คนวลัยลักษณ์ กับความรักและภูมิใจในความเป็น วลัยลักษณ์


คนวลัยลักษณ์ รักและภูมิใจในความเป็น วลัยลักษณ์ และสิ่งนี้ต้องถือเป็นค่านิยมร่วมขององค์กร การเปรียบเทียบกับองค์กรอื่น ต้องเปรียบเพื่อรู้เขา รู้เรา เพื่อรู้จุดอ่อน จุดแข็งของเรา เพื่อช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ถายใต้ความภูมิใจและความรักในองค์กรของเรานับว่าเป็นสิ่งที่ดี

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา(วันที่ 20 มกราคม 2549) ผมใช้เวลาเกือบทั้งวัน ร่วมกับท่าน ผศ.ทวีวิทย์ อาจารย์ ดร.พนิดา และ อาจารย์ ดร.ภัทรวรรณ เป็นกรรมการสอบปากเปล่านักศึกษาปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจและการจัดการ ในการสอบปากเปล่านักศึกษาผมคิดว่านอกเหนือจากการที่เราพยายามที่จะให้นักศึกษาตอบในคำถามที่เราถามซึ่งมักจะเป็นองค์ความรู้ที่เราก็รู้อยู่แล้ว ยังทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้และรับรู้ข้อมูลหลายเรื่องที่ผมไม่รู้ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อตนเองและต่อการนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในการปรับปรุงระบบการทำงาน เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยของเรา นับว่าเป็นประโยชน์มาก ในการสอบวันนั้นประเด็นที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งซึ่งผมอยากจะนำเล่าสู่พวกเราฟัง เพราะผมรู้สึกภูมิใจมากที่ได้ฟังข้อความเหล่านั้น ก็คือ คุณ มะลิวัลย์ สินสโมสร ซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาโททางการจัดการของเรา และเคยเป็นพนักงานของวลัยลักษณ์ด้วย แต่ขณะนี้ได้ย้ายไปปฏิบัติงานที่องค์กรอื่น ด้วยเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัว ก็ได้ทำการวิเคราะห์และให้มุมมองเกี่ยวกับวลัยลักษณ์ กับองค์กรอื่น ตามหลัก 7-Ss Model  ของบริษัท McKinsey ที่เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์ โดย 7-Ss จะเกี่ยวถึงการวิเคราะห์ศักยภาพขององค์กรที่จะเป้าหมายหรือความสำเร็จ ในองค์ประกอบของ Strategy,Structure,System,Style,Staff,Skill และ Shared Value (หากพวกเราสนใจ สามารถหาอ่านรายละเอียดได้จากหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเชิงกลยุทธ์ได้นะครับ) เท่าที่ผมจับความได้คือ วลัยลักษณ์ของเราก็มีศักยภาพที่เหนือองค์กรอื่นหลายอย่างที่ถูกนำมาเปรียบเทียบ และในความรู้สึกของคุณมะลิวัลย์ เองก็คิดอย่างนั้น และภูมิใจในความเป็นวลัยลักษณ์มากที่เดียว ในความรู้สึกลักษณะนี้ผมเองก็ยังเคยได้รับรู้จากท่าน ผศ.ดร.วัลลา ตันตโยทัย ที่ท่านเคยทำงานในฐานะผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการให้วลัยลักษณ์มานานหลายปี ในโอกาสที่ได้ไปพบปะกันในงานประชุมภายนอกหลายครั้ง ท่านก็ยังเคยพูดกับผมเสมอว่า "วลัยลักษณ์ มีอะไรที่ดีกว่าที่อื่น ๆ หลายเรื่องที่เดียว" ผมรับรู้ได้ว่าท่านพูดด้วยความรักและความภูมิใจที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของวลัยลักษณ์ ซึ่งผมยังเรียนท่านว่าถ้าผมจะขออนุญาตนำความรู้สึกของท่านมาถ่ายทอดให้พวกเราชาววลัยลักษณ์ได้รับรู้จะได้หรือไม่ ท่านก็ยินดีอย่างยิ่ง  อีกท่านหนึ่งที่ผมอยากจะขอกล่าวถึงคือ คุณอุทัย แกล้วกล้าเจ้าหน้าที่ของ ศบว. ซึ่งผมเองก็ได้มีโอกาสรับรู้ถึงความทุ่มเทในการทำงานอย่างเสียสละ และความรู้สึกที่รัก และภูมิในวลัยลักษณ์อย่างน่าชื่นชมยกย่อง  จากประเด็นเหล่านี้ผมจึงอยากจะบอกว่า คนวลัยลักษณ์ รักและภูมิใจในความเป็นวลัยลักษณ์ และสิ่งนี้จะต้องถือเป็นค่านิยมร่วม (Shared Value) ขององค์กรด้วย จึงจะทำให้วลัยลักษณ์ของเรามีศักยภาพที่เข้มแข็งและพร้อมที่จะพัฒนาในด้านอื่น ๆ (ในweb KM ของเรา ผมเคยให้ทัศนะว่า รักวลัยลักษณ์ ทำงานเพื่อวลัยลักษณ์ ทำอย่างไร? ถ้าพวกเราสนใจลองอ่านดู  และช่วยแสดงความคิดเห็นด้วยนะครับ) ถ้าเรานำวลัยลักษณ์ไปเปรียบเทียบกับองค์กรอื่น ๆ เพื่อรู้เขา รู้เรา เพื่อรู้จุดอ่อน จุดแข็งของเรา เพื่อช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ด้วยความพร้อมที่จะเสียสละแก่ส่วนรวม ภายใต้ความภูมิใจและความรักในองค์กรของเรานับว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะนั่นจะช่วยให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการทำงานร่วมกัน(Care&Share) แต่ถ้าสมมติว่าพวกเรานำวลัยลักษณ์ไปเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นและทำให้เกิดความรู้สึก ตำหนิติเตียนและขาดความภูมิใจในความเป็นวลัยลักษณ์ ผมคิดว่านั่นไม่ใช่แนวทางการทำงานที่ดีและก็ไม่ควรอย่างยิ่งที่พวกเราชาววลัยลักษณ์จะยอมให้เกิดขึ้นเป็นค่านิยมร่วมของพวกเรา จริงไหมครับ และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการ KM ของงาน OD ส่วนหนึ่งก็จะมุ่งสร้าง Shared Value ซึ่งถือเป็น S ที่สำคัญและเป็นหัวใจของ 7-Ss Model (ถ้ายังไงพวกเราลองอ่านบันทึกที่ผมเล่าสู่กันฟังในชื่อ Vision,Value,Competency และ KM ดูนะครับ)

คำสำคัญ (Tags): #7-ss#model
หมายเลขบันทึก: 12988เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2006 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท