ประชุมทีมงาน สรส. ประจำเดือนมกราคม 2549 (1)


โครงการหลักของ สรส...
   เมื่อต้นเดือนมกราคม 49  ทางทีมงาน สรส.ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงเรื่องหน้าตาของ ‘วัฒนธรรมขององค์กร’ ที่พวกเราอยากเห็น ทุกคนมีสิทธิในการกำหนด และทุกคนมีส่วนที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง
   การทำงานแบบพี่น้อง มีความเอื้ออาทรแก่กัน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ แบ่งปันความรู้ ปรึกษาให้คำแนะนำแก่กันด้วยความเป็นกัลยาณมิตร  เรียนรู้กับงานให้เกิดการพัฒนาตนด้วยตัวเอง และการช่วยเหลือ สนับสนุนจากเพื่อนรอบข้าง  เหล่านี้คือสิ่งที่พวกเราอยากเห็นและอยากร่วมกันสร้าง
   มาถึงวันที่ 23-24 มกราคม 49 ที่ผ่านมาในสองวันนี้  พวกเราก็นัดมาพบกันอีกครั้ง เพื่อวางแผนการทำงานร่วมกัน  ครั้งนี้เราได้ออกจากห้องแอร์สี่เหลี่ยมในเมือง  ไปเจอกันที่ ‘พนาศรม’  บรรยากาศที่ร่มรื่น ได้เห็นท้องนา สายน้ำ ต้นไม้เขียวๆ ใบไม้ไหว และลูกแมวตัวน้อยๆ  ที่วิ่งหยอกล้อกันไปมา  เรารับรู้ได้ถึงความผ่อนคลายภายในที่มีส่วนช่วยอย่างยิ่งให้เราเกิดความพร้อมต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ดียิ่งขึ้น  การพูดคุยเริ่มต้นที่  ให้ทีมงานเล่าการดำเนินงานของโครงการที่รับผิดชอบอยู่...


โครงการหลักๆ ของ สรส.ขณะนี้ ได้แก่
1) โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น ได้รับการสนับสนุนจาก สคส.   เป็นโครงการเพื่อมุ่งเสริมสร้างให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ของชุมชน โดยจะทำพร้อมกันใน 3 ระดับ คือ เครือข่ายแห่งการเรียนรู้   องค์กรแห่งการเรียนรู้  และการเรียนรู้ในระดับปัจเจก  กลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นตัวต่อสำคัญคือ กลไกการจัดการความรู้ระดับชุมชน ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต. , เทศบาล,  สหกรณ์)  และนักจัดการความรู้ท้องถิ่น (นจท.)    โดยพาแกนนำของกลไกเหล่านี้ มาเสริมศักยภาพและพัฒนาทักษะผ่านเครื่องมือการเรียนรู้ที่หลากหลาย อาทิเช่น  การรู้จักตัวเอง รู้เพื่อน รู้จักชุมชน การเรียนรู้สภาวะภายใน ธรรมะกับการทำงาน  การฝึกฝนด้านวิธีคิด การรับฟังอย่างลึกซึ้ง การฝึกตั้งคำถาม การใช้สื่อและศิลป์เพื่อการเรียนรู้ ทักษะสภาวะการเป็นผู้นำ – ผู้ตาม  การสร้างวิสัยทัศน์ร่วม  กระบวนการสร้างความศรัทธา / แรงบันดาลใจ  การวางแผนการทำงานร่วม  พลังกลุ่ม การถอดบทเรียนประสบการณ์ ความรู้ ทักษะของนักจัดการความรู้  ทักษะคุณอำนวยกระบวนการเรียนรู้  ทักษะการเขียน การจดบันทึก และทักษะการออกแบบกระบวนการเรียนรู้  เป็นต้น  โดยโครงการคาดหวังว่าจะเป็นแนวทางเพื่อนำไปสู่การก่อเกิดสถาบันการจัดการความรู้ของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน
พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่  สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี อยุธยา ลำพูน เชียงใหม่  นครศรีธรรมราช
2) โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพระดับจังหวัด (เครือข่ายสุขภาพ) ได้รับการสนับสนุนจาก สสส.    เป็นโครงการเพื่อเสริมศักยภาพการเรียนรู้ของแกนนำเครือข่ายสุขภาพ ระดับจังหวัด โดยในช่วงของเฟสที่ 1 (สิ้นสุดไปเมื่อปลายปี 47)  เป็นการวางน้ำหนักในเรื่องของ 1)   การประสานจัดการให้เกิดคณะกรรมการอำนวยการของชุดโครงการ เพื่อช่วยพิจารณาภาพรวมและกำหนดทิศทางในการทำงาน  2)   จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างแกนนำเครือข่ายสุขภาพของแต่ละจังหวัด กับ สสส. และระหว่างแกนนำเครือข่ายสุขภาพของแต่ละจังหวัดกันเอง   โดยเฉพาะในการปรับบทบาทของแกนนำเครือข่ายที่เดิมทำงานในลักษณะของงานอาสาสมัครมาเป็นการทำงานที่มียุทธศาสตร์และแผนงานที่ชัดเจนทั้งระยะสั้นระยะยาว  3)   การจัดให้มีเวทีเสริมการเรียนรู้ให้กับตัวแทนแกนนำของแต่ละจังหวัดเป็นระยะๆอย่างต่อเนื่อง  สำหรับในเฟสที่ 2 นี้ (เริ่มต้นปี 48) จากการวิเคราะห์ทบทวนความต้องการในการเสริมศักยภาพแกนนำ  พบว่าเครือข่ายสุขภาพแต่ละจังหวัดมีความต้องการในการพัฒนาขีดความสามารถหลักในเรื่องของ  การสรรหาคณะทำงาน  การสร้างและพัฒนาเครือข่าย   ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะองค์รวม       การวิเคราะห์ยุทธศาสตร์และการแปลงยุทธศาสตร์เป็นแผนปฏิบัติงาน    การจัดโครงสร้าง การกำหนดบทบาทหน้าที่  และการจัดความสัมพันธ์ระหว่างแกนนำ    การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการเสริมการทำงาน     การพัฒนาโครงการและการเขียนโครงการ     การกำหนดตัวชี้วัดของโครงการ   การติดตามประเมินผลและสนับสนุนโครงการ   การถอดบทเรียนจากการปฏิบัติงาน   การออกแบบการเรียนรู้และการจัดการความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง  และ การจัดการด้านการเงิน  บัญชี   (แต่ละจังหวัดจะมีความต้องการที่แตกต่างกันตามศักยภาพของคนทำงานแต่ละจังหวัด)  เพื่อให้กระบวนการเสริมศักยภาพการเรียนรู้ของแกนนำมีความเชื่อมโยงกันแต่ละระดับและให้มีผลจริงในการนำไปประยุกต์ใช้   ทีมเสริมศักยภาพได้ออกแบบเวทีเรียนรู้ไว้ 3 ระดับคือ  1)  การเสริมศักยภาพการจัดเวทีเรียนรู้ระดับจังหวัด   โดยเน้นการถอดความรู้จากการทำงาน  2)  การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับกลุ่มจังหวัด / ภาค  และ 3)  การจัดเวทีเรียนรู้ระดับชุดโครงการ (ทุกจังหวัด)    โดยจะเน้นการทำงานร่วมกับแกนนำเครือข่ายของแต่ละจังหวัดและทีมติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด  และจะเน้นการเสริมศักยภาพโดยการจัดกระบวนการให้แกนนำแต่ละจังหวัดได้เรียนรู้จากการทำงานเป็นหลัก   ขณะเดียวกันก็จะสนับสนุนให้มีการนำเอาความรู้จากการเข้าฝึกอบรมในปีที่ผ่านมามาประยุกต์ใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น    การจัดลำดับความสำคัญของเนื้อหาการเรียนรู้และการกำหนดตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลการเสริมศักยภาพนั้น  จะกำหนดร่วมกับทีมจัดการและทีมติดตามประเมินผลเป็นระยะๆ
พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่   สุพรรณบุรี  อ่างทอง  ราชบุรี  เพชรบุรี  นครราชสีมา  ขอนแก่น  มหาสารคาม  สกลนคร  พิจิตร  แพร่  น่าน  ลำปาง  เชียงใหม่  สงขลา  นครศรีธรรมราช
3) โครงการจัดการความรู้และการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายคุณธรรม  ได้รับการสนับสนุนจาก  ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม)  โดยโครงการนี้เกิดขึ้นจากการได้มีโอกาสเข้าไปจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้เครื่องมือของการจัดการความรู้ (KM) กับเครือข่ายของศูนย์คุณธรรม  ทำให้เล็งเห็นว่า การฝึกอบรมพัฒนาด้านจิตวิญญาณ  ของ ‘วัด’ หรือองค์กรฝึกอบรมอื่นๆ ยังขาดกลไกด้านการประเมินผล การติดตาม  การเชื่อมโยงหลักธรรมกับชีวิตจริง  และที่สำคัญขาดการทบทวนรวมถึงการเรียนรู้ต่อกระบวนการที่จัดไป  เช่น ความรู้แบบไหน วิธีการแบบไหน ที่สามารถเข้าไปกระแทกให้คนเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรมได้   ถ้าเราสามารถจัดกระบวนการให้เกิดการเรียนรู้ได้  ก็จะสามารถนำไปขยายผลต่อให้เกิดประโยชน์  ซึ่งการเรียนรู้สภาวะภายใน  การเปลี่ยนวิธีคิด เป็นเรื่องหลักที่ สรส. ให้ความสำคัญ   โดยกระบวนการทำงาน โครงการจะประสานเครือข่ายศูนย์คุณธรรม เพื่อสรรหาแกนนำที่มีความต้องการพัฒนาศักยภาพ และสนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง  เพื่อขยายผลความรู้จากการปฏิบัติไปสู่เพื่อนร่วมเครือข่าย  และมุ่งหวังเพื่อให้เกิดการยกระดับของความรู้และทักษะนำไปสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่
พื้นที่เป้าหมาย  ได้แก่  กรุงเทพฯ (สถาบันบุญนิยม)  ปทุมธานี (วัดปัญญานันทาราม)  ตราด นครสวรรค์   ลำพูน  ลำปาง น่าน  แพร่  ขอนแก่น  มหาสารคาม  นครราชสีมา

ฝ่ายสื่อ สรส.

หมายเลขบันทึก: 13406เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2006 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท