“ เพลงเรือ ” เพลงพื้นบ้านที่เล่นกันมานานในสุพรรณบุรี


 

 “ เพลงเรือ ” เพลงพื้นบ้านที่เล่นกันมานานในสุพรรณบุรี

      เมื่อสมัยเด็กๆผมเคยได้ยินเพลงลูกทุ่งอยู่ชุดหนึ่ง เป็นเพลงที่ร้องแก้กันและร้องแกล้งกัน ที่ร้องแก้กันคือระหว่างไวพจน์ เพชรสุพรรณ และผ่องศรี วรนุช เป็นเพลงเรือ จำเนื้อเพลงได้ว่า “ โอ้แม่งามเหลือ พี่พายเรือมาเก็บผัก อย่ามองพี่นักพี่จะยักคิ้วให้ “ ส่วนเพลงที่ร้องแกล้งนี่ผมเรียกเอง เพราะร้องโดย ถนอม นวลอนันต์ ซึ่งเป็นดาราตลกรุ่นครู ผมจำเนื้อเพลงตอนต้นได้ว่า “ โอ้แม่งามเหลือพี่พายเรือ เข้ามารับ อย่ามัวนอนหลับ เชิญมาขับเพลงโต “ ฟังดูแล้วก็สนุกสนานดี สะท้อนให้เห็นว่าคนสมัยก่อนเขาคงเล่นเพลงเรือกันสนุกสนานมาก


      เพลงเรือ ไม่ใช่เพลงพื้นบ้านที่เล่นกันเฉพาะในจังหวัดสุพรรณบุรีเท่านั้น แต่เป็นเพลงพื้นบ้านที่รู้จักกันค่อนข้างแพร่หลาย โดยเฉพาะแถบจังหวัดลุ่มน้ำภาคกลาง เช่น อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรีและสุพรรณบุรี ประวัติความเป็นมา จะเก่าแก่ถึงสมัยใดไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด แม้มีผู้พบว่าในกฎมณเฑียรบาล สมัยกรุงศรีอยุธยา เคยกล่าวถึงเพลงเรือไว้ 2 แห่ง แต่ก็ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าคือเพลงเรือที่ร้องกันแบบในปัจจุบันนี้หรือไม่


      ลักษณะของเพลงเรือ ตามปกติก็จะเล่นกันในหน้าน้ำ ราวๆเดือน 11 – 12 มีประเพณีทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ตามวัดต่างๆ มักจัดงานไหว้พระประจำปีขึ้น ชาวบ้านก็ลงเรือไปทำบุญกัน ระหว่างนั้นคนที่ “ เป็นเพลง “ คือคนที่ร้องเพลงเรือได้ ก็นิยมลอยเรือเล่นเพลงกันไป พ่อเพลงแม่เพลง มีทั้งระดับสมัครเล่นและระดับมืออาชีพ ลักษณะเด่นของเพลงเรือที่ไม่เหมือนเพลงอื่นคือการร้องรับว่า “ ฮ้า..ไฮ้ “


      วิธีร้องเล่น ก็ต้องลงไปร้องกันในเรือ เป็นเพลงที่ร้องโต้ตอบกันระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องความรัก เป็นการเกี้ยวพาราสี หรืออาจมีการร้องเป็นชุดเป็นตับไป เช่นตับตีหมากผัว คือหญิง 2 คน เป็นเมียน้อยเมียหลวง แย่งผัวคนเดียวกัน หรือตับชิงชู้ คือเมียหนีตามชู้ไปผัวตามมาพบ เนื้อร้องก็มีทั้งเป็นบทที่ท่องจำสืบๆกันมาและที่ด้นเป็นกลอนสดๆ


      เมื่อจะไปเล่นเพลงเรือ ผู้เล่นมักใช้เรือพายม้าซึ่งมีท้องแบน ปูไม้กระดานแล้วนั่งได้ลำละ 9-10 คน ในเรือจะมีขนมข้าวต้มและของกินติดไปด้วย เรือผู้หญิง ผู้หญิงมักสวมงอบ เรือผู้ชาย ผู้ชายมักสวมหมวกสาน พ่อเพลงแม่เพลงนั่งกลางลำ คนอื่นๆเป็นลูกคู่ ช่วยพาย ช่วยตีฉิ่ง และกรับ ไม่มีการปรบมือและไม่มีการรำ เพราะอยู่ในเรือไม่สะดวก


      การร้องเพลงเรือตามปกติมักไม่มีการไหว้ครู เพราะพื้นฐานเป็นเพลงเล่นสนุกๆไม่ใช่ร้องเป็นอาชีพ เวลาจะจากฝ่ายชายมักพายเรือไปส่งฝ่ายหญิงจนถึงที่หมาย

     ต่อไปผมจะเล่าถึงเพลงเรือในจังหวัดสุพรรณบุรีของเรา ข้อมูลต่างๆต่อไปนี้ได้จากการศึกษาเอกสารของคุณเอนก นาวิกมูล และการสอบถามผู้รู้ของจังหวัดสุพรรณบุรี ต้องขอขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย
 

      บรรยากาศเพลงเรือต่อไปนี้คงต้องย้อนยุคไปจากวันนี้ราวๆ ๗๐ ปี เพลงเรือเป็นเพลงที่นิยมเล่นในหน้าน้ำ ในจังหวัดสุพรรณบุรีสมัยนั้นมีงานหน้าน้ำที่ขึ้นชื่อลือชาคืองานเทศกาลไหว้พระวัดป่าเลไลยก์ พระในที่นี้ก็คือ หลวงพ่อโตวัดป่า ของชาวสุพรรณนั่นเอง งานจะมีตั้งแต่ขึ้น ๗ - ๙ ค่ำ เดือน ๑๒ มีผู้คนเดินทางไปเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก นอกจากชาวสุพรรณแล้วยังมีชาวจังหวัดใกล้เคียง เช่น พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ไปเที่ยวกันไม่น้อย เพราะจุดมุ่งหมายที่นอกจากเหนือจากการไหว้พระก็คือการไปฟังเพลง ไปเล่นเพลงกัน เดือน ๑๒ ขณะนั้นเมืองสุพรรณจะเจิ่งนองไปด้วยน้ำที่ท่วมไปทั่วทุ่ง หนุ่มสาวต่างก็ลงเรือมาดหรือบ้างก็ใช้เรือพายม้า (เรือทั้งสองชนิดนี้เป็นเรือที่ทำโดยวิธีขุดจากต้นไม้ ปัจจุบันยังพอหาชมได้ตามงานทอดกฐินที่มีการแข่งเรือ) พายกันมาจากบ้านของพวกตนตั้งแต่เช้า กว่าจะถึงจุดหมายก็บ่าย หรือบางลำก็ค่ำ


      พอดี แม่บัวผัน จันทร์ศรี ศิลปินแห่งชาติ ท่านมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ทางบ้านวิเศษไชยชาญ เล่าว่าถ้าจะไปวัดป่าก็ต้องออกกันตั้งแต่ ๖ โมงเช้า เอาข้าวห่อใบบัวติดตัวกันไปคนละห่อสองห่อ กับข้าวก็มีน้ำพริก ปลาร้า ปลาทูนึ่ง เป็นต้น พอพายเรือไปถึงกลางทุ่งได้เวลาอาหารที่ไหนก็แวะกินกันที่นั่น ผักจิ้มไปหาเอากลางทางเช่นอาจจะเด็ดผักตับเต่า สันตะวา ผักบุ้ง สายบัว มาจิ้มน้ำพริก ปลาร้าที่เตรียมมา เส้นทางเรือของนักไหว้พระ เล่นเพลง ชาววิเศษไชยชาญรุ่นแม่บัวผัน ต้องอ้อมไปทางหลักแก้ว คลองพูน ออกลาดชะโด ขึ้นอำเภอผักไห่ เขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าดอนลาน แล้วเข้าบางปลาม้า สักพักก็ถึงวัดประตูสารซึ่งเป็นเวลาค่ำ


      สมัยนั้นเรือนักไหว้พระ เล่นเพลง จะจอดกันที่วัดประตูสารซึ่งอยู่ห่างจากวัดป่าเลไลย์ประมาณ ๓ กิโลเมตร เพราะเรือเข้าไปถึงวัดป่าเลไลยก์ไม่ได้ (แต่ผมคุยกับผู้รู้บางท่านบอกว่ามีคลองจากวัดประตูสารไปวัดป่า ฯ ) เป็นอันว่าเวลาเล่นเพลงเรือ จึงต้องมาเล่นกันที่วัดประตูสาร ไม่ได้เข้าไปเล่นที่วัดป่าเลไลยก์ ระหว่างนั้นพวกพ่อเพลงแม่เพลงก็อาจหาคู่เล่นเพลงกัน ก็เล่นกันตามธรรมเนียมเพลงเรือที่ผมเล่ามาเมื่อตอนต้นคือ ฝ่ายชายจะร้องปลอบ คือชักชวนเรือลำของฝ่ายหญิงให้มาเล่นเพลงกันก่อน ถ้าฝ่ายหญิงเล่นด้วยก็จะร้องตอบ แล้วก็ว่าแก้กันไป เนื้อหาส่วนใหญ่ก็คือเรื่องเกี้ยวพาราสี หรือร้องเป็นตับเป็นชุด เช่นชิงชู้ ตีหมากผัว ถ้าร้องถึงขั้นนี้ได้ถือว่าพ่อเพลงแม่เพลงมีฝีปากดี และคนฟังก็มักนิยมกันมาก เวลาว่าเพลงเรืออาจทอดทุ่นอยู่นิ่งๆ เพื่อจะได้ว่ากันถนัดหรืออาจจะพายเกาะกันไปเป็นแพ แสงสว่างที่ใช้ก็ใช้ตะเกียงเจ้าพายุบ้าง ตะเกียงลานบ้าง เสียงเพลงเรือจะดังก้องกังวานไปทั่วท้องน้ำ ท้องฟ้าก็มีพระจันทร์ข้างขึ้น บรรยากาศช่างน่ารื่นรมย์จริงๆ เล่ากันว่าด้วยบรรยากาศอย่างนี้นี่เอง พอเสร็จงานก็มีหนุ่มสาวชาวสุพรรณ อยุธยา อ่างทอง แต่งงานกันไปหลายคู่ทีเดียว


      ก่อนจะจบเรื่องราวของเพลงเรือผมขอเสนอตัวอย่างเพลงเรือ ของชาวสุพรรณ ดังนี้


ฝ่ายชาย ร้องโดยพ่อไสว วงษ์งาม(จากเพลงนอกศตวรรษ)


 เอ๋ย…แต่พอเรียกก็ขานแต่พอวานก็เกริ่น สาวน้อยเลยไม่เนิ่น ( ฮ้า ไฮ้ ) นานช้า


ดีแล้วแม่คุณ แม่ช่างจุนใจเจือ   แม่หนูช่างใจแผ่เผื่อ ( ฮ้า ไฮ้ ) พวกข้า


แต่พอเรียกก็ขาน แต่พอวานก็เล่น   ถ้าเป็นม้านี่มันคงเผ่น ( ฮ้า ไฮ้ ) จริงพับผ่า


ข้านึกชอบขอบใจ น้องช่างอาศัยอาชา ฉันเสียใจเป็นกองนึกว่าน้องไม่มา   พบพี่เมื่อเวลา…คนเอย


(ลูกคู่รับ ) เอ๋ยเมื่อเวลา คนเอย
ฉันเสียใจเป็นกองนึกว่าน้องไม่มา   ฉันเสียใจเป็นกองนึกว่าน้องไม่มา
พบพี่เมื่อเวลา…คนเอย ฮ้า ไฮ้

คำสำคัญ (Tags): #เพลงเรือ
หมายเลขบันทึก: 128738เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2007 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ขอบคุณมากค่ะ กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับเพลงเรือไปสอนเด็กพอดี หาข้อมูลยากเหมือนกัน ได้ข้อมูลตรงนี้ดีมากเลย แต่ว่ามีไฟล์เสียงไหมค่ะ อยากได้เพลงเรือเป็นตัวอย่าง ชัดๆ ไปเปิดให้เด็กฟังด้วยคงจะดี

กำลังหาไปรำอยุพอดีนิ

ได้แระ

เพลงนี้แหละ

>...< ดีจัยจังหาเจอเเล้ว (จะเอาไปทามรายงาน)

เดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดด

ขอบคุณนะครับ สำหรับ ข้อมูลดี เเละ ความรู้ใหม่ๆ ครับ

มีเพลงเรือสนใจแอด มาคัฟ

อยากได้ว่าใช้เครื่องดนตรีอะไรและเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรมอะด้วยค่ะ

ดีใจมากมากเลยที่เจอ

จิ๊จิ๊

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท