วิธีพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการโดยเน้นงานวิจัยที่ตอบสนองต่อชุมชน


วิธีพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการโดยเน้นงานวิจัยที่ตอบสนองต่อชุมชน

          เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.48   ผมไปประชุมคณะกรรมการนโยบายของสถาบันวิจัยและพัฒนาการสาธารณสุขภาคใต้ (วพส.) ที่ มอ. หาดใหญ่   ผศ. พญ. ทิพวรรณ  เลียบสื่อตระกูล   เอาเอกสาร (ร่าง) คู่มือการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการโดยเน้นงานวิจัยที่ตอบสนองต่อชุมชน ให้ผมช่วยให้ความเห็น   ผมเพิ่งมีโอกาสอ่านในวันนี้และมีความรู้สึกว่า   แนวความคิดตรงกับที่ผมเคยเสนอไว้

          อาจารย์หมอทิพวรรณมองเฉพาะที่วิธีพิจารณาตำแหน่งวิชาการ   แต่ผมมองว่าต้องมีการสร้างโครงสร้างของผลงานวิชาการสาย “รับใช้สังคมไทย”  ขึ้นมาใหม่   โดยโครงสร้างด้งกล่าวจะต้องมี 2 ส่วนคือ

  1. วารสารวิชาการไทย   รับใช้สังคมไทย   ซึ่งผมเคยเขียนเสนอไว้แล้ว   เป็นบทความ 2 บทความคือ
               - วารสารวิชาการไทยรับใช้สังคมไทย (link)
               - การจัดการระบบวารสารวิชาการไทยรับใช้สังคมไทย (link)

   2.    ระบบการเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการสายวิชาการไทยรับใช้สังคมไทย   ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อพัฒนาการในสังคมไทย   ควบคู่ไปกับระบบปัจจุบันที่เน้นวิชาการระดับสากล   เน้นที่ Impact Factor

        ผู้บริหารระดับอธิการบดี   รองอธิการบดีของ มอ.   น่าจะรับเอาร่างของ ผศ. ทิพวรรณไปดำเนินการต่อ   พัฒนาขึ้นเป็นระบบวิชาการอีกสายหนึ่งคู่ขนานไปกับสายเดิม   จะเป็นการสร้างรากฐานให้มหาวิทยาลัยรับใช้สังคมไทยได้หนักแน่นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหลายเท่าตัว   โดยที่ความเป็นเลิศทางวิชาการก็ไม่ด้อยลง   กลับเพิ่มขึ้น

          ตามร่างของ อ.หมอทิพวรรณ   มีการคิดเครื่องมือดี ๆ เช่น
                   - ตัวชี้วัดอรรถประโยชน์ของงานวิจัยชุมชน (research utility index)
                   - ขั้นตอนการประเมินผลงาน
                   - กระบวนการประเมิน
                   - เครื่องมือในการประเมินและวิธีการประเมิน

          ผมเห็นว่าความริเริ่มของ ผศ. ทิพวรรณนี้ดีมาก   ร่างนี้ใช้ได้สัก 70 – 80%   หากมีการสานต่อ   ปรับปรุงให้ใช้ได้กับงานเชิงประยุกต์หลายลักษณะและใช้งานได้ง่าย   มีความแม่นยำ   ก็น่าจะใช้ได้เลย

          ส่วนหนึ่งที่ผมไม่เห็นด้วยคือ   การนำเอาผู้นำชุมชนโดยตำแหน่ง   เช่น   กำนัน   ผู้ใหญ่บ้าน   อบต.   มาเป็นผู้ประเมิน   เพราะจะตกเข้าไปในวิธีคิดแบบอำนาจ   แบบการเมือง   ไม่ใช่แบบวิชาการ    การประเมินโดยชุมชนควรประเมินโดยผู้นำตามธรรมชาติ   ที่มีวิธีคิดแบบตรงไปตรงมา   มองที่ผลกระทบอย่างแท้จริงต่อชุมชน   ไม่ใช่มองแบบการเมือง

          ที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ   ที่ สกอ. น่าจะจับทำเพื่อขับเคลื่อนอุดมศึกษาให้เข้ามาเป็นพลังในการพัฒนาวิชาการเพื่อการประยุกต์ใช้ในสังคมไทย

                                                                                      วิจารณ์  พานิช
                                                                                        17 ก.ค.48

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1338เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2005 09:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 05:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

การจัดทำ "ร่าง"  "คู่มือการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการโดยเน้นงานวิจัยที่ตอบสนองต่อชุมชน"  นั้น ผมขอเรียนชี้แจงดังนี้ครับ

ที่จริงแล้ว คนที่ทำงานชิ้นนี้ คือ ดร.ทญ.อังคนา เธียรมนตรี กับ ดร.ทพ.วิรัช เอื้องพูลสวัสดิ์ ทังสองท่านเป็นทีมงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) ของ มอ. ที่มี ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ เป็น ผอ.

งานชิ้นนี้เป็นการดำริของ วพส.ร่วมกับฝ่ายวิจัยฯ ของมอ.   โดยเรามีความเห็นร่วมกันว่า "งานวิจัยที่ตอบสนองต่อชุมชน" หรือเรียกสั้นๆว่า "งานวิจัยชุมชน" นั้น ถ้าจะให้มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริงแล้ว ต้องการนักวิจัยในสาขาวิชาต่างๆที่ข้ามสาขามาร่วมกันทำวิจัย  คือทำอย่างไรที่จะสามารถจูงใจให้อาจารย์มอ.ที่อยู่ใน Discipline ที่ค่อนข้างห่างไกลจากชุมชน ได้มาทำวิจัยที่เกี่ยวข้องและตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน  และสามารถใช้ผลงานวิจัยนั้น เป็นผลงานทางวิชาการใน Discipline ของตนได้ เรียกว่าเกิด "Win-win situation"

วพส.จึงได้ให้ทุนวิจัยกับอาจารย์ทั้งสองท่านให้ศึกษาพัฒนา  "คู่มือการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการโดยเน้นงานวิจัยที่ตอบสนองต่อชุมชน"  โดย อ.อังคนาและ อ.วิรัช ได้ดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว

ในขั้นตอนเริ่มต้นนั้น ได้ input จากผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น ศ.นพ.จรัส  รศ.คุณหญิง สุมนทา เป็นต้น (อาจารย์วิจารณ์ และอาจารย์นักสิทธ์ ได้ตอบรับเชิญจะมาร่วมกิจกรรม แต่ติดภารกิจอื่น จึงไม่ได้มาร่วม) ได้มีการดำเนินการมาหลายขั้นตอน จนได้ "ร่าง" ขึ้นมา

จนถึงขณะนี้ ถึงขั้นตอนการขอ Comment จากผู้ทรงคุณวุฒิ ต่อ "ร่าง" คู่มือ  ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย เมื่อเสร็จขั้นตอนนี้แล้วก็คงจะได้ "ร่าง" ตัวจริง ที่ผม (ในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ) กำลังรอรับเพื่อนำไปเสนอต่อมหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาใช้ต่อไป

ผมมีความเชื่อว่า "คู่มือการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการโดยเน้นงานวิจัยที่ตอบสนองต่อชุมชน" นี้ น่าจะช่วยให้นักวิจัยใน มอ.ได้เข้ามาร่วมกันทำวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนมากขึ้น

ในการประชุมวันที่ 29 มิย. ที่ มอ.นั้น  อ.ทิพวรรณ และอ.อังคนา อยู่ในที่ประชุมทั้งสองท่าน  คนที่ส่งเอกสารให้อาจารย์น่าจะเป็น อ.อังคนานะครับ เพราะผมเป็นคนแนะนำ อ.อังคนาเอง  (แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่า อ.อังคนา ขอให้ อ.ทิพวรรณ เป็นคนมอบเอกสารให้อาจารย์)..........ปิติ

   

สวัสดีค่ะ  ขอบพระคุณมากค่ะ  ลิงค์ที่ดี  ขอเก็บไปไว้ใช้ประโยชน์ในการเรียนค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท