Proceedings มหกรรมจัดการความรู้ ครั้งที่ ๒ (๑๕)


Proceedings มหกรรมจัดการความรู้ ครั้งที่ ๒ (๑๕)

การจัดการความรู้ของโรงพยาบาลบ้านตาก  จ.ตาก (๒)
 
คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ : 
นกคุ้มตัวนี้ ทำให้เรามองเห็นภาพกระบวนการจัดการความรู้ได้ชัดเจน เราจะเห็นว่า การจัดการความรู้ส่วนขยะ เริ่มจากเป้าหมายองค์กร ดูว่าองค์กรต้องการอะไร แล้วค้นหาปัญหา ใครมีความรู้เรื่องปัญหานั้นๆ แล้วชักชวนมาแก้ปัญหาร่วมกัน มาคุยกัน เธอใช้เทคนิคการตั้งคำถาม คนที่อยู่ในกระบวนการก็ร่วมคิด ก็เริ่มรู้ว่าความรู้ตรงนี้ยังขาด จึงไปแลกเปลี่ยนกับข้างนอก สุดท้ายได้ขุมความรู้ นำมาทดลอง ได้ผลจริง บอกต่อ เผยแพร่ไปยังชุมชน ซึ่งจะหมุนเกลียวความรู้ไปเรื่อยๆ

พักรับประทานอาหารว่าง

คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ : 
ช่วงนี้จะเป็นการดูคลังความรู้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญ เพราะเมื่อเราแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแล้ว สุดท้ายเราต้องสกัดให้ได้ ประเด็นต่างๆ จะต้องจดบันทึกเป็นขุมความรู้
รูปแบบของคลังความรู้ มี 3 ส่วน คือ หนึ่ง ประเด็นสำคัญ หรือหลักการที่ผู้เล่าได้ทำ เขามีหลักการ เคล็ดลับอะไร มีอะไรซ่อนอยู่ในเรื่องเล่า สอง เรื่องเล่า ผู้เล่าจะบอกว่า ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อใด จนกระทั่งผลลัพธ์ได้อะไรบ้าง และ สาม แหล่งข้อมูล ใครเป็นผู้เล่า จะติดต่อได้ที่ใคร เบอร์โทรศัพท์ สถานที่ติดต่อ ในต่างประเทศใช้วิธีการอัดเทปเรื่องเล่าเป็น MP3 ไว้บน internet ส่วนคนไทยจะใช้ตัวคนเป็นประโยชน์ เพราะเทคโนโลยียังไม่ดีพอเหมือนต่างประเทศ
เมื่อเช้าคุณลิขิต 2 ท่าน ได้สกัดคลังความรู้ตามรูปแบบคลังความรู้ทั้ง 3 ส่วนออกมาให้ท่านชมดังในภาพ

                

             
 

ซึ่งตอนเราทำจริง เราต้องบันทึกภาพ และนำไปไว้บนเอกสาร หรือ website
อยากให้คุณวีรยุทธ์ สมป่าสัก เปิด web ของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชรให้ดู ซึ่งต้องปรับแต่งให้น่าสนใจ และพัฒนาไปเรื่อยๆ ซึ่งจะมีขุมความรู้มาก

 

คุณวีรยุทธ์   สมป่าสัก : 
การสกัดความรู้ขึ้นอยู่กับทักษะของคน ซึ่งจะต้องคำนึงว่าเราจะไปรับความรู้เรื่องอะไร เมื่อทราบแล้วถ้าเราไปดูงานหรือทบทวนความรู้  เราก็จะใช้เทคนิคการสกัดความรู้ เช่น ใช้ตัวบุคคล ใช้เทป นำมาสกัดออกมาแล้วก็นำขึ้น web เราฝึกน้องที่เพิ่งจบ มีโจทย์เรื่องส้มนอกฤดู เขาก็ทำการศึกษา แล้วก็เขียนเป็นความรู้เชิงกระบวนการ เขาเรียนรู้ด้วย learning by doing เขียนเป็นวิชาการส้มนอกฤดู แล้วนำขึ้น web


คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ : 
รูปแบบของคลังความรู้ คือ ทางทีมได้มาประยุกต์เรื่องเล่าจะปนไปกับภาพ รูปแบบไม่จำเป็นต้องตีเป็น 3 ช่องหรือ 3 ส่วน สามารถใช้ได้หลากหลาย
เราหันมาทางโรงพยาบาลบ้านตาก เวลาทำเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใครเป็นผู้สนับสนุน วิธีการทำและรูปแบบเป็นอย่างไร ลองเล่าให้ผู้ที่เข้าประชุมฟังหน่อยค่ะ

คุณเกศราภรณ์   ภักดีวงศ์ :
การเก็บคลังความรู้ เราจะมีคลังความรู้ที่ขึ้นทะเบียน ถ้าไม่ขึ้นจะเป็นคลังความรู้เถื่อน ซึ่งในคลังความรู้จะมีรายละเอียดว่าตอนนั้นเขาทำไปเพื่ออะไร อย่างไร ได้อะไร
ความรู้บางเรื่อง กลไกบางอย่างต้องจดบันทึก เพราะอาจมีผลถึงการขับเคลื่อนการพัฒนา แล้วเราก็จะเก็บมาเป็นเรื่องเล่า ซึ่งเราก็เลยคิดโครงการขุดค้นทรัพย์สินทางปัญญา  โดยช่วงเช้าชั่วโมงแรกเราจะมาขุดค้นองค์ความรู้ เรามีแบบฟอร์มให้เขาบันทึกว่าปัญหาคืออะไร จะไปเอาความรู้จากใคร ช่องทางไหน แล้วซึ่งสิ่งที่เขาได้มาแล้วนั้นจะนำไปใช้อย่างไร จะให้เขาเล่าให้ฟัง ซึ่งเราจะใช้หลักสมรรถภาพมาช่วยให้เขาทำงาน เพราะถ้าระบบซีหายไป การประเมินอาจจะใช้สมรรถภาพแทน ซึ่งจะทำให้เขาไม่ดื้อที่จะทำ เพราะได้ใช้ประโยชน์ และหลังจากที่ได้ความรู้มาแล้ว  ศูนย์สุขภาพจะจัดพิมพ์ให้    แล้วจัดความรู้ออกเป็นหมวดหมู่ใส่ไว้ใน Internet   ที่เปิดได้ในโรงพยาบาล 24 ชั่วโมง

คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ : 
ทั้ง 2 องค์กรต้องมีผู้สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นผู้จดบันทึกเอาขุมความรู้ไปเผยแพร่ ส่วนที่สำคัญที่สุด คือ จะเอาขุมความรู้/คลังความรู้ไปพัฒนางานได้อย่างไร ถามอาจารย์สายัณห์ ปิกวงศ์  จากสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชรว่าคลังความรู้ที่เอาความรู้ขึ้น web มากมาย   ท่านจัดอย่างไร จัดความเชี่ยวชาญของคนอย่างไร

คุณสายัณห์   ปิกวงศ์ : 
จาก web ของเรา  เจ้าของความรู้  คือ เกษตรกร เมื่อได้ความรู้ก็ต้องย้อนกลับไปสู่เกษตรกร สำหรับในองค์กรระดับจังหวัด อำเภอ และเจ้าหน้าที่ เรามีระบบการทำงานอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นองค์ความรู้จะถูกแทรกเข้าไปในการประชุมทุกระดับ โดยบรรจุอยู่ในวาระการประชุม

คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ : 
ในคำถามเดียวกันนี้ ขอเชิญคุณเกศราภรณ์   ภักดีวงศ์ จากโรงพยาบาลบ้านตาก

คุณเกศราภรณ์   ภักดีวงศ์ :
วิธีได้มาของคลังความรู้นั้น  ต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม เมื่อได้คลังความรู้ถือว่าเป็นมติ ดังนั้น ทุกคนต้องทำตามนี้  เมื่อคลังความรู้ได้ขึ้นทะเบียนก็แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารทุกระดับยอมรับในความรู้นั้น ซึ่งความรู้นี้นั้นสามารถป้องกันการร้องเรียนได้ สำหรับการใช้ความรู้นั้น  สามารถนำมาใช้ได้ตลอดเวลา  เช่น  ไม่ว่าใครจะย้ายมา แนวทางการควบคุมโรคไข้เลือดออกก็จะต้องใช้ความรู้นี้ ดังนั้น คลังความรู้นี้จึงสามารถใช้ได้ ไม่ถูกกระทบกับบุคคลที่เปลี่ยนไป

คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ : 
การนำความรู้ไปพัฒนางานนั้น คุณเกศราภรณ์ ภักดีวงศ์ ว่าเมื่อเราให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ ในการใช้ก็ต้องใช้ด้วยกัน เมื่อได้ความรู้แล้วถือว่าเป็นมติของทีม ใครไปใครมาก็ต้องใช้แบบนี้ ซึ่งการย้ายไปย้ายมาของบุคลากรจะมีปัญหาในเรื่องนี้มาก ทางโรงพยาบาลก็ได้ใช้วิธีการนี้แก้ไขปัญหา
มีคำถามจากเวทีว่า  ทุกองค์กรมีคนหัวดื้ออยู่    มีวิธีอะไรที่จะจัดการกับคนหัวดื้อที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง

คุณสุภาภรณ์   บัญญัติ : 
คนที่พูดอย่างเดียว ทางทีมต้องดูว่าเขาต่อต้านเพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรืออะไรแล้วค่อยแก้ไขไปตามนั้น บางทีก็ต้องใช้กฎหมู่ คือ ถ้ากลุ่มนี้เป็นส่วนน้อย แล้วส่วนใหญ่พร้อมที่จะทำคุณภาพ เดี๋ยวเขาก็ลดบทบาทลงไปเอง

คุณเกศราภรณ์   ภักดีวงศ์ :
มีตัวอย่างว่า คนระดับล่างเวลาจะให้ทำอะไร จะตอบว่าไม่ทำ ไม่ว่าง เราจะทิ้งเขาไว้ก่อน เราทำคนที่พร้อมก่อน จัดเวลาให้คนที่พร้อมแสดงความสามารถ จนเขารู้สึกว่าเขาอยู่ไม่ได้ แล้วจะหันมาร่วมพัฒนาเอง

คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ : 
สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร มีวิธีแก้คุณหัวดื้ออย่างไร

คุณสายัณห์   ปิกวงศ์ : 
มองไปที่หัวหน้า  ต้องให้คุณเอื้อเห็นด้วยกับการพัฒนา มองเพื่อนในองค์กรอย่างเข้าใจ เขาต้องมีจุดแข็ง เราจะต้องเอาจุดแข็งของเขาออกมา นอกจากนั้น เราสามารถใช้แฟ้มสะสมงานมาเป็นตัวแสดงผลงาน ซึ่งคนที่ไม่เห็นด้วยก็จะพัฒนาเอง

คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ : 
มีคำถามว่า มีเทคนิคอะไรให้ทุกคนในโรงพยาบาลร่วมมือร่วมใจกันทำการจัดการความรู้

คุณเกศราภรณ์   ภักดีวงศ์ :
มนุษย์รักตัวเองที่สุด เราก็เอาจุดนี้เดินเรื่อง ดังนั้น อะไรที่เขาได้ประโยชน์ เขาก็จะทำ เช่น การฝากคนขับรถส่งต่อผู้ป่วยซื้อของ ซึ่งทำให้เขาเบื่อ   เมื่อเขาทำการจัดการความรู้ ก็ให้เขาชวนคนทุกคนที่ใช้เขาซื้อของ แล้วตั้งหัวข้อว่า การขับรถส่งต่อผู้ป่วยที่มีคุณภาพต้องทำอย่างไร เขาก็ช่วยกันคิด สรุปเป็นคลังความรู้ว่า ถ้าจะไปส่งต่อผู้ป่วยจะใช้เวลาไป 15 นาที กลับ 15 นาที ซึ่งจะต้องทำตามนี้ และเมื่อใครจะฝากซื้อของ ก็จะใช้ข้ออ้างการทำการจัดการความรู้นี้ปฏิเสธไป

คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ : 
ในฐานะที่เป็นคุณอำนวย ท่านใช้เทคนิคอะไรที่จะให้คุณกิจของหน่วยงาน หันมาทำการจัดการความรู้ของตัวเองในงาน


คุณเกศราภรณ์   ภักดีวงศ์ :
โรงพยาบาลบ้านตากเริ่มจากปัญหาในงาน  หยิบยกปัญหาที่เกิดขึ้น   ถ้าอยากจะแก้ไขให้นำมาคิดร่วมกัน

คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ : 
มีคำถามอยู่ 2 คำถาม คือ หนึ่ง ในภาพรวมองค์กร ในสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร มีกระบวนการคิด สร้างคนมาเป็นคุณอำนวย คุณลิขิต หรือคุณกิจอย่างไร กำหนดเป็นงานหนึ่งหรือคณะทำงานเฉพาะกิจหรือไม่  สอง ในแต่ละปีทางหน่วยงานได้กำหนดเป้าหมาย และแผนงานการจัดการความรู้หรือไม่

คุณวีรยุทธ์   สมป่าสัก : 
เกษตรจังหวัดกำแพงเพชรมีเป้าหมายให้ทุกคนเข้ามาเป็นคุณอำนวย เป็นวิทยากรกระบวนการตั้งแต่การจัดทำแผน การปฏิบัติ การประเมิน การถอดองค์ความรู้ ซึ่ง 1 คนจะรับผิดชอบอย่างน้อยที่สุด 1 เรื่อง โดยจะมีการยกระดับให้เขียนรายงานให้เป็นเรื่องเดียวกับงานประจำ โดยจะต้องพัฒนาคนของเราก่อน ให้สามารถเป็นวิทยากรกระบวนการ เพื่อขยายผลไปยังเกษตรกร

คุณเกศราภรณ์   ภักดีวงศ์ : 
วิธีสร้างคุณอำนวยของโรงพยาบาลบ้านตากคือ เปิดรับสมัครโดยความสมัครใจ ถ้าไม่ครบเราจะไปชักชวนน้องๆ เวรเช้า ที่มีคุณสมบัติและใจพร้อม และให้ผู้อำนวยการเป็นผู้เลือกคุณอำนวย โดยมีเป้าหมายคือ คุณอำนวยจะต้องทำงานให้เราได้ และไม่ท้อ ซึ่งเราจะต้องผูกยึดเขาไว้ให้ได้คือ หนึ่ง มอบหมายงานให้ชัดเจน สร้างความเป็นเจ้าของ ให้เขาคิดเองอย่างเต็มที่ เราจะเอาคุณอำนวยมาตกลงกันก่อนว่ากิจกรรมที่เราจะลงไปทำกับคุณกิจนั้นเราจะทำไปเพื่ออะไร จะใช้องค์ความรู้อะไร ทั้งนี้เพื่อคุณอำนวยทุกคนจะได้พูดตรงกัน สอง ในฐานะที่เราเป็นประธานคุณอำนวย เราจะให้ประโยชน์ที่เขาพึงได้ เช่น ตอบแทนการทำการจัดการความรู้ โดยให้เป็นงานพิเศษเพื่อพัฒนาความดีความชอบ ซึ่งผู้บริหารก็เห็นด้วย

คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ : 
ในเรื่องของแผนต้องทำแผนหรือไม่

คุณเกศราภรณ์    ภักดีวงศ์ : 
แผนทุกอย่างจะบูรณาการไปด้วยกัน แผนทุกเรื่องคือการจัดการความรู้ ทุกคนต้องตอบได้ว่าแผนของเขาอยู่ในยุทธศาสตร์ใด เราไม่ได้ทำแผนการจัดการความรู้ เป็นการเฉพาะ เราพยายามให้คนในองค์กรของเราไม่รู้สึกว่ากำลังทำการจัดการความรู้  บางคนก็ไม่รู้ว่ากำลังทำการจัดการความรู้ แต่รู้ว่ากำลังทำคุณภาพอยู่
เวลาเขาทำกิจกรรมอะไร เขาต้องตอบได้ว่า ประชาชนได้รับอะไรจากสิ่งที่เขาทำอยู่ ทำแล้วได้อะไร องค์กรได้อะไร ทุกอย่างจะถูกบรรจุอยู่ในวิถีประจำวัน ไม่มีการจัดการความรู้ ไม่มี HA ทุกอย่างคือเครื่องมือเรื่องคุณภาพ

คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ : 
นั่นคือการบูรณาการทุกอย่างในองค์กรให้เป็นเรื่องเดียวเพื่อไม่ให้สับสน  ขอถามคุณวีรยุทธ์   สมป่าสัก  ว่าอะไรคือแรงจูงใจในการทำการจัดการความรู้

คุณวีรยุทธ์   สมป่าสัก : 
เราเข้าใจว่าการจัดการความรู้คืออะไร เรามองการจัดการความรู้เป็นโอกาสที่จะช่วยเสริมให้เราทำงานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมีองค์ประกอบหลายตัวที่เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาองค์กร เพราะการจัดการความรู้จะมีทั้งเป้าหมาย กลยุทธ์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เราไม่ได้ทำสิ่งใหม่แต่ได้งานดีขึ้น ถ้าองค์กรไม่ทำการจัดการความรู้องค์กรจะอยู่ลำบาก เราต้องเริ่มทำเรื่องเล็กๆ ไปเรื่องใหญ่ ทำจากข้างในออกมาข้างนอก ทำเท่าที่เราทำได้ ง่ายไปหายาก ทำแล้วสนุกมีความสุข

คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ : 
สรุปประเด็นในภาพรวมคือ ทั้ง 2 องค์กรมีสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน ผู้รับบริการในส่วนสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชรคือเกษตรกร ในขณะที่ของโรงพยาบาลบ้านตากคือ ผู้ป่วย ญาติ ชุมชน ชาวบ้านทั้ง   2 องค์กรใช้การจัดการความรู้มาพัฒนาและมีสิ่งที่เหมือนกัน คือ การมองเป้าหมายของงาน พันธกิจ หน้าที่หลักขององค์กรเป็นหลัก แล้วมองว่าถ้าจะไปทำในหน่วยงานต้องทำอะไร ค้นหาความรู้ในตัวคนในองค์กรว่ามีหรือไม่มีความรู้ในหน้าที่หลัก หลังจากนั้นต้องดูว่าเรายังขาดความรู้อะไรที่ต้องแสวงหาจากภายนอก  เอาความรู้ที่ได้มาสกัดเป็นคลังความรู้ มาเผยแพร่โดยใช้เทคนิค เช่น web เป็นต้น ทำแผนที่คนในองค์กร ใครเก่งเรื่องอะไร จัดระบบ ระเบียบ ถ้าจะให้ยั่งยืนต้องมีระบบกระตุ้นในองค์กร อาจผูกติดกับระบบประเมินผล เมื่อได้ความรู้แล้วเอาความรู้ไปพัฒนางาน ดูผลลัพธ์เปรียบเทียบก่อนกับหลังการพัฒนา เครื่องมือที่เลือกใช้ต้องเหมาะสมกับบริบทของงาน ให้ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วม ทำเรื่องเล็ก และง่ายก่อน
ต่อจากนี้จะเริ่มทบทวนหลังปฏิบัติการหรือทำ AAR ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ปฏิบัติเมื่อทำกิจกรรมเสร็จสิ้น เป็นการหาข้อเสนอแนะแก่ทีมงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของการทำกิจกรรม แล้วถอดบทเรียนจากกิจกรรมนั้นไปสู่กิจกรรมอื่น สร้างความเชื่อมั่นให้กับคณะทำงาน พัฒนาศักยภาพทีมงาน สิ่งต้องห้ามสำหรับ AAR คือ การวิพากษ์ วิจารณ์ เราจะไม่บอกว่าใครถูก ใครผิด AAR มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้เพื่อหาโอกาสพัฒนาในทีม
ในการทบทวน AAR จะขออาสาสมัครในการตอบคำถาม
คำถามที่ 1 ท่านมีเป้าหมายอะไรบ้างในการมาร่วมประชุมครั้งนี้
ผู้ร่วมประชุม เพื่อรับทราบกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละหน่วยงาน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้
ผู้ร่วมประชุม มาฟังว่า best practice ที่อื่นมีขั้นตอนอะไรที่แตกต่างจากเราที่สามารถเอาไปใช้ได้
คำถามที่ 2 ท่านบรรลุเกินเป้าหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ผู้ร่วมประชุม บรรลุเกินเป้าหมาย โดยเฉพาะของโรงพยาบาลบ้านตาก เพราะฟังแล้วเห็นภาพในกระบวนการว่านำไปใช้อย่างไร   โดยเฉพาะการที่ไม่บอกคนในหน่วยงานว่าอะไรคือการจัดการความรู้ เพราะรู้แล้วอาจไม่ทำ
ผู้ร่วมประชุม บรรลุเกินเป้าหมาย
คำถามที่ 3 ส่วนใดที่ท่านยังไม่บรรลุตามเป้าหมาย เพราะเหตุใด
ผู้ร่วมประชุม ไม่มีอะไรที่ไม่บรรลุเป้าหมาย
ผู้ร่วมประชุม ไม่มีอะไรที่ไม่บรรลุเป้าหมาย
คำถามที่ 4 ท่านคิดวางแผนทำอะไรต่อ หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
ผู้ร่วมประชุม  ที่คิดไว้ คือ จะร่วมวางแผนในหน่วยงานว่าจะทำการจัดการความรู้อย่างไรให้ทั่วทุกหน่วยงานในองค์กรคล้ายกับที่โรงพยาบาลบ้านตาก
ผู้ร่วมประชุม หลังจากฟังแล้ว จะเอาไปทำการจัดการความรู้ที่ศูนย์วิจัยของโรงพยาบาลมหาราช จะกระตุ้นกลุ่มพยาบาลก่อน สร้างการแบ่งปันให้เกิดขึ้น ถอดบทเรียน บันทึกให้เป็นคลังความรู้

สิ้นสุดการประชุม

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13151เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2006 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ขอบคุณอาจารย์ที่เอามาเขีบนเล่าให้ฟัง ทำให้ผมได้รับรุ้บรรยากาศไปด้วยเพราะไม่ได้ไปร่วมในวันจริง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท