การกระจายอำนาจ กับ ระเบียบ คตง. ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานการควบคุมภายใน พ.ศ. 2544


Best Practice การกระจายอำนาจ กับระเบียบ คตง.


ชื่อเรื่อง   การกระจายอำนาจด้านงบประมาณ  กับ  ระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน  ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานการควบคุมภายใน พ.ศ. 2544

เจ้าของผลงาน นางสุภาวดี  อายุเจริญ
รองผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีประเสริฐศิลป์
จังหวัดตราด


1.  ความเป็นมา
 กฎกระทรวงศึกษาธิการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจการบริหารและการบริหารศึกษา พ.ศ. 2550 ประกาศ ณ วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 และประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อง การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาของเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานไปยังคณะกรรมการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในสังกัดงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2550  ประกาศ ณ วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2550  ข้อ 4 (2) มอบอำนาจหน้าที่ตามกฏหมายด้านงบประมาณ ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาบริหารจัดการหลายรายการ เช่น  การจัดทำแผนงบประมาณและคำขอตั้งงบประมาณเพื่อเสนอต่อเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  การจัดทำแผนปฏิบัติการใช้จ่ายเงินตามที่ได้รับจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยตรง  การอนุมัติการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร การจัดหาพัสดุ  การเบิกเงินจากคลัง ฯลฯ  เมื่อสถานศึกษามีอิสระในการบริหารงบประมาณและมีการติดตามการใช้งบประมาณ ให้ถูกต้องโปร่งใส คุ้มค่า ถูกระเบียบ ตรวจสอบได้ ผู้บริหารต้องมีความรู้ความเข้าใจ และศึกษาระเบียบการเงินการงบประมาณ เป็นอย่างดีเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติและป้องกันความผิดพลาด 
 ระเบียบที่ควรศึกษาคือระเบียบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และตามประกาศระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยมาตรฐานการควบคุมภายใน พ.ศ. 2544 ในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2544 อันมีผลให้ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานต้องจัดวางระบบการควบคุมภายในตามมาตรฐานการควบคุมภายในของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่ระเบียบมีผลใช้บังคับ และรายงานความคืบหน้าทุก 2 เดือน หลังจากนั้นให้ส่งรายงานการควบคุมภายในให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้เกี่ยวข้องทุกปี โดยระบบการควบคุมภายในที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกำหนดไว้ อย่างน้อยจะต้องแสดงข้อมูล ดังนี้
 1. สรุปภารกิจและวัตถุประสงค์การดำเนินงานที่สำคัญในระดับหน่วยรับตรวจและระดับกิจกรรม
 2. ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมการควบคุม โดยเฉพาะเกี่ยวกับความซื่อสัตย์และจริยธรรมของผู้บริหารระดับสูงและบุคลากรในหน่วยรับตรวจ
 3. ความเสี่ยงที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของการควบคุมภายใน
 4. ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมการควบคุมเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงที่สำคัญ
 5.  ผู้รับผิดชอบประเมินระบบการควบคุมภายในและวิธีการติดตามประเมินผล
          จากระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินข้างต้น โรงเรียนสตรีประเสริฐศิลป์  จึงได้ดำเนินการศึกษาระดับการปฏิบัติเกี่ยวกับระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานการควบคุมภายใน พ.ศ. 2544 ของบุคลากรในโรงเรียน และประเมินและปรับปรุงระบบควบคุมภายในของโรงเรียนมีอยู่ ให้สอดคล้องและครอบคลุมตามระบบที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกำหนดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกลไกที่สำคัญและเป็นเครื่องมือในการบริหารงานในโรงเรียน ซึ่งในการจัดวางระบบควบคุมภายใน  ระยะแรกเริ่มโรงเรียนได้กำหนดให้มีการจัดวางระบบควบคุมภายในที่ครอบคลุมงาน  ประกอบด้วย  ด้านการบริหาร  ด้านการเงิน  ด้านพัสดุ 

2. ขั้นตอนการดำเนินงาน

 1.ศึกษาการปฏิบัติเกี่ยวกับระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานการควบคุมภายใน พ.ศ. 2544 ของบุคลากร 
 2. ศึกษาระบบการควบคุมภายในที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกำหนด ประเมินระบบควบคุมภายในของโรงเรียนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
 3. กำหนดโครงสร้างและรูปแบบการควบคุมภายในของโรงเรียน โดยให้สอดคล้องกับระบบการควบคุมภายในที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกำหนด
 4. ปรับปรุงการควบคุมภายในตามโครงสร้างและรูปแบบใหม่ที่กำหนด รายงานความคืบหน้าในการจัดวางระบบควบคุมภายในต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามระยะเวลาที่กำหนด
 5. นำระบบการควบคุมภายในที่กำหนดไปสู่การปฏิบัติ โดยจัดให้มีการประชุมชี้แจงระบบควบคุมภายในของโรงเรียนให้ทราบและถือปฏิบัติ
 6. ประเมินการควบคุมภายในของส่วนงานทุกระดับ และประเมินผลการควบคุมภายในโดยหัวหน้าหน่วยงานและประเมินด้วยตนเองของผู้ปฏิบัติ
 7. รายงานผลการควบคุมภายในของโรงเรียนต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

3. โครงสร้างการควบคุมภายในฝ่ายงบประมาณ


โรงเรียนสตรีประเสริฐศิลป์ได้ตระหนักว่าโครงสร้างการควบคุมภายในที่ดีเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการควบคุมเพื่อให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของโรงเรียนทั้งด้านการดำเนินงานและการใช้ทรัพยากร ในโครงสร้างการควบคุมภายในของโรงเรียนคณะกรรมการหน่วยตรวจสอบภายในที่มีความรู้ความสามารถ ประเมินและรายงานผลการตรวจสอบผลของการควบคุมภายในเป็นระยะๆ เพื่อทราบจุดอ่อนของการควบคุมภายในและเสนอแนะมาตรการแก้ไขข้อบกพร่องนั้น ที่ทำการติดตามการปฏิบัติตามระบบการควบคุมภายในที่ได้จัดวางอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังมีการประเมินการควบคุมด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการประเมินโดยกำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานในส่วนงานเป็นผู้ประเมินการควบคุมภายในของส่วนงานนั้นๆ เพื่อการปรับปรุงกระบวนการและกิจกรรมการควบคุมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น โรงเรียนมีโครงสร้างการควบคุมภายในฝ่ายงบประมาณ 

4.  ผลการดำเนินงาน

  การจัดวางระบบควบคุมภายในโรงเรียนได้กำหนดในระยะแรกให้มีการจัดวางระบบที่ครอบคลุมงาน ประกอบด้วย
   1. ด้านแผนงาน
   2. ด้านพัสดุ
   3. ด้านการเงิน
 ระบบการควบคุมภายในแต่ละด้าน จะกำหนดวัตถุประสงค์ของการวางระบบควบคุมภายใน ขอบเขตของการควบคุม และแนวปฏิบัติการควบคุม ซึ่งแนวปฏิบัติการควบคุมจะแบ่งเป็นขั้นตอนในการดำเนินงาน ที่สำคัญในแต่ละขั้นตอนจะประกอบด้วย 5 องค์ประกอบที่มีความเชื่อมโยงและเกื้อกูลกัน คือ
 สภาพแวดล้อมการควบคุม หมายถึง ปัจจัยต่างๆ ซึ่งมีผลต่อการควบคุมภายใน
 ปัจจัยเสี่ยง หมายถึง สิ่งที่มีโอกาสจะเกิดความผิดพลาด ความเสียหาย การรั่วไหล ความสูญเปล่า หรือเหตุการณ์ซึ่งไม่พึ่งประสงค์ที่ทำให้งานไม่ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่กำหนด
 กิจกรรมการควบคุม หมายถึง นโยบายหรือวิธีการต่างๆ ที่กำหนดให้ปฏิบัติเพื่อลดหรือควบคุมความเสี่ยง
 สารสนเทศและการสื่อสาร หมายถึง การสื่อสารข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน เพื่อช่วยให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด
 การติดตามและประเมินผล หมายถึง กระบวนการประเมินคุณภาพการปฏิบัติงานและประเมินประสิทธิผลของการควบคุมภายในที่วางไว้
  องค์ประกอบทั้ง 5 ประการ มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน โดยมีสภาพแวดล้อมของการควบคุมเป็นรากฐานที่จะทำให้องค์ประกอบอื่นๆ ดำรงอยู่อย่างมั่นคง เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการควบคุมภายในเป็นพื้นฐานสำคัญทำให้มีการปฏิบัติตามองค์ประกอบอื่นๆ

5.  แผนงานในอนาคต

 เพื่อให้โรงเรียนสตรีประเสริฐศิลป์  เป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการตามการกระจายอำนาจทั้ง 4 ด้านอย่างมีประสิทธิภาพและ ปลอดภัยจากศาลปกครอง  ปลอดภัยจากการถูกร้องเรียนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  จึงจะดำเนินการจัดวางระบบควบคุมภายใน ให้ครบทั้ง 4 ด้าน  คือด้านงบประมาณ   ด้านบริหารวิชาการ  ด้านการบริหารบุคคล  และด้านการบริหารทั่วไป

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 133080เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2007 21:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท