เทคนิคการนำให้ถูกทาง (1)


                ขอบคุณ  คุณเรียนรู้  ที่ตั้งประเด็นไว้ใน Blog (ไม่) อาจสามารถโมเดล (1)  สองประเด็นด้วยกัน
                ประเด็นแรก  คือ  ความเห็นที่ว่า  การบริหารในมุมมองของผมอาจจะไม่ยากอย่างที่คิด  เพราะผมมีภาวะผู้นำ  ถ้าจะให้สารภาพกันตรงๆ เดี๋ยวนี้  ขอบอกว่า การบริหารยากครับ ผมตั้งรายละเอียด Blog ว่า  “การบริหารไม่ยากอย่างที่คิด”  เพราะมีความในใจที่ว่าเวลาผมคุยกับใครเรื่องบริหาร  คู่สนทนาบางคนจะบอกว่า “ไม่เอา  ไม่คุย  พูดเรื่องบริหารแล้วปวดหัว  คุยเรื่องอื่นดีกว่า”  เจออย่างนี้บ่อยๆ ทำให้ผมมองเห็นปัญหาว่า  คนกลัวการบริหาร (อย่างนี้นี่เล่าเวลามีตำแหน่งว่างทีไร  ถึงได้ต่อสู้กันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน  ต่อสู้เพื่อจะมีตำแหน่งแบบกลัวๆ ไงครับ)  ผมเองก็กลัวและไม่ได้เก่งกาจอะไรหรอกครับ  ผมเข้าสู่ตำแหน่งแบบไม่ได้ต่อสู้กับใครเขา  ครั้งแรกต้องมะงุมมะงาหรา  ศึกษาเอาเองบ้าง  ดูคนอื่นบ้าง  แบบครูพักลักจำ  และทำใจดีสู้เสือ  พอได้เรียนบริหาร  สอนบริหาร  ก็ยิ่งกลัวเพราะทฤษฎีมันเยอะมาก  และเปลี่ยนแปลงเร็วมากด้วย  กลัวทำไม่ถูกทฤษฎี  จนมาวันหนึ่งคิดได้ก็โยนทฤษฎีทิ้งเพราะเห็นว่าทฤษฎีบริหารก็คือ  การสรุปความรู้ที่ปฏิบัติและทดลองบ่อยๆ จนพบว่า  ถูกต้อง  เหมาะสม  มีประสิทธิภาพ  เกิดผลดีต่อองค์กร  ที่นักทฤษฎีทั้งหลายเมื่อสรุปองค์ความรู้ได้แล้วก็มาประกาศเป็นทฤษฎี  แต่ข้อสำคัญสำหรับนักบริหารคือ  ก่อนโยนทฤษฎีทิ้งต้องศึกษาให้เกิดการเรียนรู้ก่อนนะครับ  เรียนรู้แล้วเอาทฤษฎีหลากหลายมาผสมผสาน  สังเคราะห์ข้อดีมาปฏิบัติให้เหมาะสมกับงานขององค์กร  เพราะถ้ารู้ทฤษฎีอย่างเดียวแล้วบริหารเก่ง  ป่านนี้ด็อกเตอร์ทางการบริหารเป็นนายกรัฐมนตรี  หรืออย่างน้อยๆ ก็รัฐมนตรีกันหมดแล้ว  นี่เราเพิ่งมีนายกรัฐมนตรีที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกคนเดียวครับ  ชื่อ  พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  ชินวัตร  และไม่ได้จบด้านบริหารด้วย  สรุปว่าผมเคยกลัว  และไม่รู้เรื่องบริหาร  แต่ต้องบริหาร  ไม่อยากให้คนอื่นกลัว  จึงบอกว่า  การบริหารไม่ยากอย่างที่คิด  คือ  ถ้าคิดว่าการบริหารยากที่สุดก็เปลี่ยนเป็นยากมาก  ถ้าคิดว่ายากมากก็เปลี่ยนเป็นยาก  ถ้าคิดว่ายากก็เปลี่ยนเป็นไม่ยาก  เพื่อลดดีกรีความกลัวลงมา  และหันมาสนใจเรื่องบริหาร  ผมจึงพยายามที่จะเขียน Blog เรื่องเกี่ยวกับการบริหารให้ดูง่าย  แต่ก็หนักใจที่ต้องเอาเรื่องวิชาการมาเขียนให้ดูเหมือนไม่ใช่วิชาการ  หรือในมุมกลับยากกว่าเดิมเสียอีก  เหมือนอย่างที่เขานินทากันว่า “อาจารย์มหาวิทยาลัย  คือ  คนที่ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก”  ผมจึงหายจาก Blog ไปเป็นพักๆ เพราะบางครั้งไม่รู้ว่าเขียนเรื่องอะไร  และหมดมุกจริงๆ  (คำว่า “มุก” นี่ผมเขียนถูกนะครับ  เพราะในพจนานุกรมคำว่า “มุกตลก  แปลว่า  วิธีทำให้ขบขัน”  ส่วน “มุข”  แปลว่า  หน้า, ปาก, ทาง  และหัวหน้า”)
                มีนิทานเก็บมาเล่าครับ
                คนขับรถของศาสตราจารย์คนหนึ่ง  ติดตามเข้าไปฟังศาสตราจารย์บรรยายเป็นประจำ  เมื่อฟังบ่อยๆ เข้าก็รู้เรื่องทั้งหมด  และเห็นศาสตราจารย์บรรยายเรื่องซ้ำๆ กันทุกครั้ง  จึงวันหนึ่งบอกกับศาสตราจารย์ว่า
                “เรื่องที่ท่านศาสตราจารย์บรรยาย  ผมรู้หมดแล้ว  ครั้งต่อไปให้ผมบรรยายแทนก็ได้”
                ศาสตราจารย์ตอบตกลง  ดังนั้นในการบรรยายครั้งต่อไปคนขับรถจึงแต่งตัวโก้  ขึ้นไปบรรยายแทนศาสตราจารย์อย่างคล่องแคล่ว  โดยเจ้าภาพไม่ทราบ  ส่วนศาสตราจารย์เข้าไปนั่งฟังด้านหลังห้อง
                หลังบรรยายจบ  มีผู้ฟังตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่บรรยาย  คนขับรถจนปัญญาตอบไม่ได้  แต่ยังพอมีปฏิภาณอยู่บ้างจึงบอกว่า
                “เรื่องที่ท่านถามนั้น  เป็นเรื่องง่ายมาก  ไม่จำเป็นที่เราซึ่งเป็นศาสตราจารย์ต้องตอบ  แค่คนขับรถของเราที่นั่งหลังห้องก็ตอบได้แล้ว” พลางพูดกับศาสตราจารย์ว่า “ไหน เจ้าคนขับรถของเรา  ตอบเขาซิ”
                แม้ศาสตราจารย์จะมีคนขับรถที่อวดฉลาด  แต่ก็พอมีไหวพริบ  ปฏิภาณอยู่บ้าง (ก็คนขับรถศาสตราจารย์นี่ครับ)
                รู้แค่หลักการ  ทฤษฎี  แต่ไม่ได้ปฏิบัติ  ไม่เกิดการเรียนรู้และเกิดปัญญา  ก็เป็นเช่นนิทานข้างต้นละครับ
                ผมอยากให้ ม.นเรศวร  เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ครับ
                จบไม่ลงอีกแล้ว  ขอต่อเทคนิคการนำให้ถูกทาง ตอน 2 ครับ
หมายเลขบันทึก: 13182เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2006 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ขอบพระคุณอาจารย์ค่ะที่กรุณามาเขียนให้ความรู้เรื่องนี้เพราะทำให้เราได้รับความรู้จากผู้มีประสบการณ์โดยตรง จะติดตามตอนต่อไปค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท