ตอบคำถามโรคเกาต์


สงสัยเป็นโรคเกาต์ รักษามานาน เปลี่ยนไปหลายที่แล้วก็ยังไม่หาย

           ผมได้รับบันทึกคำถามจากบันทึกเรื่องข้อร้องเรียนทันตกรรม และได้ตอบคำถามไปบ้างแล้ว เอามาลงอีกครั้งเผื่อว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นๆ จะให้ความกระจ่างแก่ผู้ป่วยได้มากกว่านี้ครับ คำถามมีดังนี้ครับ

      รบกวนคุณหมอครับ จะสอบถามข้อมูลคุณหมอ แต่ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับทันตกรรม

 

      ผมเป็นคนจังหวัด สงขลาคับ ผมมีแม่ อายุ ประมาณ 50 ปี ท่านป่วยเป็น โรคอะไรไม่ทราบเหมือนกัน มีอาการบวม ที่เท้า และบริเวณข้อเท้ามานาน บางครั้งก็เป็น หนองลักษณะเหมือนหนอง ที่เกิดจากการเป็นฝี ปนเลือดไหลออกมา ไปรักษาไปทั่วครับแต่ก็ไม่หาย ทั้งหมอบ้านและโรคพยาบาล หมอบางคน บอกว่าเป็น โรคเก๊าส์

 

      ตอนนี้ก็ไม่สามารถประกอบอาชีพอะไรได้เลย บ้านผมก็ฐานะยากจน

 

      อยากชวนแม่มารักษาที่โรคศิริราช ผมต้องติดต่อเจ้าหน้าที่พยาบาลอย่างไร และพอจะมีสิทธิอะไรที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาได้บ้างครับ

 

      รบกวนคุณหมดช่วยแนะนำด้วยครับ

 

        ขอบพระคุณ คุณหมออย่างยิ่งครับ    

             ผมได้เขียนคำตอบในเบื้องต้นไว้ ดังนี้ครับ

สวัสดีครับ ต้องขอโทษด้วยที่ตอบช้า เพราะจำคลาดเคลื่อนไปหน่อยว่าอยู่บันทึกไหน ผมเองเป็นหมอทั่วไป อาจไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะโรค แต่จากประวัติที่กล่าวมา อาการปวดบวมที่เท้า หลังเท้า ข้อเท้าข้างเดียว หากไม่ใช่การอักเสบติดเชื้อโรคก็น่าจะเป็นโรคเกาต์มากที่สุด การวินิจฉัยก็ทำได้โดยการเจาะเลือดดูปริมาณกรดยูริกในเลือด หากมีปริมาณสูงกว่าปกติก็น่าจะเป็นโรคเกาต์ครับ

 

             โรคเกาต์เกิดจากการมีกรดยูริกในเลือดสูงแล้วมีการตกตะกอนในข้อจนทำให้เกิดการอักเสบของข้อ เรียกทับศัพท์ว่าโรคเกาต์(Gout) ในการรักษาหากกำลังอักเสบก็จะให้ยาต้านการอักเสบและยารักษาเฉพาะเกาต์ที่ชื่อว่าโคลชิซิน(Colchicin) จะสามารถลดอาการอักเสบได้อย่างดีเป็นDramatic หากอาการอักเสบหายแล้วแต่มีกรดยูริกสูงด้วยก็ให้ยาลดกรดยูริกหรือยาขับกรดยูริกไปทานต่อ

 

               ในบางรายอาจเป็นเกาต์โดยกรดยูริกไม่สูงก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะสูงและในรายที่สูง หากปล่อยไว้นานหรือสูงมาก จะมีการตกตะกอนของกรดยูริกที่ข้อ ทำให้เป็นก้อนแข็ง(tophi) หากผิวหนังแตกออกหรือเป็นแผลจะเห็นเป็นตะกอนสีขาวๆและถ้าแผลอักเสบด้วยจะเป็นหนองหรือช้ำเลือดฃ้ำหนองได้ครับ หากมีการตกตะกอนเป็นก้อนรที่ข้อแล้วมักไม่สามารถทำให้ยุบลงได้ แต่ต้องไม่ทำให้มันใหญ่ขึ้นจนผิวหนังที่คลุมอยู่แตกเป็นแผล

 

                นอกจากการใช้ยาแล้ว ต้องปรับเรื่องอาหารการกินเพื่อลดการกินอาหารที่มีกรดยูริกสูงด้วยเช่นเครื่องในสัตว์ หน่อไม้ สัตว์ปีก สุรา ยอดผักอ่อน เป็นต้น

 

                 ผมคิดว่า การรักษาน่าจะทำได้ในโรงพยาบาลอำเภอหรือโรงพยาบาลจังหวัด ความสำคัญอยู่ที่การรักษาอย่างต่อเนื่องและการรับประทานอาหารที่ไม่เพิ่มกรดยูริกในเลือดครับ

 

                 หากรักษาที่โรงพยาบาลในอำเภอไม่ได้ สามารถขอใบส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ขึ้นอีกได้ เมื่อ 5-6 เดือนก่อน ผมได้ออกหน่วยแพทย์ร่วมกับแพทย์ที่มากับคอบร้าโกลด์ แพทย์ฝรั่งที่มาสนใจมากที่มีผู้ป่วยเป็นเตที่มีโทไฟ เพราะบ้านเขาไม่มีแล้ว และเขาแนะนำให้ส่งตัวผู้ป่วยไปผ่าตัดเอาก้อนเหล่านี้ออก แต่ผมไม่แน่ใจว่าเมืองไทยทำการผ่าตัดหรือเปล่า เพราะเท่าที่เห็นแผลที่เกิดบริเวณก้อนเหล่านี้จะหายยากและหายช้าและมีโอกาสเป็นซ้ำๆได้ 

 

                   แนะนำกลับไปที่โรงพยาบาลใกล้บ้านก่อนเพื่อขอคำวินิจฉัยที่แน่นอนครับ

 

หมายเลขบันทึก: 13000เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2006 15:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 10:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท