ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

กรณีตัวอย่างการสอนระดับอุดมศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ


"ครุปริทัศน์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 มกราคม 2545"

      ฉันต้องการปฏิบัติตามกฎหมาย!

     “การศึกษาจะต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้ และให้ถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด  กระบวนการจัดการศึกษา ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ”  มาตรา 22

      นี่แค่ส่วนนิดเดียวในหมวด 4 ของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  ก็ทำให้ครูอุดมศึกษาอย่างฉันต้องทบทวนตนเองหลายเรื่อง 

      หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ ฉันเชื่อในตัวนักศึกษาหรือเปล่าว่า พวกเขาเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้? และถ้าฉันจะต้องจัดการเรียนการสอน หรือที่ใช้คำใหม่ว่า จัดกระบวนการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงสาระสำคัญในมาตรา 22 จนถึง 24  เป็นตัวตั้ง  

     ฉันจะต้องทำอะไรบ้าง? และทำอย่างไร?

     ข้อที่ให้ถือว่า ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุดนั้น  ทำได้สบายมาก  เพราะถ้าไม่คิดอย่างนั้น ก็คงไม่ยึดอาชีพครูได้ยืนยาวมาถึงทุกวันนี้

     เท่าที่ผ่านมา ฉันไม่ใช่ครูอุดมศึกษาที่ช่างบรรยายอยู่แล้ว   วิชาที่สอนจึงเน้นการจัดกิจกรรมให้นักศึกษาเป็นผู้ทำซะมากกว่า   แผนการเรียนที่จัดในแต่ละรายวิชา  จึงมีการวางแผนกิจกรรมให้นักศึกษาทำค่อนข้างละเอียดตลอดภาคเรียน   และทุกคนต้องปฏิบัติตามเป๊ะๆ   

     ฉันพอใจในผลงานของตนเองเชียวแหละ  เพราะการสอนทุกครั้งดำเนินไปตามจุดประสงค์ที่ฉันตั้งไว้ทุกประการ    และจากการให้นักศึกษาประเมินการสอนของฉัน    สรุปได้ว่าฉันยังทำอาชีพนี้ต่อไปได้สบายๆ   

     ครั้นทบทวนดูใหม่   เริ่มเห็นว่าที่ทำมา  อะไรๆ ก็เป็น “ฉัน” ซะทั้งนั้น  เริ่มตั้งแต่วัตถุประสงค์ของ ”ฉัน” เลยแหละ

     ถ้าจะมีมีอะไรผิดพลาด  ก็คงตรงที่ “ฉัน” นี่แหละเป็นแน่แท้

     ทุกอย่างที่คิดและทำไปให้นักศึกษาเรียน   ล้วนมาจากความคิดของฉันแต่เพียงผู้เดียว  วางแผนอย่างที่ตัวเองเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะจัดให้แก่นักศึกษา   ถ้านี่เป็นการขายสินค้า  ฉันก็แค่คิดว่านักศึกษาซึ่งเป็นลูกค้าของฉันต้องได้สินค้าที่ดีที่สุด   

     คงจะเป็นโชคดีของฉันกระมัง  ที่นักศึกษาของฉันก็น่ารักซะเหลือเกิน  ครูว่ายังไงก็ว่าตามกัน  ให้เรียนอะไร  ให้ทำอะไร  ก็ไม่โต้แย้ง   อาจมีเสียงบ่นว่างานมากไปบ้าง  อาจารย์เฮี้ยบบ้าง  ก็เป็นเรื่องปกติ    

     ที่แจกแจงมานี้  เห็นทีจะสรุปได้ชัดเจนว่า ฉันยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางจริงๆ   ถึงจะไม่รุนแรงขนาดประเภทที่ยืนจ้ออยู่หน้าชั้นแต่เพียงผู้เดียวก็ตาม

     แล้วเส้นพรมแดนระหว่าง “ครูเป็นศูนย์กลาง” กับ “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง”  มันอยู่ตรงไหนกันล่ะ? ยังไม่เห็นมีใครให้คำตอบต่อโจทย์นี้ได้ชัดเจนสักคน   ฉันคงต้องหาคำตอบเอาเอง! 

     เริ่มด้วยการเปลี่ยนกลยุทธ์ในการจัดการเรียนการสอนซะก่อน   นั่นคือ  เปลี่ยนจาก “ฉัน” ไปเป็น “พวกเขา”   และในอนาคตถ้าทำได้  ควรเป็น “เขาแต่ละคน” จะยิ่งเยี่ยม  แต่ตอนนี้มุ่งไปที่ความตั้งใจหลักซะก่อน

     ลองดูหน่อยเถอะน่า  ว่าจะให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนสำคัญในการจัดการเรียนรู้ได้เพียงไร ?

     กรณีของฉันเริ่มที่รายวิชา 1033801 การปฏิบัติงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา 1  ซึ่งจัดให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3  ในภาคเรียนที่ 2/2543 

     การที่ฉันเลือกรายวิชานี้  แทนที่จะเป็นอีก 4 รายวิชาที่สอนในภาคเรียนเดียวกัน   ก็เพราะเป็นรายวิชาในกลุ่มปฏิบัติการ    คำอธิบายรายวิชาก็ชี้ชัดถึงการให้นักศึกษาทำกิจกรรม   และที่ผ่านมาในรุ่นก่อนๆ โน้น   กิจกรรมที่ให้ทำ  ก็ ”ฉัน”นั่นแหละ เป็นผู้กำหนดให้

     ครั้งนี้   ฉันทิ้งแผนการเรียนที่เคยใช้   และเดินเข้าห้องในวันแรกโดยปราศจากแผนการเรียนแจกนักศึกษาอย่างที่เคยเป็นมา  คาดเดาไม่ได้เหมือนกันว่า  สิ่งที่อยากทำนั้น   จะออกมารูปไหน?   กังวลอยู่เหมือนกันว่า  ถ้าไม่สำเร็จ  จะเสียเวลาในการเรียนการสอนคาบนี้ไปหรือเปล่า?

     นักศึกษาห้องนี้ เคยเรียนกับฉันมาแล้ว  รู้ดีว่าฉันเป็นอย่างไร  ดังนั้นสัปดาห์แรกที่เปิดภาคเรียน  จึงมีนักศึกษาหายไปแค่คนสองคน  ทุกคนที่มาต่างรอรับ “โพย” แผนการเรียนจากฉัน  เพื่อทำความเข้าใจกันว่าตลอดภาคเรียนนี้  ฉันจะให้พวกเขาทำอะไรบ้าง

     ฉันทักทายนักศึกษาตามธรรมเนียม   แล้วก็บอกพวกเขาไปหน้าตาเฉยว่า  ฉันไม่มีแผนการเรียนวิชานี้ให้เขาหรอก   ถ้าจะเรียนพวกเขาต้องทำกันเอง

     ลองนึกเอาเองก็แล้วกันว่า  สีหน้าของนักศึกษาจะเป็นอย่างไร  ฉันอยากถ่ายวิดีโอเก็บไว้ดูจริงๆ

     ฉันใช้เวลาประมาณ 5 นาทีคุยกับพวกเขาเรื่องกฎหมายการศึกษา ฉบับปฏิรูปนั่นแหละ   ไม่ต้องพูดยืดยาวท้าวความมากเรื่องดอก   เพราะเพื่อนๆ ครูของฉันในคณะครุศาสตร์แต่ละคน  บรรยายกรอกหูลูกศิษย์พวกนี้มาในทุกรายวิชาชีพครูที่ไปเรียนที่นั่นเรียบร้อยแล้ว  

     ฉันถามพวกเขาว่าอยากร่วมมือกับฉันในการ “ทำ” ตามกฎหมายนี้ไหม?   

     นักศึกษามีท่าทีกระตือรือร้นขึ้นมาทันที  เรื่องลองของใหม่นี่  ทั้งครูทั้งศิษย์ยุขึ้นพอกัน

     ฉันเตรียมกระดาษการ์ดแผ่นยักษ์ให้พวกเขา วางลงบนโต๊ะปฏิบัติการที่พวกเขานั่งล้อมวงกันอยู่   โต๊ะละแผ่น    โต๊ะหนึ่งมีนักศึกษาประมาณ 7-8 คน   แบ่งได้ 5 กลุ่มพอดี    แล้วให้ปากกาปลายสักหลาดกลุ่มละ 2 ด้าม

     “เอ้า!   ช่วยกันคิดหน่อย  คิดแล้วเขียน  มีหัวข้อให้คิด 3 เรื่อง   ข้อหนึ่ง  ถ้าคุณต้องการจะเป็นนักเทคโนฯที่ดี  คุณจะต้องมีความสามารถอะไรบ้าง?   ข้อสอง  ในความสามารถแต่ละด้านนั้น  คุณจะต้องทำอย่างไรจึงแสดงว่าคุณมีความสามารถเหล่านั้นแล้ว?   และข้อสาม คุณจะมีอะไรเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าคุณได้ทำหรือมีความสามารถเหล่านั้นแล้วจริง?” 

     ฉันหวังว่าจะได้จุดมุ่งหมายของวิชานี้จากข้อ 1   ได้กิจกรรมที่นักศึกษาต้องทำจากข้อ 2   และข้อ 3 จะได้การประเมินผล    ระหว่างรอ   ฉันนึกในใจว่า “ฉันหวังมากไปหรือเปล่านี่?”  

     นักศึกษาแต่ละกลุ่มเริ่มหันหน้าเข้าหากัน  คุยกันเสียงดังตามประสาวัยรุ่น  พอตกลงเรื่องไหนได้  ก็ลงมือเขียนกันไป 

     ฉันเดินสำรวจผ่านๆ ว่ามีอะไรบ้าง   เห็นแล้วก็มีกำลังใจขึ้นทันที 

     เมื่อทุกกลุ่มเสร็จแล้ว  ก็ผลัดกันนำเสนอความคิดของกลุ่มตน   ให้เพื่อนวิพากวิจารณ์ว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร   ข้อใดที่มีผู้ไม่เห็นด้วยก็เปิดอภิปรายกันเอง   หาวิธีตกลงกันเอง  จนได้ผลรวมของข้อย่อยๆ ที่อยู่ในคำถามทั้ง 3  ที่ทุกคนเห็นด้วย

     สาระที่นักศึกษาเขียนออกมานั้น  หากนำมาพิจารณาจัดเป็นหมวดหมู่แล้วก็ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ฉันเคยกำหนดไว้ในแผนเดิมทุกข้อ    นั่นคือ  นักศึกษาจะต้องมีความสามารถในการปฏิบัติงานเทคโนฯ 3 ด้าน คือ  งานบริหาร  งานบริการ  และงานผลิต  

     แต่สิ่งที่ไม่คาดหวังก็เกิดขึ้น   นั่นคือ มีหลายข้อที่ไม่สามารถจัดในหมวดหมู่ทั้งสามนั้นได้  เมื่ออภิปรายกันแล้วก็สรุปได้ว่าเป็นเรื่องของการพัฒนาตนเองให้มีทักษะหรือความสามารถพิเศษต่างๆ  ที่จะช่วยให้การทำงานเทคโนฯ มีประสิทธิภาพขึ้น   จึงเกิดหมวดหมู่ใหม่ขึ้นมา  เรียกว่า งานพัฒนาตนเอง

     เป็นอันว่า  แผนการเรียนวิชานี้ที่นักศึกษาคิดขึ้นมา   มีงานที่พวกเขาต้องการปฏิบัติรวม 4 ด้านคือ งานบริหาร  งานบริการ  งานผลิต  งานพัฒนาตนเอง

     ในการทำงานเหล่านี้  พวกเขาจะทำกันในลักษณะของโครงการ   ซึ่งจะมีทั้งที่ทำเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม   จำนวนคนในกลุ่มก็แล้วแต่ลักษณะของโครงการและปริมาณงานที่จะทำ     

     ส่วนของหลักฐานที่จะแสดงว่าพวกเขาทำงานเหล่านั้นจริง  พวกเขาจะเขียนแผนผังโครงสร้างการปฏิบัติงานเทคโนโลยีของแต่ละคนเพื่อใช้เป็นแผนหลัก    เขียนโครงการทุกงานที่ตนปฏิบัติ  นำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากอาจารย์ หรือให้อาจารย์อนุมัติก่อน  เมื่อนำโครงการไปปฏิบัติ  จะมีบันทึกการปฏิบัติงาน  ภาพประกอบ  หนังสือรับรอง  แบบประเมิน  และอื่นๆ ตามความจำเป็น เพื่อเป็นหลักฐาน

     ที่สำคัญคือ พวกเขาเสนอแนวคิดของการนำเสนอผลงานในลักษณะของแฟ้มสะสมงาน (Portfolio) รายบุคคล  

     ฉันล่ะชอบใจจริงๆ  ตรงนี้    ทั้งๆที่ยังนึกภาพไม่ออกว่าจะมีหน้าตาเป็นยังไง   ถึงแม้จะมีนักศึกษาถามว่าในแฟ้มนั้นฉันต้องการอะไร    ฉันก็แค่ตอบไปว่า  “จัดทำในแบบที่คุณคิดว่าดีที่สุดสำหรับการนำเสนอผลงานของตัวเองได้อย่างมีระบบค่ะ”

     “เรา” ตกลงกันว่าจะใช้เวลา 2 อาทิตย์สำหรับให้แต่ละคนไปคิด ปรึกษาหารือ และวางแผนปฏิบัติงาน   จากนั้นแต่ละคนจะต้องเขียนโครงสร้างของแผนปฏิบัติงานและโครงการที่จะทำมาส่ง   เพื่อที่ฉันจะได้มีแผนหลักของแต่ละคนอยู่ในมือ   

     สำหรับแผนหลักของแต่ละคนนั้น  หากมีความจำเป็นต้องปรับแผนในอนาคต  ก็สามารถทำได้   โดยแสดงเหตุผลที่สมควร   ซึ่งตรงนี้ จะทำให้ฉันประเมินความสามารถในการแก้ปัญหาของนักศึกษาได้ด้วย

     เมื่อทุกคนมีแผนปฏิบัติการของตนเองเรียบร้อยแล้ว   ฉันก็ไม่ได้เจอพวกเขาในห้องเรียนอีกเลย  ถ้าอยากจะพบทั้งห้องก็ต้องนัดเป็นคราวๆ   เพราะพวกเขาต่างก็มุ่งทำงานตามโครงการที่เสนอไว้   

     นักศึกษาบางคนมาพบฉันเมื่อมีข้อสงสัย  ติดขัด ต้องการความช่วยเหลือ หรือขาดความกระจ่างในเรื่องการปฏิบัติงาน   โดยไม่จำเป็นว่าต้องตรงกับชั่วโมงเรียนตามตาราง   แต่การมาตรงกับชั่วโมงเรียนจะเป็นการรับประกันว่าพบตัวฉันแน่ๆ  เพราะนั่นคือเวลาของพวกเขาโดยชอบธรรม

     ฉันนำแผนของพวกเขาทุกคนมาพิจารณา  พบว่าโครงการที่เสนอมา   มีความหลากหลาย  น่าสนใจ  และมีปริมาณมากมายกว่าที่ฉันคิดว่าพวกเขาจะทำได้ในหนึ่งภาคเรียน  

     ที่สำคัญคือ มากกว่าที่ฉันคิดเอาไว้ในแผนของฉัน

     ภาพนักศึกษาเตรียมงานในโครงการของเขาบริเวณหน้าอาคารเทคโนฯ  เป็นภาพที่ฉันชอบมอง  พวกเขาดูมีความสุขกับการทำกิจกรรม  คงเป็นเพราะเขาเลือกเอง 

     ทุกคนพยายามดึงเอาศักยภาพที่มีอยู่ในตัวออกมาใช้อย่างเต็มที่   ฉันได้เห็นความสามารถในตัวของนักศึกษาหลายคน  ซึ่งฉันไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อน    มีการแข่งขันระหว่างกลุ่มเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีกว่า   และในขณะเดียวกันก็มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

     ฉันได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าเป็นระยะๆ จากบางคน   แต่บางคนก็หายหน้าไป   ถ้าหากยังสามารถรู้ข่าวคราวจากนักศึกษาคนอื่นว่าไม่ได้เหลวไหลอย่างใด  ฉันก็ปล่อยพวกเขาตามสบาย

     นักศึกษาทราบดีว่าฉันเน้นการทำงานที่เป็นระบบ  เพราะพวกเขาเรียนรายวิชาวิธีระบบกับฉันในภาคเรียนที่ผ่านมา    ดังนั้นพวกเขาจึงนำความรู้ในวิชานั้นมาใช้ในวิชานี้อย่างเต็มที่  

     การทำงานด้านบริหาร  จะเป็นโครงการที่มีสมาชิกหลายคน  นักศึกษามีการจัดองค์กร  แบ่งหน้าที่  บริหารบุคลากร  การเงิน และการจัดการ   ในการประชุมของกลุ่ม ก็มีการจัดทำเอกสารการดำเนินงาน อาทิ  วาระการประชุม  รายงานการประชุม  บัญชีรายรับรายจ่าย   หนังสือติดต่อภายใน-ภายนอก  เป็นต้น

     ระหว่างที่นักศึกษาแยกย้ายกันไปปฏิบัติงาน  ฉันก็มาคิดว่าจะประเมินผลการเรียนวิชานี้อย่างไรดี   จริงอยู่ที่มีแฟ้มสะสมงานเป็นหลักฐานการประเมินอยู่แล้ว   แต่จะตรวจอย่างไร  ให้คะแนนอย่างไร   และควรประเมินวิธีใดร่วมด้วยอีกกันล่ะ?

     คำตอบที่ให้กับตัวเองเป็นอันดับแรกคือ  การสอบปากเปล่าเป็นรายบุคคล  น่าจะใช้เวลาคนละ 15 นาที   ตรงนี้น่าจะทำให้รู้ว่านักศึกษาทำอะไร  มีความรู้ และทักษะอะไรเพิ่มขึ้น  และต้องเป็น 15 นาทีที่เขาเป็นผู้นำเสนอและเป็นฝ่ายพูดมากกว่าฉัน   สิ่งที่ฉันประเมินในส่วนนี้คือ ความพร้อมและความสามารถในการนำเสนอ  บุคลิกภาพและความเชื่อมั่นในตนเอง   ที่สำคัญคือทัศนคติที่พวกเขามีต่อการทำงาน  พูดง่ายๆ คือ ฉันอยากรู้ว่าพวกเขาได้อะไรจากการทำงานในวิชานี้

     ด้วยจำนวนนักศึกษา 43 คน  ที่เรียนวิชานี้  การสอบปากเปล่าใช้เวลามากทีเดียว  ฉันคงต้องลองคิดหาวิธีอื่นๆ  ในครั้งต่อไป

     ต่อมาฉันคิดว่าต้องให้พวกเขาประเมินกันเองด้วย   ไหนๆ ก็ร่วมกันมาแต่ต้นแล้วนี่    ตรงนี้ให้พวกเขาประเมินการปฏิบัติงานของเพื่อนๆ ซึ่งฉันไม่มีโอกาสได้เห็น ได้ใกล้ชิดเช่นพวกเขาเอง  ดังนั้นเมื่อตรวจแฟ้มและสอบปากเปล่าเสร็จ   ฉันก็เรียกประชุม  

     ฉันบอกพวกเขาว่าต้องการให้ช่วยประเมินเพื่อนๆ ให้หน่อย  และคิดวิธีการที่จะใช้   ซึ่งสรุปว่า  ให้แต่ละคนเขียนชื่อเพื่อน 5 คน  ที่สมควรจะได้ A    จากนั้นก็แจกแจงความถี่กันบนกระดาน  ชื่อของผู้ที่ได้ความถี่สูงสุด 10 อันดับแรกในจำนวนนักศึกษา จะได้เกรด A  ส่วนชื่อที่เหลือเป็น B ใครที่ไม่มีชื่อปรากฏเลยก็เป็น C

     เมื่อนำคะแนนอีกสองส่วนคือ แฟ้มสะสมงานและการสอบปากเปล่า  มาพิจารณาร่วมกัน   ผลที่ออกมาก็ตรงกับเกรดที่ฉันให้ไว้ก่อนแล้ว    ส่วนนี้ช่วยยืนยันความแม่นตรงและความยุติธรรมได้ดี  ฉันพอใจและพวกเขาก็พอใจ

     ในการตรวจแฟ้มสะสมงาน  ฉันออกแบบใบ checklist  ซึ่งมีรายการและค่าคะแนนไว้    โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน  ส่วนแรกเกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพของแฟ้มสะสมงาน   ส่วนที่สอง   เกี่ยวกับผลการปฏิบัติงาน 4 ด้าน  แต่ละด้านแยกย่อยไปตามปริมาณของโครงการที่จัดทำ  ใครทำโครงการมากก็มีแต้มสะสมมาก

     ฉะนั้นเมื่อนักศึกษาแต่ละคนส่งแฟ้มหนาเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2 นิ้วมาให้  ฉันก็สามารถตรวจให้คะแนนได้สะดวก  และมีหลักฐานไว้แสดงแก่พวกเขาด้วยเช่นกัน  โปร่งใสด้วยกันทั้งสองฝ่าย 

     ฉันพบว่า แฟ้มของพวกเขาหลายคน เต็มไปด้วยหลักฐานการทำงานที่แสดงถึงความมีระบบในการทำงาน   ความสามัคคี  ความร่วมมือร่วมใจทำงาน  และจากรูปภาพที่นำมาประกอบ  เห็นได้ชัดเจนว่าพวกเขามี “ความสุข” ในการปฏิบัติงานนั้นๆ

     แฟ้มสะสมงานทุกแฟ้มนั้น นักศึกษามาขอรับคืนทุกคน   เพราะแสดงผลการปฏิบัติงานที่พวกเขาภาคภูมิใจ   นักศึกษาจึงเก็บไว้เหมือนเป็นสมบัติอันมีค่า  ที่ฉันกล้าพูดเช่นนี้เพราะเวลาผ่านไปแล้ว 1 ปี   เมื่อฉันต้องการสรุปผลงานทั้งหมดของพวกเขาในบทความนี้   เพียงเอ่ยปากบอกว่าขอยืมแฟ้มหน่อย   พวกเขาก็นำมาส่งให้ในสภาพที่เรียบร้อยครบถ้วน และไม่ลืมที่ถามฉันว่าจะให้มารับคืนได้เมื่อไหร่ 

     หากดำเนินการตามแผนการเรียนของฉัน  นักศึกษาจะปฏิบัติงานเทคโนฯ 3 ด้านๆ ละ หนึ่งโครงการ     แต่เมื่อให้พวกเขาคิดเอง    ฉันสรุปจากแฟ้มพบว่ามีโครงการหลัก  26  โครงการ   และโครงการย่อยๆ รายบุคคลอีก เฉลี่ยคนละ 2-3 โครงการ 

     นี่คือรายชื่อโครงการหลักที่นักศึกษาคิดขึ้นมาปฏิบัติงาน
     โครงการสื่อเพื่อน้องวัดหัวไผ่  สุพรรณบุรี
     โครงการสื่อเพื่อน้องวัดเชิงเลน  นนทบุรี
     โครงการปากเกร็ดกิจกรรมนันทนาการของหนู  บ้านเด็กพิการปากเกร็ด นนทบุรี
     โครงการหน่วยงานบริหารสื่อรณรงค์การเลือกตั้ง  นนทบุรี
     โครงการกิจกรรมนันทนาการเพื่อเด็กยากจนบ้านครูน้อย กทม.
     โครงการบริการงานเทคโนฯ  ที่ฝ่ายเทคโนฯ  สวนสุนันทา
     โครงการเล่านิทานเพื่อน้องโรงเรียนอนุบาลปทุมธานี
     โครงการจัดบอร์ดโรงเรียนวัดโบสถ์ กทม.
     โครงการจัดบอร์ดโรงเรียนสามัคคีสงเคราะห์ เขตคลองเตย กทม.
     โครงการจัดป้ายนิเทศโรงเรียนวัดโพธิ์เลื่อน ปทุมธานี
     โครงการผลิตสื่อให้โรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม สมุทรสาคร
     โครงการผลิตสื่อให้โรงเรียนวัดท่าบันเทิงธรรม นนทบุรี
     โครงการผลิตสื่อให้โรงเรียนวัดท่าพระ กทม.
     โครงการผลิตสื่อให้โรงเรียนประถมสาธิตสวนสุนันทา
     โครงการผลิตสื่อให้โรงเรียนอนุบาลปทุมธานี
     โครงการศึกษาดูงานโสตฯ-เทคโนฯ สัมพันธ์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 15
     โครงการวาดรูปตามจินตนาการ
     โครงการศึกษาดูงาน Photo Fair 2
     โครงการฝึกทักษะการถ่ายวีดิโอ
     โครงการศึกษาดูงานสำนักพิมพ์เดลินิวส์
     โครงการเรียนโปรแกรม Microsoft Word
     โครงการเรียนโปรแกรม Photoshop
     โครงการเรียนคอมพิวเตอร์ Office 2000
     โครงการฝึกทักษะฝีมือด้านการผลิตลวดลายผ้าบาติก
     โครงการเรียนซ่อมวิทยุ
     โครงการศึกษาดูงานถ่ายภาพโฆษณาอาหาร

     ส่วนที่ว่าโครงการใดจะเป็นงานบริหาร  งานบริการ  งานผลิต หรืองานพัฒนาตนเอง    ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน   เพราะขึ้นอยู่กับบทบาทของตัวเขาเองว่าทำหน้าที่อะไรในโครงการนั้นๆ    ซึ่งแน่นอนว่า แต่ละคนก็ต้องเขียนโครงการย่อยที่ตนเองปฏิบัติภายใต้โครงการหลักนั้นด้วย

     หนังสือรับรอง  จดหมายขอบคุณ  ใบประเมินผลงาน และวุฒิบัตร  ที่ได้จากโรงเรียน และหน่วยงานที่พวกเขาไปปฏิบัติงาน  แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้น ไม่เฉพาะแก่ตัวของเขาเอง  แต่กับชุมชนอีกด้ว

     เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนวิชานี้  ฉันมั่นใจว่านักศึกษาได้รับประสบการณ์ที่มีประโยชน์หลายสิ่ง  และล้วนเป็นประสบการณ์การทำงานที่มีคุณค่า   เพราะหลักฐานปรากฏชัดเจนจากบันทึก  ข้อเขียน และคำบรรยายของพวกเขาในแฟ้มสะสมงาน

     ถึงตรงนี้ ถ้าจะประเมินว่าฉันทำตาม กฎหมาย มาตรา 22 ได้หรือยัง   ฉันก็ต้องตอบว่า   ฉันก้าวข้ามพ้นเส้นพรมแดนของครูเป็นศูนย์กลางมาได้แล้วในรายวิชานี้   แต่ยืนอยู่ตรงจุดไหนของพรมแดนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางนั้น   ยังบอกไม่ได้แน่ชัด    ก็เพิ่งเป็นมือใหม่หัดขับนี่นา   ส่วนในรายวิชาอื่นๆ ก็ต้องทยอยดำเนินการกันต่อไป  ปีการศึกษาต่อไป  มีรายวิชานี้อีก  ก็จะทดลองทำซ้ำกับนักศึกษารุ่นใหม่  เปรียบเทียบผลว่าเป็นอย่างไร  

     เอาเป็นว่า   บนถนนสายครูของฉัน  การจัดประสบการณ์ที่เหมาะสมที่สุด ให้แก่ผู้เรียนที่ผ่านเข้ามาแต่ละรุ่น  แต่ละคน  ยังเป็นสิ่งที่ต้องค้นหา ทดลอง ปฏิบัติ  และพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ    เพราะถ้าหยุดเมื่อไหร่  เห็นทีจะทำอาชีพนี้ไม่รุ่งเป็นแน่

    ความไม่ซ้ำซาก จำเจ ของอาชีพนี้กระมัง  ที่เป็นเสน่ห์มัดใจให้ฉันทำอาชีพนี้อยู่ได้ทน

    ฉะนั้น  ก็ตั้งใจว่าเมื่อทำอะไรหรือมีสิ่งใดคืบหน้า  ก็จะนำมาแบ่งปันประสบการณ์กันกับเพื่อนร่วมอาชีพ   หากใครมีอะไรที่ทำไปแล้ว อยากแบ่งปัน  แนะนำ หรือ ให้ข้อคิด ก็ติดต่อมาที่ makaramani@ yahoo.com 

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 12726เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2006 12:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คุณป้าเจี๊ยบคะ อยากจะกระโดดกอดคุณป้าเจี๊ยบจริงๆที่เขียนบันทึกนี้ ละเอียดละออเห็นภาพ อยากให้ได้นำไปเป็นตัวอย่างให้อาจารย์ของคุณครูในอนาคตทั้งหลายได้นำไปปรับใช้บ้างจัง

ตอนนี้วงการไหนๆก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เมื่อไหร่เราให้โอกาสคนทุกคน ได้คิด ได้ทำด้วยตัวเอง โดยมีคนที่รู้มากกว่า วุฒิภาวะสูงกว่า ประสบการณ์มากกว่าเป็นเพียงพี่เลี้ยงและช่วยชี้แนะให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาเมื่อเขาต้องการ เราจะสามารถพัฒนาคนได้ตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพที่เขามีจริงๆ

ขอบคุณมากๆค่ะ สำหรับ"คุณครูในอนาคต"กลุ่มนี้ ที่คงจะเข้าใจหลักการและวิธีการ "สอนให้คนภูมิใจในตัวตนของตน คิดเป็น ทำเป็น"ของคุณป้าเจี๊ยบและหวังว่าพวกเขาจะนำไปขยายผลต่อยังผลผลิตของพวกเขาเองในอนาคต

บทความนี้ดีค่ะ แสดงให้เห็นความเป็น child center ที่ไม่ได้โยนทุกอย่างให้เด็กทำอย่างไม่มีเป้าหมาย แต่มันก่อให้เกิดความรู้แบบ Constructivism ซึ่งสิ่งนี้ที่ครูทุกคนอยากจะให้เด็กมีมากที่สุด ยิ่งถ้าเด็กทุกคนนำเอาส่วนที่ได้ไปใช้ในทางที่ถูกต้องแล้วด้วย เมืองไทยของเราคงจะได้เป็นประเทศพัฒนาแล้วแน่นอน ซึ่งนี่แหละคือหน้าที่ของครู อาจารย์อย่างพวกเรา ขอบคุณนะคะ "ป้าเจี๊ยบ" ที่ทำให้พวกหนูแข็งแรงแบบทุกวันนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท