เรื่องเล่า...จากน้ำเกี๋ยน


กินอิ่ม..นอนอุ่น..ฝันดี...ที่น้ำเกี๋ยน ชุมชนแห่งการเรียนรู้

 

        เว็ปไซต์

          วิสัยทัศน์ของตำบลน้ำเกี๋ยน กินอิ่ม..นอนอุ่น..ฝันดี  สั้นๆ ทำให้มองเห็นสิ่งที่จะต้องทำเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ได้อย่างชัดเจน กระตุกต่อมความคิดของพวกเราในบทบาทของนักพัฒนา ที่ได้เข้าเยี่ยมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการพัฒนาเพื่อเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ในช่วงเย็นของวันที่ 24 มกราคม 49 เป็นอย่างมาก

          ทีมงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดน่านโดยคุณเสวียน บุญศรี และคุณภาคภูมิ พรมสารนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร จากสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองน่าน ได้ติดต่อและนำทีมงานเข้าศึกษาดูงาน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำเกี๋ยน โดยได้รับความกรุณาจากท่านนายก อบต. คุณสนิท  สายรอคำ อาจารย์ชูศิลป์ สารรัตนะ ประธานองค์กรพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนตำบลน้ำเกี๋ยน และคุณศิรินันท์ สารมณฐี จากสถานีอนามัยตำบลน้ำเกี๋ยน  ทีมงานของตำบลน้ำเกี๋ยน ช่วยเล่าประสบการณ์และกระบวนการทำงานของตำบลน้ำเกี๋ยน พอสรุปเป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้ดังนี้ครับ

          เรื่องเล่าโดยอาจารย์ชูศิลป์...เล่าถึงชุมชนน้ำเกี๋ยนว่าเริ่มจากวิกฤติปัญหา คือการตัดไม้ทำลายป่า  ยาบ้า และการพนัน ทำให้คนในชุมชนหันหน้าเข้ามาหากันเพื่อแก้ไขปัญหา คนจุดประกายการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน และสถานีอนามัย (บวรส.) คือคุณสฤษฎิ์  สุฤทธิ์ เจ้าหน้าที่อนามัย กลายเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาของตำบล และแกนนำเข้ามามีส่วนร่วมคือ กำนันคำมูล  ดีพรมกุล  สิ่งที่ได้เป็นผลตามมาก็คือ ป่าดี/น้ำดี แก้ปัญหาของชุมชนได้

                                          นายก อบต.สนิท สายรอคำ และอาจารย์ชูศิลป์ เล่าประสบการณ์  

                        ภาพซ้าย อาจารย์ชูศิลป์ สารรัตนะ และขวา นายก อบต.สนิท  สายรอคำ

         นายกสนิท  สายรอคำ ได้เล่าต่อว่าตำบลน้ำเกี๋ยนเกิดจิตสำนึกว่าเป็นคนบ้านเดียวกัน แม้จะมี 5 หมู่บ้าน แต่ก็มีวัดเดียว โรงเรียนเดียว และสถานีอนามัยเดียว ทำงานร่วมกันไม่มีใครเป็นพระเอก ผู้นำ 42 คนทำร่วมกัน เรียนว่า 42 ขุนศึก  และสิ่งที่ได้ปฏิบัติในฐานะของ อบต. ก็คือ

  • มีอุดมการณ์ ต้องสร้างอุดมการณ์ทางความคิด(จูนอุดมการณ์) เริ่มที่วิธีคิดให้โดนใจชาวบ้าน ทำงานแล้วชาวบ้านมีความสุข  ต้องให้อะไรกับชาวบ้าน  และต้องมองข้ามตัวเอง
  • ต้องมีวิธีการทำงานที่ดี  วิธีการก็จะออกมาจากความคิดที่มีอุดมการณ์
  • เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ต้องร่วมจริงๆ เริ่มตั้งแต่การจัดทำแผนที่เรียกว่าแผน 108 (ช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี) คิดกับ อบต.ตั้งแต่เริ่มแรก แผนมี 3 ลักษณะคือ 1) ทำเองได้ไม่ต้องใช้เงิน  2) พึง อบต. และ 3) พึ่งภายนอก   โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน (เปิด) พร้อมทั้งแสวงหาเครือข่ายการพัฒนา  เน้น ไปได้...ไปถึง...เปิดพื้นที่
  • การให้ความสำคัญกับผู้นำทุกคน  เช่น ขณะนี้มีการจัดสวัสดิการให้แก่ผู้นำทุกคน มีการประกันสุขภาพให้ เป็นต้น
  • เรียนรู้และมองเศรษฐกิจภาพใหญ่ เมื่อเรียนรู้ก็จะสามารถพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจในภาพใญ่ได้ เช่น ขณะนี้มีการผลิตนำดื่ม "น้ำเกี๋ยนวอเตอร์" , โรงสีชุมชนที่ให้บริการสีข้าวฟรี , โรงงานอิฐบล๊อกของชุมชน , ศูนย์สาธิตการตลาด เพื่อป้องกันเงินไม่ให้ออกนอกชุมชน และโรงงานอาหารสัตว์ (ยังไม่ประสบผลสำเร็จ)
  • ในอนาคต อบต. จะพัฒนาลงสู่ฐานของครอบครัว เช่น การผลิตพืชปลอดภัย  การผลิตพันธุ์ข้าว การซื้อรถไถเป็นของชุมชน เป็นต้น

                                             แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับตำบลน้ำเกี๋ยน

          คุณหมอศิรินันท์  สารมณฐี ได้เล่าเกี่ยวกับแก่นแท้ของความเข้มแข็งของชุมชนตำบลน้ำเกี๋ยนว่ามีแก่นหลักอยู่ 4 อย่าง คือ

  1. เครือญาติ  ความเป็นเครือญาติกันค่อนข้างมาของชุมชน เป็นรากฐานของความผูกพันของชุมชน
  2. ผีปู่ย่า เป็นความเชื่อและธรรมเนียมของตำบล ทำให้มีความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน หากถือผีเดียวกัน
  3. กลุ่มรุ่นกลุ่มเสี่ยว คือการทำให้คนที่เกิดปี พ.ศ.เดียวกันรวกลุ่มกันเป็นรุ่นเดียวกัน ช่วยเหลือกัน ทำให้เกิดความรักความสามัคคีกันมากขึ้น
  4. ศรัทธาวัดเดียวกัน  วัดเดียวในตำบลน้ำเกี๋ยนก็คือวัดโป่งคำ เป็นศรัทธาวัดเดียวกันทำให้คนในตำบลน้ำเกี๋ยนมีความสามัคคีกันมาก

        นอกจากแก่นทั้ง 4 ดังกล่าวแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกเช่น มีผู้นำที่เข้มแข็ง , มีประเพณีและวัฒนธรรม , มีเป้าหมายร่วมกัน คือ "กินอิ่ม นอนอุ่น ฝันดี" , เกิดกลุ่มและองค์กรต่างๆ ในชุมชน , มีกรรมการบริหารจัดการที่ดี , มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ,มีภาคราชการหนุนเสริม , มีการแลกเปลี่ยนดูงาน , เกิดเครือข่ายในการพัฒนา , มีการสนับสนุนจากภายนอก และการพัฒนาที่มีลักษณะเป็นการมองอย่างเชื่อมโยง เป็นต้น

         เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้  กับทีมงานของชุมชนน้ำเกี๋ยน เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่ได้เรียนรู้ แม้จะมีเวลาน้อยประมาณ 1 ชั่วโมงเศษๆ ก็ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจน มากกว่าการอ่านหนังสือหรือบันทึกต่างๆ ที่เกี่ยวกับชุมชนนี้อย่างมากมาย  เห็นกระบวนการทำงานและแนวคิด วิธีคิดในการทำงานที่เป็นประโยชน์อย่างมากกับทีมงานครับ  ... ขอบขอบพระคุณทุกท่านที่ได้มีส่วนร่วมให้เกิดการ ลปรร.

วีรยุทธ  สมป่าสัก  24 / 01 / 49                                          

 

                                         

คำสำคัญ (Tags): #par#วิจัยชุมชน#rd
หมายเลขบันทึก: 13574เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2006 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หวัดดีครับ

  • เป็นส่วนหนึ่ง ของชุมชนแห่งนี้มานาน แล้วครับ
  • เป็นชุมชนที่น่าศึกษามากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท