ดินนาของเรา


 ดินนาของเรา

             จะจับเข่าคุยกันเกี่ยวกับเรื่องดินๆ  ก่อนอื่นใดนั้น  นักเรียนชาวนาควรจะต้องเรียนรู้ดินในนาของตนเองเสียก่อน  ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเรียนรู้เรื่องดิน  เพราะดินในนาเป็นสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ๆตัว  เรียนรู้เพื่อทำความรู้จักและทำความเข้าใจดินในนาของตนเอง  ซึ่งนักเรียนชาวนาคลุกคลีกับดินมาโดยตลอด  ในคราวนี้จะฝึกให้นักเรียนชาวนาได้ทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับดิน  ทบทวนด้วยการจับเข่าคุยกันในกลุ่ม

             วงเสวนากลุ่มนักเรียนชาวนาบ้านโพธิ์เปิดฉากด้วยการเปิดประเด็นเรื่องดินๆ  โดยให้นักเรียนชาวนาแต่ละคนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับนาข้าว  ดิน  ปุ๋ย  เรื่องราวของแต่ละคนก็ถือเป็นข้อมูลที่สำคัญมาก  ในวงเสวนาทุกคนจะได้เรียนรู้ดินจากแปลงนาของเพื่อนในกลุ่มไปพร้อมกัน  เพราะนอกจากที่นักเรียนชาวนาแต่ละคนจะนำเสนอข้อมูลของตนเอง  ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้หรือการทบทวนสิ่งที่ตนเองได้รู้จักได้สัมผัสมาก่อน  ในขณะเดียวกัน  เรื่องราวของแต่ละคนที่ได้นำเสนอ  เพื่อนๆนักเรียนชาวนาจะได้ข้อมูลไปด้วย  หลายๆ คนคอยฟังเพื่อนเล่าเรื่องด้วยความอยากรู้อยากจะติดตามสภาพปัญหา  พร้อมๆกับคิดเปรียบเทียบระหว่างเรื่องราวของตนเองกับเพื่อนๆด้วย  ...  นี่เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกันของกลุ่ม

             เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้  ได้มุ่งเน้นไปยังเรื่องดินกับปัญหาสภาพดินในนา  จากการเล่าเรื่องดินๆของแต่ละคน  ทำให้เราๆท่านๆได้เรียนรู้ข้อมูลชิ้นใหญ่เลยทีเดียว  ข้อมูลดังกล่าวเป็น   เบื้องต้นที่ได้มาจากการบอกเล่าของนักเรียนชาวนาแต่ละคน  มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

หลังจากที่นักเรียนชาวนาได้จับเข่าคุยกันเรื่องดินๆแล้ว  พบว่า  ดินในแปลงนาของนักเรียนชาวนาบ้านโพธิ์ส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว  หากมีน้ำขัง  ดินจะเหนียว  และมีสีดำ  ถ้าหากดินแห้ง  ดินก็จะแข็ง  ในบางรายนั้น  ได้พบปัญหาเรื่องต้นข้าวเหลืองตายเป็นหย่อมๆ  ดินเป็นสนิม  และมีคราบสีแดงลอยอยู่บนผิวน้ำ  และหากดินแห้ง  ดินจะมีคราบสีขาวเกาะติดอยู่ 

             ในด้านผลผลิตนั้น  นักเรียนชาวนาส่วนใหญ่ได้ข้าวอยู่ในระหว่าง  80 – 100  ถังต่อไร่  ส่วนกรณีที่มีการใส่ปุ๋ยเคมี  ส่วนใหญ่จะใช้ปุ๋ยสูตร  46-0-0  และ  16-20-0  ระหว่าง  25 – 50  กิโลกรัมต่อไร่

             ดินนาของเรา  นักเรียนชาวนาได้ให้ข้อมูลแก่เราๆท่านๆแล้วว่าดินเป็นอย่างไร  ปลูกข้าวแล้วเป็นอย่างไร  คำตอบในเบื้องต้นจึงเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์สำคัญมาก  เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพปัญหาดินของนักเรียนชาวนาแต่ละคน  ข้อมูลดังกล่าวจะนำไปสู่กระบวนการปรับปรุงบำรุงดินต่อไป 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13713เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2006 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท