Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๑๖)_๑


Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๑๖)_๑

การสร้างตัวชี้วัดและการประเมินเพื่อการพัฒนาองค์กร

ผู้ดำเนินรายการ       ดร.ประพนธ์   ผาสุขยืด 
ผู้อภิปราย              ดร.บุญดี  บุญญากิจ
                           ที่ปรึกษาผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
                           ผศ.ดร.วิบูลย์  วัฒนาธร  
                           รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพมหาวิทยาลัยนเรศวร
                           นพ. อนุวัฒน์  ศุภชุติกุล 
                           ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล
วัน/เวลา   วันศุกร์ที่  2  ธันวาคม  2548    เวลา  13.30-15.30  น.

ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด : 
สวัสดีครับ หลายท่านคงอยู่ที่ห้องนี้ตั้งแต่เช้านะครับ  จากเมื่อเช้าผมจะบอกว่าท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช  ท่านไม่ใช่ผู้ว่า CEO   แต่ท่านเป็นผู้ว่า KM  ชัดมากเลยนะครับ ต้องไปให้นายกทักษิณมีตำแหน่งนี้บ้างแล้ว ผู้ว่า KM บ่ายนี้ท่านคงอยากเจอวิทยากรตัวจริงแล้ว เดี๋ยวเชิญมาเลยทั้งสามท่านครับ ผมจะไม่เรียกชื่อนะครับ เดี๋ยวเห็นหน้าแล้วคงจะเดาเอาเอง เชิญเลยครับเชิญท่านวิทยากรทั้งสามท่านเลยครับ

ขอแนะนำ ตามลำดับการพูดนะครับ ท่านแรกจบปริญญาตรีจาก มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ท่านเดาไปเรื่อยๆ นะครับว่าเป็นใคร ปริญญาโทและปริญญาเอกที่  Kansas  State   University สหรัฐอเมริกา ปริญญาโทบริหารธุรกิจ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ ศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเคยดำรงตำแหน่ง นักวิจัยกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ท่านเคยเป็นผู้จัดการระบบคุณภาพให้กับบริษัท แคนเดอแกรมมาทรอน ไทยแลนด์นะครับ  และเคยเป็นผู้จัดการระบบบริหารการจัดการคุณภาพบริษัท  SPF Thailand นะครับ ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติครับ ดร.บุญดี บุญญากิจ ครับ ท่านที่สองนะครับ ท่านจบเภสัชศาสตรบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบปริญญาโท เภสัชวิทยาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นกัน ท่านจบปริญญาเอก จาก Robert Gordon University จากประเทศสหราชอาณาจักรครับ ท่านเคยเป็นเภสัชกร  โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ เคยเป็นเภสัชกร  โรงพยาบาลธัญญารักษ์  กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เคยเป็น อาจารย์เภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร  เคยเป็นรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร  เคยเป็นผู้ช่วยอธิการบดีด้านประกันคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ปัจจุบันเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ  มหาวิทยาลัยนเรศวรครับ ผศ.ดร.วิบูลย์  วัฒนาธร  ท่านที่สามนะครับ ท่านจบแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีนะครับ   ท่านเป็นแพทย์ประจำบ้าน (Resident) เป็นหมอผ่าตัดกระดูก อยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นะครับ  และท่านไปเรียนทางด้าน Health  Planing  and  Definancing  จาก  London  University  นะครับ  อดีตท่านเคยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสา จังหวัดน่านนะครับ เคยเป็นหัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมออธอปิดิก โรงพยาบาลอุดรธานี เป็นหัวหน้าฝ่ายแผนงานและโครงการกองโรงพยาบาลภูมิภาค  ฝ่ายวิชาการ สำนักงานประกันสุขภาพ  ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย  สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบัพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลหรือ พรพ. คุณหมอ อนุวัฒน์  ศุภชุติกุล  ครับ หัวข้อที่เราจะมาพูดคุยกันวันนี้นะครับ เป็นหัวข้อเกี่ยวกับ ตัวชี้วัดและการประเมินทางด้าน KM  นะครับ ซึ่งเมื่อเช้าเราก็จะได้ยินนะครับ    ในวงของนครศรีธรรมราชพูดเรื่องตัวชี้วัด   มีคนถามนะครับ  

เวลาผมพูดถึงตัวชี้วัดทีไรนะครับ ผมจะเห็นว่าชี้อะไรไปที่วัดนะครับและจะเห็นเป็นเมรุเป็นอะไรไป  นี่คือความคิดที่เป็นรูปภาพของผมในตอนนี้  ผมยิงประเด็นเฉยๆ  ว่าที่ท่านทั้งสามมาพูดจะตรงกับที่ผมคิดไหม เพราะผมคิดถึง  key  performance  indicator (KPI) ผมเหนื่อยนะครับ  รู้สึกหนักนะครับ  ตกลงเดี๋ยวเราจะมาฟังวิทยากรกันนะครับ  อาจคิดเชิงบวก  เพราะผมคิดเชิงลบนะครับ เพราะฉะนั้นเราจะให้วิทยากรพูดได้เต็มที่  โดยแต่ละท่านจะใช้เวลาประมาณ 15 -20 นาทีนะครับ  เพื่อกระตุ้นให้ท่านเกิดคำถาม  เดี๋ยวพอวิทยากรเริ่มพูดหลักการนะครับหรือแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างตัวชี้วัดนะครับ  ผมเชื่อว่าจะมีคำถามมากมายให้ท่านทยอยส่งคำถามมาได้นะครับ  เพราะฉะนั้นเดี๋ยวเริ่มจากดร.บุญดีก่อนเลยนะครับ  แล้วไปที่ อาจารย์วิบูลย์  แล้วก็หมออนุวัฒน์ นะครับ ขอเชิญ ดร.บุญดีเลยครับ

ดร.บุญดี  บุญญากิจ : 
 ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทาง สคส.มากเลยนะคะที่ได้รับเชิญในครั้งนี้ เมื่อได้รับเชิญมาพูดในเรื่องของ KM  ความรู้สึกอันแรกคือ หินจริงๆ ความเห็นตรงกับ อาจารย์อนุวัฒน์ นะคะ  แต่ก็ท้าทายดีและที่สำคัญก็คือ  เมื่อสักครู่ได้คุยกับท่าน  อาจารย์ประพนธ์  ท่านบอกว่าบรรยายนี่ไม่เป็นไรนะเพื่อกระตุ้นต่อมคำถามส่วนที่เป็นความเห็นจะเป็นช่วงท้าย  เราก็จะนำเสนอความคิดของเราทั้งสามคนนะคะ  เพราะนั้นจะเป็นยังไงจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยยังไง   เดี๋ยวมาคุยกันตอนท้ายนะคะ   ก่อนอื่น ดิฉันขอพูดถึงหัวข้อในวันนี้ก่อน จะเห็นได้ว่าใน sheets ของดิฉันที่แจกไปจะเห็นคำว่า การวัดการจัดการความรู้ เมื่อสักครู่เลยมาเพิ่มคำว่าการวัดผลนะคะ  เพราะมีความรู้สึกว่าจะสื่อตรงหรือเปล่า จริงๆ แล้ว หัวข้อต้องเป็น การวัดการจัดการความรู้   แต่ดิฉันก็มั่นใจว่าท่านฟังการบรรยายมาเกือบสองวันแล้ว ท่านคงพอจะเห็นภาพแล้วว่า การจัดการความรู้เป็นอย่างไร ดิฉันมองการวัดต่างจากท่าน อาจารย์ประพนธ์ นิดหน่อย  ท่านคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า  “ถ้าวัดไม่ได้จัดการไม่ได้  ถ้าจัดการไม่ได้ก็ปรับปรุงไม่ได้”  ดิฉันมีความเชื่อเกี่ยวกับการวัด  ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือต่าง ๆ  เช่น  safety  certification  contractors (SCC), total  quality  management  (TQM)  ซึ่งเป็นกระบวนการวัดเป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุด  โดยจะเริ่มตอบคำถามหลักๆ  5 คำถาม  คำถามแรก  ทำไมถึงต้องวัด  เราวัดการจัดการความรู้เพื่อประเมิน  ติดตามว่าสิ่งที่เราทำลงไป  กิจกรรม KM  ทั้งหลายเป็นไปตามแผนมั้ย  และประเมินว่าผลที่ได้บรรลุเป้าหมายหรือไม่ และสุดท้ายก็ไม่พ้นในเรื่องของการปรับปรุง อันนี้ทุกท่านคงจะเข้าใจดี ท่านจะเห็นคำว่าคุ้มค่ามีคำถามจากห้องเอกชนว่า  การทำ KM  คุ้มค่าหรือไม่ ดิฉันเลยคิดว่าเป็นคำถามที่ห้องเอกชนออกมาอย่าง automatic เลย ความคุ้มค่าคืออะไร ทำ KM  แล้วคุ้มค่าหรือเปล่า ดิฉันแปลมาจากคำว่า   return  on  investment  หรือ ROI ที่ภาคธุรกิจคุ้นเคยกันดี พูดง่ายๆ ลงทุนไปกี่บาท สมมุติ 100  บาท ได้ผลกลับมากี่บาท 110  บาท  ROI ก็คือ 10  เปอร์เซ็นต์ แล้วภาคราชการ  ความคุ้มค่าคืออะไร บางครั้งตีเป็นตัวเงินไม่ได้เพราะภารกิจของหลายองค์กรไม่ได้ทำกำไรไม่ได้หวังเงิน  แต่อาจทำเพื่อสร้างสังคมที่ดี   สุขภาพ  คุณภาพของชีวิต มันตีออกมาเป็นตัวเงินได้หรือเปล่า หากมองในระยะไกล  สิ่งที่ท่านคิดว่าตีเป็นค่าเงินไม่ได้  ความจริงแล้วตีได้ แต่เป็นการประมาณการเท่านั้นเอง ดิฉันคิดว่าคำถาม

สุดท้ายสำหรับ CEO หรือ CKO  ก็ตามในองค์กรใดๆ ก็ตาม สุดท้ายมันคุ้มค่าไหมกับแรงต่างๆที่ลงไป  ไม่ว่าจะเป็นค่าที่วัดได้หรือไม่ได้ก็ตาม คงจะเป็นคำถามที่ต้องเอาไว้ในช่วงท้ายนะคะ  มาถึงว่าจะใช้ตัววัดอะไรจะ อันแรกที่จะวัด KM ตัวชี้วัดผลของ KM  นั้นต้องมีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายขององค์กร  ดิฉันขอเอาปลาตะเพียนของอาจารย์วิจารณ์ ชอบมากเพราะมันสื่อหลายๆ อย่าง      สมมติว่าท่านอยู่ในกระบวนการนี้ 

เป้าหมายในการทำ KM  ของท่านอยู่ตรงหัวปลาตัวเล็กนี่ คำว่าเชื่อมโยงนั้นหมายถึงสามารถที่จะโยงกลับไปถึงหัวปลาใหญ่ก็คือ เป้าหมายอันใหญ่ขององค์กรนั่นเองหรือวิสัยทัศน์ขององค์กรได้   ขอยกตัวอย่างง่ายๆ   ในองค์กรนี่    ดิฉันมั่นใจว่าทุกองค์กรมีวิสัยทัศน์อยู่แล้ว  มีการจัดทำประเด็นยุทธศาสตร์ต่างๆ ทำกลยุทธ์มากระจายเป็นกระบวนการ  ถ้าหากท่านกำลังทำ KM  ตรงนี้ แล้วเป้าหมายในการทำ  KM ของท่านอยู่ที่เป้าหมายของกระบวนการที่ท่านทำอยู่  สิ่งที่ท่านต้องคิดก่อนจะเริ่มทำ  ไม่ใช่หลังทำนะคะ  ต้องดูว่าผลของ KM นั้น มันย้อนกลับไปตอบคำถามหรือตอบได้ไหมว่าจะช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายขององค์กรหรือเปล่า   อันนั้นคือจุดแรกเลยในการวัดตรงนี้  ตัวที่สองคือ ตัวชี้วัดมีกี่แบบถ้าเชื่อมโยงแล้วมีกี่แบบ  ในทุกองค์กรมีกระบวนการ  มีระบบที่ใช้ในการเปลี่ยน input ออกมาเป็น output เวลาเราทำ KM  นั้นต้องมีการบูรณาการ เพราะฉะนั้น กิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับ  KM ไม่ว่าจะเป็นชุมชนนักปฏิบัติ  after  action  review ต้องบูรณาการและฝังเข้าไป

ในกระบวนการทำงาน  ต่าง ๆ  ตัววัดกลุ่มแรกที่ง่ายสุด คือ  ตัววัดกิจกรรม  KM  ตัวชี้วัดนี้วัดง่าย เพราะสามารถนับเป็นจำนวนได้  แต่ตัวที่ตามมาก็คือ  การวัดทัศนคติ  หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป  เช่น  ความพึงพอใจของคนในองค์กรกับขุมความรู้ที่สกัดออกมาเป็นอย่างไร ตัวนี้ความจริงวัดไม่ง่าย ตัวนี้คือกลุ่มแรกที่แนบสนิทไปกับกระบวนการทำงาน  ถ้าหากกระบวนการนี้ดีแล้วสิ่งที่ส่งผลออกมา ถ้าท่านวัดจากกลุ่มนี้ท่านบอกไม่ได้เลยว่าผลคืออะไร   ต้องอยู่ที่ output  ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ออกมาจากกระบวนการ  เช่น  ผลิตภัณฑ์  การให้บริการ  ซึ่งหนีไม่พ้นตัววัดในเรื่องระยะเวลา  คุณภาพ การส่งมอบความปลอดภัยทั้งหลายที่เกี่ยวกับ activity    ซึ่งส่งผลไปยัง  outcome  ซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่ของตัวองค์กร    ตัวนี้เป็นความคาดหวังของ stakeholder ต่อ output ที่ท่านผลิตออกมา ไม่ว่าท่านจะผลิตอะไร หรือให้บริการอะไรก็ตาม 

อีกตัวหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันไม่แน่ใจว่าหน่วยราชการได้ดูตรงนี้หรือเปล่า  คือทรัพยากรที่ท่านใช้  ถ้าต้องการวัดความคุ้มค่า ตัววัดที่ต้องใช้เกี่ยวกับ input ในกิจกรรม KM  กระบวนการ KM ทั้งหมด  ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเวลา เงินอาจไม่ต้องใช้เยอะ แต่เวลาต้องใช้ ซึ่งอาจต้องคำนวณโดยเปรียบเทียบ input  กับ  output   เมื่อต้องการวัด  ROI ยกตัวอย่างง่ายๆ  เช่น  โรงพยาบาล  เป้าหมายขององค์กรคือ  การสร้างความพอใจให้ผู้มารับบริการ  การเลือกตัวชี้วัดเป้าหมายต้องมองกลับไปที่กระบวนการว่ากระบวนการอะไรที่ส่งผลต่อความ   พึงพอใจต่อผู้ใช้บริการ เวลาที่เราจะเลือก กระบวนการที่จะมาทำ KM สมมติเลือกได้หลายกระบวนการ  นำมาจัดลำดับความสำคัญ  ออกมามีหลายกระบวนการแต่ท่านสนใจในเรื่อง  การตรวจสอบในห้อง  lab    ตัวแรกที่วัด  คือจำนวนประชากรที่ต้องมีจำนวนสมาชิก หรือ การเพิ่มของสมาชิก ขุมทรัพย์ที่ท่านสกัดออกมาได้ และนำจำนวนเหล่านั้นไปใส่ใน web  page    ที่สำคัญคือความพึงพอใจของผู้ใช้หรือ ข้อมูลสมาชิกของประชากรมีทั้งตัววัดได้และวัดไม่ได้  ซึ่งเป็นเบื้องต้น    ถามว่าวัดแค่นี้ได้ไหม   คงจะไม่ได้   เพราะท่านคงจะต้องไปดู output  ของกระบวนการตรวจ ตัวอย่างตรงนี้อาจเป็นตัววัดที่ท่านมีอยู่แล้ว ก็คือระยะเวลาการรอคอยในการตรวจ จะเสร็จเมื่อไหร่ มันลดน้อยลงไหม

พอใช้ KM ไปแล้ว  ระยะเวลารอคอยน้อยลงไหม  คุณภาพของการ test หรือ การตรวจนี้เป็นอย่างไรดีขึ้นหรือเปล่า หลังจากเราทำ KM  ลงไป   ตัวนี้ให้ความหมายในลักษณะหนึ่งนะคะ ซึ่งคือคุณค่าขององค์กร  แต่สุดท้ายหนีไม่พ้นต้องกลับมาที่ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ ซึ่งก็คือ output เพราะฉะนั้น การทำ KM การวัดผลของการทำ KM จริงๆ นั้นต้องเริ่มที่ตัว outcome  เพราะถ้าท่านไม่ได้เริ่มที่ outcome เมื่อทำตัวนี้ไปแล้ว KM  ตัวที่ท่านได้ไป อาจไม่มีผลกระทบหรือส่งผลต่อเป้าหมายโดยรวมขององค์กรนั่นเอง
 เมื่อทราบชนิดของตัวชี้วัด  ต้องมาดูว่าใช้ตัวชี้วัดแต่ละแบบเมื่อไหร่  ตัววัดแต่ละประเภท จะมีช่วงเวลาของการใช้ไม่เหมือนกัน 

ช่วงที่เราเริ่มทำ KM ใหม่ๆ เราจะวัด process โดยใช้เพื่อดูว่ากิจกรรมที่เราทำนั้นเป็นไปตามแผนที่เราวางไว้ไหม  ความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างไร  เพื่อเอาข้อมูลเหล่านี้มาใช้เพื่อปรับกระบวนการการทำ KM  ของท่าน  เมื่อทำถึงระดับหนึ่งส่งผลไปยัง output ตัววัดของท่านก็เริ่มเพิ่มขึ้นแล้วอาจจะต้องไปวัดแล้วว่า output  ในกระบวนการที่เราทำมันดีขึ้นไหมระยะเวลามันสั้นลงหรือเปล่าคุณภาพดีขึ้นไหม  การส่งมอบตรงเวลาไหม  ปลอดภัยขึ้นไหม  สุดท้ายต้องไปวัดที่ตัวเป้าหมายขององค์กร โดย process  indicator  มองว่าเป็นการวัดผลของ KM แต่จริงๆมันเป็นการวัดจุดเริ่ม เราพบว่าตัววัดนี้จะมีประโยชน์เมื่อเริ่มทำ  แต่ไม่ใช่ตัวสุดท้าย  ทีนี้มาถึงว่ารู้แล้วว่าจะใช้ตัววัดอะไร แล้วใครคือคนใช้ผลของการวัดเหล่านั้น ก็จะมีอยู่ สองกลุ่ม   หนึ่งก็คือ คนที่จะใช้ผล  CEO, CKO,  ผู้บริหารในทุกระดับ, KM team   และผู้ปฏิบัติงาน 

สำหรับ KM team  ตัววัดที่สำคัญมาก คือ  ตัววัดใน process  indicator เพราะจะทำให้เห็นว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นต้องนำไปปรับปรุงอย่างไร  เหตุใดจึงไม่เป็นอย่างที่คิด   ต้องใช้วิธีอะไรที่ต้องปรับตรงนี้ ส่วนผู้ปฏิบัติงานจะใช้ตรงนี้  เพื่อดูว่าที่เราทำไปผลเป็นอย่างไร  โดยเฉพาะ  output ของตัว process


 ในส่วนของผู้เก็บข้อมูล  ถ้าเป็นกรณีของตัว process ตัววัด output และ outcome หากมีเก็บกันอยู่แล้วก็ไม่ต้องวัดเพิ่ม   พยายามอย่าสร้างตัววัดใหม่  ตัววัดที่เกี่ยวกับกิจกรรม  ตัว KM team  นั้นต้องเป็นผู้เก็บ เพราะฉะนั้น ต้องกำหนดให้ดีว่าใครจะทำการเก็บข้อมูลแต่ละแบบ  การเก็บอย่างไรขึ้นอยู่กับตัววัดชนิดไหน ถ้าเป็น process  indicator หากมีระบบ  automatic  อยู่แล้ว  ก็ใช้ระบบไป  หากไม่มีอาจเลือกใช้วิธีการที่แตกต่างกัน   การเก็บตัววัดแบบปริมาณเก็บง่าย  ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพ  เช่น  พฤติกรรม  ความพึงพอใจ อาจใช้การ  survey    เช่น       ใช้แบบสอบถามแล้วส่งไปทางไปรษณีย์     วิธีการเก็บข้อมูลนั้นจะต้องขึ้นกับวัฒนธรรมขององค์กรต่างๆ  ด้วย  ดิฉันเล่านิดหนึ่งของสถาบัน  แต่ก่อนใช้วิธีส่งไปรษณีย์  แต่มีส่งกลับมาน้อยมาก  เลยใช้วิธีเข้าไปเก็บเดี๋ยวนั้นเลยทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มมากขึ้นมาก 

เพราะฉะนั้นต้องหาวิธีการเอง  ว่าวิธีการไหนจะเหมาะกับองค์กรของท่าน   กลับมาที่เราต้องวัดตั้งแต่เมื่อไหร่ ส่วนดิฉันการวัดเราวัดตั้งแต่เริ่มต้น และวัดไปเรื่อย ๆ  ควรจะวัดแต่จะเลือกวัดอะไร  ควรเลือกวัดให้เหมาะ  ที่สำคัญคือการวัดนั้นจะต้องทันกับความต้องการของผู้ใช้  หากเป็นผู้ใช้คือผู้ที่จะต้องต้องปรับปรุงกระบวนการ KM  ต้องให้ทัน  หรือหากเป็น CEO  หรือ  CKO   ต้องให้ทันการต่อการตัดสินใจในการให้งบประมาณของกิจกรรม  ดิฉันขอสรุปนะคะ สิ่งที่สำคัญสุด  คือ  KM  measurement  process  สองอันแรกที่สำคัญที่สุด  คือ   KM activities ที่ท่านทำอยู่นั้นต้องสามารถโยงกลับที่เป้าหมายขององค์กรได้   เมื่อได้ KM activities  ดูว่าใครจะใช้ผลการวัดนั้น  ใช้เพื่อทำอะไร  แล้วไป identify ตัวชี้วัดว่ามีอะไรบ้าง  จะทำการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลวัดอย่างไรอย่างไรก็ตาม  ผลที่ได้ส่งไปให้ผู้ใช้  เพื่อจะนำไปใช้ในการตัดสินใจอะไร ซึ่งต้องหาให้เจอว่าจะไปใช้ทำอะไร   เสร็จแล้วเอาข้อมูลนั้นกลับมาปรับ KM activity  หรือปรับตัวชี้วัดที่จะใช้เป็นระยะ ๆ อย่างไรก็ตาม จะวัดอะไรก็ตามขอให้แน่ใจว่าสิ่งที่วัดมีความหมายจริงๆ
 
ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด :
 ขอบคุณมากครับ ผมถือว่า จากที่ดร.บุญดี  นำเสนอถือเป็นการให้ภาพใหญ่ที่สำคัญ  ผมเองก็สนใจตัวชี้วัดมานาน แต่ผมว่าวันนี้ได้ฟังสิ่งดีๆ ที่ ดร. บุญดีนำเสนอทำให้เห็นภาพครอบคลุมและให้ภาพที่ชัดเจนในของเรื่องการวัดได้ทั้งหมด  เพียงแต่มีเวลาน้อยไปนิด ท่านต้องถามเพื่อจะให้ ดร.บุญดี ได้ขยายความ คราวนี้เราลองมาดูท่านอาจารย์วิบูลย์ ในฐานะที่ท่านเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวรนะครับ จะให้ อาจารย์ลองเล่าถึงการวัด การประเมินที่อาจารย์ทำนะครับ เชิญครับ

ดร.วิบูลย์  วัฒนาธร  :
ขอบคุณครับ ผมกราบเรียนที่ประชุมนะครับ กรณีที่ผมพูดนี่เป็นกรณีของสถาบันอุดมศึกษานะครับ เพราะฉะนั้นท่านนี่อยู่ในสถาบันอุดมศึกษา ฟังแล้วจะเข้าใจได้เป็นอย่างดี แต่ท่านที่ไม่ได้อยู่ในสถาบันอุดมศึกษา ฟังแล้วต้องขอโทษล่วงหน้านะครับ ผมจะพูดไปเร็วๆ นะครับ เพราะเวลาน้อย อาจจะเข้าใจไม่ได้ทั้งหมดนะ เมื่อสักครู่ที่ผมฟัง อาจารย์บุญดีแล้ว ในกรณีที่ผมเตรียมมาอาจสอดคล้องกัน เมื่ออาจารย์บุญดี พูดอยู่ในส่วนทฤษฎี แล้วมาฟังว่าเวลามาปฏิบัติแล้วเป็นอย่างไรนะครับ     สิ่งที่ผมพูดคุยมีอยู่ 4  ช่วงนะครับช่วงแรก คือ ความสำคัญและความสัมพันธ์ของตัวชี้วัด  การประเมินและการพัฒนาองค์กร ช่วงที่  2  คือเราได้ทำอะไรกันไปบ้างแล้ว ช่วงที่สามจะเอามาวิเคราะห์ว่า แล้ว KM  เป็นยังไง เพื่อให้เห็นช่องทางว่าสิ่งที่เราทำอยู่กับสิ่งที่จะทำอะไรต่อไป สุดท้ายก็จะเป็นว่าต่อไปจะเป็นยังไง  ช่วงแรกคือความสำคัญ  และความสัมพันธ์ของตัวชี้วัด  การประเมินและการพัฒนาองค์กร  เป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนักแต่เราก็หนีไม่พ้น เช่น  การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล  การพัฒนาคุณภาพการศึกษา  จะพัฒนาเรื่องประสิทธิภาพการใช้เงิน  จะพัฒนาระบบการทำงาน  ทุกสิ่งต้องอาศัยการประเมินและเวลาประเมิน

มีสองอย่างที่ต้องใช้คือตัวชี้วัดกับมาตรฐาน  หรือความคาดหวัง  คือต้องมีตัวชี้วัดและต้องเทียบกับสภาพจริงกับความคาดหวัง อันนี้จึงเป็นความสำคัญของตัวชี้วัดและการประเมิน  และการพัฒนาองค์กรก็คือมันสัมพันธ์กัน เราประเมินไปเพื่อพัฒนาองค์กร และเวลาจะประเมินก็คือต้องมีตัวชี้วัด มีความคาดหวัง มีมาตรฐานเป็นตัวเทียบเคียง ผมขอเริ่มต้นจากทำอะไรไปแล้วครับ แล้วจะต่อยอดได้อย่างไร อันนี้เป็นของจริงที่เราใช้อยู่  ส่วนสิ่งที่ทำไปบ้างแล้วในสถาบันอุดมศึกษาเราจะประเมินแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม  คือ กลุ่มที่หนึ่งกับกลุ่มที่สอง กลุ่มที่หนึ่งเน้นเรื่อง  พันธกิจของอุดมศึกษา  คุณภาพของบัณฑิต คุณภาพของงานวิจัย การบริการวิชาการ การบำรุงศิลปวัฒนธรรม กลุ่มที่สองเกี่ยวกับกระบวนการ  ซึ่งมี  สามมาตรฐาน  คือเน้นการพัฒนาคนและพัฒนาองค์กร  ซึ่งมีการประเมินในด้านนี้อยู่แล้ว  keyword  เน้นการมีส่วนร่วม  การกระจายอำนาจ  ภาวะผู้นำ  การวางแผน  การพัฒนาคนและระบบการเงิน โดยเน้นความโปร่งและคุณค่าในการใช้เงิน  ซึ่งเป็นมาตรฐานตัวตั้งของการประเมิน  ตัวบ่งชี้ในมาตรฐานดังกล่าว  อันแรกคือการพัฒนาองค์กรให้ไปสู่องค์กรการเรียนรู้ อาจจะพิจารณาจากหลายๆ อย่าง เช่น มีความต้องการจะไปถึงไหนมีวิสัยทัศน์อย่างไร  สองคือความพยายามไปถึงไหนแล้วที่จะไปเป็นองค์กรสู่การเรียนรู้  สามดูกลยุทธ์เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ระดับชาติ  สี่มีการพัฒนาการบริหารแบบมีส่วนร่วม การใช้ทรัพยากรร่วมกัน และห้าการแข่งขันในระดับสากล  ทั้งหมดนี้คือตัวบ่งชี้

ในเรื่องที่หนึ่ง   คือการพัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้  ส่วนต่อมาเป็นเรื่องของการพัฒนาคน  คือการพัฒนาอาจารย์ซึ่งเป็นบุคลากรที่สำคัญอยู่ในมหาวิทยาลัย  ประเมินว่าผลงานของอาจารย์ไปเข้าร่วมประชุมวิชาการกับเขาไหม  ต่อมาเป็นเรื่องของงบประมาณ  มีการสนับสนุนให้อาจารย์ไปเข้าร่วมประชุมไหม  เป็นการพัฒนาคนครับ ส่วนต่อมาคือไม่ใช่อาจารย์แต่เป็นบุคลากรสายสนับสนุนก็ต้องได้รับการพัฒนาเหมือนกัน  ต่อมาคือศักยภาพทางด้านการเงิน  จะเน้นที่ความคุ้มค่าความโปร่งใสในการใช้เงิน  สุดท้ายคือศักยภาพในการใช้ฐานข้อมูลจัดการความรู้คือเรื่อง information  technology  (IT) นี่คือทั้งหมดที่ใช้กันอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาครับ  ตัวบ่งชี้ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ  (กพร.)  คือเรื่องเกี่ยวกับมิติการพัฒนาองค์กรเป็นอย่างไรบ้างนะครับ  มีอยู่สามตัวบ่งชี้ครับ  อันที่หนึ่งคือตัวบ่งชี้ในการปฏิบัติไปตามแผนเกี่ยวกับการจัดการความรู้  คือเราต้องตั้งแผนให้เหมาะสมกับตัวเองแล้วก็ทำไป เน้นอะไรตรงไหน เราสามารถวางแผนให้กับตัวเองได้แล้วเขาก็จะมาเทียบดูว่าวางแผนไว้แล้วทำได้แค่ไหนอย่างไร ประสบความสำเร็จไหม  ถ้าประสบความสำเร็จก็จะได้คะแนนเต็มทำนองนี้ 

ส่วนอีกเรื่องคือเกี่ยวกับ IT สรุปคือจะคล้ายๆ กัน มีทั้งคนและ IT  ช่วงที่สามคือ KM  ที่ได้มาจะไปช่วยการประเมินช่วยทำให้ผลสัมฤทธิ์การทำงานให้ดีขึ้นได้อย่างไร  จุดประสงค์หลักของคือการพัฒนาความรู้ การพัฒนาคนและองค์กรให้ดีขึ้นเก่งขึ้น   จึงต้องใช้การประเมินทุกขั้นตอนต้องอาศัยความรู้ทั้งหมดทุกขั้นตอนว่าสภาพจริงเป็นอย่างไร    การให้น้ำหนักของการประเมินจะอยู่ที่ความรู้ในตัวคนค่อนข้างมาก  ผลการวิจัยพบว่า  ความรู้จริงๆ ในองค์กรจะอยู่ในตัวคนค่อนข้างมาก  ส่วนการถ่ายทอดความรู้ในองค์กรผ่านฐานข้อมูลส่วนใหญ่จะอยู่ในตัวคนมากกว่า 

ซึ่งน่าจะเป็นอันดับแรกที่จะต้องประเมิน  ดังนั้นกิจกรรมส่วนใหญ่จะเน้นความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคลมากกว่า  หากมีการจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีจะทำให้ต้นไม้เติบโตไปมาก  โดยเน้นความรู้ในคน  ซึ่งควรให้ความสำคัญและควรมีตัวชี้วัดที่จะเพิ่มความรู้ในตัวคนหรือความรู้ในองค์กร  ซึ่งหากมีความรู้ดีองค์กรจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดี  ช่วงที่สี่  ปัจจุบันสู่อนาคต  ความรู้ที่จะให้ความสำคัญคือความรู้ที่อยู่ในตัวคน ถ้ามีการจัดความรู้ในตัวคนดี ความรู้ในองค์กรก็จะมีผลสัมฤทธิ์ที่ดี การที่จะวัดผลสัมฤทธิ์ดีในทางปฏิบัติจะมีหน่วยงานอื่นมาช่วยประเมินผลสัมฤทธิ์อยู่เป็นระยะทุกปี  ทุกห้าปี  แต่นี่เป็นวงข้างใน  แต่ผมลองสังเคราะห์ดูแล้ว  มันจะมีบางตัวชี้วัด บางการประเมินมันยังไม่ถึงที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งฝังอยู่ในตัวคน  เพราะฉะนั้นการบ่งชี้อันใหม่  หรือว่าอันที่จะเพิ่มจะต่อยอดสิ่งที่เคยทำอยู่แล้ว  น่าจะเป็นตัวบ่งชี้ที่ได้มาจากบล็อก   เช่น  มีการนำผลสำเร็จมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  พอแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้วมีการบันทึก  และนำขุมทรัพย์ความรู้มายกระดับ  และการนำไปใช้แบบข้ามทีม และสุดท้ายเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามระดับ  สำหรับหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่อุดมศึกษาอาจใช้หลักการของอาจารย์บุญดี  คือมีเกณฑ์ในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด : 
ท่าน อาจารย์วิบูลย์ได้ zoom เข้าไปนะครับ ทำให้เห็นสิ่งที่ อาจารย์บุญดี พูดไว้นะครับ ที่เป็นภาพใหญ่  ชัดขึ้นในบทบาทของมหาวิทยาลัย  ซึ่งแน่นอนนะครับว่าสิ่งที่วิทยากรนำเสนอนั้นเป็นแนวคิดเป็นหลักของท่าน  ท่านผู้ฟังทั้งหลายมีสิทธิ์ที่จะคิดแตกต่าง    แต่ถ้าท่านไม่เคลียร์ถามมา  ผมจะรวบรวมคำถามไปเรื่อย ๆ  และก็มาถึงวิทยากรท่านที่สามนะครับ  ซึ่งก็จะเป็นการ zoom เข้าไปเหมือนกันนะครับ แต่จะเป็น sector ของโรงพยาบาลนะครับ ซึ่งก็คือคุณหมออนุวัฒน์นะครับ เชิญเลยครับ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13488เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2006 17:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท