สายสัมพันธ์เมืองน่าน-กำแพงเพชร


ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ ท่านครับ

          ผมและคุณสายัณห์ ได้มีโอกาสเดินทางไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายของนักส่งเสริมการเกษตรของจังหวัดน่าน ตามกำหนดเดิม วันที่ 23 - 25 มกราคม 49 จะมีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ภายใต้โครงการเกษตรแบบยั่งยืน (รูปแบบเหมือนกับ KM สัญจรครั้งที่ 2 ที่จังหวัดพิจิตร ของ สคส.)  แต่มีเหตุขัดข้องนิดหน่อย การสัมมนาดังกล่าวจึงถูกยกเลิก แต่กิจกรรมในพื้นที่ เช่น การนำเสนอผลงานที่ชุมชนวิจัยยังคงดำเนินการเหมือนเดิม

         ทีมกำแพงเพชรไม่ยกเลิกการเดินทาง  (แม้จะไม่มีค่าใช้จ่ายให้ ก็ยินดีออกค่าใช้จ่ายเอง) เพราะถือว่าเป็นการไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้กำลังใจทีมงานนักวิจัยของจังหวัดน่านซึ่งเป็นเพื่อนๆ นักส่งเสริมการเกษตรด้วยกัน เสียดายที่จังหวัดอื่นๆ ไม่ได้มาร่วมด้วย เพราะจะทำให้เกิดชุมชนนักปฏิบัติ(CoP)เกี่ยวกับคนที่ทำงานสร้างนักวิจัยชุมชนของงานส่งเสริมการเกษตร ที่มีเครือข่ายในหลายๆ จังหวัด ร่วม 20 คน ไกลสุดถึงจังหวัดสงขลา โอกาสดีๆ อย่างนี้คงไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ

          วันที่ 23 มกราคม ทีมของกำแพงเพชร และทีมน่านได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระบวนการทำงานที่ใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) เข้ามาทำงานส่งเสริมการเกษตร ณ ห้องประชุมของสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน มีนักวิจัยชาวบ้านตัวจริง ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพวกเราด้วย คือ คุณชานนท์  พิมศิริ จากบ้านศรีนาป่าน ตำบลเรือง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ที่เป็นนักวิจัยเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ และขณะนี้กำลังวิจัยเกี่ยวกับการตัดแต่งกิ่งต้นเมี่ยงอยู่

          ช่วงเย็น ประมาณ 5 โมงเย็น อ.พาลาภ จาก จุฬาฯ (ขออภัยหากเขียนชื่อและตำแหน่งผิด) ได้โทรประสานขอร่วมพูดคุยและร่วมรับประทานอาหารเย็นกับคุณพะยอม   ทีมงานจึงได้ร่วมรับประทานอาหารเย็นและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ที่บ้านคุณพะยอม  วุฒิสวัสดิ์ (นักส่งเสริมฯสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน) เนื้อหาเกี่ยวกับการวิจัยชุมชนที่เน้นมาตรการการลดการใช้สารเคมี และประเด็นอื่นๆ อย่างหลากหลาย และได้ข้อสรุปว่า วันที่ 25 ทีมงานจะลงไปศึกษากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกส้มของอำเภอบ้านหลวง ที่มีกระบวนการลดการใช้สารเคมี เพื่อหาพื้นที่วิจัยร่วมกันต่อไป จนถึงเวลาประมาณ 4 ทุ่ม จึงได้แยกย้ายกันกลับที่พัก

          สิ่งที่ได้เรียนรู้จากจังหวัดน่านวันนี้ ก็คือ

  • เราได้เห็นการทำงานที่เหนียวแน่นของทีมนักส่งเสริมการเกษตรของจังหวัดน่าน(ที่มีจำนวนไม่มากนัก) เกี่ยวกับการวิจัยแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน ที่มีความก้าวหน้าและน่าชื่นชม สมควรที่จะเป็นแบบอย่างที่ดี ให้แก่นักส่งเสริมการเกษตรในหลายๆ จังหวัด
  • ได้เรียนรู้ถึงความยากลำบากในการทำงาน ที่ต้องใช้ความอดทน เสียสละเพื่องาน/หน้าที่
  • เห็นเครือข่ายของจังหวัดน่าน ที่ไม่เฉพาะแต่นักส่งเสริมการเกษตร หรือเฉพาะแต่ข้าราชการเท่านั้นมีทุกสาขาอาชีพครับ
  • ได้เห็นผลจากการทำงานของเพื่อนนักส่งเสริม ที่มีความหลากหลาย และเห็นนักวิจัยชุมชน (ซึ่งเป็น KV หนึ่งของทีมกำแพงเพชร) ที่เราจะต้องเดินไปให้ถึงตรงจุดนั้นเช่นกัน 

        ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ ท่านครับ 

        วีรยุทธ   สมป่าสัก  23/01/49

หมายเลขบันทึก: 13522เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2006 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2012 20:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอให้กำลังใจเพื่อผลงาน "นักส่งเสริมฯ" 

ทำงานเพื่อเรียนรู้  เรียนรู้เพื่อทำงาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท