beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

มุมมองการศึกษา (ส่วนตัว) : การจัดการศึกษาอาจจะเปลี่ยนไป


ขอแสดงความยินดีกับบัณฑิตใหม่ทุกคน

   ช่วงวันที่ 20-21 มกราคม 2548 ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร มีการซ้อมรับพระราชทานปริญญา ส่วนวันนี้เป็นการซ้อมใหญ่ ภาพบรรยากาศเต็มไปด้วยความสดชื่นและการแสดงความยินดี beeman ก็ขอแสดงความยินดีกับบัณฑิตใหม่ทุกคนครับ ผมเก็บภาพบรรยากาศการแสดงความยินดีมาให้ชมกันครับ

     
 

 

ภาพบรรยากาศ ก่อนการซ้อมใหญ่

 

    ผมสังเกตว่าบรรยากาศการแสดงความยินดี นี่มีมากครับ จะมากเกินไปหรือเปล่าก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคนนะครับ ตอนซ้อมวันแรก ตกกลางคืนก็มีงานเลี้ยงแสดงความยินดี วันที่สองก็มีงานเลี้ยงแสดงความยินดี (จัดโดยคนละหน่วยงาน) คาดว่าวันซ้อมใหญ่ก็จะมีงานเลี้ยงแสดงความยินดีอีก พอวันรับพระราชทานปริญญา (วันที่ 23) ก็จะมีงานเลี้ยงแสดงความยินดีอีก (โดยครอบครัว)

    บัณฑิตจบใหม่ หากมีงานทำรายได้เฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 7,000 - 15,000 บาท ช่วงมารับพระราชทานปริญญาคาดว่าจะมีรายจ่ายเฉลี่ยต่อบัณฑิต 1 คน (รวมที่ตัวเองจ่ายและคนอื่นจ่ายให้) ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ประกอบด้วยค่าเดินทางส่วนตัว, ครอบครัวญาติมิตร, ค่าชุด, ค่าแต่งตัว, ค่างานเลี้ยง, ค่าถ่ายรูป, ค่าแสดงความยินดีของน้องๆ  เป็นต้น ไม่ทราบว่ามีใครเคยทำวิจัยเรื่องนี้บ้างหรือยัง "เรื่องค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของบัณฑิต 1 คน อันเนื่องมาจากงานพระราชทานปริญญาบัตร" ส่วนนี้เป็นการสะท้อนค่านิยมของการศึกษาระดับอุดมศึกษา

    ย้อนกลับมาดูรายการ "คนพันธุ์อา (ชีวะ)" มีผู้เข้ารอบคนหนึ่งได้รับการสัมภาษณ์ว่าการศึกษาแบบอาชีวศึกษานี้ดีอย่างไร เขาตอบว่า "พอจบมาแล้วก็มีงานทำ" หมายความว่า พอเรียนจบแล้วสามารถทำงานได้เลย เพราะสิ่งที่เขาเรียนมามันเป็นสายอาชีพ เมื่อเทียบกับการศึกษาแบบสามัญ (อุดมศึกษา) จบแล้วอาจไม่มีงานทำก็ได้ ที่ไม่มีงานทำส่วนหนึ่งผมคิดว่าเป็นเพราะปีหนึ่งๆ ผู้ที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาบางสาขาวิชามันมีมากเกินปริมาณงานที่มีครับ

   อ่านมาถึงตรงนี้เหมือนกับว่าผมเขียนเชียร์การศึกษาระดับอาชีวศึกษา (ความจริงก็น่าจะเป็นอย่างนั้น) แต่วันหนึ่งผมไปซ่อมรถ ได้ยินเจ้าของอู่บ่นทำนองว่า มีนักศึกษาอาชีวะมาฝึกงานที่ร้านเขา 10 คน ทำอะไรก็ไม่ค่อยเป็น มันดูเกะกะไปหมด มันเกิดอะไรขึ้น !

    เดี๋ยวนี้คนที่เข้าเรียนในระบบการศึกษามีมากขึ้น ทำให้ต้องจัดการศึกษาภาคทฤษฎีมากขึ้นเพื่อรองรับจำนวนนักศึกษา แต่ว่าการฝึกภาคปฏิบัติกลับน้อยลง เนื่องจากผู้สอนไม่มีเวลา หรือต้อง แบกภาระสอนหลายห้อง (ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีคนไปเรียนต่อ) เนื่องมาจากอาจารย์ส่วนหนึ่งต้องไปรับหน้าที่บริหารหรือหน้าที่อื่นๆ ในหน่วยงาน หรือจำนวนนักศึกษาภาคปฏิบัติมากจนอาจารย์ดูแลไม่ทั่วถึง

    ต่อไปแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาอาจจะต้องเปลี่ยนไป โดยมีการเสาะหาสถานที่ฝึกงานภาคปฏิบัติของนักศึกษาเอาไว้ทั้งส่วนที่เป็นบริษัทห้างร้าน กิจการส่วนตัว หรือพวกปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งอยู่รอบๆ สถานศึกษา อาจเชิญเขามาบรรยาย แล้วพานักศึกษาไปฝึกงานภาคปฏิบัติที่บ้านหรือที่ทำงานของเขา พวกอาจารย์รับเชิญเหล่านี้ก็จะภาคภูมิใจที่ได้รับเกียรติจากสถาบัน ค่าตอบแทนก็ไม่ต้องมาก หรืออาจจะไม่รับเลยก็ได้ ทำให้ประหยัดงบประมาณด้านค่าจ้าง เอาไปลงทุนอย่างอื่นในการดำเนินกิจการสถานศึกษา

    ดังนั้นอาจารย์ในสถานศึกษา อาจทำหน้าที่เพียงเป็นผู้ประสานงาน และคอยรวบรวมคะแนนเพื่อตัดเกรดให้กับนักศึกษาแต่ละคน และคอยดูแลเรื่องความประพฤติ คุณธรรม จริยธรรม ฯลฯ เพราะฉะนั้นจำนวนอาจารย์อาจจะไม่ต้องเพิ่มตามจำนวนนักศึกษามากนัก

   เคยมีผู้คำนวณเวลาเรียนในมหาวิทยาลัย ในเวลา 4 ปี (ทวิภาค) สำหรับผู้ที่เรียน 120 หน่วยกิต ประมาณ 30-40 วิชา ใช้เวลาเรียน 3 ปีครึ่ง 7 เทอม ๆ หนึ่ง เรียน 5-6 วิชา ๆ หนึ่งใช้เวลาเรียน 60 ชั่วโมง หนึ่งเทอมใช้เวลาเรียนรวม 360 ชั่วโมง ถ้าเรียน 40 วิชาใช้เวลาเรียน 2,400 ชั่วโมง (ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ)

   แต่เมื่อลองคำนวณเวลานักศึกษาที่ไปฝึกงาน 4 เดือน (16 สัปดาห์) ฝึกงานวันละ 8 ชั่วโมง สัปดาห์หนึ่งฝึกงาน 6 วัน สัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง เท่ากับ 1 เทอมจะมีชัวโมงฝึกงาน 768 ชั่วโมง มากกว่าการเรียนปกติถึง 2 เท่ากว่า (ต่อเทอม)

   ที่แตกต่างยิ่งกว่านั้นก็คือ นักศึกษาจะได้รับการฝึกทักษะจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ โดยตรง และการฝึกภาคปฏิบัติยังเป็นประสบการณ์ตรงของนักศึกษา

    มีตัวอย่างนักศึกษาคนหนึ่ง เรียนจบมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสาขารัฐศาสตร์ แต่อาชีพของเขาทุกวันนี้ คือทำร้านค้าขายของเก่า (Antique) ไปหาของเก่ามาได้ชุดหนึ่งราคา 1 ล้านบาท ปล่อยของนี้ไปในราคา 10 ล้านบาท (ต่อรองแล้วอาจจะเหลือสัก 8 ล้าน)  ความรู้ที่เขาได้รับและมาทำงานทุกวันนี้ เกิดจากการไปช่วยงาน "อาแปะ" คนหนึ่ง เขาฝึกวิทยายุทธให้รวมเวลาน่าจะเกือบ 1,000 ชั่วโมง ตั้งแต่ยังดูของเก่าไม่เป็น จนกระทั่งเดี๋ยวนี้เขารู้ว่าจะไปหาของเก่าได้ที่ไหน และเดินทางไปหาของเก่าทั่วเอเชีย นี่คือปริญญาชีวิตของเขาครับ......

 

หมายเลขบันทึก: 12972เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2006 10:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
     อาจารย์เขียนได้โดนใจผมที่สุดครับ บันทึกนี้
   ยากนักที่จะเขียนได้ตรงใจคุณชายขอบ ขอบคุณครับ...มีอีกข้อหนึ่งครับ คือคนในตลาด (เมืองพิษณุโลก) เคยประมาณการให้ผมฟังว่า งานพระราชทานปริญญาปีหนึ่งของม.นเรศวร (3-4 วัน) มีเงินสะพัดในพิษณุโลกประมาณ 10 ล้านบาทครับ (น่าจะมีการวิจัยเรื่องนี้ด้วยครับ)

เรียน อ.สมลักษณ์

     บันทึกนี้ของอาจารย์ เป็น “บันทึกโดนใจ” แห่งเดือน มกราคม 2549 ของผมและทีมงานฯ ครับ

   ช่วง 2 วันที่เป็นวันหยุดนี้ ผมทำไม่สนใจเขียน gotoknow เพื่อจะลองสังเกตอะไรบางอย่าง จึงไม่ได้เข้ามาสังเกตบันทึกที่ได้รับข้อคิดเห็น ทำให้ตกข่าวไป

   ความจริงบันทึกนี้ผมใช้เวลาเขียนไม่นาน แต่มันคงออกมาจากส่วนลึกของประสบการณ์ที่ผมเฝ้าสังเกตเรื่องการศึกษามา และเห็นเป็นจุดอ่อนของระบบการศึกษา ซึ่งนำมาถึงซึ่งคำว่า "ธุรกิจทางการศึกษา" ทำให้คำว่า "ครู" มันด้อยค่าลงไปมากทีเดียว

  ผมยินดีที่บันทึกนี้โดนใจของคุณชายขอบ ผมไม่ได้คิดเรื่องของรางวัลหรอกครับ แต่ผมคิดว่าได้พบคนที่รู้ใจ และเป็นคอเดียวกัน แค่ได้การยกย่อง (เล็กๆ) ก็เป็นความภาคภูมิใจ และมีกำลังใจที่จะเขียนบันทึกต่อครับ

  ความเห็นอีกอย่าง คือ ใน gotoknow อย่าให้มีรางวัลมากเกินไปครับมันจะเฝือ (ผมหมายถึง สคส) สัก 2 รางวัลคือ สุดคะนึงกับ BIO Award ก็พอแล้ว คนที่ได้หรือทีมที่ได้จะได้มีความภาคภูมิใจ (นี่ผมยังไม่ได้พูดถึงวิธีการตัดสินนะครับ)

  สำหรับมน. ก็ขอให้มีรางวัลขับเคลื่อน NUKMblog สัก 1 รางวัล และอาจมี best article of the month (ของ NUKM blogger community) อีกหนึ่งรางวัลก็เพียงพอแล้ว...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท