การเขียนโครงการการฝึกอบรม


ดอกเตอร์ถ้ามีอะไรให้แก้ไขช่วยบอกด้วยนะค่ะ

                            การเขียนโครงการการฝึกอบรม

การเขียนโครงการการฝึกอบรม
              
                   การเขียนโครงการอบรม  ถึงแม้ว่าไม่ได้ระบุเอาไว้ในวงจรการอบรม แต่การเขียนโครงการอบรมก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการอบรม  โดยมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง  เช่น  เพื่อขออนุมัติจัดอบรม หรือเพื่อขอทุนสนับสนุนทางด้านการเงิน หรือเปรียบเสมือนแผนแม่บทเพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดอบรม หรืออาจจะเพื่อการประชาสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่ง
                การเขียนโครงการอบรมไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากได้ผ่านขั้นตอนของการวางแผนมาแล้ว ข้อมูลมีพร้อมแล้ว  โดยเฉพาะการออกแบบหลักสูตรซึ่งเป็นแม่บทของโครงการอบรมก็ได้ออกแบบเรียบร้อยแล้ว  ซึ่งในหลักสูตรที่ออกแบบจะมีรายการที่จำเป็นสำหรับการเขียนโครงการทั้งวัตถุประสงค์  กิจกรรม  เนื้อหา  ระยะเวลา 
วัสดุอุปกรณ์ต่างๆซึ่งสามารถที่จะคำนวณงบประมาณได้ค่อนข้างจะแน่นอนชัดเจน
 มีส่วนหนึ่งที่จะต้องเขียนให้มีคุณภาพที่ดีก็คือ “ หลักการและเหตุผล “  ซึ่งหากผู้เขียนมีประสบการณ์น้อย  ก็สามารถหาประสบการณ์จากตัวอย่างอื่นๆหรือการเขียนโครงการอื่นๆ หรือหาหนังสือหรือเอกสารในหัวข้อที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแนวทางในการเขียนของตน
 
สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการจัดทำโครงการฝึกอบรม  มีดังต่อไปนี้
1.      กลุ่มผู้ฟัง  ผู้ที่จะเข้ารับการฝึกอบรมจะมีความแตกต่างกันในด้านต่างๆ เช่น อายุ เพศ  ระดับการศึกษา  ระดับสติปัญญา  ทัศนคติ  ค่านิยม  ขนาดของกลุ่ม  ตลอดจนความคาดหวังที่มีต่อหลักสูตรการฝึกอบรม  สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งซึ่งผู้จัดทำโครงการฝึกอบรมจะต้องนำไปวิเคราะห์เป็นข้อมูลในการกำหนดสิ่งต่างๆในหลักสูตรฝึกอบรม
2.      สถานที่  สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการฝึกอบรมจะมีอิทธิพลต่อผลของการฝึกอบรมมาก  เช่น  สถานที่ฝึกอบรม  ควรจะเป็นห้องที่ปราศจากเสียงรบกวน  มีขนาดแสงสว่าง  อุณหภูมิ  การจัดที่นั่งเหมาะสม  ตลอดจนมีอุปกรณ์ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้สูง
3.      บรรยากาศและการจูงใจ  การฝึกอบรมที่ดีจะต้องมีบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้  การร่วมมือในการจักกิจกรรมการอบรมการจูงใจให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีส่วนร่วม  มีความตื่นตัวอยากที่จะเรียนรู้
4.      จิตวิทยาการเรียนรู้   การฝึกอบรมจะต้องคำนึงถึงจิตวิทยาการเรียนรู้ของผู้ใหญ่  ซึ่งแตกต่างจากการเรียนรู้ของเด็ก  ต้องคำนึงถึงการรับรู้  ความจำ  และเรื่องของการเสริมแรง  ตลอดจนเรื่องที่ฝึกอบรมจะต้องสอดคล้องกับประสบการณ์เดิมและมีประโยชน์ต่องานโดยตรง
5.      ปัจจัยอื่นๆ เช่น เวลา  ทรัพยากร  และงบประมาณก็เป็นสิ่งที่ผู้จัดทำโครงการต้องพิจารณา  เพื่อการจัดทำโครงการได้เหมาะสม
โครงการฝึกอบรมที่ดี   ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
1.      สามารถตอบสนองความจำเป็นขององค์กร   แก้ไขปัญหาอุปสรรคข้อขัดข้อง  ตลอดจนรองรับการขยายตัวของธุรกิจ  ความก้าวหน้าขององค์กรได้
2.      สามารถตอบสนองความจำเป็นของภารกิจที่เป็นปัญหาและของพนักงานได้
3.      ต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลและปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงอย่างถี่ถ้วนและถูกต้อง  เพื่อการจักเตรียมและกำหนดโครงการได้อย่างเหมาะสม
4.      ต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและสอดคล้องกับความจำเป็นในการฝึกอบรม
5.      มีการกำหนดวิธีการฝึกอบรม  และวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับหลักสูตรและเหตุผล
6.      ได้รับการสนับสนุนด้านทรัพยากรและการบริหารจากองค์กร
7.      ต้องมีระยะเวลาดำเนินการที่ระบุวันเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดโครงการที่ชัดเจน
โดยทั่วไปโครงการฝึกอบรมจะมีรูปแบบการเขียนหรือโครงสร้างดังนี้
1.      ชื่อองค์การ
2.      ชื่อแผนงาน
3.      ชื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ
4.      ชื่อโครงการ
5.      หลักการและเหตุผล
6.      วัตถุประสงค์
7.      เป้าหมาย
8.      หลักสูตรในการฝึกอบรม
9.      วิธีการฝึกอบรม
10.  วิทยากร
11.  คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
12.  วุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตร ( ถ้ามี )
13.  ผู้รับผิดชอบโครงการ ( ชื่อบุคคล )
14.  ระยะเวลาของโครงการ
15.  สถานที่ฝึกอบรม
16.  ขั้นตอนดำเนินการฝึกอบรม
17.  ปฏิทินดำเนินการ
18.  งบประมาณ
19.  การประเมินผล
20.  ผลที่คาดว่าจะได้รับ
21.  กำหนดการฝึกอบรมและตารางฝึกอบรม
22.  รายละเอียดของงบประมาณ
ข้อแนะนำในการเขียนโครงการฝึกอบรม
1.      ชื่อองค์การ  หมายถึงชื่อบริษัทหรือชื่อหน่วยงาน  ปกติหัวกระดาษจะมีชื่อบริษัทอยู่แล้ว  ถ้าไม่มีให้พิมพ์ชื่อบริษัทลงไป
2.      ชื่อแผนงาน  โดยทั่วไปแผนงานของบริษัทต่างๆจะมี   5  แผนงาน ดังนี้ แผนงานการผลิต  แผนงานการตลาด แผนงานการเงิน แผนงานการบุคลากร แผนงานบริหารทั่วไปให้ระบุว่าเป็นแผนงานอะไร
3.      ชื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ   เป็นการระบุว่าหน่วยงานใดรับผิดชอบโครงการฝึกอบรม  ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นฝ่ายบุคคล  หรืออาจจะเป็นหน่วยงานอื่น เช่น ฝ่ายการตลาด  ฝ่ายผลิต  ฝ่ายควบคุมคุณภาพ เป็นต้น
4.      ชื่อโครงการ   การกำหนดชื่อโครงการฝึกอบรมอาจกำหนดจากสิ่งต่อไปนี้
1.)    กำหนดจากชื่อวิชา  เช่น  โครงการฝึกอบรมหลักสูตรบำรุงรักษาเครื่องอุปกรณ์สำนักงาน  เป็นต้น
2.)    กำหนดจากกลุ่มผู้เข้ารับการฝึกอบรม  เช่น  โครงการฝึกอบรมหลักสูตรนิติกร  โครงการฝึกอบรมหลักสูตรพนักงานขาย  เป็นต้น
3.)    กำหนดตามชื่อวิชาและผู้เข้ารับการฝึกอบรม  เช่น  โครงการฝึกอบรมหลักสูตรสุขศึกษาสำหรับผู้ช่วยทันตแพทย์โครงการฝึกอบรมหลักสูตรคอมพิวเตอร์สำหรับผู้บริหาร เป็นต้น
5.      หลักการและเหตุผล  แสดงถึงความเป็นมา  ปัญหา  ความจำเป็นที่จะต้องฝึกอบรมตลอดจนทฤษฎีและหลักการที่สนับสนุนการทำโครงการ  ผู้เขียนจะต้องพยายามหาเหตุผล  หลักการและทฤษฎีมาสนับสนุนโครงการ  เพื่อให้ผู้พิจารณาโครงการมองเห็นความจำเป็นและความสำคัญของโครงการ  เพื่อให้การสนับสนุนและอนุมัติโครงการ
6.      วัตถุประสงค์   เป็นการบรรยายภาพรวมของความต้องการที่จะให้เกิดขึ้นอย่างกว้างๆเป็นข้อๆการเขียนวัตถุประสงค์ควรมีลักษณะดังนี้
1.)    ตรงกับความจำเป็นในการฝึกอบรม
2.)    มีความเป็นไปได้
3.)    ระบุพฤติกรรมที่ต้องการเปลี่ยนแปลง
4.)    โดยทั่วไปจะมุ่งพัฒนาความรู้ความสามารถ  ทักษะ  และทัศนคติ
7.      เป้าหมาย   แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าตลอดระยะเวลาของโครงการจะทำอะไรการเขียนเป้าหมายควรมีลักษณะดังนี้
1.)    กำหนดเป็นตัวเลขหรือปริมาณ  เช่น  อบรมพนักงาน 5 รุ่น  รุ่นละ 40 คน ผลิตคู่มือการปฏิบัติงาน 50 ฉบับ เป็นต้น
2.)    สามารถวัดและประเมินผลได้
8.      หลักสูตรการฝึกอบรม  ควรระบุหัวข้อวิชาและเวลาเป็นชั่วโมง
9.      วิธีการฝึกอบรม   ขึ้นอยู่กับหัวข้อหรือวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตร  และขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรมด้วย  ควรกำหนดวิธีฝึกอบรมไว้ว่าจะใช้วิธีใดบ้าง เช่น
1.) การบรรยาย
2.) การประชุมกลุ่มอภิปราย
3.) การฝึกปฏิบัติ
4.) บทบาทสมมติ
5.) การใช้เกมหรือกรณีศึกษา
6.) การใช้สถานการณ์จำลอง
7.)  การศึกษานอกสถานที่  ดูงาน
10.  วิทยากร   โดยปกติจะเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในแต่ละรายวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตร  วิทยากรอาจเป็นบุคคลในองค์กรหรือภายนอกองค์การแล้วแต่ความเหมาะสม  โดยทั่วไปไม่สามารถระบุชื่อวิทยากรได้  เพราะต้องวางแผนเสนอโครงการไว้ล่วงหน้าเป็นระยะเวลานานจึงนิยมระบุชื่อวิทยากรในรูปต่อไปนี้
1.)    ผู้บริหารในองค์การ
2.)    วิทยากรจากสมาคม……
3.)    วิทยากรจากมหาวิทยาลัย……
4.)    ผู้เชี่ยวชาญจาก……
11.  คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม   เป็นการกำหนดว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมควรเป็นใครให้ชัดเจน  ต้องมีความรู้หรือประสบการณ์  หรือผ่านหลักสูตรใดมาก่อน หรือผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องดำรงตำแหน่งอะไร  การกำหนดคุณสมบัติกำหนดจากภารกิจ  หน้าที่  และความจำเป็นในการฝึกอบรมเพื่อให้การฝึกอบรมเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง
12.  วุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตร  ให้กำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการฝึกอบรม
ว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะมีสิทธิได้วุฒิบัตรหรือ  ประกาศนียบัตร  เช่น  ต้องเข้ารับการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาฝึกอบรมทั้งหมด หรือต้องผ่านการทดสอบให้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70  ขึ้นไปเป็นต้น
13.  ผู้รับผิดชอบโครงการ  ให้ระบุชื่อตำแหน่งว่ามีใครบ้าง ใครเป็นหัวหน้าโครงการ หรือถ้าเป็นรูปคณะกรรมการให้ระบุว่ามีใครบ้าง  ใครเป็นประธานกรรมการ ทั้งนี้  เพื่อให้การติดตาม   การตรวจสอบ  และการประสานงานทำได้สะดวกรวดเร็ว  และทำให้มีผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรมอย่างแท้จริง
14.  ระยะเวลา  ให้ระบุจำนวนวัน  หรือสัปดาห์  หรือเดือน  และระบุว่าจากวันใดถึงวันใดการกำหนดระยะเวลาขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้
1.)    ระดับความจำเป็นในการฝึกอบรมมีมากน้อยเพียงใด  หากมีความจำ
เป็นมากต้องใช้เวลานาน
2.)    ระดับผู้เข้ารับการฝึกอบรม  ผู้บริหารระดับสูงต้องจะใช้เวลาน้อยกว่าระดับปฏิบัติการ
3.)    หลักสูตรการฝึกอบรม  ถ้ามีรายวิชามากจะต้องใช้เวลามากตามไปด้วย
4.)    วัตถุประสงค์ของการฝึกอบรม  ถ้าต้องการเพิ่มความรู้อาจใช้เวลาไม่นานนัก   แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เข้ารับการฝึกอบรมหรือเพิ่มทักษะมากๆอาจต้องใช้เวลานาน
15.  สถานที่ฝึกอบรม  เป็นการระบุว่าจะใช้สถานที่ใด  ห้องประชุมหรือตึกใด  ชั้นใด  ในกรณีที่ใช้สถานที่หลายแห่งต้องมีการระบุให้ชัดเจน
16.  ขั้นตอนดำเนินการฝึกอบรม  เป็นการกำหนดขั้นตอนการดำเนินการฝึกอบรมว่าทำอะไรบ้างตามลำดับ  ตั้งแต่รวบรวมข้อมูล  วางแผนการฝึกอบรมดำเนินการฝึกอบรม  ตลอดจนติดตามประเมินผลการฝึกอบรม  โดยเขียนเป็นข้อๆตามลำดับ
17.  ปฏิทินดำเนินการ  ให้กำหนดระยะเวลาในการทำงานแต่ละขั้นตอนของการดำเนินงาน   อาจกำหนดเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือนแล้วแต่ความเหมาะสม  โดยใช้แผนภูมิแกนต์ ( Gantt ‘ s chart )  เพื่อใช้ควบคุมและตรวจสอบโครงการฝึกอบรม
18.  งบประมาณ เป็นการกำหนดจำนวนเงินที่จะต้องใช้จ่ายที่จำเป็นจะต้องจ่ายจริง  ในการฝึกอบรมโดยทั่วไปจะใช้เงิน 3 หมวดดังนี้
         -  หมวดค่าตอบแทน   ใช้สำหรับค่าตอบแทนวิทยากร  ค่าตอบแทนการล่วงเวลาของพนักงาน
       -  หมวดค่าใช้สอย    ใช้สำหรับค่าจ้างต่างๆ ได้แก่   ค่าเบี้ยเลี้ยง  ค่าพาหนะ   ค่าที่พัก   ค่าอาหารและเครื่องดื่ม    ค่าพิมพ์เอกสารต่างๆ  ค่าเช่าห้องประชุม      
              -หมวดค่าวัสดุ    ใช้สำหรับค่าวัสดุต่างๆ เช่น  ค่ากระดาษ  หมึก  สี  ปากกา    ดินสอ   ยางลบ  แฟ้มเอกสาร  แผ่นใส  ฟิล์มถ่ายรูป  วัสดุสำหรับฝึกภาคปฏิบัติ   และของใช้อื่นๆ เป็นต้น
          19.  การประเมินผล  ให้ระบุว่าจะใช้วิธีการประเมินผลอย่างไร  เช่น   การสังเกต          การ ตรวจงาน  การสอบ  การสอบถามโดยใช้แบบสอบถาม  เป็นต้น  และระบุว่าจะประเมิน เมื่อไรประเมินก่อนการอบรม  ระหว่างการอบรม  หรือหลังจากการอบรมแล้ว  หรือจะ ใช้การวิจัยติดตามผลอีกครั้งหนึ่ง
        20.   ผลที่คาดว่าจะได้รับ  ให้ระบุว่าเมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรมแล้วจะเกิดผลอะไรบ้าง   ให้ระบุทั้งผลทางตรงและทางอ้อม  ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  
ในด้านธุรกิจจะบอกผลกำไรและค่าใช้จ่าย  ประมาณการรายวัน  รายจ่าย  กำไรที่คาดว่าจะได้รับ
         21.   กำหนดการฝึกอบรมและตารางฝึกอบรม  เป็นการกำหนดเวลาการบรรยาย
หรือปฏิบัติกิจกรรมต่างๆว่าจะกระทำเมื่อใด  ควรมีกำหนดการอย่างละเอียด  โดย        ระบุวัน  เวลา  และชื่อวิทยากร  อีกทั้งควรทำตารางการฝึกอบรมอย่างสังเขปประกอบด้วยเพื่อแสดงภาพรวมของการฝึกอบรม
22.   รายละเอียดของงบประมาณ   ให้ระบุรายละเอียดลงไปว่าใช้งบประมาณทั้งสิ้นเท่าใด  ซื้ออะไรบ้าง  จำนวนเท่าใด  เช่น  ค่าวิทยากร  ค่าจ้าง  ค่าใช้สอย  ค่าวัสดุต่างๆ เป็นต้น

 

สรุป
          การวางแผนงาน   การออกแบบ  และการพัฒนาโครงการฝึกอบรม  เป็นขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่งของระบบการฝึกอบรม  นักจัดการฝึกอบรมจะต้องกำหนดเป้าหมายและนโยบายการฝึกอบรม  ให้ชัดเจนเสียก่อนที่จะเริ่มดำเนินการใดๆโดยควรพิจารณาเป้าหมายและลักษณะขององค์กร  และลักษณะของกลุ่มเป้าหมายนอกจากนั้น  ควรจะกำหนดช่วงระยะเวลาของการดำเนินงานที่ชัดเจนและแน่นอนทั้งนี้เพื่อให้สามระยะ  ได้แก่  เป้าหมายระยะสั้น คือ เป้าหมายที่มีความเร่งด่วน และจะต้องบรรลุผลภายในระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี  เป้าหมายระยะกลาง คือ เป้าหมายที่มีความเร่งด่วนพอสมควร และควรจะบรรลุผลภายในระยะเวลา 1-2 ปี และเป้าหมายระยะยาว คือ เป้าหมายที่จำเป็นต้องอาศัยเวลานานกว่าจะบรรลุผล  โดยปกติมักจะเป็นเป้าหมายที่ต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปีขึ้นไป
         สำหรับกลยุทธ์การฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร   อาจจำแนกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ การมุ่งเน้นที่ปัญญา ได้แก่  กลยุทธ์ซึ่งมุ่งสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจ  และความคิดของบุคคล   การมุ่งเน้นที่พฤติกรรม  ได้แก่   กลยุทธ์ที่มุ่งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานของบุคคล  และการมุ่งเน้นที่สภาพแวดล้อมได้แก่  กลยุทธ์ที่มุ่งปรับปรุงและพัฒนาพฤติกรรมการทำงานของบุคคล  โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของการทำงาน
            กระบวนการออกแบบและพัฒนา  จะเริ่มต้นจากากรกำหนดวัตถุประสงค์การกำหนดเนื้อหาของหลักสูตร  การกำหนดเทคนิคการฝึกอบรม  การกำหนดระยะเวลา  และการกำหนดวิธีการประเมินผล  หลังจากที่ได้ออกแบบโครงการเสร็จแล้วขั้นตอนต่อไปคือ  การเขียนโครงการฝึกอบรม  เพื่อนำเสนอแก่ฝ่ายบริหารขององค์การ  หากได้รับอนุมัติก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ตามแนวทางที่ได้เขียนไว้แล้ว

 

บรรณานุกรม
รศ ดร.ชูชัย  สมิทธิไกร. การฝึกอบรมบุคลากรในองค์กร. กรุงเทพ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2548
รศ.สมคิด   บางโพ. เทคนิคการฝึกอบรมและการประชุม. กรุงเทพ: พิมพ์ที่ บริษัทจูนพับลิชชิ่ง, 2545
ดร.อรจรีย์ ณ ตะกั่วทุ่ง. เทคนิคการจัดฝึกอบรมอย่างมีประสิทธิภาพ. กรุงเทพ: พิมพ์ที่ ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2539




คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13098เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2006 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มาก  เหมาะสำหรับบุคคลที่ต้องการศึกษาอย่างแท้จริง

ขอตัวอย่างข้อมูล การเขียนโครงการฝึกอบรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และยาเสพติดค่ะ จะเอามาทำรายงานค่ะ  ขอบพระคุณค่ะ

รศ.สมคิด   นามสกุลบางโม ค่ะ

ขอตัวอย่างการเขียนโครงการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ขอบคุณค่ะ

 ขอตัวอย่างการเขียนโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของหข่วยงานด้วยค่ะ  จะเป็นประโยชน์ต่อหนูมากๆ

ขอบคุณที่ให้ความรู้ค่ะ ขอให้พบแต่ความสุขความเจริญ นะคะ

ขอตัวอย่างการเขียนโครงการการจัดป้ายนิเทศภายใน นะคะ ขอบคุณมากค่ะ

ขอตัวอย่างการเขียนแผนงานระยะสั้นด้วยค่ะขอบคุณค่ะ

ขอตัวอย่างการเขียนโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการใช้คอมฯ จะเป็นประโยชน์มาก ขอขอบคุณมาล่วงหน้าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท