วัฒนธรรมการด่าว่า


การด่าว่าเป็นภาพสะท้อนของวัฒนธรรมอำนาจ เป็นเรื่องราวของการบังคับ ข่มขู่และความไม่เท่าเทียมกันซึ่งเป็นอุปสรรคของการเรียนรู้

            เมื่อวานตอนบ่าย คุณหมอเสฐียรพงศ์ได้เล่าให้ฟังว่า มีคนไข้ที่ผ่าตัดทางหน้าท้องจากโรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่ง แล้วเย็บปิดแผลด้วยเสต็บเปิลหรือเย็บแม๊กซ์มาตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อมาทำแผลต่อเนื่อง และพบว่าคนไข้มีแผลไม่ค่อยดีเป็นหนอง น่าจะมีการตัดวัสดุที่เย็บออก แต่ปรากฎว่าโรงพยาบาลบ้านตากไม่มีคีมตัดวัสดุประเภทนี้ จึงต้องส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลจังหวัดและพยาบาลของโรงพยาบาลจังหวัดได้โทรศัพท์มาต่อว่าพยาบาลหัวหน้าหอผู้ป่วยว่าของแค่นี้ทำไมไม่ซื้อไว้ใช้ ทีทำอย่างอื่นทำได้ ทำไมต้องเสียค่าน้ำมันรถส่งมาให้เขาดูด้วย ลักษณะการพูดเป็นการตำหนิ เหน็บแนม ต่อว่า พอน้องเขาเล่าเสร็จผมก็ของขึ้นเลย และเตรียมที่จะหาทางด่ากลับไป แต่พอสักพักก็ระลึกได้ว่าทำไมต้องด่ากลับไปด้วยเพราะเขาก็อุตส่าห์โทรมาบอกแม้จะใช้วาจาไม่เหมาะสมไปหน่อยก็ตาม

             ทางคุณหมอเขาก็ได้ให้ทางศูนย์เครื่องมือแพทย์สำรวจรายการและราคาเพื่อเตรียมการจัดซื้อ จึงมาเล่าให้ฟังและขอซื้อคีมตัดไหมแบบพิเศษนี้และฟังแล้วราคาก็ไม่กี่พันบาท แต่เผอิญที่เราไม่มีเพราะเราไม่ได้เย็บแผลแบบนี้และแทบจะไม่ได้เจอคนไข้แบบนี้เลย ก็เลยไม่ได้เตรียมไว้ ผมก็เลยบอกไปว่าให้จัดซื้อได้เลย

              ก่อนจะขึ้นมาเขียนบล็อควันนี้ ก็เพิ่งกลับจากการประชุมที่คณะแพทย์ มน. พอขึ้นมาที่ตึกก็ได้แวะคุยกับเจ้าหน้าที่ห้องแล็บ ก็ได้รับฟังเรื่องทำนองนี้อีก ว่ามีการด่าว่ากลับมาบ่อยเวลาไปส่งแล็บ ล่าสุดคนขับรถก็มาเล่าให้ฟังว่าไปส่งแล็บไข้หวัดนกตอน 3 ทุ่มก็ถูกด่ากลับมาอีก พยาบาลโอพีดีไปประชุมก็ถูกต่อว่ามาว่าทำไมโรงพยาบาลบ้านตากรีเฟอร์เยอะ

               เรื่องการต่อว่ากันระหว่างสถานพยาบาลจะพบบ่อยมาก เวลาส่งคนไข้ฉุกเฉินไปที่รพ.จังหวัด พยาบาลที่ไปส่งคนไข้ก็มักจะกลับมาด้วยการถูกบ่นว่าในเรื่องต่างๆ และพอไปคุยกับพยาบาลของโรงพยาบาลจังหวัดก็เล่าให้ฟังว่าเวลาไปส่งต่อคนไข้ที่โรงพยาบาลศูนย์ก็ถูกบ่นว่ามาเช่นกัน ผมก็นึกไปถึงเวลาสถานีอนามัยส่งคนไข้มาตรวจ ทางโรงพยาบาลชุมชนก็บ่นว่าเหมือนกันเรียกว่าโดนกันเป็นทอดๆ(ใช้คำว่าบ่นว่า จะดูรุนแรงน้อยหน่อย) นอกจากนี้ยังมีการทะเลาะกันหรือเข้าใจผิดกันด้วยคำบอกเล่าที่ได้จากคนไข้อีกด้วย

                พฤติกรรมการด่าว่า ดุด่านี้อาจจะเป็นวัฒนธรรมในระบบสาธารณสุขหรือเปล่าที่คอยจ้องจับผิดกันแล้วหาคนผิดพร้อมทั้งระบายความรู้สึกเข้าไปด้วยเพื่อให้สะใจ แต่จะได้ผลในการปรับเปลี่ยนหรือไม่ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ผงที่เกิดขึ้นคือความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน ส่งผลให้ความสัมพันธ์ต่อกันไม่ดี โอกาสในการจะนำเอาข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดมาแก้ไขปัญหาเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นก็จะเกิดได้น้อยมากหรือไม่เคยเกิดเลยในหลายพื้นที่ ทำให้เราพลาดโอกาสในการเรียนรุ้ร่วมกันไปอย่างน่าเสียดาย พอจัดประชุมกันก็ตั้งป้อมแล้วว่า จะโทษใครผิดดี ต้องมีคนผิด ต้องมีคนเสียหน้า พอเป็นอย่างนี้ถึงจัดเวทีดียังไง คนก็ไม่อยากเข้าไปร่วม โดยเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องเพราะพอไปก็ถูกตำหนิ

                  การแก้ปัญหาเหล่านี้จะไม่ยาก ถ้าเราเปิดใจ สลายอาณาจักร ยอมรับว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีใครอยากให้เกิด ทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องพยายามมองกันและกันในทางบวก แล้วมองหาระบบที่บกพร่องอันเป็นสาเหตุนำไปสู่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยมองว่าคนเป็นเหยื่อของระบบที่ไม่ดี การพูดคุยจะเป็นการพยายามวางระบบที่ดีที่เหมาะกับบริบทของแต่ละแห่ง ภายใต้บรรยากาศของการสร้างสรรค์ ความเท่าเทียม การยอมรับในข้อจำกัดของแต่ละฝ่าย การแก้ปัญหาก็จะจบลงได้ด้วยดี แม้ปัญหาอาจจะแก้ไขไปได้ไม่หมดแต่ความรู้สึกความสัมพันธ์ต่างๆก็จะดีขึ้น และจะนำไปสู่การวางระบบที่ดี ที่มีความสุขได้ง่ายในอนาคต

คำสำคัญ (Tags): #kmกับงานประจำ
หมายเลขบันทึก: 13530เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2006 23:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ลองดูแนวคิดของพวกหมอๆที่หาดใหญ่  ต่อปัญหาการรับส่งต่อ ระหว่าง  รพ ชุมชน กับ รพ ใหญ่กว่า และ รู้สึกไม่ค่อยดีต่อกัน  

หมอผู้ใหญ่ ระดับบริหาร ได้เสนอ จัดให้ พบปะคุยกันกินข้าวอย่างไม่เป็นทางการ ตอนเย็น ค่ำ   ก็ไม่แน่ใจว่าจะช่วยลด และแลกเปลี่ยนทัศนะมุมมอง การส่งปรึกษา ส่งต่อ 

ผมตีความ ทำนองว่า ให้ F2F ปีละครั้งก็น่าจะดี   โดยความจริงระดับ ผอ รพ ชุมชน กับผอ รพ ใหญ่ พอจะพบกันบ้าง แต่ระดับปฏิบัติงาน ระหว่าง ไม่มีโอกาสพบกัน   การสื่อสารจึงไม่ได้คิดแบบ  ใจเขาใจเรา

เรื่องนี้ กำลังนัดหมาย  ได้ผลอย่างไรจะส่งข่าวให้ทราบ

บ่อยครั้ง หมอระหว่าง รพ ก็พอจะคุ้นกัน บ้าง แต่พบปะแลกเปลี่ยนทัศนะ น้อยไป  จึงเกิดปัญหา

ทำนองเดียวกัน พยาบาล ต่างรพ ที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกัน ก็จะแสดงออกอย่างนี้

ผมมีแนวคิดที่จะจัดเวทีให้แต่ละวิชาชีพของแต่ละโรงพยาบาล นัดมาคุยกันโดยโรงพยาบาลบ้านตาก จะเอื้อเฟื้อเป็นเจ้าภาพในเรื่องต่างๆให้ เช่นแล็บ เอ๊กซ์เรย์ พยาบาล บริหารหรืออื่นๆ แต่ก็ยังไม่ได้มีการปฏิบัติจริง  ส่วนแพทย์ยิ่งจัดเวทียากมาก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท