การประชุมเครือข่ายฯสัญจร (3.1)


      วันนี้ต้องตื่นแต่เช้า  เพราะ  มีสอนตอน 09.30 น.  กว่าจะสอนเสร็จก็เกือบบ่ายโมงแล้ว  ความจริงวันนี้ก็ไม่ได้สอนอะไรมาก  บรรยากาศดูเหมือนว่าจะดีกว่าที่คิดไว้  ตอนแรกนึกว่าจะตึงเครียด  เพราะ  เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาผู้วิจัยได้ประกาศคะแนนสอบกลางภาค  ซึ่งนักศึกษากว่าครึ่งห้องได้คะแนนไม่ถึงครึ่ง  ที่ไหนได้พอถามไปถามมาแทบทุกคนกลับบอกว่าได้มากกว่าที่คาดคิดไว้  แม้ว่าคะแนนจะไม่ดีก็ตาม   ก่อนที่จะเข้าบทเรียนผู้วิจัยได้เล่าเรื่องการนั่งสมาธิให้นักศึกษาฟัง  โดยนำความรู้มาจากอาจารย์ตุ้มค่ะ  ปรากฎว่านักศึกษาตั้งใจฟังกันมาก  แถมยังมีนักศึกษาบางคนที่สนใจในเรื่องนี้ได้ออกมาแลกเปลี่ยนความรู้  มุมมอง  ประสบการณ์เกี่ยวกับการนั่งสมาธิด้วย  (ไม่น่าเชื่อเลยว่านักศึกษาจะสนใจมากเช่นนี้  ต่อไปคงต้องหาความรู้ในเรื่องนี้แล้วนำมาเล่าให้นักศึกษาฟังอีก  เผื่อจะมีคนซึมซับความคิดนี้ไปบ้างก็ได้ค่ะ)

     สำหรับเรื่องเล่าในวันนี้นั้น  ผู้วิจัยขอเล่าเกี่ยวกับการประชุมเครื่อข่ายฯสัญจรต่อเลยก็แล้วกันนะคะ  ในวันนี้เป็นวาระที่ 3 ของการประชุมค่ะ  แต่เล่าได้ไม่จบนะคะ  เพราะ  วาระนี้ยาวมากค่ะ   พอๆกับบรรยากาศที่ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆค่ะ

      วาระที่ 3   เรื่องสืบเนื่อง

      ในวาระนี้ประธานฯเริ่มต้นด้วยการเปิดประเด็นเกี่ยวกับโครงการวิจัย "การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปาง"  ซึ่งทาง มสธ. ศูนย์ลำปาง  โดย           อ.วิไลลักษณ์  และอาจารย์พิมพ์ฉัตร  ร่วมกับคุณอำนวย  คือ  คุณสามารถ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ  ซึ่งโครงการผ่านมาแล้วประมาณ 6-7 เดือน  ประธานฯสรุปในเบื้องต้นว่าที่ผ่านมาบทบาทดูเหมือนว่าจะอยู่ที่นักวิจัยและคุณอำนวยเป็นหลัก  คณะกรรมการเครือข่ายฯหลายคนยังไม่เข้าใจ  หลายคนยังไม่ได้เข้ามาร่วมในโครงการนี้  ดังนั้นในวันนี้เราคงต้องมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้เครือข่ายฯของเราพัฒนาไปสู่ "สถาบันพัฒนาระบบการออมเพื่อสุขภาวะและสวัสดิการชุมชนจังหวัดลำปาง" ให้ได้

      ประธานฯ เริ่มต้นโดยกล่าวถึงเป้าหมายการทำงานว่าประกอบด้วย  3 ส่วน  คือ

      1.ระบบการบริหารจัดการ  กลุ่มฯและเครือข่ายฯต้องมีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ  การพัฒนาคน  การพัฒนาระบบต่างๆให้มีประสิทธิภาพ

      2.แนวทางการขยายผล  ทั้งระดับกลุ่มฯและระดับเครือข่ายฯ  ในระดับกลุ่มต้องมีการขยายสมาชิกออกไป

     ยังไม่ทันที่ประธานฯจะกล่าวจบ  คูณกู้กิจ  ในฐานะผู้เข้าร่วมประชุม , ประธานองค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านดอนไชย  และผู้ตรวจสอบกิจการของเครือข่ายฯ  ได้ยกมือขึ้นเพื่อขอหารือกับประธานฯในประเด็นที่ว่าในวาระนี้เป็นเรื่องสืบเนื่อง  ดังนั้น  จึงควรที่จะนำวาระการประชุมครั้งที่ผ่านมามาพิจารณาเป็นเรื่องๆ  ไป  เมื่อคุณกู้กิจกล่าวจบ  อ.ธวัช  ในฐานะผู้เข้าร่วมประชุม , ประธานองค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านแม่พริก  และผู้ตรวจสอบกิจการของเครือข่ายฯ  ได้ยกมือสนับสนุนข้อเสนอของคุณกู้กิจ  พร้อมกับบอกว่าทางกลุ่มแม่พริกมีปัญหาในเรื่องคอมพิวเตอร์ที่ทางเครือข่ายฯสั่งซื้อให้กับทางกลุ่ม  เนื่องจากการที่ให้ผู้มีความรู้ในเรื่องคอมพิวเตอร์มาตรวจสอบพบว่าสเป็คของเครื่องที่ได้รับรุ่นนี้นั้นตำกว่ารุ่นก่อนที่สั่งซื้อมา  จึงอยากที่จะแจ้งให้ทางเครือข่ายฯทราบ

     เมื่อ อ.ธวัช  กล่าวจบ  คุณกู้กิจได้ยกมือขึ้นพร้อมกับกล่าวขออภัยอ.ธวัช  และกล่าวต่อไปว่าขอให้ทบทวนวาระการประชุมครั้งที่แล้วก่อน  หากเสร็จแล้วจึงเป็นเรื่องที่ทางกลุ่มแม่พริกเสนอ  แล้วจึงเป็นวาระต่อไป  ซึ่งทางที่ประชุมไม่มีผู้ใดคัดค้าน  จึงเริ่มเข้าสู่วาระการประชุมโดยพิจารณาจากวาระการประชุมครั้งที่ผ่านมา

     ประธานฯ  บอกว่าเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าในวาระที่ 1 ของการประชุมครั้งที่ผ่านมามีเรื่องสืบเนื่อง  คือ  ในเรื่องสถานที่จัดประชุม  วันนี้มาประชุมสัญจรแล้วที่บ้านป่าตันแล้วตามที่ตกลงกันไว้

     อ.ธวัช  ยกมือขึ้นถามว่าอยากทราบความคืบหน้าในเรื่องของที่ทำการเครือข่ายฯ  ซึ่งมีการเสนอกันในหลายสถานที่  ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียนนาก่วมใต้  ศาลากลางเก่า  ไม่ทราบว่าขณะนี้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว? 

     ในประเด็นนี้ ผู้วิจัยในฐานะที่รับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในเรื่องสถานที่ทำการของเครือข่ายฯ ในส่วนของศาลากลางเก่าว่า  หลังจากที่รับอาสาจากทางเครือข่ายฯแล้วได้มีโอกาสเข้าพบท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (ท่านเจริญสุข  ชุมศรี)  จึงเรียนขอคำแนะนำจากท่านในเรื่องนี้  ท่านบอกว่าขณะนี้บริเวณศาลากลางเก่านั้นทาง อบจ. ได้เข้าไปใช้สถานที่หมดแล้ว  ไม่มีห้องว่างเลย  ถ้าหากทางเครือข่ายฯรอได้อีกประมาณ 2 ปี  ที่ทำการ อบจ.หลังใหม่ที่เกาะคาก็จะก่อสร้างเสร็จ  เมื่อทาง อบจ.ย้ายออกไปคิดว่าทางเครือข่ายฯคงขอเข้าไปใช้สถานที่ได้  ซึ่งในทัศนะของท่านท่านเห็นว่าทางเครือข่ายฯรอนานเกินไป  ดังนั้น  ท่านจึงเสนอสถานที่ทีสามารถขอใช้เป็นที่ทำการเครือข่ายฯได้  คือ  (1) โรงเรียนเก่า  ที่ขณะนี้ได้หยุดทำการเรียนการสอนไปแล้ว   (2) บริเวณของสำนักงานวัฒนธรรม  (ผู้วิจัยก็จำชื่อเต็มๆไม่ได้ค่ะ)  ซึ่งอยู่ใกล้ๆวัดพระเจ้าทันใจ  แต่ก่อนสำนักพระพุทธศาสนาเคยใช้สถานที่นี้อยู่  แต่ปัจจุบันได้ย้ายที่ทำการไปแล้ว  (ในส่วนของสถานที่นี้ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ได้เคยเข้าไปดูแล้ว  แต่ดูจากภายนอก  ยังไม่เคยเข้าไปภายใน  เพราะ  ช่วงที่ไปเย็นมากแล้ว)  นอกจากนี้ท่านยังแนะนำว่าให้เข้าไปปรึกษาหารือกับท่านผู้อำนวยการ  ดังนั้น  ผู้วิจัยจึงสรุปว่าถ้าทางเครือข่ายฯต้องการใช้สถานที่นี้ก็ขอให้ทางเครือข่ายฯ  ทำหนังสือเพื่อขอเข้าหารือกับท่านผู้อำนวยการ

    คุณกู้กิจ  กล่าวต่อในเรื่องนี้ว่า เรื่องนี้เราพูดกันมานานแล้ว  พูดในระดับประเทศว่าเราเป็นต้นแบบในเรื่องวันละ 1 บาท  ดังนั้น  เราจึงควรจัดการเรื่องนี้  ควรมีสำนักงานเชิดหน้าชูตา   ศาลากลางหลังใหม่มีห้องว่างบ้างไหม?  ขอเสนอว่าน่าจะติดต่อทางศาลากลางใหม่ดู  หากได้สำนักงานที่นั่น  เวลาใครผ่านไปผ่านมาเขาจะได้เห็นว่าเราทำอะไร  ผู้ว่าฯ  รองผู้ว่าฯ ก็เห็น  แวะเข้ามาได้  นายอำเภอเวลาที่มาประชุมก็จะได้เห็นว่าเราทำอะไร  มันเป็นหน้าเป็นตาของเรา  หน้าตาของเราต้องเป็นอันดับหนึ่ง  ถ้าหน้าตาของเรายังซอมซ่ออยู่  เวลาใครมาดูมันไม่เข้าท่า

    เมื่อกล่าวจบคุณกู้กิจเชิญท่านต่อไป  มีผู้เสนอว่าที่ทางศูนย์วัฒนธรรมก็น่าสนใจ   นอกจากนี้แล้วยังมีผู้เสนอว่าน่าจะเป็นโรงเรียน........ (ไม่ได้ยินชื่อจริงๆค่ะ)  ในช่วงนี้ผู้เข้าร่วมประชุมต่างคนต่างพูด  คนละคำสองคำ  ทำให้ฟังไม่ได้ศัพท์นักว่ามีการเสนออะไรบ้าง

    ในที่สุด  ประธานฯ  ได้กล่าวเตือนให้ผู้เข้าร่วมประชุมค่อยๆเสนอทีละคน  พร้อมกับบอกว่าในเมื่อมีผู้เสนอศาลากลางใหม่  จึงอยากจะขอผู้ที่อาสาว่าจะเป็นผู้ประสานงานในสถานที่นี้ให้    ซึ่งลุงมนุษย์  เดชะ  เป็นผู้รับอาสา  ประธานฯ  กล่าวต่อว่า  ตนเองเห็นว่าในเรื่องสถานที่นั้นเป็นเรื่องสำคัญ  เพราะ  จะเป็นที่ประสานงานในการทำงาน  แต่ตนเองมองว่าเรื่องสถานที่ยังเป็นเรื่องรอง  อยากจะเน้นเรื่องคนที่จะเข้ามาทำงานบริหารภายใน  เรื่องสถานที่เราจะเช่าก็ได้  จะทำอย่างไรก็ได้  ถ้าหากคนของเราทำงาน 

     เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้  คุณกู้กิจได้ยกมือขออนุญาตแสดงความคิดเห็นว่าในวาระการประชุมนี้ขอให้สรุปในเรื่องสถานที่ก่อน  ส่วนเรื่องคนนั้นเอาไปพูดในวาระอื่นได้  พร้อมกับสรุปว่า  สถานที่ศาลากลางหลังใหม่นั้น  ลุงมนุษย์  เป็นผู้รับหน้าที่ประสานงาน  อยากให้สรุปว่าอันดับที่หนึ่งจะติดต่อตรงไหน  อันดับสอง  อันดับสามจะติดต่อตรงไหน  ขอให้แจ้งให้ที่ประชุมทราบให้ชัดเจน  เลขาฯจะได้จดบันทึกการประชุม  คราวหน้าเมื่อมาประชุมกันอีกจะได้สรุปว่าได้ตรงไหน

    ประธานฯ  จึงกล่าวว่าขอให้ทางคุณกู้กิจเป็นผู้ประสานงานได้หรือไม่  ซึ่งคุณกู้กิจตอบว่าตนเองเสนอในฐานะที่เป็นสมาชิกอยู่ที่เถิน  ตนเองไม่ได้อยู่ในเมือง  พี่ใหญ่ทั้งหลายล้วนอยู่ในเมือง  ดังนั้น  จึงขอความเมตตาว่าขอให้ทางผู้ที่อยู่ในเมืองเป็นผู้ประสานงาน  ตนเองนั้นอยู่ไกล  เกรงว่าจะไม่สะดวก

     คุณปิยชัย  ในฐานะผู้เข้าร่วมประชุม  และเป็นประธานฯกลุ่มบ้านต้นธงชัยได้ยกมือขึ้น  พร้อมกับให้ข้อมูลว่า   เมื่อไปประชุมที่ศาลากลางได้คุยกับเจ้าหน้าที่ทราบว่าขณะนี้ที่ศาลากลางมีห้องว่างใหญ่อยู่ 1 ห้อง  เนื่องจากมีผู้ย้ายออกไป  ทีนี้ทางก.พ. (ย่อมาจากอะไรก็ไม่ทราบค่ะ) จะขอย้ายมาใช้ห้องใหญ่นี้  หากทาง ก.พ.ย้ายมา  ห้องของ ก.พ.ก็จะว่างลง  น่าจะลองไปประสานดู  ดังนั้น  ประธานฯจึงสรุปว่าขอให้ทางลุงมนุษย์เป็นผู้ประสาน  ห้องว่างอยู่บริเวณชั้น 3 

    สำหรับสำนักงานวัฒนธรรม   ป้าอรพินทร์  รับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานให้  ในส่วนของสถานที่นั้นประธานฯได้กล่าวต่อไปว่า เวลาพูด  สามารถเสนอได้  แต่ต้องมีแผนในการปฏิบัติ  ประสานงานได้หรือไม่ได้ต้องมาพูดกันให้เรียบร้อย  เรื่องจะได้จบ  ถ้าไม่ได้จะได้วางแผน 2 ,3 , ........ ต่อไป  เราพูดเรื่องนี้มา 2 ปีแล้ว  ผมก็อึดอัดใจเหมือนกัน  ถ้าทุกคนเห็นว่าสำคัญก็ต้องเร่ง  พร้อมกับถามในที่ประชุมต่อว่ายังมีสถานที่ไหนอีกหรือไม่?  ไม่มีผู้ใดเสนอ  ประธานฯจึงบอกต่อว่าความจริงที่นาก่วมใต้ตนก็ได้ประสานงานมาตลอด  ตอนนี้เราสามารถเข้าไปใช้ได้แล้ว  ท่านเจ้าอาวาสอนุญาตให้ใช้ได้แล้ว  แต่พวกเราต้องเข้าไปช่วยกันตกแต่ง  พร้อมกับรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่าย  เช่น  ค่านำ  ค่าไฟ  เป็นต้น  แต่สิ่งที่สำคัญ  คือ เราต้องเข้าไปจัดการในเรื่องของสถานที่ให้เรียบร้อย  ให้ดี มีความปลอดภัย  เพราะ  เราต้องนำเครื่องใช้สำนักงาน  คอมพิวเตอร์  ไปไว้  ต้องมีคนดูแล  จัดการ  ผมอยากจะให้จัดการให้เรียบร้อย  ใครจะเป็นผู้ดูแล  ใครจะเป็นผู้จัดการ

     เมื่อจบจากเรื่องนี้แล้วประธานฯกำลังจะเข้าเรื่องการจัดการความรู้   อ.ธวัชได้ยกมือขออนุญาตเสนอในเรื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งค้างเอาไว้ตั้งแต่ตอนต้น  ในประเด็นที่ว่าสเป็คเครื่องไม่เหมือนกับรุ่นที่ผ่านมา  ประธานฯจึงหันไปถามลุงคมสันในฐานะที่เป็นผู้จัดการในเรื่องการจัดซื้อคอมพิวเตอร์  ซึ่งลุงคมสันบอกว่า  รุ่นหลังสุดนี้ขอสั่งซื้อที่ร้านเดิม  สเป็คเดิมเหมือนกับรุ่นแรกที่ได้สั่งซื้อมา  แต่ตอนที่จะจัดส่งมายอมรับว่าเราก็ไม่ได้ตรวจละเอียด  ดังนั้น  ถ้าพบว่ามีความไม่ถูกต้องก็ขอให้ส่งไปที่ร้านได้เลย  ตนเองไม่มีความรู้ด้านเทคนิค  ไม่รู้ว่าที่ทางอ.ธวัช  พูดมาหมายความว่าอย่างไร  อ.ธวัชจึงตอบว่าเวลาซื้อของมาต้องมีการตรวจเช็ค  ตนเองก็ไม่มีความรู้เหมือนกัน  คนที่บอกเรื่องสเป็คเครื่องคือ กิ๊ก  (เป็นหลานคุณกู้กิจ)  ความจริงแล้วเครื่องสามารถใช้ได้ตามปกติ  แต่การที่สเป็คตำลงทำให้ราคาถูกลง  แต่เรากลับซื้อในราคาเท่าเดิม  ถ้าหากจะให้นำเครื่องย้อนกลับไปกลับมางานก็คงไม่เสร็จ  อยากจะให้ทางเครือข่ายฯประสานว่าถ้าสเป็คไม่เหมือนเดิมราคาจะลดลงได้ไหม

     ลุงคมสันบอกว่าตนเองก็ไม่มีความรู้  อ.ธวัชก็บอกว่าตนเองไม่มีความรู้เหมือนกัน  จึงอยากให้ลุงคมสันติดต่อประสานงานกับทางบริษัทว่าราคาจะลดลงได้ไหมถ้าสเป็คเป็นอย่างนี้  ประธานฯ  กล่าวสรุปคำถามของอ.ธวัช  พร้อมกับบอกว่า  เครือข่ายฯ  คือ  พวกเราทั้งหมดไม่ใช่ลุงคมสันคนเดียว  เรื่องคอมพิวเตอร์  เครือข่ายฯเป็นผู้ประสานงานให้  ทีนี้การส่งของไม่ได้ส่งมาที่เครือข่ายฯ  แต่ส่งไปที่กลถุ่ม  ดังนั้น  กลุ่มต้องเป็นผู้ตรวจเช็ค  เครือข่ายฯทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้สินเชื่อ  เมื่ออธิบายมาถึงประเด็นนี้  อ.ธวัช  ได้ยกมือขออนุญาตพร้อมกับบอกว่า  ตนเองเข้าใจคำว่าเครือข่ายฯดี  แต่กรณีของคอมพิวเตอร์นั้นไม่ได้มาส่งลงที่กลุ่ม  แต่มาส่งที่เครือข่ายฯ  ตนเองไปรับที่เครือข่ายฯ  (บ้านคุณสามารถ)  ประธานฯจึงตอบว่ามันไม่มีที่ไว้  จึงเอาไปฝากที่บ้านของผม  ความจริงแล้วสามารถไปส่งที่แม่พริกได้เลย  ตัวผมเองก็ไม่มีความรู้เรื่องนี้  ลุงคมสันก็ไม่มีความรู้เหมือนกัน  ดังนั้น  จึงขอให้ทางแม่พริกยกมาที่ทางร้านนิยมพาณิช  อ.ธวัช  บอกว่า  อยากให้ไปถามเรื่องราคา  แต่ประธานฯบอกว่าอยากให้ยกมาเลย  ต่อไปจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องสมรรถภาพ  ให้ยกมาเปลี่ยนเลย  อ.ธวัช  บอกว่ารู้สึกว่าบริษัทเอาเปรียบเรา   คุณปิยะชัยจึงยกมือสรุปว่าขอให้ลุงคมสันประสานไปทางบริษัทหน่อย  เรื่องจะได้จบ  ไม่ต้องมานั่งเถียงกัน   จากนั้นอาจารย์พิมพ์ได้ยกมือขอร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล  ความคิดเห็น  โดยตั้งคำถามว่า  ที่ทางบริษัทมีบริการหลังการขายหรือไม่  ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่ามี  ดังนั้นอาจารย์พิมพ์จึงสรุปว่าน่าจะเอาเรื่องนี้เป็นบทเรียน  ต่อไปเราน่าจะได้จัดการในเรื่องนี้  ถ้าไม่มีคนที่รู้เรื่องนี้ก็อาจประสานกับคนภายนอกเครือข่ายฯก็ได้  หลังจากนั้นประธานฯจึงสรุปให้ทางลุงคมสันเป็นผู้ประสานงาน  กลุ่มเกาะคา  ตั้งคำถามว่าขอเปลี่ยนเครื่องปริ้นท์ได้หรือไม่  ประธานฯบอกว่าไม่ได้  คุณอุทัยได้เสริมในประเด็นนี้ว่าที่ปริ้นท์ได้ทีละแผ่นเพราะ  ต้องการนำมาปริ้นท์ใบเสร็จ  ก่อนจบในเรื่องนี้ผู้วิจัยได้ขอแจมในเรื่องนี้ว่า  นอกจาก  อ.ธวัช  กับ  ลุงคมสัน  แล้ว  ควรหาผู้ที่มีความรู้ในเรื่องคอมพิวเตอร์ไปด้วย  เพราะ  เรื่องที่เป็นประเด็นอยู่นี้เป็นเรื่องของสเป็คเครื่อง  ซึ่งทั้งสองท่านก็ไม่มีความรู้  หากไม่นำคนที่มีความรู้ไป  ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นมาอีก

     เล่าไปเล่ามารู้สึกเครียดค่ะ  เลยขอเล่าแค่นี้ก่อนนะคะ  พรุ่งนี้จะเข้ามาเล่าต่อในวาระนี้  แต่เป็นเรื่องใหม่ค่ะ

    

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13345เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2006 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตอนผมเป็นพี่เลี้ยงโครงการสวัสดิการผู้ยากลำบากขององค์กร  เครือข่ายการเงินชาวบ้านเมืองนครปี2543 สมาชิกประมาณ110กลุ่มทั่วจังหวัดนครศรีธรรมราช งบSIFสนับสนุนประมาณ33ล้านบาท   มีงบบริหารและงบของพี่เลี้ยงต่างหาก รวมกันประมาณ35ล้านบาท เราออกแบบการจัดการเหมือนกับเครือข่ายลำปางเปี๊ยบเลย มีการเช่าสำนักงานและคนทำงานเต็มเวลาด้วย หลังจากทำงานอย่างทุ่มเทสุดกำลังความสามารถ ผมสรุปว่าไปไม่ไหว น่าจะกระจายลงไประดับตำบลดีกว่า ระดับจังหวัดน่าจะเป็นเครือข่ายเรียนรู้ แต่นั่นมีงบลงมาซึ่งเครือข่ายจังหวัดต้องรับผิดชอบ (เพราะเป็นคนเซ็นสัญญา)ไม่สามารถปล่อยให้ตำบล/อำเภอดูแลตนเองได้เพราะหลายแห่งเพิ่งเข้ามาด้วยเงื่อนไขมีเงินช่วยเหลือ

ในกรณีที่เครือข่ายดำเนินการด้วยเงินของเราเอง น่าจะทบทวนบทเรียนดังกล่าวอีกครั้ง ผมอ่านแล้วรู้สึกเหนื่อย(เครียดแทน   อ.อ้อม) กลุ่มของเรา(สวัสดิการวันละบาท)ไม่ได้ถูกบังคับจากภายนอก น่าจะปรับเปลี่ยนมาจัดการแบบเครือข่ายเรียนรู้ในระดับจังหวัด โดยให้แต่ละตำบล/กลุ่มบริหารเบ็ดเสร็จด้วยตนเอง พี่สามารถน่าจะขับเคลื่อนขบวนแบบครูชบคือตั้งมูลนิธิขึ้นมา (มูลนิธิสามารถ-จำชื่อภรรยาพี่สามารถไม่ได้แล้ว ก็ได้)ทำแบบองค์กรเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ในจังหวัดลำปาง โดยของบจากที่ต่างๆมาสนับสนุนการทำงาน เป็นผู้ประกอบการทางสังคม มูลนิธิดำเนินการสนับสนุนความเข้มแข็งกลุ่มที่จัดตั้งแล้ว ขยายกลุ่มใหม่ ฯลฯ ไม่ต้องบริหารเรื่องการเงินให้ปวดหัว เพราะแต่ละกลุ่มจัดการกันเอง มูลนิธิเป็นตัวกลางสร้างเวทีเพื่อนำบทเรียนของแต่ละกลุ่มมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเดือนละครั้งน่าจะเข้าท่ากว่า ผมเห็นว่า แบบใหม่นี้จะไปได้ไกลกว่าแบบเดิมมาก

การจัดการความรู้ คือ การใช้ความรู้จัดการให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ถ้าติดอยู่ที่แมวสีดำเท่านั้นที่จะจับหนูได้ ก็พลาดโอกาสแม้เห็นอยู่ชัดๆว่าแมวสีขาวจับหนูได้ดีกว่า

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท