ไปดูชุมชน.....นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง


การเรียนรู้ ถ้ามีการเชื่อมเครือข่ายก็จะทำให้หูตากว้างขวางขึ้น

     เมื่อวันที่  11  กันยายน  2550  ได้เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง  แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง : ภาคกลาง  จำนวน  10  กรณีศึกษา ณ  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  การนำเสนอผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นนั้นมี "ผู้แทนชุมชน"  มานำเสนอด้วยตนเอง โดยหน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่จัดเวทีและจัดกระบวนการให้


     ซึ่งสิ่งได้เห็นจากการร่วมกระบวนการนั้น มีขั้นตอนคือ
 ขั้นที่ 1  นำเข้าสู่เรื่อง  โดยมีผู้รับผิดชอบภาระงานมาชี้แจงทำความเข้าใจถึงการจัดเวทีในครั้งนี้  มีการแนะนำทีมงานและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด  มีการฉายภาพรวมของงานที่ทำกับ 10 หมู่บ้าน  และมีการสรุปความเป็นมาของโครงการวิจัย ได้แก่  วัตถุประสงค์การวิจัย  กรอบแนวคิดการวิจัย  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย  กระบวนการดำเนินงานวิจัย 
ซึ่งใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ 
 ขั้นที่ 2  นำเสนอเนื้อหาสาระ  โดยจัดเวทีนำเสนอผลงานวิจัยชุมชน ที่ให้ผู้แทนชุมชนทั้ง 10 กรณีศึกษา ได้เล่าถึง 1)  ที่มาที่ไปของการใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง 2)  ปัญหาอุปสรรคที่เป็นปัจจัยในการใช้เศรษฐกิจพอเพียง  3)  การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  4)  หน่วยงานที่เข้มาเกี่ยวข้อง/สนับสนุน  5)  ทิศทางการดำเนินงานต่อไปของชุมชน  และ 6)  ข้อคิดที่เกิดขึ้นจากความพอเพียง  ซึ่งมีผู้ดำเนินรายการเป็นผู้ตั้งประเด็นคำถาม แล้วให้ผู้แทนชุมชนเล่าให้ฟัง
 ขั้นที่ 3  วิเคราะห์กลไกขับเคลื่อนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
 ขั้นที่ 4  เสริมหนุนและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกิดขึ้นระหว่างกัน
 ขั้นที่ 5  สรุปผล


      ในการประมวลผลข้อมูลและเนื้อหาสาระที่เกิดขึ้นนั้น ดิฉัน ได้ "สร้างตาราง...ขึ้นมาใช้จัดเก็บข้อมูล" เพื่อเป็นกรอบทั้ง 6 เรื่องหลักดังกล่าว ส่วนผลที่เกิดขึ้นคือ
 1.  บทเรียนทั้ง 10 บทเรียน มาจากการลงมือทำและลงมือปฏิบัติของชุมชน โดยมีเป้าหมาย  มีปัจจัยมาเสริมหนุนทั้งภายในและภายนอกชุมชน  มีการเรียนรู้เกิดขึ้น  และมีข้อคิดที่เป็นของชุมชน
 2.  การดำรงอยู่ของชุมชนที่เป็น "ความพอเพียงนั้น...มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง" โดยเกิดอยู่บนวิถีชิวิตและความต้องการของชุมชนนั้น ๆ
 3.  การวิเคราะห์ "ความพอเพียง" ได้ใช้กรอบของหลักคิดและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนำมาสู่การสรุปผล
 4.  "การถอดบทเรียน"  ที่เกิดขึ้นนั้นได้ใช้เทคนิคการตั้งประเด็นคำถาม  การจับประเด็น  การชวนสนสนทนา  และใช้เครื่องมือกระตุ้นกลุ่ม  ภายใต้ทักษะของการเป็นวิทยากรกระบวนการ 
การจัดกิจกรรมกลุ่ม  และการทำวิจัยชุมชน
 5.  รูปแบบและวิธีการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนั้น ได้ใช้กระบวนการกลุ่ม  ทีมงาน  และการมีส่วนร่วม


 ส่วนข้อคิดที่เกิดขึ้นก็คือ
 1.  ชุมชนมีศักยภาพและมีองค์ความรู้ที่สืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งเป็นฐานที่มั่นคงในการร่วมกันทำงาน
 2.  การสร้างโอกาสให้กับชุมชนได้เรียนรู้ตนเองนั้น หน่วยงานภายนอกเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่ทำให้เกิดขึ้นได้
 3.  "ภูมิปัญญาท้องถิ่น" มีอยู่ทุกที่และมีอย่างหลากหลาย ได้แก่  ภูมิปัญญาในอาชีพ  ภูมิปัญญาในการดำรงชีวิต  ภูมิปัญญาในการอยู่ร่วมกัน  และภูมิปัญญาในการสร้างองค์ความรู้
 4.  ระดับความพอเพียงของ 10 กรณีศึกษานั้น มีทั้งความเหมือนและต่างกัน  ได้แก่  รูปแบบและวิธีการปฏิบัติ  วิถีชีวิตและการดำรงอยู่  สังคมของการอยู่ร่วมกัน  การพัฒนาและการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น  และเป้าหมายร่วมกัน


      ฉะนั้น การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจึงมาจากการฟังและการร่วมทำกิจกรรม เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการพัฒนาบุคลากรลงสู่พื้นที่ในการทำงานส่งเสริมการเกษตรร่วมกันที่สามารถนำ Best Practice มาใช้เป็นฐานหลักในการทำงานและการพัฒนาตนเองได้.

หมายเลขบันทึก: 128056เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2007 13:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท