Fat Embolism


การใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาเพื่อทำความกระจ่างชัดในสถานการณ์ต่างๆ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยป้องกันเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หรือการฟ้องร้องได้

ลองพิจารณาเรื่องราวต่อไปนี้ดู

ผู้ป่วยชายหนุ่มคนหนึ่งได้รับอุบัติเหตุจราจร มีกระดูกหักที่ต้นขาทั้งสองข้าง และกระดูกสันหลังหัก  ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ได้ผ่าตัดดามกระดูกต้นขาทั้งสองให้ทันที และวางแผนว่าจะผ่าตัดกระดูกสันหลังให้ในอีกสองสามวัน 

วันที่สองหลังจากผ่าตัด พยาบาลรายงานแพทย์ว่าผู้ป่วยมีไข้สูง ชีพจรเต้นเร็ว หายใจหอบ  ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์รับโทรศัพท์รายงานแล้วก็บอกว่า ไม่ใช่เรื่องของออร์โธ เพราะทางออร์โธจัดการกระดูกเรียบร้อยแล้ว  เหลือแต่รอผ่าตัดกระดูกสันหลัง

ร้อนถึงพยาบาลประจำหอผู้ป่วยต้องโทรศัพท์รายงานให้ผู้บริหารทราบเพราะเกรงว่าผู้ป่วยจะเป็นอันตราย  ท่านผู้บริหารซึ่งยังคงมีฝีมือทางด้านคลินิกอยู่ได้มาดูผู้ป่วย เมื่อเปิดผ้าห่มตรวจดูร่างกายก็พบว่ามี petechiae ที่บริเวณหน้าท้อง  จึงได้ให้เจาะเลือดดู พบว่ามีเกร็ดเลือดต่ำ  Hct สูงขึ้นเล็กน้อย  จึงได้ปรึกษาอายุรแพทย์มาช่วยดูว่ามีโอกาสจะเป็นไข้เลือดออกได้หรือไม่  อายุรแพทย์มาดูแล้วก็ให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นภาวะแทรกซ้อนจากภาวะแทรกซ้อนของ multiple fracture ที่เรียกว่า fat embolism  ซึ่งก็ได้ให้การรักษาอย่างทันท่วงที  และทางผู้บริหารก็ได้สั่งให้งดการผ่าตัดใดๆ ที่วางแผนไว้จนกว่าผู้ป่วยจะกลับเป็นปกติ

กรณีนี้ ให้ข้อคิดอะไรแก่เราบ้าง

1. ความรู้ว่า fat embolism เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วย multiple fracture หรือการใช้สว่านขยายโพรงกระดูกเพื่อใส่เหล็กดาม เป็นสิ่งที่ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ทุกคนทราบ  ซึ่งในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรฐาน  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะต้องประเมินผู้ป่วยอย่างรอบด้าน และสามารถวินิจฉัยสภาวะนี้ได้  นี่คือการใช้ core values ในหัวข้อการใช้มาตรฐานวิชาชีพในการปฏิบัติงาน

2. มีความจำเป็นที่จะต้องการสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันระหว่างแพทย์และพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยว่า fat embolism เป็น clinical risk ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในสภาวะใดบ้าง อาการอะไรที่ทำให้ทีมงานต้องมีความตื่นตัว เมื่อสงสัยว่าจะเกิดสภาวะนี้ขึ้นกับผู้ป่วย จะต้องทำอะไรบ้าง  เรื่องนี้ควรเป็น clinical risk ที่ควรอยู่ในหัวใจของทีมงานดูแลผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ทุกคน  รวมทั้งควรเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในการตามรอยการดูแลผู้ป่วย multiple fracture หรือผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดดามกระดูกที่มีความเสี่ยง

3. การสื่อสารระหว่างแพทย์กับพยาบาล เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม  หากพยาบาลทราบว่าสภาวะที่กำลังเผชิญอยู่นี้มีโอกาสเป็นอะไรได้บ้าง การประเมินผู้ป่วยเบื้องต้นและการสื่อสารกับแพทย์จะมีคุณค่าและตรงประเด็นยิ่งขึ้น  ทำนองเดียวกัน แพทย์ที่ได้รับรายงานข้อมูล ก็ต้องมีความรับผิดชอบในการมาประเมินผู้ป่วยด้วยตนเอง เพื่อให้การวินิจฉัยและสั่งการรักษา 

4. การที่โรงพยาบาลมีระบบที่สามารถรายงานผู้บริหาร และผู้บริหารมาจัดการให้มีแพทย์ในสาขาที่เกี่ยวข้องมาประเมินผู้ป่วยอย่างเหมาะสมนั้น  เป็นกลไกที่ช่วยป้องกันภาวะที่ไม่พึงประสงค์ได้เป็นอย่างดี  เป็นระบบรองรับที่จำเป็นที่สุดหลังจากที่กลไกอื่นๆ ใช้การไม่ได้ผลแล้ว

5. เครื่องมือคุณภาพทั้งหลายที่ใช้กันอยู่  ไม่ว่าจะเป็น risk profile, incident report, RCA, CPG ฯลฯ  หากไม่สามารถทำให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ป่วย fat embolism จะได้รับการตรวจพบและให้การรักษาอย่างทันท่วงทีแล้ว  เครื่องมือและกิจกรรมต่างๆ ทั้งหลายนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมุ่งเน้นคุณค่าในการป้องกันความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วย มากกว่าที่จะมุ่งเน้นทำกิจกรรมคุณภาพตามรูปแบบ
 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13763เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2006 18:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
เป็นตัวอย่างของความเสี่ยงทางคลินิกที่เขาเรียกว่า Clinical risk ซึ่งอาจเกิดกับผู้ป่วยที่ผ่าตัดกระดูกได้ทุกราย แต่เราจะหาทางประเมิน และป้องกันไม่ให้เกิดกันได้อย่างไร และที่สำคัญจะสื่อสารให้พยาบาลผู้ดูแลได้รู้ถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดและรายงานได้ถูกต้อง,ทันเวลา เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนหรือความเสี่ยงนั้นได้อย่างไร ( Teamwork& Patient Focus)

      เมื่อเย็น ดูละครแดจังกึม (อีกแล้ว แต่ของเขาดีจริง ๆ ทำไงได้ ดูแล้วคิดตามแล้วจะได้อะไรเยอะมาก) ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่เข้ากับสิ่งที่ ท่าน ผอ. คุณหมออนุวัฒน์พูดได้ข้างต้น จึงขอนำมาเล่าสู่กันต่อ

     เป็นตอนที่พระมเหสีแท้ง และคณะแพทย์ ได้ให้การรักษา แต่ไม่มีใครรู้ว่าท้องแฝด ทำให้อาการของพระมเหสียังทรุดเนื่องจากมีเด็กตายอยู่ในท้องอีกคน ซึ่งหมอหญิงที่เป็นคนตรวจก็ตรวจไม่พบ 

        แต่นางเอกจับชีพจรแล้วรู้สึกได้ว่ามีสิ่งผิดปกติ จึงพยายามศึกษาหาความรู้ (ทบทวนทางวิชาการ) เพื่อยืนยันว่าเป็นการตั้งครรภ์แฝดจริง เผอิญเพื่อนนางเอกไปบอกกับแพทย์หลวงก่อนที่พบข้อยืนยันด้วยวิชาการ  นางเอกจึงอธิบายให้คณะแพทย์ฟังว่าตัวเองจับพบชีพจรที่บ่งบอกว่ามีเด็กอยู่ในท้องอีกคน  ซึ่งเป็นชีพจรที่ลึกซึ่งหมอหญิงที่ตรวจตอนต้นตรวจไม่พบ แต่ก็ยินดีรับฟังความคิดเห็นของนางเอก (เปิดใจ ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น) คณะแพทย์ทั้งหมดจึงได้ตั้งทีมเพื่อช่วยกันวินิจฉัย และให้การรักษาจนพระมเหสีอาการดีขึ้น

           และมีประโยคหนึ่งซึ่งแพทย์หลวงพูดว่า  "แพทย์ที่ตรวจมานาน มักคิดว่าตนเองเก่ง จึงไม่สนใจในรายละเอียดสิ่งเล็กๆน้อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้"

     ประโยคนี้ น่าจะเป็นสิ่งเตือนใจสำหรับผู้ที่ทำงานคุณภาพในทุกด้านได้ว่า รายละเอียดสิ่งเล็กน้อย คือหนทางแห่งความเสี่ยง หากเราละเลย และขอให้ให้ระลึกถึง Core Value ๒ ตัว คือ ผู้รับผลงานเป็นศูนย์กลาง  และการวินิจฉัยบนพื้นฐานของความจริง (ManageMent By Fact) เพื่อเป้าหมายที่ต้องการตลอดไป

หนูอยากดูบ้างค่ะ แดจังกึม
ในตอนนี้หลังจากการรักษา มีการทำ AAR ด้วยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท