เรื่องดีที่บอกต่อ


โดยนายแพทย์ชาตรี เจริญศิริ
เรื่องดีที่บอกต่อ
“เขียนโครงการอย่างไรให้เข้าท่า”
โดย นพ.ชาตรี เจริญศิริ พ.บ.MPH.,อว.เวชศาสตร์ครอบครัว สนใจเขียนโครงการให้มีโอกาสได้ทุนวิจัยควรสนใจเรื่องต่อไปนี้
1. หลักการและเหตุผล
- ระบุข้อมูลของพื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมายที่จะทำ
- แสดงความเป็นเหตุ-เป็นผล เชื่อมโยงกับปัญหา สาเหตุของปัญหา คาดการณ์ถึงทางออก (โดยทบทวนเอกสารหรือโครงการที่เคยมีผู้ทำแล้วได้ผลมาแล้ว)
- บอกให้ชัดเจน จะทำอะไร กับใคร ทำไม และอย่างไร
- ระบุข้อมูลพื้นฐาน ทุนเดิมที่มี แล้วจะต่อยอดอย่างไร
2. วัตถุประสงค์
- ระบุออกมาเป็นข้อ ต้องการ ผล อะไรที่จะเกิดกับ ใคร อาจบอกด้วยว่าอย่างไร เช่น ต้องการหาวิธีให้ความรู้ที่อยู่ในราชการเกษียณอายุ ถ่ายทอดและสืบค้นได้ (ต่างจาก การจัดสัมมนาข้าราชการเกษียณอายุ จัดเป็นกิจกรรม มิใช่วัตถุประสงค์อันเป็นที่ยอมรับ)
- มีความจำเพาะ ไม่เลื่อนลอย หรือครอบจักรวาล เช่น ระบุสั้นๆ ว่าต้องการให้คนมีสุขภาพดี!
- วัตถุประสงค์ต้องประเมินหรือวัดผลได้
- สอดคล้องกับหลักการและเหตุผล
- อาจแบ่งเป็นวัตถุประสงค์ทั่วไปและวัตถุประสงค์เฉพาะเป็นข้อย่อย
3. กลุ่มเป้าหมาย
- การเฟ้นหากลุ่มเป้าหมายทำให้พุ่งจุดเน้น กิจกรรม ทรัพยากร ลงตรงเป้า ได้ผลเต็มๆ ไม่เหวี่ยงแห
- เหตุผลที่เลือกกลุ่มเป้าหมายนั้น
- วิธีการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย
- อาจระบุทฤษฎีหรือสมมติฐานที่สนับสนุนให้ตัดสินใจเลือกกลุ่มเป้าหมายนั้น
4. กิจกรรม
- สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เป็นรายข้อ วัตถุประสงค์มีสิ่งใดต้องมีกิจกรรมรองรับ หรือทำให้เป็นผลขึ้นมา
- ระบุให้ชัดเจนที่สุด จะทำอะไร กับใคร อย่างไร คาดหวังผลใด เน้นการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโครงการ
- กิจกรรมต้องนำสู่ผลที่ต้องการตามที่ระบุไว้ในวัตถุประสงค์ ไม่เปะปะ หรือแค่ได้ทำก็พอใจแล้ว
- กิจกรรมที่ดีต้องทำต่อเนื่องได้และมีเครือข่ายเพิ่ม
5. การประเมินผล รวมถึง การติดตาม กำกับ
- จุดนี้เป็นจุดตาย การประเมินผลจะช่วยคัดท้ายการจัดการและกิจกรรมให้ตรง และตอบวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่หลงทาง ไม่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
- การประเมินผลที่ดี ต้องเป็นเนื้อเดียวกันกับกิจกรรม เหมือนส่องกระจกก่อนล้างหน้าแปรงฟัน มิใช่รอเสร็จโครงการก็ประเมินครั้งเดียวจบกันไป
- ประเมินก่อนดำเนินการ คือ ต้องมีข้อมูลพื้นฐานในมือ
- การประเมินขณะดำเนินการนั้น มีวิธีการหลักๆ ได้แก่ การใช้ เครื่องมือวิธีการซึ่งเป็นที่ยอมรับมาวัด และ การประเมินผลอย่างมีส่วนร่วม คือ ให้ผู้รับผลร่วม ออกแบบ เครื่องมือที่จะนำมาวัด แล้วปรับปรุงจนวัดได้จริง
- ต้องระบุให้ชัดว่าจะใช้การประเมินหรือวัดเชิงปริมาณ หรือคุณภาพ หรือใช้ทั้งสองอย่าง ในกิจกรรมใด เพื่อประเมินผลด้านใด
- การประเมินหลังดำเนินการ โดยทิ้งช่วงระยะหนึ่งแล้วประเมิน เหมาะกับการประเมินพฤติกรรมอันพึงประสงค์ เช่น การเลิกบุหรี่กาประเมินทุก 3 เดือน เป็นเวลา 1 ปี พบว่า หลายคนเลิกบุหรี่ระยะหนึ่ง แต่กลับมาสูบอีกในเดือนที่ 9 หลังกิจกรรม
- การทบทวนวรรณกรรม ทำให้ได้รูปแบบการประเมินรวมถึงเครื่องมือที่นำมาประยุกต์ใช้ได้ และเพิ่มความน่าเชื่อถือ  และอย่าลืมว่า Peter Drucker บอกไว้ว่า “We cannot improve what we cannot measure”
6. งบประมาณ
- ไม่มีแหล่งทุนใดเต็มใจให้เงินไปกับความไม่ชัดเจน หรือไม่คุ้มทุน หรือตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ทำซ้ำ งานที่เคยทำ
- ต้องลงทุนต้องมีประสิทธิภาพ ใช้เงินลงทุนน้อย ได้ผลจริง ได้ผลมาก ต่อเนื่องนาน เมื่อเทียบกับโครงการอื่นๆ ที่ขอรับเงินผ่านแหล่งทุนนั้นๆ
- ระบุที่มา ที่ไปของเงิน และกลไกการกำกับความโปร่งใส มี matching fund จะน่าสนใจมาก
7. การขยายผล
- ให้ระบุการขยายผลทางกว้าง (มีเครือข่าย) และความต่อเนื่อง หลังจากเงินที่ได้รับการสนับสนุนหมดลง และโอกาสที่ผู้อื่นจะนำกระบวนการไปประยุกต์ใช้ได้ต่อไป
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 12782เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2006 17:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 13:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท