ก.พ.ร.(ตอนที่ 1)


ดังนั้น จึงถือได้ว่า ก.พ.ร.เกิดขึ้นมาจากพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545(ตามมาตรา 3/1)โดยมี สำนักงาน ก.พ.ร.เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินงานของ ก.พ.ร.

    สวัสดีครับ ฉบับนี้เป็นฉบับที่ 2 ที่ผมเขียนใน Blog  โดยในครั้งนี้และครั้งต่อไปจะเขียนเกี่ยวกับ ก.พ.ร. เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ที่สนใจในเรื่องนี้ และให้ความรู้แก่ผู้อ่าน Blog ซึ่งอาจจะมีบางคนยังไม่ทราบเกี่ยวกับ ก.พ.ร.ครับ  ที่จริงในเรื่อง ก.พ.ร.นี้ได้มีผู้เคยเขียนไว้บ้างแล้วคือ ผศ.ดร.วิบูลย์  วัฒนาธร  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ ในชุมชน NUKM Blog มาแล้วเมื่อปี 48 จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวชี้วัด และการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการของมหาวิทยาลัยนเรศวร  แต่ในครั้งนี้ผมจะเขียนเกี่ยวกับ ก.พ.ร. ในเรื่อง ความเป็นมา  องค์ประกอบ  หน้าที่ความรับผิดชอบ และความเกี่ยวข้องของหน่วยงานราชการและมหาวิทยาลัยกับ ก.พ.ร.  รวมทั้งการดำเนินงานที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่เกี่ยวข้องกับ ก.พ.ร.ให้ผู้อ่านได้รับทราบเป็นตอน ๆไปครับ สำหรับตอนที่ 1  มีดังนี้

ความเป็นมา

    สืบเนื่องจากการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 เกี่ยวกับการจะเร่งรัดปฏิรูประบบราชการโดยเร็ว จึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นำแผนการปฏิรูประบบราชการที่เคยศึกษาและจัดทำตั้งแต่สมัยรัฐบาลก่อน ๆ มาปรับปรุงใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน จนกระทั่งได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545  เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545  ออกมาประกาศใช้ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูประบบราชการของประเทศไทยในยุคนี้ และก่อให้เกิดผลตามมาหลายประการ เช่น มีการปรับปรุงโครงสร้างและภารกิจของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ จากเดิมมีจำนวน 15 ส่วนราชการเพิ่มเป็น 20 ส่วนราชการ ตามที่ได้ทราบกันไปแล้ว  อาทิ ทบวงมหาวิทยาลัย เปลี่ยนเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และเป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ   เป็นต้น และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่เสนอแนะการปฏิรูปและ/หรือการพัฒนาระบบราชการโดย-เฉพาะ  ก็คือ " คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) " นั่นเอง  ซึ่งต่อมา ก.พ.ร.ก็ได้มีการเสนอแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ.2546-2550) เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และได้มีมติเห็นชอบตามที่ ก.พ.ร.เสนอ โดยมีสาระสำคัญคือ การพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนให้ดีขึ้น  การปรับบทบาท ภารกิจและขนาดให้เหมาะสม  การยกระดับขีดความสามารถและมาตรฐานการทำงานให้อยู่ในระดับสูงและเทียบเท่าสากล  รวมทั้งการตอบสนองต่อการบริหารปกครองในระบอบประชาธิปไตย   โดย ก.พ.ร. มีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในงานเลขานุการของ ก.พ.ร. และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ ก.พ.ร.กำหนดซึ่งได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545  อยู่ในสังกัดของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่มีฐานะเป็นกรมและไม่เป็นนิติบุคคล  ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี   โดยมีเลขาธิการ ก.พ.ร. มีฐานะเป็นอธิบดี เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงาน ก.พ.ร.ดังนั้น จึงถือได้ว่า ก.พ.ร.เกิดขึ้นมาจากพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545  (ตามมาตรา 3/1)  โดยมีสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินงานของ ก.พ.ร.

องค์ประกอบ

   คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ปัจจุบันมีคณะกรรมการ จำนวนทั้งสิ้น 13 ท่าน มี นายวิษณุ  เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก.พ.ร. และมี นายทศพร  ศิริสัมพันธ์  เป็นกรรมการและเลขานุการ  นอกจากนี้ ก.พ.ร.ยังได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ก.พ.ร. และคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ก.พ.ร. เพื่อช่วยดำเนินงานตามที่ ก.พ.ร.มอบหมาย

    สำหรับอำนาจหน้าที่ของ ก.พ.ร.และ สำนักงาน ก.พ.ร. ผมจะนำมาเขียนไว้ใน Blog ครั้งต่อไปนะครับ 

หมายเลขบันทึก: 12757เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2006 08:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ขอบคุณมาก จะคอยติดตามอ่านครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท