รสวรรณคดี


รสวรรณคดี

"รส" ในวรรณคดีนั้นเกิดจากความงามในการสรรคำ น้ำเสียง ลีลาในการประพันธ์ ภาพพจน์ ตลอดจนความงามในเนื้อหา. ตำราไทยแบ่งรสแห่งวรรรคดีเป็นสี่รส กล่าวคือ:

1) เสาวรจนี (เสาว ว. ดี, งาม. + รจนี ก. ตกแต่ง, ประพันธ์; ว. งาม) หรือจำง่าย ๆ ว่า "คำหยาด." รสนี้เป็นการชมความงาม ชมโฉม พร่ำพรรณาแลบรรยายถึงความงามแห่งนาง ทั้งตามขนบกวีเก่าก่อนแลในแบบฉบับส่วนตัว.

มืดสิ้นแสงเทียนประทีปส่อง
ก็ผ่องแสงจันทร์กระจ่างสว่างส่ง
บุปผชาติสาดเกสรขจรลง
บุษบงเบิกแบ่งระบัดบาน
เรณูนวลหวนหอมมารวยริน
พระพายพัดประทิ่นกลิ่นหวาน
เฉื่อยฉิวปลิวรสสุมามาลย์
ประสานสอดกอดหลับระงับไป (ขุนช้างขุนแผน)

ร่มรื่นพื้นพรรณบุปผา
สะอาดตาช่อชูดูไสว
ขุนแผนชักม้าคลาไคล
บัดใจถึงเขาธรรมเธียร
ที่เชิงเขาเหล่าพรรณมิ่งไม้
ลมพัดกวัดไกวอยู่หันหียน
รกฟ้าขานางยางตะเคียน
กันเกราตระเบาตระเบียนแลชิงชัน (ขุนช้างขุนแผน)


2) นารีปราโมทย์ (นารี น. หญิง + ปราโมทย์ น. ความบันเทิงใจ, ความปลื้มใจ, ปราโมช ก็ว่า) คือ การทำให้ "นารี" นั้น ปลื้ม "ปราโมทย์" ซึ่งรูปแบบหนี่งก็คือ การแสดงความรักผ่านการเกี้ยวแลโอ้โลมปฏิโลม. อันคำว่า "โอ้โลมปฏิโลม" นี้ ความหมายอันแท้จริงของคำก็คือ การใช้มือลูบไปตาม (โอ้) แนวขน (โลมา) และย้อน (ปฏิ) ขนขึ้นมา ซึ่งแสนจะ oh-so romantic ตามมุมมองส่วนตัวของกระผม:-) เมื่อโอ้โลมไปมา ในเบื้องปลาย นารี (ขอรับประกันว่า รวมถึงบุรุษอกสามศอกก็ด้วย แต่ขนบวรรณคดีคงส่ายพักตร์ขยักเขยียด) ก็จักปรีดาปราโมทย์.

ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร
ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้นเกิดในใต้หล้าสุธาธาร
ขอพบพานพิศวาสทุกชาติไป (พระอภัยมณี)

3) พิโรธวาทัง (พิโรธ ก. โกรธเกรี้ยว ไม่สบอารามณ์ + วาทัง น. วาทะ คำพูด) คือ พิโรธวาทัง การแสดงความโกธรแค้นผ่านการใช้คำตัดพ้อต่อว่าให้สาใจ ทั้งยังสำแดงความน้อยเนื้อต่ำใจ, ความผิดหวัง, ความแค้นคับอับจิต แลความโกรธกริ้ว ตามออกมาด้วย เหมือนกล้วยกับเปลือก. กวีมักตัดพ้อและประชดประเทียดเสียดแลสี เจ็บดังฝีกลางกระดองใจ อ่านสนุกนิ์ดีไซร้แฮ!
แม้นเจ้าคร้ามเคราะห์กาจ จงอย่ายาตรยุทธนา เอาพัสตราสตรี สวมอินทรีย์สร่างเคราะห์
(ลิลิตตะเลงพ่าย)

4) สัลลาปังคพิไสย (สัลล น. ความโศกโศกาเศร้าร่ำน้ำตานอง, ความเจ็บปวดแปลบ ๆ แลบแล่นในเนื้อใจ, การครวญคร่ำรำพันรำพึง / สัลลาป น. การพูดจากัน + องค์ น. บท, ชิ้น อัน, ตัว + พิไสย น. ความสามารถ ฤาจะแผลงมาจาก วิสัย ซึ่งแปลว่า ธรรมชาติของสิ่งนั้น ๆ ฤาสันดาน ก็อาจเป็นได้) คือ การโอดคร่ำครวญ หรือบทโศกอันว่าด้วยการจากพรากสิ่งอันเป็นที่รัก. มีใช้ให้เกลื่อนกร่นไปในบรรดานิราศ (ก. ไปจาก, ระเหระหน, ปราศจาก, ปราศจากความหวัง, ไม่มีความต้องการ, หมดอยาก, เฉยอยู่) เนื่องเพราะกวี อันมีท่านสุนทรภู่นำเริ่ดบรรเจิดรัศมีอยู่ที่หน้าขบวน จำต้องจรจากนางอันเป็นที่รัก. อกจึงหนักแลครวญคร่ำจำนรรจ์ ประหนึ่งหายห่างกันไปครึ่งชีวิต.
เราสองคนจนใจไร้ที่อยู่
เปลอู่ขัดขวางเพราะห่างบ้าน
หยูกยาสารพัดจะกันดาร
ที่นอนหมอนมุ้งม่านก็ไม่มี
ยังส่วนลูกฟูกเมาะก็ขาดครบ
พี่ปรารภลูกน้อยจะหมองศรี
จะกรำฝนทนแดดทั้งตาปี
เรานี้อดอยากอยู่เท่าใด
ยังลูกอ่อนก็จะอ้อนแต่อาหาร
น่ารำคาญคิดมาน้ำตาไหล
ทั้งผัวเมียแสนอนาถเพียงขาดใจ
สุดอาลัยแล้วก็กอดกันโศกา (ขุนช้างขุนแผน)

คำสำคัญ (Tags): #วรรณคดี
หมายเลขบันทึก: 132207เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2007 12:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท