดสอบเพื่อเก็บข้อมูลนั้นจะใช้แบบใดก็ต้องดูว่าเราต้องการอะไร แล้วเลือกดูว่า แบบทดสอบประเภทหรือชนิดไหนจะสามารถให้ข้อมูลแก่เราได้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการวัด หลังจากนั้นจึงลงมือสร้างหรือจัดหา (ถ้ามีอยู่แล้ว) ถ้าสร้างไม่เป็นก็ต้องไปศึกษาวิธีสร้างเสียก่อน ว่าการออกข้อสอบแต่ละประเภทนั้นมีเทคนิคอย่างไร
4)  แบบสอบถาม
    (Ouestionnaire)
หมายถึง ชุดของคำถามที่มีลักษณะคล้ายแบบสัมภาษณ์   ซึ่งสร้างขึ้นอย่างรัดกุม            รอบคอบเฉพาะเรื่อง เพื่อให้ประชากรจำนวนหนึ่ง เป็นผู้ตอบเรื่องราว และความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ โดยผู้ตอบแบบสอบถามเป็นผู้ตอบเอง
หรืออาจกล่าวได้ว่า แบบสอบถามเป็นเครื่องมือที่สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ตอบเติมคำตอบเอง ปกติจะมีรายการข้อความ หรือคำถามหลายหัวข้อรวมกัน การสร้างแบบสอบถามที่ดีและใช้อย่างเหมาะสมนั้น ทำได้ยาก ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ เพราะการสร้างแบบสอบถามที่ดีต้องอาศัยการกำหนดจุดมุ่งหมายที่จำเพาะและชัดเจน ข้อความที่ใช้ต้องเป็นภาษาที่ดีและเข้าใจง่าย รูปแบบของแบบสอบถามต้องน่าสนใจ บุคคลที่จะตอบแบบสอบถามต้องได้รับการตรวจสอบว่า      มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะตอบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความเที่ยง (Reliability) และความตรง (Validity) สูง
การสร้างแบบสอบถาม
การสร้างแบบสอบถามควรดำเนินการเป็นขั้นตอน ดังนี้
1.   กำหนดข้อมูลที่ต้องการ
2.   กำหนดหมวดหรือประเด็นหลักของเนื้อหา แจกจงประเด็นหลักเป็นประเด็นย่อยและกำหนดจำนวนข้อคำถาม
3.   กำหนดรูปแบบสอบถามที่จะใช้
4.   ร่างแบบสอบถามหรืออาจจะเรียกว่า ร่างคำถาม-คำตอบก็ได้
5.   การตรวจสอบเพิ่มปรับปรุงแก้ไข
6.   การทำบรรณาธิกรณ์
7.   ทดลองใช้
1.      การกำหนดข้อมูลที่ต้องการ
ก่อนที่จะลงมือสร้างแบบสอบถาม ผู้สร้างจะต้องถามตัวเองเสียก่อนว่าการรวบรวม       ข้อมูลเพื่อใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เราต้องการข้อมูลอะไรบ้าง และมีตัวแปรอะไรบ้างที่จะต้องนำมาพิจารณา  ซึ่งจะหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ได้ โดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของการวิจัยนั้น
2.      การกำหนดหมวดหรือประเด็นหลัก แจกแจงประเด็นย่อย และกำหนดจำนวน
ข้อคำถาม
เมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์และปัญหาของการวิจัยแล้ว ผู้สร้างต้องพิจารณาว่าประเด็นหลักจะมีอะไรบ้าง  ในขั้นนี้ผู้สร้างแบบสอบถามต้องเป็นผู้มีความรู้ในเนื้อหาสาระ ทฤษฎี             โครงสร้างที่เกี่ยวข้องซึ่งช่วยให้สามารถกำหนดประเด็นหลักได้ถูกต้อง ครบถ้วน ซึ่งถ้าผู้สร้างแบบสอบถามไม่สามารถตีเนื้อหาให้แตก แยกแยะเป็นหมวดได้แล้ว จำเป็นต้องอาศัยผู้รอบรู้ช่วยหรืออาจจะต้องทำการศึกษาสาระให้ถ่องแท้ก่อนจนแน่ใจว่า ประเด็นที่กำหนดมีอะไรบ้าง เมื่อกำหนดประเด็นหลักได้แล้ว แจกแจงประเด็นหลักแต่ละประเด็นออกมาเป็นประเด็นย่อยให้ครบถ้วน           ผู้สร้างแบบสอบถามต้องใช้ความรู้ หรือผลการศึกษาค้นคว้ามาช่วยแจกแจงประเด็นหลักออกเป็นประเด็นย่อยให้ครบถ้วนให้ได้  การกำหนดประเภทของคำถามนั้น  โดยทั่วไปประเภทของคำถามจำแนกได้ 3 ประเภท ดังนี้
ก. ประเภทถามความรู้
ข. ประเภทถามความคิดเห็น และทัศนคติ
ค. ประเภทถามพฤติกรรม
ในแบบสอบถามแต่ละฉบับ ผู้สร้างต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการสร้างว่าต้องการจะถามอะไร อะไรในที่นี้คือ ความรู้ ความคิดเห็น ทัศนคติ พฤติกรรม เพราะคำถามที่จะถาม สาระดังกล่าว มีความแตกต่างกันในภาษาที่ใช้ ซึ่งจะมีการกำหนดข้อคำถามประเภทของคำถาม
หมายเลขบันทึก: 13787เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2006 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท