ย่อคดีตัวอย่างเรื่อง “สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม”


 

ย่อคดีที่ ๑: คดีนายมงคล รักยิ่งประเสริฐ (ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง)

ศาลจังหวัดเชียงใหม่ (ความอาญา)

คดีดำที่: ๕๗๓๖ / ๒๕๔๑ (วันฟ้อง: ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๑)

คดีแดงที่: ๓๘๖๐ / ๒๕๔๔ (วันพิพากษา: ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔)

จำเลย: นายมงคล รักยิ่งประเสริฐ / ข้อหา:  มีไม้หวงห้าม (สน) ไว้ในครอบครอง

คำฟ้องระบุว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อ : ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๑

คำฟ้อง :

จำเลยกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องอีก ๑ คน ได้ร่วมกันมีไม้สนแปรรูป ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก  ตาม พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. ๒๕๓๐ ไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้

เหตุเกิดที่ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

ประกาศกระทรวงเกษตร เรื่องเขตควบคุมแปรรูปไม้ และ พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้คัดสำเนาประกาศไว้ ณ สถานที่ราชการ และที่สาธารณะในท้องที่ซึ่งเกี่ยวข้อง  และจำเลยได้ทราบโดยชอบแล้ว

คำให้การ:

  • ภาษาไทยอ่านไม่ออก: จำเลยเป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง มีความรู้ภาษาไทยเพียงแค่ฟัง หรือพูดได้เล็กน้อยเท่านั้น จำเลยไม่สามารถอ่านหรือเขียนภาษาไทยได้เลย
  • ไม่รู้กฎหมาย: พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามนั้น ไม่เคยปรากฏว่าผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันในท้องที่ ได้ประชุมบอกกล่าวข้อกำหนดกฎหมายนี้เลย จำเลยจึงไม่ได้รับทราบข้อกำหนดนั้น
  • จำเลยมีสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม: การตัดไม้สนครั้งนี้ กระทำโดยชอบ ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ เพราะนายปุนุ ขจุยแจ่มจิต (หลานชายของจำเลย) ได้ขอไปยังคณะกรรมการหมู่บ้าน และได้รับอนุญาตแล้ว เพื่อขอใช้ไม้ใน “ป่าชุมชน” ของหมู่บ้าน สำหรับการสร้างบ้านหลังใหม่ การร้องขอครั้งนี้มิได้ทำเป็นหนังสือ เพราะถือเป็นปฏิบัติเป็นประเพณีมาช้านานของคนในชุมชน และนายปุนุได้ตัดและเลื่อยไม้สนดังกล่าวนานเกือบ ๒ปี (เสร็จสิ้นกลางปี ๒๕๔๑) เพราะใช้เวลาว่างจากการทำนา ทำไร่ตามปกติ จึงเป็นการทำค่อยเป็นค่อยไป และเปิดเผยรู้เห็นกันในชุมชนโดยทั่วไป

คำพิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่:

  • จำเลยมีความผิดตามกฎหมาย: จำเลยเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานมีไม้สนแปรรูปไว้ในครอบครอง ลงโทษจำคุกจำเลย ๘ เดือน ลดโทษให้ ๑ ใน ๔ คงจำคุก ๖ เดือน โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ ๒ ปี จำเลยไม่อุทธรณ์ เพราะพอใจที่ไม่ถูกจำคุก
  • ข้อต่อสู้ของจำเลยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖: ศาลมิได้วินิจฉัย โดยมิได้ให้เหตุผล

 

ย่อคดีที่ ๒: คดีนายพล พะโย (ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง)

ศาลจังหวัดเชียงใหม่ (ความอาญา)

คดีดำที่ : ๑๔๘๔ / ๒๕๔๒ (วันฟ้อง: ๒ เมษายน ๒๕๔๒)

คดีแดงที่: ๑๐๓๕ / ๒๕๔๖ (วันพิพากษา: ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๖)

จำเลย: นายโพ หรือ พล พะโย / ข้อหา:  ตัดฟันไม้หวงห้าม (สัก)

คำฟ้องระบุว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อ : ๘ มีนาคม ๒๕๔๒

คำฟ้อง:

จำเลยได้เข้าไปทำไม้โดยการใช้ขวาน ๑ เล่ม   ตัดฟันไม้สัก อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตาม . ร.บ.ป่าไม้ พ. ศ.๒๔๘๔ ในป่าเชียงดาว อันมี กฎกระทรวงกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ และมี พระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ

จำเลยได้มีไม้สักแปรรูป จำนวน ๑ แผ่น ปริมาตร ๐.๐๘ ลูกบาศก์เมตร   ซึ่งไม้สักเป็นไม้หวงห้าม ประเภท ก. ตาม พ. ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔  ไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตาม ประกาศกระทรวงเกษตร

เหตุตามฟ้อง เกิดที่ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

กฎกระทรวง พระราชกฤษฎีกา และประกาศกระทรวงฯ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปิดประกาศไว้ ณ สถานที่ราชการ และที่สาธารณสถานโดยเปิดเผยในท้องที่ที่เกิดเหตุแล้ว

พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปักหลักเขตและแสดงแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนเห็นว่า เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งจำเลยได้ทราบแล้ว

 

คำให้การ:

  • ไม่รู้กฎหมาย: กฎหมายและประกาศตามที่โจทก์อ้างนั้น จำเลยไม่เคยรับรู้และไม่เคยเห็นสำเนา เพราะถิ่นที่อยู่อาศัยของจำเลย อยู่ไกลจากตัวอำเภอเมืองเชียงดาวมาก ไม่มีพนักงานเจ้าหน้าที่ ปิดสำเนาไว้ในสถานที่ราชการ หรือที่สาธารณะในท้องถิ่นจำเลย
  • เสียภาษีมาตลอด: ทั้งยังมีการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ในที่ดินที่เกิดเหตุมาตลอด
  • ไม่ได้แปรรูปไม้: ไม้สักท่อนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยตัดฟัน เป็นไม้สักท่อนที่มีผู้อื่นตัดฟันทิ้งไว้และได้วางทิ้งไว้กับพื้นดินมาเป็นเวลานานกว่า ๗ ปี และมีรอยไฟไหม้ จึงไม่มีใครเอาไปใช้ประโยชน์   การกระทำของจำเลยที่เพียงใช้ขวานปัดเศษใบไม้ ใบหญ้า และเศษดินที่ปกคลุมไม้สักท่อนดังกล่าว เพื่อตรวจดูสภาพไม้ โดยใช้ขวานเพียงเล่มเดียว มิได้เข้าตามองค์ประกอบของความผิดว่าด้วยการแปรรูปไม้ และยังไม่อยู่ในขั้นตอนที่เรียกว่า “ทำไม้” ตาม พ. ร.บ.ป่าไม้
  • จำเลยมีสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม: ชุมชนในพื้นที่นี้มี “คณะกรรมการป่าชุมชน” ซึ่งแต่งตั้งมาจากทุกหมู่บ้านในพื้นที่นั้น ๆ และมีวัฒนธรรมในการรักษาป่าโดยการใช้ทรัพยากรจากป่า ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการทุกครั้ง จำเลยมีความประสงค์จะใช้ประโยชน์จากไม้สักท่อนดังกล่าว เป็นการใช้ภายในครอบครัวตามความจำเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตเท่านั้น จึงได้ขออนุญาตจากคณะกรรมการหมู่บ้านตามจารีตประเพณี ซึ่งก็ได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการหมู่บ้านแล้ว จึงเข้าใจว่ามีสิทธิที่จะกระทำได้โดยชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ อีกทั้งในปี ๒๕๓๙ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ได้ไปประกาศ ด้วยวาจา ให้ชาวบ้านทราบว่า พื้นที่ “ป่าชุมชน” ให้อยู่ภายใต้การดูแลของ “คณะกรรมการป่าชุมชน” แต่ทั้งนี้ การใช้ทรัพยากรจากป่าจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ เท่านั้น ทำให้จำเลยเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า จำเลยมีสิทธิในการอยู่อาศัยและทำกินใน “ป่าชุมชน” ได้ตามจารีตประเพณี

คำพิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่:

  • จำเลยมีความผิดตามกฎหมาย: ทนายคนแรก ได้เข้ามาช่วยจำเลยว่าความตั้งแต่ถูกฟ้อง ด้วยคำแนะนำของ NGO กลุ่มหนึ่ง และได้ยกข้อต่อสู้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ แต่ต่อมา NGO กลุ่มนั้นได้ตัดสินใจเปลี่ยนทนาย ด้วยเหตุความคิดแตกต่างกัน เมื่อทนายคนหลังเข้ามาช่วย จำเลยได้ตกลงใจรับสารภาพ ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตามคำรับสารภาพ แต่ให้รอลงอาญาไว้
  • ข้อต่อสู้ของจำเลยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖: ส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ นั้น ได้ตกไป เพราะจำเลยตกลงใจรับสารภาพ

 

ย่อคดีที่ ๓: คดีนายเท้ง เลาว้าง  (ชาวเขาเผ่าม้ง)

ศาลจังหวัดเชียงใหม่ (ความแพ่ง)

คดีดำ: ๒๓๙ / ๒๕๔๓ (วันฟ้อง: ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓)

คดีแดง: ๘๙๕ / ๒๕๔๔ (วันพิพากษา: ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๔)

จำเลย: นายเท้ง เลาว้าง / ข้อหา:  ยึดถือครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ

คำฟ้องระบุว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อ: ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๑

คำฟ้อง:

จำเลยได้ใช้จอบ และขวาน เป็นเครื่องมือ ทำการบุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถาง ตัดฟันต้นไม้ เผา และยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตาม . ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ  พ.ศ. ๒๕๐๗

เหตุเกิดที่ป่าแม่แจ่ม ในท้องที่ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

กฎกระทรวง และ แผนที่ท้ายกฎกระทรวง ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้คัดสำเนาปิดไว้ ณ สถานที่ราชการ และสาธารณสถานที่เห็นได้ง่ายในจังหวัดเชียงใหม่  พนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดให้มี หลักเขต ป้าย เครื่องหมายแสดงแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้ประชาชนได้เห็นว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งจำเลยได้ทราบแล้ว

พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ในฐานความผิดคือ ครอบครอง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ

ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ตาม พ. ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ลงโทษจำคุก ๖ เดือน ปรับ ๑๕,๐๐๐ บาท จำเลยรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๓ เดือน ปรับ ๗,๕๐๐ บาท โทษจำคุกรอไว้ ๒ ปี และให้จำเลยและบริวาร ลูกจ้าง ออกจากป่าสงวนแห่งชาติ

การกระทำของจำเลยตามคำฟ้อง ก่อให้เกิดการขาดแคลนไม้ ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม  เมื่อคำนวณมูลค่าความเสียหายตามคำฟ้องแล้ว คิดเป็นเงิน ๑,๐๔๑,๗๕๘.๘๐ บาท

โจทก์ได้มอบหมายให้พนักงานอัยการทวงถาม แต่จำเลยยังคงเพิกเฉย ละเลย พนักงานอัยการจึงมา ฟ้องเป็นคดีแพ่ง ให้จำเลยต้องรับผิดชำระเงินค่าเสียหายตามฟ้อง รวมเป็นเงิน ๑,๐๔๑,๗๕๘.๘๐ บาท และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน ๑๓๐,๒๑๙.๘๕ บาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ย ๑,๑๗๑,๙๗๘.๖๕ บาท

คำให้การ:

  • ไม่รู้กฎหมาย: จำเลยไม่เคยรู้หรือเห็นประกาศตามที่โจทก์กล่าวอ้าง และมิได้มีการปักกันแนวเขตที่อยู่อาศัย
  • จำเลยมีสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม: พื้นที่เกิดเหตุเป็นชุมชนชาวเขาเผ่าม้ง ซึ่งตั้งหมู่บ้าน และมีจารีตประเพณีทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าว และข้าวโพด อยู่ในพื้นที่นี้มาประมาณ ๑๕๐ ปีก่อนประกาศกฎกระทรวงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง กฎกระทรวงดังกล่าวจึงขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ อย่างชัดเจน
  • จารีตประเพณีการทำไร่หมุนเวียน เป็นไปตามสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม: การทำเกษตรหมุนเวียนของจำเลย เป็นพืชยังชีพ ซึ่งเป็นจารีตประเพณีและวิถีชีวิตของชุมชนที่จำเลยอาศัยอยู่ และมิได้เป็นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมดังที่โจทก์กล่าวอ้าง
  • เจ้าหน้าที่รัฐใช้บังคับกฎหมายไม่เป็นธรรม: จำเลยเข้าทำกินในพื้นที่เกิดเหตุ มาแต่ปี ๒๕๓๙ และมีชาวบ้านได้ทำกินกันอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ตกลงให้พื้นที่ดังกล่าวกลับคืนสภาพป่า และให้ชาวบ้านปลูกไม้ป่า โดยใช้พันธุ์ไม้ที่ทางป่าไม้แจกให้ ในวันที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ไปที่เกิดเหตุ แจ้งให้จำเลยไปรับกล้าไม้ที่หน่วยป่าไม้เพื่อมาปลูกในที่เกิดเหตุ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา เมื่อจำเลยเข้าไปที่หน่วยป่าไม้ เจ้าหน้าที่กลับจับกุมและแจ้งข้อหาว่าบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ การกระทำของเจ้าหน้าที่ป่าไม้เป็นการกระทำที่ใช้เล่ห์เพทุบาย และเป็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมแก่จำเลย (ดูหนังสือนี้ด้วย: รัตนาพร เศรษฐกุล, พิริยะ สีหะกุลัง, อุทิศ ชำนิบรรณาการ, สิทธิชุมชนท้องถิ่น – ชาวเขา, (ผู้ประสาน & หัวหน้าโครงการ: เสน่ห์ จามริก และชลธิรา สัตยาวัฒนา), นิติธรรม, ๒๕๔๖: ๓๒๘)
  • จำเลยรับสารภาพเพราะอยู่ไกลศาล: การที่จำเลยรับสารภาพในคดีอาญานั้น เพราะจำเลยยากจน บ้านห่างไกลจากศาลในตัวเมือง การเดินทางยากลำบาก ทุนทรัพย์จึงไม่เพียงพอในการต่อสู้คดี และไม่ต้องการสร้างภาระให้แก่ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน

คำพิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่:

  • ในคดีอาญา: ทนายจำเลยไม่ได้ต่อสู้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ และจำเลยยอมรับสารภาพในชั้นศาล
  • ในคดีแพ่ง: ทนายจำเลยได้ต่อสู้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ แต่ศาลวินิจฉัยว่า ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลต้องถือข้อเท็จจริงที่จำเลยรับสารภาพในคดีอาญา ดังนั้น ในคดีแพ่งจึงต้องฟังว่าจำเลยทำผิดกฎหมายแพ่งด้วย และมีประเด็นเดียวว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด ซึ่งศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย แต่ให้ลดลงเพราะโจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินส่วนไป และไม่มีประเด็นพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ รวมทั้ง ไม่มีประเด็นพิจารณาวิธีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้บังคับกฎหมายไม่เป็นธรรม จำเลยไม่อุทธรณ์คำพิพากษาในคดีแพ่ง เพราะไม่มีเงินวางศาล แต่โจทก์ (อัยการ) อุทธรณ์ขอค่าเสียหายเต็มจำนวน ในท้ายที่สุด โจทก์ (อัยการ) ได้ถอนฟ้องไป เพราะเห็นว่า จำเลยไม่มีเงินชำระค่าเสียหายจริง

 

คำสำคัญ (Tags): #ตุลาการ
หมายเลขบันทึก: 13279เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2006 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท