CONSTRUCTIVISM


We can know NOthing that we have not made. (Vico, 1710)

          ปรัชญาการเรียนรู้ที่เรียกกันในปัจจุบันว่า Constructivism ถ้าจะย้อนไปหาต้นตอเดิมก็น่าจะไปได้ไกลถึงศตวรรษที่ 18 นักปรัชญาชาวอิตาเลียนนาม Giambattista Vico บันทึกไว้ว่า มนุษย์เข้าใจอย่างถ่องแท้ในสิ่งที่ตนสร้างขึ้นเองเท่านั้น 
          Constructivism เป็นปรัชญาการศึกษา โดยตั้งอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่าผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งความรู้นี้จะฝังติดอยู่กับคนสร้าง ดังนั้นความรู้ของแต่ละคนเป็นความรู้เฉพาะตัว
( http://www.aln.org/alnweb/magazine/issue1/sener/constrct.htm ) 
          Constructivism เป็นแนวคิดที่ว่าผู้เรียนสร้างความรู้เพื่อ (for) ตนเอง แต่ละ(กลุ่ม)คนสร้างความหมาย เมื่อการเรียนรู้เกิดขึ้น การสร้าง คือ การเรียนรู้ นั่นเอง
( http://www.artsined.com/teachingarts/Pedag/Dewey.html ) 
          Constructivism เชื่อว่าความจริงอยู่ในหัวสมองของคนมากกว่าที่จะมีที่อยู่ที่อื่น คนสร้างสิ่งที่เรียกว่าความจริงหรืออย่างน้อยก็สร้างความหมายของความจริงขึ้นมาบนพื้นฐานจากประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน Constructivism เกี่ยวข้องกับการสร้างความรู้ของมนุษย์จากประสบการณ์ จากโครงสร้างในหัวสมอง (ภาพในใจ) และจากความเชื่อซึ่งใช้แปลความหมายเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร หัวสมองสร้างโลกส่วนตัวของแต่ละคนขึ้นมา ดังนั้นไม่มีโลกของใครที่จะเหมือนจริงที่สุด ไม่มีความจริงและไม่มีแก่นแท้ที่เป็นรูปธรรม Constructivism เชื่อว่าหัวสมอง (mind) เป็นเครื่องมือและส่วนประกอบที่สำคัญที่จะแปลความหมายของเหตุการณ์ วัตถุ และทัศนะในโลกของความเป็นจริง สิ่งที่หัวสมองรับรู้และเข้าใจประกอบกันเป็นฐานความรู้เฉพาะส่วนตัวของแต่ละคน โลกส่งผ่านทุกอย่างมากลั่นกรองยังหัวสมองก่อนที่จะออกมาเป็นสิ่งที่รับรู้และเข้าใจ กล่าวโดยสรุป สิ่งสำคัญของความเชื่อแนว Constructivism คือ แต่ละคนรับรู้และเข้าใจโลกภายนอกค่อนข้างจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์เกี่ยวกับโลกภายนอกนั้นและความเชื่อเกี่ยวกับประสบการณ์เหล่านั้น
( http://www.ala.org/aasl/SLMQ/skills.html ) 
          แนวคิดหลักของ Constructivism คือ ความรู้ทั้งมวลถูกประดิษฐ์หรือถูกสร้างขึ้นในหัวสมอง (mind) ของคน ความรู้ไม่ได้ถูกค้นพบ หรือพูดอีกอย่างได้ว่าความรู้ที่ครูสอนนักเรียนนั้นไม่ใช่ความเป็นอยู่จริง (reality) ความรู้เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น มนุษย์สร้างความรู้ ความคิด และภาษาขึ้นมาเพราะมันล้วนมีประโยชน์ หาใช่เพราะมันคือความจริง (truth) ไม่ ความจริงทั้งมวลนั้นมีอยู่แน่แท้ในเชิงนามธรรม มันอยู่ในหัวสมองของคนแต่ละคนที่เข้าถึงมัน ไม่มีใครอ้างได้ว่าความจริงในความรู้สึกของตนเป็นรูปธรรมกว่าใครคนอื่นเพราะความจริงของแต่ละคนนั้นเป็นเพียงสิ่งที่แต่ละคนสร้างขึ้นมาเองทั้งสิ้น
( http://www.crossrds.org/doteduc.htm ) 
          นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2544) แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ความรู้ถ่ายทอดให้แก่กันไม่ได้ ความรู้ของเรานั้นเราต้องเป็นผู้เชื่อมโยงข้อเท็จจริงให้เกิดเป็นความสัมพันธ์กันเอง คนอื่นจะมา สร้างให้เราไม่ได้ ถ้าเรียนรู้ความรู้ของคนอื่นโดยไม่มีกระบวนการคิดตามจนจับเหตุจับผลได้กระจ่างชัดขึ้นในใจ ก็เท่ากับไม่ได้สร้างความรู้นั้นขึ้นใหม่ด้วยตัวเอง ความรู้ของคนอื่นก็เป็นเพียงข้อเท็จจริงเท่านั้น 
          กาญจนา ไชยพันธุ์ (2542) เช่นเดียวกับวรรณจรีย์ มังสิงห์ (2541) จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้คำว่า ปรัชญาสร้างสรรค์ความรู้นิยมปรัชญาแนวนี้เชื่อว่าความรู้ไม่ได้มาจากการค้นพบจากภายนอกหรือสิ่งแวดล้อม แต่เป็นความรู้ที่มนุษย์สร้างขึ้นภายในจิต จากการทำความเข้าใจหรือให้ความหมายกับเหตุการณ์ ประสบการณ์หรือข้อสนเทศ โดยอาศัยความรู้เดิมหรือความเชื่อ ทฤษฎีและความคาดหวังของตนในการแปลความมหายเพื่อทำความเข้าใจต่อสถานการณ์นั้น ๆความรู้ไม่ใช่ความจริง เพราะมนุษย์ไม่สามารถใช้ประสบการณ์อธิบายสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องตามสภาพที่แท้จริงได้ เนื่องจากสิ่งที่คนเราสังเกตเห็นหรือรับรู้จะถูกเลือกตามความคาดหวังของบุคคล เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดได้อย่างสมบูรณ์” 
          สุนทร สุนันท์ชัย (2540) เรียก Constructivism ว่า ทฤษฎีการสร้างความรู้โดยผู้เรียน หรือ นิรมิตนิยม (นิรมิต แปลว่า สร้าง) สรุปไว้ว่านิรมิตนิยมเชื่อว่า ความรู้ ก็คือสิ่งที่ผู้เรียนรับรู้และเข้าใจ ซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของเขา ขึ้นอยู่กับการแปลความหมายของเขา เราไม่สามารถจะถ่ายทอดความรู้จากการสอนโดยตรง แต่เด็กจะต้องค้นพบความรู้ด้วยตัวของเขา ซึ่งก็หมายความว่าเด็กต้องสร้าง (construct) ความรู้ขึ้นด้วยตัวของเขาเอง การสร้างความรู้นั้นก็มีหลักการว่า ต้องเรียนความรู้จากบริบทที่แวดล้อมอยู่ ต้องเรียนจากการทำจริงปฏิบัติจริงจากสถานการณ์ที่เป็นจริง ครูยังมีบทบาทสำคัญ ไม่ใช่ฐานะผู้สอนแต่เป็นผู้อำนวยความสะดวก เด็กต้องมีอิสระที่จะเลือก ที่จะเรียน เด็กต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อนนักเรียนด้วยกันมีส่วนร่วมที่จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ฯลฯ หลักการต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้เด็กสามารถนิรมิต (construct) ความรู้ใหม่ (สำหรับตัวเขา) ขึ้นได้” 
          บุปผชาติ ทัฬหิกรณ์ (2540) ได้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของแนวคิดการเรียนที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางในปัจจุบันว่า “…ได้เน้นการสร้างความรู้แทนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือเปลี่ยนจาก Behaviorism และ Cognitivism มาเป็น Constructivism เป็นการเน้นหาวิธีเรียน (learning method) ให้แก่ผู้เรียนโดยให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ แทนการเน้นหาวิธีการสอน (teaching method) ให้แก่ครู” 
          ไผท สิทธิสุนทร (2542) เรียก Constructivism ว่า ทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ นอกจากนี้ยังกล่าวถึง Constructionism โดยอ้างคำกล่าวของ ซีมัวร์ เพเพิร์ต (Seymour Papert) ดังนี้ทฤษฎี Constructionism นั้นหมายถึง สิ่งที่พีอาเจต์เรียกว่า Constructivism หากแต่ Constructionism นั้นก้าวไปไกลกว่า ตัวอักษร v แสดงถึงทฤษฎีที่ว่าความรู้นั้นถูกสร้างขึ้นโดยตังผู้เรียน ไม่สามารถถูกเติมเต็มได้โดยผู้สอน ส่วนคำที่ใช้ตัว n เป็นการขยายแนวคิด Constructivism ออกไป โดยเสนอว่าความรู้จะยิ่งงอกเงยขึ้นหากผู้เรียนมีส่วนเข้าไปพัวพันในกระบวนการสร้างภายนอกตัวตน” 
          เสวณี เกรียร์ เรียบเรียงจากบทความของ Linda Biance และใช้คำว่า ปรัชญาเกี่ยวกับความรู้และการรับรู้ แก่นของปรัชญา Constructivism ของ Biance มี 2 ข้อ ดังนี้
          1. การรับความรู้จะทำได้ไม่เต็มที่ด้วยการนั่งฟังหรือดูเฉย ๆ (Knowledge is not passively received.)
          2. “ความรู้ไม่ใช่สิ่งที่ถูกค้นพบ แต่จะต้องถูกสร้างขึ้นจากประสบการณ์ของเรา (Knowledge is no found but constructed.)
และโดยสรุปความรู้เป็นสิ่งที่ผู้เรียนแต่ละคนต้องสร้างขึ้นเพื่อตัวเขาเองและโดยตน
เอง (Knowledge is something which each individual learner must construct for and by himself.) 
          ชัยอนันต์ สมุทวาณิช (2542) กล่าวไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือ เพลินเพื่อรู้ ว่า “…การเรียนรู้ที่เพลิดเพลิน คือ การเปิดโอกาสให้เด็ก คิดเอง -- สร้างเองโดยมีครูร่วมชี้แนะ ที่จริงแนวทาง Constructivism ไม่ใช่ของใหม่ แม้แต่ John Dewey และ Jean Piaget ก็ไม่ได้คิดอะไรใหม่ เพราะมีสุภาษิตจีนนมนานกาเลว่า 

          ฉันได้ยินแล้วฉันก็ลืม
          ฉันเห็นจึงจำได้
          ฉันทำฉันจึงเข้าใจ

          การได้ทำก่อให้เกิดความเพลิดเพลิน การฟังครูอย่างเดียว เห็นคำ ต่าง ๆ บนกระดาษหรือกระดานก็จำได้ ดังนั้นเด็ก ๆ จึงจะต้องมีโอกาสและเวลาเรียนรู้ด้วยการลงมือทำให้มากกว่าหรือพอ ๆ กับการรับฟังหรือการเห็น การดูโทรทัศน์ การอ่านหนังสือ
          ชัยอนันต์ใช้คำว่า ทฤษฎีการสร้างทำ หรือ วิษณุนิยม เนื่องจากพระวิษณุเป็นผู้สร้าง (อ้างในบัญชา ธนบุญสมบัติ, 2544) 
          บัญชา ธนบุญสมบัติ (2544) สรุปว่าหลักการพื้นฐานที่สุดของทฤษฎีการสร้างทำก็คือ ผู้เรียนจะเรียนรู้จากการได้ทดลองทำจริง ไม่เพียงแค่สังเกตการณ์ บัญชายกตัวอย่างดังนี้ “…อย่างถ้าเราจะหัดขี่จักรยาน ก็ต้องลองขี่จริง จะล้มบ้างสะดุดบ้างก็ถือเป็นการเรียนรู้ ถ้าอยากว่ายน้ำเป็นก็ต้องลงว่ายน้ำจริง โดยมีคนที่เป็นคอยกำกับอยู่เพื่อความ ปลอดภัย คงไม่มีใครที่สามารถขี่จักรยานหรือว่ายน้ำได้เพียงแค่โดยการอ่านจากตำราอย่างเดียว” 
          จิราภรณ์ ศิริทวี (2544) กล่าวว่า “[Constructivism] เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง หรือรวบรวม ปรับเปลี่ยนสภาพการณ์รอบ ๆ ตัวมาอธิบายสิ่งที่กำลังเรียนรู้อยู่ หรืออีกคำอธิบายหนึ่งก็คือ การเรียนรู้แนวนี้ไม่ใช่การเติมสมองที่ว่างเปล่าของผู้เรียนให้เต็ม แต่เป็นการพัฒนาความคิดที่ผู้เรียนมีอยู่แล้ว ในลักษณะเป็นการสร้างความคิดจากพื้นความคิดเดิม มากกว่าการดูดซับความคิด
          เพื่อให้ฟังดูง่าย จิราภรณ์เพิ่มเติมว่า “[Constructivism] เป็นการสอนให้เด็กคิดเป็น หรือรู้จักคิดนั่นเอง ไม่ใช่นั่งฟังครูตาแป๋ว แต่สมองกลวง เพระครูป้อนความรู้เข้าปาก โดยเด็กไม่ต้องกระดิกกระเดี้ยทำอะไร ถ้าเป็นแบบนั้น รับรองว่าไม่ใช่ Constructivism แน่นอน
          ที่ถูกแล้ว จิราภรณ์สรุปว่า Constructivism ต้องเป็นแบบนี้ “…นักเรียนเป็นเจ้าของความคิดมากกว่าผู้รับ หรือซึมซับความรู้ การสื่อสารของครูจะเป็นในลักษณะกระตุ้นให้นักเรียนคิด โดยจะไม่บอกหรือตอบคำถามนักเรียนตรง ๆ นักเรียนต้องเรียนรู้วิธีการแปลความหมายในสิ่งที่ครุพูด เพื่อนำมาใช้หาคำตอบตามที่นักเรียนต้องการ นักเรียนรู้เรียนรู้ด้วยความเข้าใจ (ไม่ใช่จากกรท่องจำคำตอบ) สิ่งที่นักเรียนเข้าใจเป็นสิ่งที่นักเรียนสร้างขึ้น ไม่ใช่ลอกเลียนแบบแนวคิดของครู สิ่งที่เรียนและวิธีเรียนมีผลกระทบจากบริบทของสังคม และบริบทของห้องเรียน บทบาทของครูคือผู้ชี้แนะ หรือผู้จัดการ ไม่ใช่ผู้นำ” 
          และนี่คือเสียงเรียกร้องจากผู้เรียน ซึ่งตรงกับสุภาษิตเก่าแก่ของจีนและอินเดียแดง

ฉันได้ยินแล้วฉันก็ลืม
ฉันเห็นจึงจำได้
ฉันทำฉันจึงเข้าใจ                                          
จีน

Tell me, and I’ll forget.
Show me, and I may not remember.
Involve me, and I'll understand.                
อินเดียแดง

ปล. ข้อเขียนนี้จัดทำไว้นานหลายปีแล้ว จำได้ว่าเป็นการบ้านตั้งแต่เป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

คำสำคัญ (Tags): #constructivism
หมายเลขบันทึก: 130504เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2007 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดีมากๆเลยเป็นหัวข้อท่ป้าลังค้นหา

อยากได้บรรณานุกรมของ จิราภรณ์ ศิริทวี (2544)บอกหน้าด้วยว่าหน้าไหน และจิราภรณ์ ศิริทวี ( 2542) หน้า 2 เพื่อเอามาทำบทท่ สองในวิทยานิพนธ์พยายามค้นยังไงก็ไม่เจอ รึว่า ป้าแก่แล้วอายุ47ขวบโง่เง่าค้นในnetค้นแล้วค้นอีกก้ไม่เจอ ช่วยป้าหน่อย แก่แล้วไม่เจียมเรียนต่อป,โท ป้าทำชุดกิจกรรมภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อโดยใช้ทฤษฎ๊constructivism ช่วยส่งเมล์ให้ป้าได้ไหมคะ ขอร้องและขอบคุณล่วงหน้า

ช่วยส่งเมล์ให้ป้าด้วยนะคะ

  • สวัสดีครับ อาจารย์สุรัชน์ อินทสังข์ ที่เคารพ
  • ดีใจมากที่ได้รู้จักกับอาจารย์ แม้ไม่เคยเห็นอาจารย์ แต่ก็ได้อ่าน ดู วีดิทัศน์ จากรายการโทรทัศน์ครู  ทำให้ผม ได้แนวทาง รูปแบบ วิธีการสอน ไปขยายผลให้เด็กๆ และเพื่อนๆ ครูที่ ร.ร.ครับผม
  • ผมตั้งใจไว้ว่า จะหาโอกาสเดินทางไปพบอาจารย์ให้ได้ครับ
  • ด้วยความเคารพและชื่นชม
  • ครูฐานิศวร์  ผลเจริญ ร.ร.กระสังพิทยาคม ครับผม

ยินดีมากครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท