ประชุมทีมงาน สรส. ประจำเดือนมกราคม 2549 (2)


พัฒนาตน หรือพัฒนางาน สิ่งไหนสำคัญกว่ากัน...
    การประชุมของทีมงาน สรส.ครั้งนี้  ไม่ได้มีเฉพาะ ‘คุณทรงพล’ ผอ.สถาบันฯ  และทีมงานอีก 6-7 คนเท่านั้น  ยังได้รับเกียรติจาก ‘พี่ยุ่น’ และ ‘พี่ธร’ จากสถาบันการจัดการแบบองค์รวม  ช่วยเข้ามาแลกเปลี่ยนมุมมองประสบการณ์ทำงาน   
     เราได้แลกเปลี่ยนกันถึงเรื่อง เป้าหมายของการทำงาน  แต่ละคนมีจุดมุ่งหมายอย่างไร ซึ่งก็ได้เชื่อมโยงมาถึงว่าแต่ละคนมีความเห็นอย่างไรในเรื่องของการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาตน กับการพัฒนางาน 
     บางความเห็น เห็นว่า ‘งาน’ เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราได้ ‘พัฒนาตัวเอง’  โจทย์ยิ่งยาก ก็ยิ่งท้าทาย ให้เราเฟ้นหาวิธีดำเนินงานเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ และการได้ไปเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะให้กลุ่มเป้าหมาย เราก็จะยิ่งได้โอกาสในการพัฒนาตัวเองตามไปด้วย
     บางความเห็น เห็นว่า การเริ่มต้นที่ ‘การพัฒนาตนเอง’ โดยเฉพาะเรื่องของภายใน ถ้าภายในเข้มแข็ง ก็จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาด้านอื่นๆ มากมายตามมา
      ทั้งสองมุมมอง ล้วนถูกต้องทั้งสิ้น ซึ่ง ‘พี่ทรงพล’ ได้ให้แง่คิดว่า
“  จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของความสมดุล  งานก็พัฒนาคน  คนก็พัฒนางาน  สองสิ่งนี้เชื่อมโยงถึงกัน  แล้วแต่จังหวะ  ช่วงโอกาส...  บางช่วงงานมีส่วนช่วยในการพัฒนาศักยภาพของคน  บางช่วงเมื่อคนยิ่งเกิดการพัฒนาความรู้ ทักษะ รวมทั้งเรื่องของภายใน ก็ยิ่งทำให้งานเกิดการพัฒนา   และบางช่วงสองสิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน...   แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำไป  ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า  เราได้เรียนรู้อะไร?   งานเป็นเพียงแบบฝึกหัดสำหรับการเรียนรู้ของเรา…”
แรงเสริมจาก “กัลยาณมิตร”
   นอกจากนี้  พี่จากสถาบันการจัดการแบบองค์รวม ก็ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยมีความเห็นว่า นอกจากเทคนิค เครื่องมือ และวิธีการที่นำไปสร้างให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการพัฒนา เกิดการเปลี่ยนความคิด รวมถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว  ปัจจัยที่เป็นแรงเสริมสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบยั่งยืน  คือ ‘กัลยาณมิตร’  ใกล้ตัว เพราะถึงแม้ เมื่อเขาออกมาร่วมกระบวนการเรียนรู้กับเรา  เราเห็นว่าเขาเปลี่ยนไปได้จริง  แต่เมื่อกลับไป เจอสถานการณ์เดิมๆ ปัจจัยรอบตัวเหล่านั้นสามารถทำให้เขากลับมาเป็นแบบเดิมได้อีกโดยไม่ยาก  เพราะฉะนั้น การมี Change Agent ในพื้นที่คอยติดตาม หนุนเสริม ให้กำลังใจ ก็เป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญ
หัวใจของการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง  
   ประเด็นนี้ ทาง สรส. ก็มีความเห็นด้วยอย่างยิ่ง และ ‘พี่ทรงพล’ ยังได้แลกเปลี่ยนเพิ่มเติมอีกว่า
 “ หัวใจสำคัญของการทำงานของเรา ไม่ว่าจะเรื่องการสร้าง Change Agent หรือนักจัดการความรู้ หรือคุณอำนวยกระบวนการเรียนรู้ หรือสร้างใครก็ตามเพื่อนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลง...เราควรให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาจากข้างใน  นั่นคือเรื่องของ ศรัทธา สติ สมาธิ วิริยะ และปัญญา ต้องสร้างให้เกิดความศรัทธา  เกิดแรงบันดาลใจที่แรงพอ  เราต้องรู้เรา รู้เขา พิจารณาว่าเขามีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไร ไม่เอาตัวเราไปตัดสินเขา ต้องห้อยแขวน  ฝึกการตั้งสติ สมาธิ  ความนิ่งพอจะช่วยให้เห็นความเชื่อมโยง คิดได้อย่างเป็นระบบ  วิริยะ ความมั่นเพียร พากเพียร จะช่วยเสริมพลังให้งานบรรลุผลได้ดียิ่งขึ้น และตัวที่สำคัญ ปัญญา เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย ‘โยนิโนมนสิการ’ และ ‘กัลยาณมิตร’
    หลังจากที่ทีมงาน สรส.ได้นำเสนอโครงการที่รับผิดชอบ และร่วมแลกเปลี่ยนกับพี่ๆ สถาบันการจัดการแบบองค์รวม พอหอมปากหอมคอแล้ว พี่เขาก็ได้ลากลับไปทำงานต่อ และให้สัญญาทางใจต่อกันว่า คงจะได้มีโอกาสร่วมมือกันสร้างสรรค์งานพัฒนาชุมชน สังคมในโอกาสต่อไป

ฝ่ายสื่อ สรส.

หมายเลขบันทึก: 13407เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2006 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท