มาสอนลูกๆกันเถอะ


เด็กช่วงปฐมวัยเป็น"วัยทองของการเรียนรู้"

@สอนเชาวน์ลูกๆ ด้วยตัวคุณเอง..

              ผมมีลูกอยู่ในวัยเรียนสองคน และมีลูกศิษย์อยู่ในโรงเรียนกว่า สี่พันคน
จากประสบการณ์สอนทักษะเชาวน์มาเกือบ 20 ปี ได้พบกับเด็กๆ ที่แตกต่างกันมากมาย แทบจะไม่ซ้ำกันเลยสักคน พบว่าเด็กแต่ละคนมีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง  และต้องการการเรียนรู้ในแบบของตน แต่น้อยนักที่จะได้เรียนรู้อย่างมีความสุข และพัฒนาไปอย่างเต็มศักยภาพของเขา

             หากถามว่า ครูที่เข้าใจลูกของเราได้มากที่สุด ตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้
ได้ดีที่สุดคือใคร? คำตอบคงเป็น คุณพ่อคุณแม่ นั่นเอง แต่ติดตรงที่ว่ามีเวลาให้กับลูกน้อยบ้าง หรือท่านที่มีเวลาก็เจอกับปัญหาใหญ่ คือ สอนไม่เป็น ไม่รู้ว่าจะสอนอะไร  ไม่มีอุปกรณ์
สื่อการสอน
 ลูกไม่ค่อยเชื่อ 
 

@เตรียมตัว เริ่มต้น
1. ทำรายการชื่อทักษะหรือสิ่งที่อยากจะสอนลูก ด้วยตัวคุณพ่อคุณแม่เอง
อันนี้อาจต้องหาข้อมูลจากหนังสือทักษะเชาวน์ Internet หรือถามจากคุณครูที่โรงเรียนอนุบาลของลูก อาจได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่โรงเรียนสอนเชาวน์ ทักษะใด หรือเรื่องอะไรไปแล้วบ้าง
(บางโรงเรียนเรียกว่า
วิชาเตรียมความพร้อม ) และลูกของเราอ่อนเรื่องใด
       นอกจากนี้ควรจัดเรียงลำดับเรื่องต่างๆ ที่จะสอน จากเรื่องที่คิดว่าลูกเข้าใจได้ง่ายๆ ก่อน หรือเป็นเรื่องง่ายที่จะสอนก่อน แต่ไม่แน่เสมอไป   เรื่องที่เราคิดว่ายาก แต่เด็กอาจทำได้คล่องโดยไม่ต้องสอนอะไรมากเลย

2. ศึกษาจากแบบฝึกหัด หรือลองทำแบบฝึกหัดด้วยตัวเองก่อน  ลองหาวิธีคิดของตัวเอง ว่าตัวเองหาคำตอบได้อย่างไรและลองหาคำอธิบายสั้นๆ ง่ายๆ ที่เด็กเข้าใจได้ วิธีที่ใช้ได้ผลมาก คือ อุปมาอุปไมย เปรียบเทียบกับ ของหรือเรื่องใกล้ตัว

3. หาอุปกรณ์ใกล้ตัวนำมาเป็นอุปกรณ์การสอน อาจเป็นไม้บล๊อค ของเล่น ที่มีรูปทรงเรขาคณิต อย่าง วงกลม,สี่เหลี่ยม,สามเหลี่ยม,หกเหลี่ยม,วงรี หากเป็นของ    แบบเดียวกัน ซ้ำกันหลายๆ อันก็จะดีมาก เพราะจะใช้สอนได้หลายเรื่อง ทั้งอนุกรม     แถวเดียว อนุกรมวงกลม อนุกรม 9 ช่อง    ของจริง เช่น ช้อน,ส้อม,กรรไกร,ไม้แขวนเสื้อ,แก้วน้ำ,ปากกา,ไม้บรรทัด,รีโมท,มือถือ ฯลฯ  ก็สามารถนำมาสอนได้

4. อุปกรณ์บางอย่างในการสอน ก็ต้องประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อการนี้ เช่นตัดกระดาษแข็ง
วาดเป็นรูปลายเส้น,เจาะรูตามเส้น ระยะห่างพอสมควร คือประมาณ 2 เซนติเมตร
ไว้ให้หัดเด็กร้อยเชือกตามภาพนั้น  หรืออาจต้องตัดหลอดกาแฟเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ
 2-3 เซนติเมตร ให้เด็กๆ หัดร้อยหลอดเป็นสร้อยคอ ( หลอดท่อนยาวจะร้อยได้ยากกว่า
ท่อนสั้น ดังนั้นสำหรับเด็กที่โตแล้ว หรือฝึกร้อยหลอดสั้นจนชำนาญแล้ว อาจก้าวขึ้นไป
ลองร้อยหลอดยาวบ้าง )

5. มีกระดานดำ หรือWhite board ไว้สักอัน หลังจากเรียนจากของเล่น จนเข้าใจดีแล้ว ลองทดสอบความเข้าใจ ด้วยการทำแบบฝึกหัด  หรือตอบโจทย์บนกระดาน

6. จัดเตรียมโต๊ะ เก้าอี้ สร้างบรรยากาศการเรียนที่สบายๆ แต่เป็นทางการ
สักหน่อย ไม่ให้รู้สึกว่าเหมือนการเล่นจนเกินไปนัก
       สุดท้ายก็หายุทธวิธีในการหลอกล่อ หากว่าหนูๆ เบี้ยวไม่ยอมมาฝึกกัน เพราะเด็กๆ หลายคนจะเชื่อฟังคุณครูมากกว่าคุณพ่อคุณแม่ เป็นการยากที่จะเรียกมาฝึกมาเรียนกันกัน หรือหากตกลงปลงใจยอมเรียนแล้ว บางอย่างก็ไม่เชื่อคุณพ่อคุณแม่เอาซะดื้อๆ  หากว่าสอนไม่เหมือนคุณครูล่ะก็ หนูๆ ก็จะเหมาเอาทันทีว่าคุณพ่อคุณแม่ น่ะสอนผิด สอนไม่เห็นเหมือนคุณครูเลยอันนี้ก็ต้องอาศัยเทคนิคส่วนตัวกันแล้ว ว่าคุณจะดึงเอาความเชื่อถือในตัวคุณ จากเจ้าตัวน้อยข้างหน้าอย่างไร?
หมายเลขบันทึก: 13251เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2006 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 11:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
จริงนะพระวัดเดียวกันเทศน์ไม่มีใครเชื่อผมก็เป็นครูสอนลูกไม่ได้เลย ลูกเชื่อครูมากกว่า
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท