สิ่งที่ควรทำต่อจาก “เรียลลิตี้โชว์แก้จน” ของนายกรัฐมนตรี


          เกี่ยวกับ “เรียลลิตี้โชว์แก้จน” ของนายกรัฐมนตรี ที่อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ระหว่าง 16 – 20 ม.ค. 49 นั้น ผมได้รับการสัมภาษณ์และรับเชิญให้แสดงความคิดเห็นหลายครั้ง ได้แก่ (1) นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ซึ่งลงเป็นข่าวในฉบับ 16 - 18 ม.ค. 49 (2) สัมภาษณ์สดทางวิทยุคลื่น FM 94.0 เมื่อ 15 ม.ค. 49 (3) สำนักข่าว Thai News สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เมื่อ 17 ม.ค. 49 (4) นสพ.ผู้จัดการ สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เมื่อ 18 ม.ค. 49 (5) ออกรายการสดทางโทรทัศน์ ทีแอลซี (TLC) เมื่อ 20 ม.ค. 49 (ร่วมกับ นพ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ) และ(6) สัมภาษณ์สดทางวิทยุ FM 94.0 เมื่อ 21 ม.ค. 49 
          ในส่วนของการชมรายการ (ออกอากาศสดทาง UBC ช่อง 16ใช้ชื่อรายการว่า “Back Stage Show : The Prime Minister”) ผมได้ชมตอนเช้า 1 ครั้ง ตอนกลางวัน 1 ครั้ง และตอนค่ำ 3 ครั้ง
           สรุปความเห็นของผมเกี่ยวกับ “เรียลลิตี้โชว์แก้จน” ของนายกรัฐมนตรี ได้ดังนี้
           1.เรียลลิตี้โชว์แก้จนครั้งนี้ ทำให้เกิดความตื่นตัว ความสนใจ และความตั้งใจมากขึ้น ในหมู่ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด ทั่วประเทศ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความยากจน ข้อนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี
           2.ควรมี “การศึกษาติดตามผล” กรณีอำเภออาจสามารถ ต่อไปเป็นระยะๆ โดยผู้ศึกษาที่มีความเป็นอิสระมากพอ เพื่อให้ได้ความจริงและเกิดการเรียนรู้ในแง่มุมต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ผู้ศึกษาติดตามผลดังกล่าว อาจมีหลายคณะที่เป็นอิสระต่อกัน ซึ่งจะยิ่งดีเพราะจะได้ตรวจสอบผลซึ่งกันและกันได้ด้วย
           3.สิ่งที่เรียกว่า “อาจสามารถโมเดล” หรือ “ตัวแบบอาจสามารถ” นั้น ควรถือเป็น “กรณีศึกษา” เพื่อประกอบการเรียนรู้และพิจารณาไตร่ตรอองของผู้ที่เกี่ยวข้อง มากกว่าที่จะเป็น “ต้นแบบ” หรือ “แบบอย่าง” เพื่อการลอกเลียนเอาอย่าง เนื่องจากการที่จะประสบความสำเร็จด้วยดีในเรื่องใด ย่อมต้องมีการเรียนรู้จากหลายๆส่วน หลายๆด้านอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรียนรู้จากตนเอง เรียนรู้จากสถานการณ์จริง ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เรียนรู้ร่วมกันกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เรียนรู้จากกรณีศึกษา เช่น “อาจสามารถโมเดล” และกรณีศึกษาอื่นๆ เป็นต้น
           4.ในการดำเนินการต่อจาก “เรียลลิตี้โชว์แก้จน” ควรให้ความสำคัญต่อบทบาทของ “ภาคประชาชน” (ซึ่งหมายรวมถึง “ชุมชนท้องถิ่น” และ “องค์กรชุมชน” ต่างๆ) กับบทบาทของ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (อบต. , เทศบาล , อบจ.) ให้มากเป็นพิเศษเพราะ “ภาคประชาชน” กับ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” คือเจ้าของเรื่องในระดับฐานรากและควรเป็น “พระเอกนางเอกตัวจริง” ส่วนคนอื่นๆฝ่ายอื่นๆควรเป็น “ผู้ช่วยพระเอกนางเอก” มากกว่า (ถ้าจะแจกแจงให้ละเอียดลงไปอีก “ภาคประชาชน”ควรเป็น “พระเอกนางเอกหลัก” ส่วน “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” คือ “พระเอกนางเอกรอง” หรือ “เพื่อนพระเอกนางเอก”)
           5.เมื่อให้ภาคประชาชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็น “พระเอกนางเอก” หรือ “แนวหน้า” ในการแก้ปัญหาความยากจน “ราชการส่วนภูมิภาค” อันประกอบด้วย ข้าราชการระดับอำเภอและข้าราชการระดับจังหวัด (รวมถึงนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด) ก็ควรเป็น “แนวหลังชั้นที่ 1” กระทรวง กรม และหน่วยงานส่วนกลางทั้งหลาย (รวมถึง องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ ที่เกี่ยวข้อง) เป็น “แนวหลังชั้นที่ 2” และ รัฐบาล (รวมถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี) เป็น “แนวหลังชั้นที่ 3” ดังนั้น แต่ละฝ่ายจึงควรมีบทบาทให้เหมาะสมทั้งในส่วนที่ทำเองต่างหากและในส่วนที่ทำด้วยกัน หรือประสานเชื่อมโยงกัน
          หรืออาจเปรียบเทียบเป็น “การจัดทัพทำสงครามเอาชนะความยากจน” โดยถือว่า ภาคประชาชน คือ “กองทหารราบ” องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ “กองรถหุ้มเกราะ” ราชการส่วนภูมิภาค คือ “กองปืนใหญ่” หน่วยงานส่วนกลาง คือ “กองยานบินและอาวุธไกล” ส่วน รัฐบาล คือ “กองบัญชาการกลาง” โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็น “แม่ทัพใหญ่” ถ้าเปรียบเทียบเช่นนี้ก็พอจะเห็นได้ชัดเจนถึงบทบบาทของแต่ละฝ่ายและภารกิจหรือกิจกรรมที่ต้อง เชื่อมประสานกันในอันที่จะ “ทำสงครามเอาชนะความยากจน” ให้ประสบความสำเร็จด้วยดี
           6.การแก้ปัญหาความยากจนในเขตพื้นที่หนึ่งๆ เช่น ตำบล เทศบาล อำเภอ จังหวัด ควรให้ผู้เป็น “เจ้าของพื้นที่” มีบทบาทสำคัญเป็นลำดับต้น ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ ที่สำคัญหลักๆได้แก่ (1) ภาคประชาชนรวมถึงชุมชนและองค์กรชุมชน (2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ (3) ราชการส่วนภูมิภาค (ข้าราชการสังกัด อำเภอ และจังหวัด) ทั้งสามฝ่ายนี้ควรมี “การเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ” (Interactive learning through action) อย่างต่อเนื่อง และควรเรียนรู้จากกรณีศึกษาอำเภออาจสามารถ เนื่องจากได้มีความพยายามที่น่าสนใจและน่าศึกษาเรียนรู้ แต่ที่สำคัญคือต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง เรียนรู้จากกรณีศึกษาในพื้นที่อื่นๆ (อาจเป็น ระดับตำบล เทศบาล อำเภอหรือจังหวัด) และเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ทั้งหลายที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ด้วย จึงจะเป็นการเรียนรู้ที่ “บูรณาการ”ได้ดีและเกิดประโยชน์เต็มที่
         7.ฝ่ายที่ “อยู่นอกพื้นที่” ได้แก่ รัฐบาล กระทรวง กรม องค์การมหาชน (เช่น พอช. , สสส. , สกว. , ศูนย์คุณธรรม) รัฐวิสาหกิจ (เช่น ธกส.,ธนาคารออมสิน,บสย.)ก็ควรต้องเรียนรู้จากกรณีศึกษาอำเภออาจสามารถ พร้อมกับการเรียนรู้จากการดำเนินงานของตนเอง และจากแหล่งเรียนรู้อื่นๆให้เพียงพอและบูรณาการเช่นเดียวกัน และ “ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” ทั้งหมด ทั้งที่อยู่ในพื้นที่และนอกพื้นที่ ยังควร “เรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ”อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
         8.“หัวใจ” ของการแก้ปัญหาความยากจนน่าจะอยู่ที่ “การเรียนรู้” ของทุกฝ่าย โดยเฉพาะ “การเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ” และรวมถึงระบบหรือกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะ “การจัดการความรู้” (Knowledge Management) กับการเป็น “องค์กรเรียนรู้” (Learning Organization) ที่ผสมธรรมะของพระพุทธเจ้า คือ “กัลยาณมิตตตา” (ความมีกัลยาณมิตร) “โยนิโสมนสิการ” (การใช้ความคิดถูกวิธีหรือโดยแยบคาย) และ “อัปปมาทะ” (ความไม่ประมาทหรือไม่ขาดสติ) ดังนั้นหากนำกรณีศึกษาอำเภออาจสามารถมาเข้าระบบและกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว ก็จะทำให้การลงทุนที่ทำไปกับอำเภออาจสามารถบังเกิดผลคุ้มค่าได้

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
21 มกราคม 2549

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13081เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2006 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท