การดูแลผู้ป่วยเบาหวานในบริการปฐมภูมิ


การไปให้บริการในหมู่บ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจผู้ป่วยแบบองค์รวม เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ ว่าผู้ป่วยอยู่ยากลำบากอย่างไร เกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน

วันนี้ดิฉันไปเข้าร่วมประชุมวิชาการ "วิวัฒน์ของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ : สมดุลสร้างกับซ่อมสุขภาพ" ที่โรงแรมรามาการ์เด้น เป็นวันแรก ว่าจะไปสังเกตการณ์ แต่พอไปถึงก็ได้รับการต้อนรับและดูแลจนไม่รู้สึกว่าเป็นผู้สังเกตการณ์แต่อย่างใด มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก ดิฉันยังไม่ได้สอบถามจำนวนคนที่ชัดเจน

องค์กรสนับสนุนการจัดประชุมคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพสช.) และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) มีองค์กรภาคีร่วมถึง ๑๘ องค์กร

นิทรรศการกรณีศึกษา จัดไว้บริเวณรอบๆ ห้องประชุม ผ่านการเตรียมและจัดทำมาอย่างดี บอกเล่าเรื่องราวของบริการสุขภาพปฐมภูมิในที่ต่างๆ หลากหลายรูปแบบ

เปิดงานด้วยวีดิทัศน์ ๓ เรื่อง ที่ทำให้ผู้เข้าประชุมได้รู้เรื่องของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในชุมชนไผ่ล้อม สอ.โคกสูง และชุมชนบ้านปางค่า เห็นภาพที่ชัดเจน ได้บรรยากาศ เดินเรื่องได้น่าสนใจ

ภาคเช้ามีปาฐกถา "แก่นของระบบการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ" โดยศาสตราจารย์ นพ. จรัส สุวรรณเวลา ต่อด้วยการอภิปรายเรื่อง "บทบาทของระบบดูแลสุขภาพปฐมภูมิควรเป็นอย่างไร : สนับสนุนการพึ่งตนเองของประชาชน การสร้างสุขภาพ บริการสุขภาพองค์รวม" โดยรองศาสตราจารย์ นพ.วิชัย โปษยะจินดา พญ.เพชรศรี ศิรินิรันดร์ และอาจารย์วิทยากร เชียงกูล ดำเนินการอภิปรายโดย พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร

ภาคบ่าย ดิฉันเลือกเข้าห้องย่อยที่ ๑ ภายใต้หัวข้อ จะทำให้เกิดบริการองค์รวมได้อย่างไร (เรียนรู้ผ่านกรณ๊ผู้ป่วยเรื้อรัง) เพราะในห้องนี้จะมีการนำเสนอเรื่องการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ๓ กรณี ด้วยกันคือ ของโรงพยาบาลประทาย จังหวัดนครราชสีมา สอ.โคกสูง อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม และของโรงพยาบาลเมยวดี จังหวัดร้อยเอ็ด นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพยาบาลชุมชนกับการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ ของโรงพยาบาลน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และการดูแลผู้ป่วยเอดส์แบบองค์รวม ของ สสอ.เชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา

นพ.ทินกร โนรี นำเสนอกรณีของโรงพยาบาลประทาย เล่าปัญหาที่มีอยู่เดิมว่า ผู้ป่วยเบาหวานบ้านอยู่ไกลต้องมาถึงโรงพยาบาลตั้งแต่ตี ๓ เพื่อมาจองคิว บางคนแม้อยู่ใกล้ก็อยากได้คิวตรวจต้นๆ แต่กว่าจะตรวจเสร็จก็ใกล้จะเที่ยงแล้ว ได้พบหมอ ๑-๒ นาที บางครั้งไม่ทันได้ถามปัญหา คุณหมอมีภาพมาแสดงให้เห็นสีหน้าแววตาของผู้ป่วยขณะรอตรวจ การปรับบริการเป็นเรื่องของการให้ผู้ป่วยไปรับยาที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน เริ่มในปี ๒๕๔๓ โดยให้พยาบาลเป็นผู้ดำเนินการ ต่อมาในปี ๒๕๔๗ มีการปรับใหม่ โดยเน้นความเป็นสหวิชาชีพมากขึ้น มีแพทย์ลงไปด้วย ส่งผู้ป่วยเบาหวานทุกประเภทให้ไปรับยาที่ สอ. ผลที่ได้พบว่า เป็นการบริการใกล้บ้าน ประหยัดต้นทุน ผู้ป่วยพอใจ เกิดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกัน เจ้าหน้าที่มีเวลาในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น เข้าใจผู้ป่วยมากขึ้น

นพ.สุรศักดิ์ เกษมศิริ นำเสนอการดำเนินงานของโรงพยาบาลเมยวดี เป็นการจัดบริการสำหรับผู้ป่วยเบาหวานในชุมชน เข้าไปให้บริการในหมู่บ้าน แล้วแต่จะนัดกันว่าจะใช้ที่ไหน ให้ผู้ป่วยเลือกเอง อาจเป็นที่ศาลาหมู่บ้าน หรือแม้แต่บ้านผู้ป่วยบางคน สถานที่ตรวจเป็นแบบฟรีสไตล์ แล้วแต่ชาวบ้านจะจัดให้ แพทย์ลงไปตรวจผู้ป่วย ใช้เวลาเพียงประมาณ ๓๐ นาที แล้วเจ้าหน้าที่ (พยาบาล) จะพูดคุยกับกลุ่มผู้ป่วยในเรื่องต่างๆ ตามที่ตกลงกัน เสร็จแล้วกลับไปจัดยาที่โรงพยาบาล เอาไปส่งให้ผู้ป่วยตามบ้าน เป็นกลยุทธ์การเยี่ยมบ้านอย่างหนึ่ง ได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ คุยกับผู้ป่วยทุกเรื่อง ไม่ใช่เรื่องโรคอย่างเดียว คุณหมอเล่าว่าแรงจูงใจที่ทำให้ดูแลผู้ป่วยแบบนี้ เพราะมีความฝัน และบอกว่าอย่าให้ระบบการทำงานแบบสั่งการมาทำลายความฝันของเรา เพราะเห็นว่าระบบที่เป็นอยู่เดิมมันตัน แต่ความฝันจะเป็นจริงไม่ได้ ถ้าผู้ร่วมงานไม่เอาด้วย การไปให้บริการในหมู่บ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจผู้ป่วยแบบองค์รวม เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ ว่าผู้ป่วยอยู่ยากลำบากอย่างไร (ถ้าอยู่ที่โรงพยาบาลก็จะรู้เท่าที่ผู้ป่วยบอก) เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าใจผู้ป่วย ก็จะเรียนรู้และเปลี่ยนพฤติกรรมการบริการ คุณหมอย้ำว่าเจ้าหน้าที่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองเสียก่อนที่จะไปให้ผู้ป่วยเปลี่ยนพฤติกรรม ต่อคำถามเรื่องการวัด output, outcomes คุณหมอว่าบางทีเราไปวัดกันเป็นปริมาณเป็นตัวเลขมากไป ควรวัดในเชิงคุณภาพให้มาก เช่น ความสุขในการทำงาน (เห็นภาพพยาบาล เจ้าหน้าที่ และผู้ป่วย ที่คุณหมอนำมาแสดง ดูสีหน้าเขามีความสุขจริงๆ) 

คุณสุพัฒน์ สมจิตรสกุล หัวหน้าฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลปลาปาก (สมาชิกเครือข่ายของเรา) นำเสนอกรณีที่โรงพยาบาลปลาปากร่วมกับ สอ.โคกสูง พัฒนาคลินิกเบาหวานที่ สอ. ตามที่ผู้ป่วยร้องขอ เพราะชาวบ้านอยู่ไกลจากโรงพยาบาล ๘-๑๐ กิโลเมตร เวลาจะไปโรงพยาบาลต้องตื่นตีสามตีสี่ รวมกันเหมารถไป ไม่สะดวก ผู้ป่วยจึงขอรักษาใกล้บ้าน ทางโรงพยาบาลโดย พญ. ชื่นฤดี ราชบัญดิษฐ์ เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ สอ.ได้เรียนรู้กระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวาน จนมั่นใจ สามารถเปิดให้บริการที่ สอ.ได้ การติดตามเป็นการนัดตามความสะดวกของผู้ป่วย นัดเป็นหมู่บ้าน ผู้ป่วยกำหนดวันเอง ผู้ป่วยมีความสุขมากขึ้น ไม่ต้องตื่นตีสองตีสาม การคัดกรองผู้ป่วยในชุมชน ทำได้โดยไม่ต้องลงพื้นที่ เพราะผู้ป่วยเขาบอกญาติให้ไปตรวจเอง ชวนกันมาเอง เจ้าหน้าที่และผู้ป่วยได้ใกล้ชิดกัน คุยกันได้ ปรับกันได้

รายละเอียดมีอีกมากค่ะ ดิฉันจะหาโอกาสให้ท่านเหล่านี้เล่าเรื่องราวผ่าน blog ของเรา ตลอดเวลาที่นั่งฟังการนำเสนอ ดิฉันเกิดความรู้สึกว่าบริการปฐมภูมิที่มีการนำเสนอนี้ เป็นบริการที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง มองผู้ป่วยแบบคนทั้งคน ไม่ลืมให้ความสำคัญกับบริบทของผู้ป่วย บริการปฐมภูมิจึงไม่ใช่เพียงการย้ายสถานที่ตรวจ เจ้าหน้าที่ไม่เพียงแต่จะต้องเข้าใจโรค แต่จะต้องเข้าใจชีวิตของผู้ป่วย และมีความเชื่อในศักยภาพของผู้ป่วยด้วย

หมายเลขบันทึก: 1369เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2005 21:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ถ้าในบริบทที่เรามีแพทย์น้อย การดูแลผู้ป่วยเบาหวานมักไม่ค่อยทั่วถึง การจัดคลินกเบาหวานเคลื่อนที่ไปตามPCUต่างๆโดยใช้ พยาบาลเวชให้บริการตรวจรักษา case ที่มีปัญหาซับซ้อนหรือเกินความสามารถก็จะ Refer มาที่โรงพยาบาล เพื่อแก้ไข ลดการแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ก็ยังทำไม่สำเร็จเจอปัญหามากมายโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่PCU ที่ไม่เข้าใจกัน เกิดความขัดแย้งกันทุกครั้งไป ทำให้คนทำงานรู้สึกท้อแท้ ไม่มีกำลังใจที่จะลงไปให้บริการณ PCU อาจารย์

เรียนคุณกมลพร

อย่าเพิ่งท้อแท้นะคะ มีตัวอย่างดีๆ ที่ทำได้หลายแห่ง ลองอ่านบันทึกของทีมพุทธชินราชที่ http://gotoknow.org/blog/dmbuddhachin ทีม รพ.ครบุรีก็มีการกระจายผู้ป่วยลงไปที่ PCU และมีการจัดกลุ่มให้ผู้ป่วยช่วยกันดูแลกันและกันในชุมชน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท