แนวทางสมานฉันท์: เพิ่มคำว่า “รัก” เข้าไปด้วยได้ไหม?


จะยังไงก็แล้วแต่ ให้ความรักเขาตอบกลับไป จะด่าเขาก็ไม่กล้าด่า จะว่าร้ายก็เขาจะเกรงใจ ในที่สุดเมื่อเขาเข้าใจ เขาจะกลับมารักเราเอง

     “รัก” กันด้วยความจริงใจ ผมเชื่อว่าจะนำมาพามาซึ่งความสงบ ความสมานฉันท์ได้จริง ความรักแม้จะดูเป็นเรื่องนามธรรมในความหมายที่หลาย ๆ คนเข้าใจ และพยายามให้นิยาม ว่ารักคืออะไร? แต่ในความจริงแล้ว ทุกคนทราบดี และรับรู้ได้เองโดยส่วนลึกว่าคืออะไร เหมือนความสุขคืออะไร? ซึ่งตั้งใจจะเขียนในบันทึกต่อจากนี้ กล่าวคือผมมองว่าไม่มีประโยชน์ที่จะหาความหมายเรื่องสิ่งนี้ “ความรัก” และ “ความสุข” เพราะล้วนเข้าใจ แต่ให้ความหมายต่างกัน แต่โดยนัยยะของแก่นคำไม่น่าจะต่างกัน

      จากข้อเสนอของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เรื่อง ทำความเข้าใจปริศนาแนวคิด "สมานฉันท์" (ท่านคลิ้กเข้าไปอ่านรายละเอียดได้) ซึ่งได้สรุป แนวทางสมานฉันท์น่าจะประกอบด้วยความคิดหลัก 9 ประการ คือ
     1. การเปิดเผย”ความจริง” (truth)
     2. ความยุติธรรม (justice) ที่เป็นความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice)
     3. ความพร้อมรับผิด (accountability) คือพร้อมรับผิดในระบบราชการหากพิดพลาดขึ้นมาแล้ว
     4. การให้อภัยกัน (forgiveness)
     5. ส่งเสริมสานเสวนาระหว่างกัน (dialogue) ด้วยการเคารพความหลากหลายของกันและกัน
     6. ใช้กระบวนการสันติวิธี (nonviolence) เป็นทางเลือกเพื่อเผชิญกับความขัดแย้ง และนำไปสู่จุดหมายแบบ win - win
     7. มีพื้นที่ให้กับความทรงจำที่เจ็บปวด (memory) ถือให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติ
     8. มุ่งแก้ปัญหาในอนาคตด้วยจินตนาการที่ดี  (imagination)
     9. ยอมรับความเสี่ยงทางสังคม (risk-taking) เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน (trust)

     ผมไม่เพิ่มเข้าไปอีกเป็นข้อที่ 10 แต่จะขอเพิ่มให้ใช้ “ความรัก” ในการดำเนินการ แต่มุ่งเสนอว่าทุก ๆ ข้อ ทุก ๆ กระบวนการต้องใช้ “ความรัก” ที่ “จริงใจ” ไม่ใช่เสแสร้ง ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาเป็นความไว้วางใจกันในสังคม คนรักกันจะเตือนสติกัน จะเป็นห่วงเป็นใยต่อกัน เอื้ออาทร คนรักกันจะ “ให้” โดยไม่คาดหวังสิ่งที่จะได้รับกลับคืนมา คนรักกันจะไม่อิจฉาตาร้อนคอยเปรียบเทียบตกตนข่มท่าน คนรักกันคงไม่ดูแคลนวัฒนธรรม ประเพณีที่ต่างจากตนไป เมื่อหลาย ๆ คนรักกัน ก็จะเป็นชุมชน สังคมที่รักกันไปเอง

     ท่านสาธารณสุขอำเภอท่านหนึ่ง (วิเชียร เวรังษี) จะครบเกษียณในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า ท่านเคยสอนผมว่า จะยังไงก็แล้วแต่ ให้ความรักเขาตอบกลับไป จะด่าเขาก็ไม่กล้าด่า จะว่าร้ายก็เขาจะเกรงใจ ในที่สุดเมื่อเขาเข้าใจ เขาจะกลับมารักเราเอง ท่านแนะนำผมให้ใช้อย่างท่าน ใช้ “ความรัก” ในการทำงาน ส่วนเด็กวัยรุ่นจะบอกว่า “ที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” นั่นคงเป็นรักอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่น่าจะใช่รักที่ผมกำลังกล่าวถึงอยู่ เพราะนั่นเป็นรักที่หวังจะเป็นเจ้าของ และหวังจะครอบครองเขามากกว่า จึงได้มีทุกข์

หมายเลขบันทึก: 13526เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2006 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คนเรามักจะปล่อยให้เมล็ดพันธุ์แห่งความสุข
ที่นอนเนื่องอยู่ในจิตใจได้แห้งเหี่ยว
โดยไม่มีการรดน้ำให้ชุ่มชื่น
แต่กลับพยายามบ่มเพาะกล้าพันธุ์แห่งความทุกข์
ความไม่พอใจ...ในสิ่งรอบข้าง
จนกลายเป็นอารมณ์แห่งความโกรธ..
ที่เปรียบเสมือนดังพันธนาการที่ผูกมัดตนเองอย่างเจ็บปวด

*ดังนั้น ประเด็นที่คุณชายขอบ เสนอเพิ่มที่ว่า  "ขอเพิ่มให้ใช้ “ความรัก” ในการดำเนินการ แต่มุ่งเสนอว่าทุก ๆ ข้อ ทุก ๆ กระบวนการต้องใช้ “ความรัก” ที่ “จริงใจ” ไม่ใช่เสแสร้ง ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาเป็นความไว้วางใจกันในสังคม" นั้น เห็นสอดคล้องด้วยอย่างยิ่งค่ะเพราะ..ความรักอย่างแท้จริงโดยปราศจากเงื่อนไขใดใดนั้นสามารถปลดปล่อยให้เราหลุดพ้นจากพันธการที่ผูกมัดตนเองอย่างเจ็บปวดได้

 

     ซาบซึ้งครับอ่านของคุณ Dr.Ka-poom แล้ว โดยเฉพาะประเด็นที่บอกว่า "ปราศจากเงื่อนไขใด ๆ มันจะทำให้หลุดพ้นจากพันธนาการที่ผูกมัดตนเองให้เจ็บปวด" เพราะพันธการเหล่านั้นมนุษย์นี่แหละนะที่ช่วยถักทอสร้างกันขึ้นมาเอง แล้วใยเราจะมัวติดยึดอยู่กับพันธนาการนั้น เมื่อรู้ตัวกันแล้ว

ดูบุคลิกแล้ว  ไม่น่าเชื่อว่า คุณชายขอบ  จะมีอารมณ์สุนทรียะ กะเขาด้วยเหมือนกัน

การได้ความรักที่บริสุทธ์  รักที่แท้จริง  ทุกคนปรารถนาครับ  แต่  รักก็เป็นพันธนาการโดยตัวของมันเองนะครับ  อย่าลืมว่า  แค่คุณรักใครสักคน  ไม่ว่าจะรักแบบใหน  มันก็เกิดเป็นความผูกพันที่พันธนาการชีวิตคุณให้ต้องคอยช่วยเหลือใครคนนั้นในทุกๆ อย่างที่คุณพอจะช่วยได้  ซึ่งบางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก 

เพราะคนไม่ใช่กระดาษคำถาม/คำตอบ  ที่ใครทำได้เท่าไหร่ก็ได้คะแนนเท่านั้น  แต่  คน  เป็นเครื่องมือที่พร้อมจะให้คะแนนเต็มหรืออย่างน้อยก็ไม่สอบตกสำหรับที่เรา "รัก"  ถ้าเราสามารถทำได้ 

รักที่จริงใจ  ไม่เสแสร้ง  มีพลังมหาศาลที่จะทำให้ใครสักคน  รับรู้ได้โดยที่เราไม่ต้องบอก  

พระพุทธเจ้าสอนเรื่อง อคติ 4  เพราะรู้ว่าคนหลีกหนีความรู้สึกเหล่านี้ไม่ได้  .........    

 

 

     ขออนุญาตเห็นแย้งบ้าง แต่ไม่ต่างทั้งหมดนะครับคุณศิลา วรบรรพต เฉพาะตรงประเด็นที่ "การช่วยคนที่เรารักที่พอจะช่วยได้ ใช่ว่าจะถูกต้องทั้งหมด" แต่สำหรับผมหากเรื่องนั้นไม่ถูกต้อง ผมเลือกที่จะไม่ช่วย และห้ามปรามด้วยครับ หากไม่หยุด ก็คงเลือกที่จะไม่รัก (โดยไม่เกลียดอะไร) ครับ อีกกรณี "ความรัก" ที่ผมหมายถึง จะแยกจาก "ความใคร่" ชนิดกลับขั้วกันเลย ส่วนประเด็นอื่น ๆ เห็นด้วยกับคุณ 100% จริง ๆ

     ยินดีและดีใจนะครับที่คุณศิลา วรบรรพตได้ร่วม ลปรร.กัน หวังว่าจะได้มีอีกต่อไปในอนาคตนะครับ ผมชอบที่คุณแสดงความคิดเห็น รวมถึงในบันทึกอื่น ๆ ด้วย จะได้ค่อย ๆ ทะยอย ลปรร.ต่อนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท