การประชุมโต๊ะกลมมองอนาคตโรคติดต่ออุบัติใหม่ - อุบัติซ้ำ


ไม่ใช่ "จะเกิดหรือไม่" แต่คำถามที่ถูกต้องคือ "เมื่อไหร่"

ฟ้าครับ

ว่ากันว่าโรคไข้หวัดนกที่กำลังอาละวาดอยู่ในขณะนี้เป็นแค่น้ำจิ้ม เมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ว่าด้วยเรื่องโรคติดต่ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ

เวลานี้นักวิชาการค่อนข้างมองเห็นตรงกันแล้วว่า โอกาสที่จะเกิดการระบาดอย่างขนานใหญ่ของไข้หวัดอย่าง influenza ชนิดที่คนตายนับแสนนับล้าน คงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ใช่ "จะเกิดหรือไม่" แต่คำถามที่ถูกต้องคือ "เมื่อไหร่" เพราะทุกวันนี้รอบของการระบาดได้วนมาจนครบและเลยกำหนดแล้วด้วยซ้ำ

มันอาจจะมาจ่ออยู่แค่เื้อื้อมนี้แล้วก็ได้

วันนี้เนคเทค (ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ) ร่วมกับไบโอเทค (ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ) และศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค ก็เลยจัดประชุมโต๊ะกลมเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องนี้

เป็นการประชุมที่แปลกไม่เหมือนกับการประชุมทั่ว ๆ ไป เพราะว่าพยายามนำเอาความรู้และเทคโนโลยีที่หลากหลายต่าง ๆ สาขาวิชา เข้ามาหาวิธีจัดการร่วมกัน (converging technologies) เพื่อนำไปสู่ทางออกบางประการ ที่ผู้จัดเชื่อว่าจะช่วยในการป้องกันการเกิดขึ้นและระบาดของโรคเหล่านี้ หรือแม้แต่นำมาใช้ในการบริหารจัดการกรณีที่เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมโลกกับพวกมันต่อไป (อย่างไม่เต็มใจนัก)

ผู้เข้าร่วมจึงหลากหลาย มีทั้งแพทย์ สัตวแพทย์ นักวิชาการสาธารณสุข ตัวแทนเอกชนด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ และตัวแทนธุรกิจเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งนักวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพและด้านอิเล็กทรอนิกส์จำนวนหนึ่ง

ที่สำคัญคือที่ประชุมรับรู้เกี่ยวกับกระบวนการ foresight และช่วยกันตรวจสอบมุมมองในการนำเอาวิธีการมองอนาคตมาใช้ดำเนินโครงการวิจัยร่วมก้ัน เพื่อตอบโจทย์ที่ว่าอะไรอาจจะเกิดขึ้นได้บ้าง เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไร และเรามีอะไรอยู่ในมือที่จะรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเิกิดขึ้นได้บ้าง อนาคตที่ว่านี้ถ้าเป็นระยะยาวคงใช้ภาพเหตุการณ์อนาคต (scenario) แต่ในระยะสั้นกว่านั้นเช่น 5-10 ปีก็คงต้องใช้กระบวนการที่เรียกว่า roadmapping ที่จะให้คำตอบว่า "เมื่อไหร่ต้องทำอะไร แล้วสิ่งนั้นจะนำไปสู่อะไรต่อไป" ได้ดี

ที่ประชุมโชคดีที่ได้คุณหมอศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ จากกรมควบคุมโรค มาช่วยให้ความกระจ่างในเรื่องสถานภาพปัจจุบันของโรคเหล่านี้ และมีการทำอะไรไปแล้วบ้าง ช่วยให้ไม่ต้องมาถกเถียงกันในเรื่องข้อเท็จจริงนัก โดยเฉพาะตัวผมเองได้เรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนมากมาย

จะว่าไปแล้วปัญหานี้ไม่ใช่เป็นปัญหาของไทยหรือประเทศใดประเทศหนึ่งแ่ต่เกี่ยวกับความอยู่รอดของทุกคน จึงมีแนวโน้มว่าจะสามารถเสนอเป็นโครงการระดับเอเปคเพื่อดำเนินการร่วมกับภาคีอื่น ๆ ในภูมิภาคต่อไป ซึ่งเท่าที่ซาวเสียงดูก่อนหน้านี้เห็นว่ามีญี่ปุ่น ไต้หวัน ออสเตรเลีย แคนาดาที่อาจจะสนใจดำเนินโครงการ foresight นี้ร่วมกับไทยในลักษณะการฟอร์มทีมร่วมกัน

รายละเอียดที่คุยกันยังมีอีกมาก แต่วันนี้ขอเล่าให้ฟังแค่นี้ก่อนนะครับฟ้า แล้วจะหาโอกาสกลับมาคุยต่อ

Have you smiled today?

หมายเลขบันทึก: 13114เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2006 22:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท