ศูนย์ 1 (ตอนที่ 5) รพ.ส่งเสริมสุขภาพ ... หัวหอก KM


รพ.ส่งเสริมสุขภาพ เป็นเรื่องของ “การเล่า KM ที่ไม่มีวันจบ”

 

เรื่องของ รพ.ส่งเสริมสุขภาพ เป็นเรื่องของ “การเล่า KM ที่ไม่มีวันจบ” เพราะเขาเริ่มมีกิจกรรมที่ขยายออกไปเรื่อยๆ ตั้งแต่พฤติกรรมกลุ่มเสี่ยง ห้องคลอด และอื่นๆ ที่ยังไม่ได้เล่า ... ลองฟังดูนะคะ

คุณสุภาพร ปานชุ่มจิตต์คุณสุภาพร เล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า ... การจัดการความรู้ของ รพ.ส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 1 ได้นำเสนอมาครั้งหนึ่งแล้วที่ การประชุม รพ.ส่งเสริมสุขภาพ ที่ ร.ร.ทีเค ... เราเริ่ม KM ประมาณเดือน มิย. ปีที่แล้ว พอมีการรวมตัวของคณะกรรมการการจัดการความรู้ รพ. ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดแรกในการจัดการความรู้ของศูนย์ จากที่กรรมการได้ไปประชุม (เราก็ยังไม่เข้าใจสักเท่าไรหรอกนะคะ) ก็เริ่มทำกันอย่างลูกทุ่งๆ ว่า เราไปเรียนรู้มาแบบนี้ แล้วเราจะจัดการอย่างไร จากที่ Fa ไปอบรม ก็นำรูปแบบมาใช้ โดยทุกคนเห็นพ้องกันว่า หัวข้อที่จะนำมาใช้กับงานของเราได้ ก็คือ

  1. ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ และเพื่อเป็นการลดข้อร้องเรียนต่างๆ ด้วย เพื่อให้ผู้รับบริการเกิดความพึงพอใจสูงสุด
  2. เราเน้นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยง ต่อโรคเบาหวาน ไขมันสูง และความดันโลหิตสูง ให้สามารถดูแลตนเองในวิถีชีวิตที่เป็นปกติ และลดการใช้ยา

ซึ่งเราทำไปพร้อมกับเรื่อง การทำโรงพยาบาลคุณภาพ เพราะว่าแนวคิดของทบทวนขั้นตอนนั้น มีเรื่องที่ตรงกัน คือ การทบทวนข้อร้องเรียน และพบว่า เมื่อน้องเขาทำ KM ในห้องคลอดไปได้ระยะหนึ่ง ในส่วนห้องคลอดก็ไม่มีข้อร้องเรียนเกิดขึ้น แต่ส่วนอื่นยังมี ส่วนเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของผู้รับบริการกลุ่มเสี่ยง เรานัดสมาชิกมาคุย ... นอกเหนือจาก 2 หน่วยนี้ แล้วหน่วยงานอื่นๆ ก็ขยับตามขึ้นมา ส่วนมากก็จะเป็นในเรื่องของพฤติกรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งบางข้อแก้ได้ และเราก็พยายามจะปรับตรงนี้ เพื่อให้ข้อร้องเรียนเกิดขึ้นลดน้อยลง เราจึงเกิดเรื่องเล่ามากมาย ประมาณ 30 กว่าเรื่อง ที่เป็นแนวทางปฏิบัติได้

มีการทำบอร์ด KM หมุนเวียนกันทุก 1 เดือน นำความรู้ส่งเข้า Intranet และประยุกต์ใช้ธารปัญญา มาทำในเรื่องของความพึงพอใจ เราก็พบว่า ปัจจัยของความสำเร็จ 5 ประการ ที่บรรลุสู่ความพึงพอใจของผู้รับบริการในครั้งนี้ คือ

  1. เรื่ององค์ความรู้ด้านส่งเสริมสุขภาพ
  2. การประสานงาน
  3. การถ่ายทอดสื่อสาร
  4. การบริหารจัดการ
  5. จิตวิทยา และหัวใจบริการ

เราคาดว่า ปัจจัยทั้ง 5 ตัวนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรของ รพ. ซึ่งจะส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจ และลดข้อร้องเรียนลง

ปัจจุบันห้องคลอดเขาก็ทำเหมือนเป็นปกติไปแล้ว เขาลดข้อร้องเรียนลงได้ โดยทำในลักษณะการพูดคุย “มีปัญหาอะไรไหม ... อยากเล่าเรื่องอะไร” ถ้าเกิดมีปัญหาขึ้นมา ก็ถามว่า “ปัญหาพวกนั้นเป็นปัญหาทางด้านอะไร” ถ้าเป็นปัญหาทางด้านวิชาการ เช่น Partogram ก็ให้น้องสกัดความรู้ออกมาว่า เป็นเรื่องอะไร เรื่องของพฤติกรรม หรือเรื่องของวิชาการ และหลังจากนั้น จะ แบ่งกันว่า ถ้าเป็นวิชาการ เขาจะทำอย่างไรต่อ และเรื่องนี้ก็ไปพ้องกับเรื่องของคุณภาพจริงๆ เราจึงคิดว่า รพ.ค่อนข้างถูกทางในเรื่องของการทำคุณภาพด้วย และเราก็คิดว่า KM ก็ช่วยให้เราเดินมาได้ค่อนข้างถูกทาง

พญ.นันทา ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ... ในเรื่องของการนำมาจัดเป็นปัจจัยหลักๆ ในการที่จะสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้รับบริการ 5 ข้อ ภายใต้ 5 ข้อนี้ เราก็ควรมาจัดระดับต่อไปว่า ระดับต้นๆ ที่ทำความสำเร็จ แล้วได้ดาวอะไร 1 2 3 4 5 เพราะตอนนี้เท่ากับว่า เราก็ได้แก่นความรู้ออกมา 5 แก่น แล้วก็จะไปสร้างได้เป็นตารางอิสรภาพ ซึ่งความจริงก็คือมาตรฐานการทำงานนั่นเอง และถ้าเอาไปประเมินต่อ เพื่อประเมินตนเองในแต่ละหน่วย ว่าตอนนี้เป็นอย่างไร อนาคตอยากจะเป็นอย่างไร เราก็จะสร้างธารปัญญาในเรื่องนี้ ในหน่วยงานของเรา เมื่อเราตั้งเป้าหมายเป็นปัจจัย แผนภูมิบันได ก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนกันภายใน จะเกิดความก้าวหน้าต่อไปได้ และก็คงชัดเจนขึ้นว่า นี่เป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาคุณภาพการทำงาน

คุณอันชิษฐา วงศ์บุญมีคุณอันชิษฐา ... เจ้าภาพในเรื่องของกลุ่มพฤติกรรมเสี่ยงขอเล่าบ้างว่า ... เดือน มิย. เริ่มนำ KM มาใช้ในงานประจำของตัวเอง เพราะเดิมก็มีกลุ่มนี้อยู่แล้ว แต่ทำไปด้วยวิธีการให้ความรู้ ระยะที่มารู้เรื่อง KM ก็เปลี่ยนการให้ความรู้ มาเป็นให้กลุ่มได้เล่า ก็เลยพบว่า ... สมาชิกที่เข้ากลุ่มมีสุขภาพดีขึ้น ทั้งในเรื่อง น้ำตาล เบาหวาน หรือความดัน และมีสมาชิกอยู่ท่านหนึ่งที่เพื่อนๆ บอกว่า อยากเห็นคนนี้ทุกครั้งนะ คราวหน้าก็ให้มาอีก เพราะเขาเป็นตัวอย่างที่ดี กลุ่มนี้มีการพัฒนาจนกลุ่มได้คัดเลือกผู้นำเขาเอง ว่า เวลาเขามีปัญหาเขาจะติดต่อใครได้ มีการเลือกประธานกันเมื่อปลายปี ประธานก็จะมาควบคุมดูแลสมาชิกของเขาว่า ใครเป็นอย่างไร เราก็พยายามสร้างให้เขาเป็นผู้ดูแล และเราเป็นผู้ช่วยเท่านั้น

เมื่อได้นำ KM มาใช้ รู้สึกว่ากับกลุ่ม มีความแตกต่างกันที่เห็นได้ชัดตรงที่ เมื่อก่อนเขาจะรู้สึกว่า เขามา ก็มาฟังเราอย่างเดียว แต่ตอนนี้เขาพูดกันเอง แต่ก่อนถ้าเข้ากลุ่มก็ไม่อยากเข้า จะบอกว่า เสียเวลา เจอหมอแล้วกลับเลยได้มั๊ย ... พอมาเปลี่ยนวิธีการ ก็บอกว่า มาคุยกันนิดนึง ซึ่งตอนแรกก็ไม่มีใครอยากคุย มีแต่อยากกลับบ้าน แต่เดี๋ยวนี้ พอหมอให้ยา 2 เดือน คนไข้ก็จะบอกว่า ถึงให้ยา 2 เดือน ก็จะมาทุกเดือน บอกจะมาเข้ากลุ่ม เพราะว่า ... เขาต้องการเจอเพื่อน ต้องการคุยกับเพื่อนคนอื่นว่า เป็นโรคเหมือนกับเขานะ ให้ทำอย่างนี้นะ วันนี้มี 3 ท่านที่ไม่ต้องมารับยา แต่เพื่อมาเข้ากลุ่ม เพราะเขารู้ว่า เขาได้รู้จักคนอื่น พอถามว่า “คุณลุงมา ไม่เสียเวลาหรือ” เขาก็บอกว่า “มาเจอกัน มีอะไรจะได้เก็บไป” เขาก็พูดเช่นนี้ บางทีมีผักอะไรที่ดีก็เอามาโชว์ ก็เป็นตัวอย่างของสมุนไพรที่เขาใช้ได้ผลก็เอามาโชว์ด้วย

พญ.นันทา … ชี้ประเด็นเพิ่มเติมว่า สิ่งนี้ก็คือ ได้ประโยชน์ทั้งผู้ให้ และผู้รับ คือ ผู้ให้ก็จะได้อะไรกลับไปด้วย ถึงแม้ว่า เขาจะเป็นคนที่คนอื่นต้องการให้เขามาให้อะไร แต่ในชีวิตจริง กลับไปเขาก็ได้รับบางอย่างกลับไปเหมือนกัน เช่น อาจจะได้ความรู้บางเรื่อง ในเรื่องของผักที่พบใหม่ ในฐานะที่เราเป็นนักวิชาการ ถ้ามีโอกาสก็น่าจะคิดวิเคราะห์เพิ่มเติม เพราะได้ยินมาว่า ที่ต่างจังหวัด มีใบของพืชที่สามารถคุมเบาหวานได้ แต่ปรากฏว่า เป็นพวกใบที่มีผลควบคุมน้ำตาล แต่ก็มีผลเสียอย่างอื่นด้วย เพราะฉะนั้น เราอาจถามเภสัชกร เพื่อสอบถามความรู้ว่าน่าจะเป็นใบอะไร และจะมีผลอย่างอื่นที่เป็นผลเสียหรือเปล่า เราก็จะได้ความมั่นใจว่า เป็น tacit knowledge ที่ปรับเปลี่ยนให้เป็น explicit knowledge ได้ต่อไป ว่า OK อันนี้มันดีอย่างไร ควรสนับสนุนหรือไม่ เช่นนี้ คือ การมีข้อมูลใหม่เข้ามา แล้วเราเอาด้านวิชาการไปเสริมและต่อไปก็สามารถนำเอาข้อมูลนี้ไปแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่นๆ ได้ด้วย

คุณณิศราคุณณิศรา ... เจ้าภาพหลักคนหนึ่งในห้องคลอดละค่ะ เพราะตอนนี้ห้องคลอดเจ้าหน้าที่ของเขาทำ 100% ไปแล้ว ขอแสดงความรู้สึกบ้างว่า ... เวลาที่ได้อ่าน KM มีความรู้สึกว่า อ่านแล้วก็หาจุดสรุปไม่ได้ ก็เลยอธิบายไม่ได้ คือ ตัวเองมีประสบการณ์จากที่ทำมาแล้วนี้ คือ ... ทำในลักษณะที่ว่า บางจุดยังไม่รู้ แต่มีความเชื่อมั่น ว่าอยากจะทำ และจากเรื่องเล่า ก็คือเล่าสิ่งที่ดี ทำให้มีความเชื่อมั่นว่า มันก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีให้ได้ ก็เลยอยากจะให้กำลังใจว่า คนที่ยังไม่รู้ว่าเป็นเรื่องอะไร ตัวเองก็ทำไป เรียนรู้ไป แล้วก็จะได้เอง และตัวเองสามารถบอกได้เลยว่า หลังจากทำไปแล้ว ได้อะไรบ้าง เกิดอะไรบ้าง

เมื่อเริ่มเรื่อง KM เราเริ่มที่ระดับล่างๆ จะรู้สึกได้เลยว่า มีกำลังใจ เพราะเหมือนกับให้โอกาสเขาได้พูด ได้เล่า ในเรื่องที่ภาคภูมิใจ เพราะเหมือนกับว่า เขาไม่ค่อยมีโอกาส ที่จะนำเสนอ ได้พูด คุย เหมือนนักวิชาการ เขาจะรู้สึกชัดเลยว่า ได้โอกาสพูด ... เขาอิ่มเอิบใจ มีกำลังใจ อย่างเราคนที่นำทีมเขา พอได้รู้ว่าเขาอิ่มเอิบใจ ก็ได้กำลังใจ ... จึงอยากจะบอกว่า ในหน่วยงานนี้ หลังจากทำ KM แล้ว มันได้อะไรมากมายเหลือเกิน ... ได้ทีมงาน ทีมงานที่มีการทำงานเป็นทีม ทีมงานที่รู้ว่า จะทำอย่างไรให้คนไข้พึงพอใจ เราไม่ต้องบอกเขาเลย เขาจะรู้เลย จากที่บอกว่า พอมีการเล่าประสบการณ์แลกเปลี่ยน เขาก็สามารถจะนำไปใช้เอง โดยที่เราไม่ต้องไปจี้ ไม่ต้องไปตาม พอเขาเจอสถานการณ์ไหน ตั้งแต่คนงานจนถึงพยาบาล เขาก็สามารถทำได้เลย สามารถมีเรื่องเล่าได้ทุกๆ วัน และเกิดลักษณะแย่งกันทำดี

พญ.นันทา … พูดด้วยความชื่นชมว่า ได้ประโยชน์มากจริงๆ เพราะเท่ากับว่า เป็นเวทีที่จะส่งเสริมให้เขาทำในสิ่งดีดีได้ทั่วไป และเห็นศักยภาพของเขา และยังแสดงให้เห็นว่า การทำอย่างนี้ เราได้สร้างคุณค่าในคน และเขาก็อยากทำดี โดยการเล่าเรื่อง และอาจอยากเล่าทุกวัน เพราะเท่ากับว่า เขาก็ต้องหาเรื่องที่ทำดีให้ได้ทุกวัน สุดท้ายก็จะเกิดสิ่งที่ดี แทนที่เราจะต้องมานั่งบอกกับเขาว่า คุณไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ ก็กลายเป็นว่า เขาเรียนรู้ด้วยตนเอง และมาแข่งดีกัน และมันก็ได้ผลขึ้นมาได้อย่างชัดเจน

มีอีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องมีการเชื่อมโยง คือ การทำงานในศูนย์นั้นที่ว่าเป็นทีมนั้น นอกจากนักวิชาการที่เป็นหมอ พยาบาล แล้วก็ต้องมีความเชื่อมโยง ตั้งแต่ยามหน้าประตูไปจนถึงคนให้บริการ คนถูกพื้น คนทำอาหาร คนครัว คนซักฟอก เพราะว่าบางเรื่องคงต้องมีการเชื่อมโยง เพราะว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความสำเร็จ ก็คือ พลังแห่งความต่าง ที่อาจารย์วิจารณ์ตระหนัก เพราะว่าถ้าคนที่อยู่ในวิชาชีพที่คล้ายๆ กัน บางทีก็รู้กันอยู่แล้ว ไม่ค่อยรู้สึกความตื่นเต้น เคยเห็นมาแล้ว คือ พอรู้ๆ กัน แต่ถ้าเอาคนที่อยู่ในจุดที่ต่างกันมาเล่า ก็จะได้อะไรที่เราไม่เคยรู้มาก่อน รวมทั้งเกิดความเชื่อมโยงในการทำงานร่วมกัน เช่น คนไข้ที่มีสามีเพิ่งมาเยี่ยมนอกเวลา เกิดความประทับใจที่ได้รับการอนุญาต และนำกระเช้ามาให้ห้องคลอด ... อันนี้ก็เป็นการผูกพันถึงยามหน้าประตู เขาได้มีโอกาสชื่นชมไหมว่า กระเช้าเขามาให้เราที่ห้องคลอด ในยามเวรนั้น ซึ่งแทนที่จะไล่เขากลับ ก็มีการติดต่อให้เข้าเยี่ยมได้ ตรงนี้มีส่วนดี คือ เท่ากับว่า ควรเชื่อมโยงให้เขาได้รู้ว่า เขาทำดีด้วย

นี่ก็คือเรื่องราวดีดี ผุดออกมาจากการทำ KM ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 1 ซึ่ง ระบาดไปเกือบทั่ว รพ. แล้วละค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 12911เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2006 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

หน่วยงานใน ร.พ กำลังจะทำการข้ามห้วยไปเทียบเคียงกัน 2หน่วยงาน คือ ห้องคลอด-ห้องผ่าตัด กับ คลินิกตรวจโรคทั่วไป กำหนดวันแล้วเป็นวันที่ 17 ก.พ 48 นี้แหละ อยากให้ที่มทั้ง2 แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จในการทำงานทั้ง2จุด ดูว่ามีสิ่งที่หลากหลายที่พบในกรณีแผนกคนไข้ใน และแผนกคนไข้นอก  มุมมองต้องแตกต่างกัน  ได้ผลอย่างไรจะส่งข่าวมาใหม่ค่ะ

ขอแจ้งชื่อที่ถูกนิดหน่อยก่อนให้ข่าวนะคะ  "ณิศรา"  ไม่ใช่ "ณริศรา"   ขณะนี้ในหน่วยงานได้เกิดความตื่นตัวและอยากจะเล่าสิ่งดีๆที่พบที่ทำ ทำให้ปรับปรุงงานต่างๆจากการนำสิ่งดีๆมาเล่าได้ ขณะนี้อยู่ในช่วงลองทำอยู่  ถ้าปฏิบัติแล้ว ออกมาไม่มีผิดพลาดหรือไม่พบข้อติดขัด ก็จะทำให้เป็นมาตรฐานในการปฏืบัติงานต่อไป

ขณะนี้ห้องคลอด ห้องผ่าตัด ของศูนย์อนามัยที่ 1 กำลังนำคลังความรู้ที่ได้จากเรื่องเล่ามาปรับใช้ในกระบวนงาน โดยนำเสนอแทรกเข้าไปในกระบวนงานให้ทีมงานได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด

 

 

ดีจังค่ะ

แต่อยากเสนอให้ ศูนย์ฯ 1 สมัครเป็นสมาชิก GotoKnow จังเพื่อที่ว่าจะได้ให้ข้อมูลรายละเอียด พร้อมรูปภาพกิจกรรมได้ด้วย เพราะว่าถ้าเป็นสมาชิกหลัก ก็จะสามารถใส่ภาพเข้าไปได้ และการเขียนเรื่องราวง่ายกว่าเขียนความเห็นต่อนะคะ เพราะจะสามารถเข้าไปแก้ไขข้อความได้ด้วย ถ้าเห็นว่าเขียนแล้วไม่ตรงความรู้สึก

คลิ๊กมุมสมัครสมาชิกด้านบนละค่ะ กรอกข้อมูลนิดหน่อย ก็เป็นสมาชิกแล้วละค่ะ และใครๆ ก็สมัครได้ สคส. บริการให้ฟรีค่ะ

สมัครแล้วบอกด้วยนะคะ

 

หมอนน ช่วยแนะที่ อุ้ยสมัครเข้าไปแล้ว เวลาจะลงข้อความและรูป ไม่รู้ว่าทำไมมันไม่สามารถโชว์ขึ้นมาได้ คงทำไม่เป็น จะรอคำแนะนำนะคะ

วันนี้ไปเยี่ยมสำนักส่งเสริมมา มีอะไรน่าสนใจอยู่แยะในความคิด และหัวสมอง ทีมงานสำนักตกลงว่าจะเปลี่ยนความคิด ความสงสัยเป็นพลังสักที เดี๋ยวศุนย์ 1 เราคงมีคู่มาร่วม ลปรร งานส่งเสริมสุขภาพอีกแรงหนึ่ง

ข่าวว่าเขาจะเน้นสร้างการ ลปรร ว่าด้วยการสร้างเครือข่ายส่งเสริมสุขภาพ แบบนี้ถ้าจัดดีๆมีหวังได้ขยายสมาชิกไปทั่วประเทศ เพราะคนหายใจเข้าออกเป็นเรื่องานส่งเสริมสุขภาพกันแยะ

ทราบมาว่า อบต หลายแห่งก็มีนโยบายมุ่งส่งเสริมสุขภาพคนในตำบลของตัวเองด้วย บางแห่งก็ร่วมกับ รพช ที่นำ้พอง และอุบลรัตน์ที่ขอนแก่น ส่งคนไปเรียนพยาบาลชุมชนหลักสูตนใหม่ ที่ มข เพื่อกลับมาทำงานส่งเสริมสุขภาพวิถีชุมชนที่บ้านตัวเอง

 

 

หนูอุ้ยจ๊ะ (แบบนี้ต้องมีคนแอบมาคุยด้วยแน่เลย เพราะคิดว่ายังเอ๊าะ เอ๊าะ)

หลังจากที่อุ้ยเข้าระบบ pasword อะไรต่ออะไรเรียบร้อยแล้ว

  1. คลิ๊กที่ "จัดการไฟล์ข้อมูลและรูปภาพ"
  2. จะมีช่องให้เลือกไฟล์ เลือกเสร็จ (รูปภาพของเราไม่ควรใหญ่มากนะคะ เพราะจะเปลืองเนื้อที่ และช้าเวลาโหลด เตรียมไฟล์ไว้ก่อน size ประมาณไม่เกิน 300x ก็น่าจะพอแล้วนะคะ ภาพที่เราถ่ายกันออกมาจากกล้องมักจะใหญ่ ควรทำให้มีขนาดเล็กๆ ก่อน ... 300 คือ เท่าไร ก็ลองเทียบขนาดจอคอมฯ นี่ละค่ะ ปกติภาพเต็มจอคอมฯ เขานิยมตั้ง 800x600 300 ก็ประมาณ 1 ใน 3 ได้เน๊าะ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว เราจะได้ใส่รูปได้เยอะๆ ในเรื่องอื่นๆ) ก็ upload เข้ามาใน server ของ  GotoKnow ซึ่งเมื่อการ upload เสร็จ ก็จะมาปรากฎชื่อให้เห็นที่ หัวข้อ ไฟล์ที่มีอยู่
  3. copy ส่วนข้อมูลไฟล์นั้น เริ่มลากเม้าส์ตั้งแต่ http... ถึง ชื่อไฟล์ที่อุ้ยใส่เข้าไปนะ
  4. มี trick นิดหนึ่งตรงนี้ ว่า เวลาเรา copy เรามักจะลืมอะไรไปบ้างได้ ถ้าไปมัวแต่เขียนเรื่องราว คลิ๊กมา copy เรื่องราวก็อาจจะหายไปแล้ว ก็เปิดไว้ 2 window เลยก็ได้จ้ะ จะได้ไม่หายไปสักหน้าต่าง
  5. กลับมาที่ ใส่ข้อมูล วิธีการจากที่เราสร้างข้อมูลใหม่ ก็พิมพ์เรื่องราวเข้าไปใน ชื่อบันทึก และเนื้อหา
  6. ใช้ mouse คลิ๊กตำแหน่งที่ต้องการใส่รูป จะให้อยู่ตรงกลางหน้าเลยก็ได้ จัดตำแหน่งซะก่อน และคลิ๊กที่ icon ที่เป็นภาพต้นไม้ เขาจะเปิด window มาให้ 1 อัน มีช่อง Image URL อุ้ยก็คลิ๊กเม้าส์ที่ช่องนั้น และคลิ๊กเม้าส์ขวา เลือก paste เข้าไป ไอ้ที่เรา copy ตำแหน่งรูปภาพไว้ก็จะมาใส่ที่ตรงนี้ สักพัก เขาก็จะขึ้นขนาดภาพให้ที่ช่อง Dimension และสามารถพิมพ์ภาษาไทย อธิบายความหมายของรูปภาพได้ ที่ Image description
  7. คลิ๊ก Insert ก็เท่ากับใส่รูปได้แล้ว ก็จะปรากฎให้เห็นที่หน้าจอที่เราพิมพ์งานอยู่
  8. คำอธิบายวิธีใช้ สามารถคลิ๊กดูเรื่องอื่นๆ ได้ที่ ช่วยเหลือค่ะ
  9. ถ้ามีปัญหา ลองหาเวลาอุ้ยมากรมฯ มองลองทำกันก็ได้ ไม่คิดค่าตัวค่ะ

แล้ว blog อุ้ยคืออะไร มา link กับลานแลกเปลี่ยนเรียนรู้กรมอนามัยหน่อยสิ

 

ขอบคุณ หมอนนค่ะ เดี๋ยวอุ้ยจะลองทำตามวิธีที่บอกมาดู มีอีกเรื่องที่อยากเล่าและบอก คือตอนนี้เรื่องสุขภาพมาแรง ศูนย์1 กำลังสร้างพลังสุขภาพเจ้าหน้าที่ศูนย์โดยการจัดตลาดนัดความรู้สุขภาพขึ้น เริ่มจากการสำรวจหรือตรวจสุขภาพเจ้าหน้าที่ ทุกคนในศูนย์ก่อน แล้วจัดกลุ่ม ลปรร  เริ่มทำมาตั้งแต่เดือนพ.ย48 เดือนละ 2ครั้งหมุนเวียนจนครบเกือบทุกคน  และติดตามกลุ่มที่มีภาวะเสี่ยงทุกเดือน เพื่อให้เข้ากลุ่ม ลปรร จนถึงเดือนม.ค49 สรุปรวบรวมคลังความรู้ที่ได้จากการ ลปรร ไว้  และแผนการต่อไปเราจะเปิดเป็นตลาดนัดเสรีให้เจ้าหน้าที่ศูนย์เข้า ลปรร กันอย่างต่อเนื่อง โดยจะจัดให้มีรางวัลสำหรับคนที่เรื่องเล่าแล้วได้รับการ vote ในกลุ่มเป็นเรื่องเล่าที่มีพลังขับเคลื่อนในการดูแลสุขภาพที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ง่ายๆแต่ให้ประโยชน์มหาศาล เราจะเริ่มตลาดนัดครั้งนี้ วันจันทร์ที่27 ก.พ49 เวลา 13.30น. ผลออกมาเป็นอย่างไร จะมาเล่าแลกเปลี่ยนให้ทราบต่อไปนะคะ
แขก_ประชาสัมพันธ์ สคส.

สวัสดีครับเจ้าคุณหมอนนทลี ....

(เจ้าของบล็อกที่ช่วยสร้างความเคลื่อนไหวในแวดวงส่งเสริมสุขภาพ ของกรมอนามัย)

และขอสวัสดีพี่ๆจากศูนย์ส่งเสริมสุขภาพที่1 ทุกๆคน ผมดีใจครับที่เห็นความเคลื่อนไหวการทำงานส่งเสริมสุขภาพ ของพี่ๆ ผ่านอีกช่องทางหนึ่งก็คือทาง Blog นี้

เห็นความก้าวหน้าด้าน KM ที่ขยันขันแข็งทำงานพัฒนาในศูนย์อย่างต่อเนื่อง โดยไม่รู้สึกว่าเป็นภาระงาน แต่กลับเห็นประโยชน์ของการแชร์ประสบการณ์ผ่านช่องทางนี้ ที่จะช่วยขยายความก้าวหน้าของศูนย์ให้สาธารณะชนทราบอีกทางหนึ่งด้วย

ที่พี่ๆ เคยบอกกับผมว่า ไม่เก่งด้านประชาสัมพันธ์ แต่ผมคิดว่าช่องทางการเขียนเรื่องราวการทำงานด้าน ส่งเสริมสุขภาพผ่าน Blog นี้ ก็เป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดีอย่างหนึ่งทีเดียว ที่จะทำให้ผู้คนหลากหลายสาขา เข้ามาดูต้นแบบการทำ KM แบบแนบไปกับเนื้องาน และทำอย่างสนุกสนานระบาดไปทั่วทั้งศูนย์อย่างนี้

ในอนาคตอันใกล้นี้อาจจะมีคนเข้ามาดูงานที่ศูนย์ฯมากมาย พี่ๆคงต้องเหนื่อยและเตรียมรับมือให้ดีนะครับ แต่ก็อย่าห่วงด้านประชาสัมพันธ์ จนลืมงานส่งเสริมสุขภาพที่กำลังพัฒนากันอย่างดีเยี่ยมและต่อเนื่องนะครับ

คาดว่าผมอาจจะติดตามไปดูเวทีการแลกเปลี่ยนข้ามหน่วยงานของศูนย์ฯ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ครับ

                                 

 

ถึง หมอนน และคุณแขก

ตอนนี้เข้าไปเขียนบล็อกของ สคส.

ได้แล้วคะ แต่ยังไม่ขึ้นที่เว็ปของกรมเราเลย ไม่ทราบว่ามีขั่นตอนไหนผิดอีก หรือว่าไฟล์ของกรมอัพช้าคะ

คุณแขก  พี่อุ้ยคิดถึงนะ อยากให้มาเยี่ยมอีกถ้ามีโอกาส เพราะได้กำลังใจจากคุณแขกอย่างดียิ่ง  งานสุขภาพของพี่มันช่างเป็นงานที่ไม่รู้จักจบสิ้น มีนมีลูกคิดต่อเนื่อง ในส่วนของเจ้าหน้าที่(สุขภาพ) พี่ก็ระดมจัดเวทีลปรร.หลังจากสำรวจและตรวจสุขภาพกันเสร็จ จัดเวที่อย่างนี้มาตั้งแต่เดือนพ.ย48 แล้ว เดือนละ 2ครั้ง ได้คลังความรูและเรื่องเล่ามากมาย เราได้คนที่มีผลตรวจสุขภาพดีมาเล่า มาแลก มาคุยกับคนที่ผลการตรวจไม่ค่อยดี  พอทำได้ครบตามที่เซ็ตไว้ (พยายามให้เข้าลปรร. ทุกคน) ก็เริ่มใช้วิธีเปิดเวทีทุกเดือน ใช้การประชาสัมพันธ์ แต่อาจจะขาดสีสันเพราะไม่มีงบ  ลองเดือนนี้อีก วันที่27ก.พ49 พี่เชิญคนนอกมาร่วมแชร์ด้วย เป็นอาจารย์ทางโภชนาการและแพทย์ทางเลือกชำนาญเรื่องสมุนไพร มาเสริมการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ ต้องใช้การสนิทสนมส่วนตัว ไม่มีค่าวิทยากร เกรงใจอาจารย์นะ แต่ก็คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างอื่นได้อีก รบกวนบ่อยๆอย่างนี้คงทำไม่ได้นานเนาะ ต้องลองก่อนใช่มั้ยละ  แล้วจะส่งข่าวมาอีกนะคะ

หมอนน คะ

ชื่อเว็ปของอุ้ย คือ kmanmai-unchitha.gotoknow.org

ชื่อบล็อก ชุมชนส่งเสริมสุขภาพ

เห็น blog อุ้ย แล้วละค่ะ อุ้ยเข้าระบบไปอนุมัติการเข้าร่วม ลานแลกเปลี่ยนเรียนรู้กรมอนามัยด้วยนะคะ

และหน้าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้ คงยังไม่ได้ขึ้นในเวปกรมนะคะ คงเป็นเพียงการ link ไปก่อน อีกสักระยะจะทำให้เกิดค่ะ ตอนนี้ก็สนุกกับ GotoKnow ไปกันก่อนดีกว่า มันดีกว่ากันเยอะเลย ...

คุณแขก ... โดยคุณพี่หนูอุ้ยจีบเข้าให้แล้วมั๊ยล่ะ แต่ตัวเป็นๆ น่ารักนะคะ ขอบอก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท