เจ ธนวลัย 46310892


-
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

 

น้ำผึ้งจัดเป็นหนึ่งในบรรดาสินค้าเกษตรที่น่าจับตามอง เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากภาวะการค้าน้ำผึ้งในตลาดโลกแล้ว ไทยมีโอกาสในการที่จะก้าวขึ้นไปเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศผู้ส่งออกน้ำผึ้งที่สำคัญของโลก เนื่องจากไทยมีปัจจัยเอื้ออำนวยในการขยายการผลิตน้ำผึ้ง ทั้งในแง่ของความอุดมสมบูรณ์ของพืชอาหาร ความชำนาญของแรงงานในอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้ง และปัจจัยสนับสนุนของนโยบายรัฐบาลในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาผึ้งและผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ในปัจจุบันความต้องการน้ำผึ้งในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศผู้ส่งออกน้ำผึ้งที่สำคัญของโลกในปัจจุบันขยายปริมาณการผลิตได้ไม่ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

 

แม้ว่าในปัจจุบันการส่งออกและนำเข้าน้ำผึ้งของไทยในแต่ละปีนั้นค่อนข้างผันผวน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตน้ำผึ้งทั้งของไทยเองและของประเทศคู่แข่งในตลาดโลก แต่เมื่อพิจารณาในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาแล้ว อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกน้ำผึ้งของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่ามูลค่าการนำเข้า คือ คาดว่าอัตราการนำเข้ายังจะขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่องจากในปี 2547 ในขณะที่อัตราการขยายตัวของการส่งออกน่าจะอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับในปี 2547 กล่าวคือ ปัจจัยที่ทำให้ไทยต้องนำเข้าน้ำผึ้งเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำผึ้งอาจจะลดลง จากผลกระทบของปัญหาความแห้งแล้ง ทำให้ขาดแคลนแหล่งพืชอาหารของผึ้ง ส่วนปัจจัยที่กระทบการส่งออก คือ การที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากจีน ทั้งในตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกน้ำผึ้งที่สำคัญของไทย อย่างไรก็ตามจีนนั้นเป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้าที่น่าจับตามอง เนื่องจากน้ำผึ้งของไทยเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มชาวจีน ดังนั้นไทยจึงมีโอกาสในการเจาะขยายตลาดน้ำผึ้งในจีน

 

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจในปี 2548 คือ

 

1.คาดว่าในปี 2548 มูลค่าการนำเข้าน้ำผึ้งขยายตัวสูงกว่าการส่งออก กล่าวคือคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าน้ำผึ้งจะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่องจากปี 2547 เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลให้ปริมาณน้ำผึ้งเพิ่มขึ้นไม่มากอย่างที่มีการคาดการณ์ ในขณะที่ปริมาณความต้องการน้ำผึ้งในประเทศคาดว่าจะยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2547 นับเป็นปีแรกที่มูลค่าการนำเข้าน้ำผึ้งของไทยนั้นเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะการนำเข้าจากแหล่งนำเข้าหลักอย่าง ออสเตรเลีย เวียดนาม และจีน นอกจากนี้ยังมีแหล่งนำเข้าใหม่ คือ ฟิลิปปินส์และพม่า

 

2.คู่ค้าน้ำผึ้งของไทยเป็นทั้งตลาดส่งออกและนำเข้า จากข้อมูลการส่งออกและนำเข้าน้ำผึ้งจะสังเกตเห็นได้ว่าคู่ค้าน้ำผึ้งของไทยนั้นเป็นทั้งตลาดส่งออกและนำเข้า เนื่องจากลักษณะเฉพาะตัวของน้ำผึ้ง คือจะมีความแตกต่างกันทั้งในด้านของสี และคุณค่าทางโภชนาการโดยขึ้นอยู่กับประเภทของพืชอาหารของผึ้งในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งน้ำผึ้งจากไทยยังเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มชาวจีนโดยเฉพาะน้ำผึ้งจากเกสรลำไย ซึ่งเชื่อว่ามีคุณสมบัติในลักษณะของการเป็นยาบำรุงกำลัง ในขณะที่ไทยพึ่งพาการนำเข้าน้ำผึ้งเพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมอาหาร โอกาสการขยายตลาดน้ำผึ้งของไทยจึงอยู่ที่การประชาสัมพันธ์ให้ตลาดโลกได้รับรู้ถึงคุณค่าที่แตกต่างของน้ำผึ้งไทย ซึ่งเหมาะสำหรับการบริโภคในฐานะของอาหารเสริมสุขภาพ

 

3.จีนเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่ง ปัจจุบันจีนเป็นคู่แข่งในตลาดสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกน้ำผึ้งที่สำคัญของไทย กล่าวคือ จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตน้ำผึ้งของอเมริกัน(The American Honey Producers' Association) รายงานว่าการที่สหรัฐฯนำเข้าน้ำผึ้งราคาถูกจากจีนและอาร์เจนตินาส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้เลี้ยงผึ้งในสหรัฐฯ แม้ว่าจะยังคงมีข้อถกเถียงว่าการนำเข้าน้ำผึ้งจากจีนและอาร์เจนตินานั้นสามารถช่วยบรรเทาภาวะการผลิตน้ำผึ้งที่ตกต่ำในสหรัฐฯ ซึ่งการที่สหรัฐฯหันไปนำเข้าน้ำผึ้งจากจีนมากขึ้นส่งผลให้การนำเข้าน้ำผึ้งจากไทยลดลง สำหรับในตลาดสหภาพยุโรปในช่วงปี 2541-2542 ที่ผ่านมานี้ภาวะการผลิตน้ำผึ้งในจีนจะประสบปัญหาอันเนื่องจากภาวะอากาศไม่เอื้ออำนวยและโรคที่ทำลายรังผึ้ง ในปี 2545 สหภาพ ยุโรปตรวจพบคลอแรมฟินิคอล ซึ่งเป็นสารปฏิชีวนะต้องห้ามในน้ำผึ้งของจีน ทำให้สหภาพยุโรปห้ามนำเข้าน้ำผึ้งจากจีน แต่ในปี 2548 นี้ทางสหภาพยุโรปเริ่มอนุญาตนำเข้าน้ำผึ้งจากจีนได้ตามเดิม ดังนั้นไทยต้องเร่งเพิ่มปริมาณการผลิตและเจาะขยายตลาดโลกแข่งขันกับจีน นอกจากนี้ไทยยังมีโอกาสที่จะเจาะขยายตลาดจีนด้วย เนื่องจากชาวจีนนิยมบริโภคน้ำผึ้งไทยมาก แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือมีโอกาสที่ไทยจะนำเข้าน้ำผึ้งจากจีนเพิ่มขึ้น เพราะราคาน้ำผึ้งของจีนต่ำกว่า ซึ่งในอนาคตตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีนจะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ถ้าการนำเข้าน้ำผึ้งจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จะส่งผลให้ผู้เลี้ยงผึ้งของไทยอาจต้องรับผลกระทบจากปัญหาด้านราคาจำหน่ายน้ำผึ้งที่จะมีแนวโน้มลดลง

 

การผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นไปมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในการส่งออกน้ำผึ้งในตลาดโลกนั้น ปัจจัยสำคัญคือ การที่รัฐบาลมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาผึ้งและผลิตภัณฑ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการผลิตน้ำผึ้งจาก 10,000 ตันในปี 2547 เป็น 25,000 ตันในปี 2551 และส่งออกน้ำผึ้งจาก 3,000 ตันเป็น 5,000 ตัน

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13535เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2006 00:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท