ความเหมือนที่แตกต่าง


สัญญลักษณ์ ตรา แบรนด์ โลโก้ ยี่ห้อ

สัญลักษณ์ ตรา แบรนด์ โลโก้ ยี่ห้อ"         

        สัญลักษณ เป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นเพื่อใช้แทนคำว่า Symbol ในภาษาอังกฤษ หมายถึง สิ่งที่กำหนดให้ใช้ เพื่อให้หมายความถึงอีกสิ่งหนึ่ง สิ่งที่กำหนดนั้นอาจเป็นตัวอักษร รูปภาพ เครื่องหมาย สิ่งของ ดอกไม้ สี เสียง หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ได้ ส่วนสิ่งที่สัญลักษณ์แทนนั้นอาจเป็นบุคคลหรือสิ่งที่เป็นรูปธรรม เช่น พระราชวงศ์ ประเทศ พรรคการเมือง วัด บริษัท องค์กร สถาบันการศึกษา หรือเป็นนามธรรม เช่น ความจงรักภักดี ความรัก ความทุกข์  ชัยชนะก็ได้ เครื่องราชกกุธภัณฑ์เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นพระราชาธิบดี ธงชาติเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นชาติ พระธรรมจักรเป็นสัญลักษณ์แทนพระปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าและเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธศาสนาด้วย สีเหลืองเป็นสีสัญลักษณ์แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากทรงพระราชสมภพวันจันทร์ และสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์แทนวันจันทร์ นกพิราบขาวเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ ดอกกุหลาบสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของความรัก กากบาทสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของสภากาชาดไทย ธงหรือผ้าสีขาวเป็นสัญลักษณ์ของการยอมแพ้ เครื่องหมายชูนิ้วชี้ กับนิ้วก้อยขึ้นงอนิ้วกลางกับนิ้วนางลงเป็นสัญลักษณ์ว่าฉันรักเธอ เป็นต้น นอกจากนี้ เครื่องหมายประจำกระทรวง ทบวง กรม เครื่องหมายของกองทัพซึ่งทำประดับหน้าหมวก หรือประดับธงประจำองค์กร ล้วนเป็นรูปที่มีความหมายแทนองค์กรนั้นๆทั้งสิ้น เครื่องหมายเหล่านั้นจึงจัดเป็นสัญลักษณ์ด้วย

          โลโกเป็นคำยืมจากภาษาอังกฤษว่า Logo แปลว่า เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ทางการค้า ที่บริษัท หรือองค์กรหนึ่งทำขึ้นเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ ด้วยการพิมพ์ไว้บนสินค้าหรือเอกสารของบริษัท ในภาษาไทย บางคนใช้คำว่า โลโก้ ตามความหมายในภาษาอังกฤษ แต่บางคนใช้คำว่า โลโก้ แทนสัญลักษณ์ของหน่วยงาน เพื่อการประชาสัมพันธ์งานหรือกิจกรรมที่จัดขึ้น เช่น โลโก้การแข่งขันกีฬา โลโก้วันจัดกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม โลโก้งานประกวดกล้วยไม้ โลโก้มักทำเป็นรูปสัญลักษณ์ที่แสดงลักษณะเด่นของสิ่งที่ต้องการประชาสัมพันธ์ให้ทราบ หรือใช้สัญลักษณ์แทนสิ่งที่ต้องการประชาสัมพันธ์หากสัญลักษณ์นั้นเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายแล้ว โดยทั่วไปโลโก้เป็นรูปที่มีความหมายชัดเจน มีสี และรูปลักษณ์ที่จดจำง่าย และมีลักษณะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องการประชาสัมพันธ์         

      ตรา แปลว่า เครื่องหมายที่ทำขึ้นเพื่อใช้แทนองค์กร หน่วยงานของพระเจ้าแผ่นดินและของรัฐบาล เช่น ตราครุฑ ตราพระราชลัญจกร เครื่องหมายเหล่านี้ใช้ประทับบนเอกสาร จดหมาย หรือสิ่งของต่างๆเพื่อแสดงว่าเป็นของราชการ หรือเป็นของพระมหากษัตริย์พระองค์ใด เช่น กฎหมายที่ประทับตราพระคชสีห์ พระราชสีห์ และตราบัวแก้ว เรียกชื่อว่า กฎหมายตราสามดวง เป็นกฎหมายที่รวบรวมขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ในสมัยต่อมา ตรา ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าที่แสดงว่า สินค้าชิ้นนั้นเป็นของบริษัทใด ตราสินค้ามีไว้เพื่อให้รู้จักและจดจำสินค้าได้ง่าย เช่น ยาหม่องตราเสือ ยาแก้ไอตราตะขาบห้าตัว นำปลาตราตาชั่ง นมตรามะลิ น้ำมันใส่ผมตราเทพนม ธูปหอมตรานางลอย ห้างขายยาอังกฤษตรางู หนังสือตราสำนักพิมพ์เพื่อนดี เป็นต้น ตราเป็นเครื่องหมายการค้าที่มักทำเป็นรูปเล็กๆแทนชื่อบริษัทผู้ผลิตตามที่ต้องการ และใช้ปิดไว้ที่สินค้าเพื่อเป็นเครื่องรับรองว่าสินค้าชิ้นนั้นเป็นสินค้าที่มีชื่อตามตรานั้นจริง        

   แบรนด์ เป็นคำยืมจากภาษาอังกฤษว่า Brand แปลว่า ตราหรือเครื่องหมายที่แสดงความเป็นเจ้าของ เช่น เครื่องหมายที่ใช้เหล็กร้อนๆ ประทับบนตัววัวควายเป็นตราแสดงว่าผู้ใดเป็นเจ้าของวัวควายนั้น Brand ใช้หมายถึงเครื่องหมายการค้าที่บอกว่าสินค้านั้นๆเป็นของบริษัทใด สินค้าชนิดหนึ่งๆอาจมีผู้ผลิตหลายเจ้า ผู้ผลิตเจ้าหนึ่งๆย่อมต้องการแสดงความเป็นเจ้าของเพื่อให้ผู้ที่ต้องการใช้สินค้านั้นจดจำสินค้านั้นได้ จะได้บริโภคสินค้านั้นต่อไป จึงใช้แบรนด์เพื่อช่วยให้ลูกค้าจดจำสินค้าที่ตนชอบได้ ส่วน Brand-Name ใช้หมายถึงชื่อของสินค้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง เช่น เราจำหน่ายเฉพาะสินค้าแบรนด์เนมทั้งนั้น จึงรับรองว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพเชื่อถือได้ ในบางครั้ง ใช้คำว่า แบรนด์ คำเดียวแทนความหมายว่า แบรนด์เนมก็มี   เช่น   รัฐบาลกำลังสร้างแบรนด์ให้ข้าวหอมมะลิในตลาดโลก หมายความว่า ทำให้ข้าวหอมมะลิเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมกันทั่วไปว่าเป็นข้าวที่อร่อยมีคุณภาพดี        

   ยี่ห้อ เป็นคำยืมจากภาษาจีน แปลว่า เครื่องหมายการค้า เป็นเครื่องหมายที่ใช้แทนบริษัท หรือใช้กำกับสินค้า เพื่อให้ทราบว่าเป็นสินค้าของบริษัทใด เช่น รถยี่ห้อนี้มีสีชมพูกลีบบัวที่ฉันชอบ   สินค้านี้ไม่มียี่ห้อเลยไม่รู้ว่าเป็นของดี หรือไม่ดี คำว่า ยี่ห้อ ใช้กับสินค้าประเภทเครื่องจักรยนต์ เช่นรถยนต์ เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ และใช้กับสินค้าอื่นๆ ด้วย เช่น เธอชอบยาสีฟันยี่ห้อนี้หรือ ปากกายี่ห้อนี้เขียนดีมาก  

         คำว่า ตรา ยี่ห้อ แบรนด์ มีความหมายเหมือนกัน ที่เป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายของสินค้า  การใช้คำ ทั้งสามนี้ในภาษาไทยแตกต่างกันไปตามความนิยม ตรา เป็นคำที่ใช้ทั่วไป ยี่ห้อ เป็นคำเก่า และมักจะใช้กับสินค้า ประเภท เครื่องจักรยนต์ ส่วน แบรนด์ เป็นคำใหม่ที่รับมาจากภาษาอังกฤษ และมักจะใช้กับสินค้าประเภทแฟชั่น เครื่องแต่งกาย เป็นต้น

คำสำคัญ (Tags): #คำ
หมายเลขบันทึก: 136780เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2007 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 23:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีค่ะ คุณครู
  • ได้รับความรู้เพิ่มมาอีกแล้ว
  • ขอบคุณค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท