ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

อีครู


"ครุปริทัศน์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มิถุนายน 2546"
     ในยุคที่คำขึ้นต้นด้วย “อี” (e = elec tronic) สะพัดและเป็นที่นิยมสุดสุด  เริ่มจาก e-mail จนเกิดสารพัดอีตามมาอย่างเช่น e-commerce, e-business, e-shopping  และในวงการศึกษาก็มี e-library, e-learning, e-teaching, e-book แถมยังมีการถกเถียงเรื่องอีเล็ก(e) อีใหญ่(E) ในคำที่ใช้กันว่าใครถูกใครผิด จนไปๆมาๆ ก็มีใช้ทั้งสองแบบ แถมตามด้วยคำที่ขึ้นต้นเล็กบ้างใหญ่บ้าง ตามแต่ใครจะใช้อะไร

      สถาบันราชภัฏสวนสุนันทาก็ไม่น้อยหน้าสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในเรื่องของ e-learning เพราะมีนโยบาย และแผนงานที่ชัดเจนในเรื่องนี้  ทั้งยังปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมด้วยการมีสำนักการศึกษามวลชน และสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศขึ้นมารับผิดชอบดำเนินการ   ลงทุนงบประมาณไปแล้วหลายสิบล้านบาท  ได้ผลลัพธ์กลับมาในสิ่งที่แสดงความก้าวหน้าหลายด้าน  แต่ถึงจุดคุ้มทุนหรือไม่นั้น  คงต้องรอดูกันต่อไป
      ในการจัดการเรียนการสอนแบบ e-learning มีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย ต้องอาศัยการจัดการที่เป็นระบบ  และดูแลให้ครบทุกมิติ

      มิติที่เราพูดถึงกันน้อยมากคือ ครูในการจัดการเรียนการสอนแบบ e-learning ซึ่งจะขอเรียกว่า e-teacher หรือ อีครู

      เท่าที่ผ่านมา เราไม่ค่อยจะพูดกันถึงการเตรียมตัวเป็นอีครู บทบาทของอีครู หรือแม้แต่เรื่องที่ว่าเราจะเป็นอีครูกันอย่างไร? 

      เราเน้นเรื่องอุปกรณ์เครื่องมือ เน้นตัวโปรแกรมที่จะมาใช้  โดยหวังว่าเมื่อมีสองส่วนนี้แล้ว  ตามติดมาด้วยการจัดอบรมให้แก่ครูสักครั้งสองครั้ง  ทุกคนก็สามารถเป็นอีครูได้
มันคงไม่ง่ายอย่างนั้นแน่!  

      คำถามที่เกิดขึ้นในใจก็คือ อีครูเป็นอย่างไร?

      แรกสุดก็ต้องสร้างความมั่นใจให้ตัวเองก่อนว่า อีครูเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง   จึงเข้าไปค้นดูในอินเตอร์เนต  ก็เจอเหมือนกัน แต่เป็นคำภาษาอังกฤษในเว็บไซด์ภาษาฮิบรู  จีนและเยอรมัน   ข้อติดขัดเรื่องภาษาทำให้ไม่สามารถขยายฐานความเข้าใจให้ตัวเองได้  ส่วนที่มีเป็นภาษาอังกฤษก็กล่าวถึงน้อยมาก  และมีลักษณะเป็นคำเฉพาะมากกว่า  อาทิ เรียกผู้ที่คอยตอบคำถามเกี่ยวกับความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งทางอีเมล์ (e-mail) ว่าอีครู   เรียกผู้ที่ทำการสอนผ่านทางอินเตอร์เนตว่าอีครู   และเรียกโปรแกรมการเรียนการสอนที่จัดผ่านทางอินเตอร์เนตว่าอีครู  

      เป็นอันว่าอีครูมีอยู่จริง  แต่เป็นอย่างไรนั้น  ไม่มีข้อมูลมากพอ  การที่เป็นเช่นนั้นหมายความว่าครูในยุคอิเล็กทรอนิกส์เบ่งบานนี้  ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไปแล้ว?  หรืออาจเป็นเพราะประเด็นสำคัญในยุคนี้คือ ผู้เรียนกับการเรียนรู้   ไม่ใช่ครู ?  

      แล้วใครล่ะคือคนที่ทำหน้าที่จัดการเรียนรู้ทั้งหลายที่ปรากฏผ่านทางอินเตอร์เนต?  นั่นคืออีครูใช่ไหม?  และอีครูแตกต่างจากครูทั่วไปอย่างไร?

      ในเมื่อข้อมูลในเรื่องนี้มีน้อยมาก การค้นหาคำตอบเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องคิดหาเหตุผล วิเคราะห์ และพิจารณาหาข้อสรุปเอาเอง ซึ่งจะกล่าวเป็นประเด็นไปดังนี้
      ประเด็นแรกคือ มีความจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องมีอีครู?    
      เมื่อสามปีที่แล้ว นักการศึกษาคนหนึ่งชื่อ Christine Canning-Wilson เขียนบทความเรื่อง E-learning with E-teacher: Considerations for On-line Course Design แสดงความคิดเห็นว่า วิธีการจัดและการประเมินผลการศึกษาแบบเดิมๆจะสูญพันธ์ เนื่องจากพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆของวิธีการเรียนรู้ด้วยระบบสื่อทางไกล เธอจึงเสนอประเด็นเกี่ยวกับ e-content, e-grading และ e-assessment ในวิชาการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง เธอศึกษาข้อมูลต่างๆ จนเชื่อว่า เทคโนโลยีการศึกษากำลังก้าวไปสู่การสลายรูปแบบการเรียนการสอนในชั้นเรียนแบบธรรมดา เพื่อไปเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์  โดยจะมีการใช้อย่างแพร่หลายและจะสนองความต้องการของผู้เรียนได้มากกว่า

      ความคิดเห็นดังกล่าวประกอบกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการศึกษาและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ   ทำให้น่าจะสรุปได้ว่าครูอาจารย์ที่ทำหน้าที่อยู่ในขณะนี้จะต้องพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นอีครู! 
      ณ วันนี้  ใครที่ยังไม่ขยับตัวแม้แต่น้อยในเรื่องเกี่ยวกับ e-learning เพื่อเตรียมตัวเป็นอีครู  ก็อาจจะพบตนเองอยู่ในกลุ่ม “ครูผู้สูญพันธ์” ได้ในไม่ช้า
     

      ประเด็นต่อมาคือ บทบาทและหน้าที่ของอีครู
      เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว   เคยเขียนบทความเรื่อง “ครูคือใครในยุคสารนิเทศ” (ตอนนั้นยังไม่มีคำว่าสารสนเทศ) ซึ่งทำนายบทบาทของครูว่า จะต้องเปลี่ยนไปเป็นผู้จัดการเรียนรู้  เนื่องจากผลพวงของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต    ปรากฏว่าคำทำนายดังกล่าวเป็นจริงแล้วในวันนี้   ชนิดที่ไม่มีข้อโต้แย้งเสียด้วย   ไม่ว่าจะดูจากเหตุการณ์ในสังคมปัจจุบัน หรือการปฏิรูปการศึกษาที่เริ่มดำเนินการเมื่อสี่ปีที่แล้ว  ล้วนมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือ การจัดการเรียนรู้อย่างหลากหลายซึ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
      บทบาทของอีครูที่คิดไว้  ก็สมควรเป็นเรื่องของการจัดการเรียนรู้เช่นกัน   แต่การจัดการเรียนรู้นั้น   ต้องดำเนินการโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีการสื่อ
สาร   ทำให้อีครูต้องมีบทบาทสองส่วน  ส่วนแรกคืออีครูเป็นผู้จัดการเรียนรู้  ทำหน้าที่วางแผน   ออกแบบ และดำเนินการให้ผู้เรียนทำกิจกรรมที่หลากหลาย  จัดเตรียมแหล่งการเรียนรู้อย่างเพียงพอ  และจัดการประเมินผลอย่างชัดเจนได้มาตรฐาน  จนเกิดการเรียนรู้ตามที่ตั้งเป้ามายไว้  ส่วนที่สองคือ อีครูเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นสื่อในการจัดการเรียนรู้
      

      ประเด็นสำคัญที่จะพิจารณาต่อไปคือ  ทำอย่างไรครูจึงจะเป็นอีครู ?
      เราต้องยอมรับว่า การทำให้ครูคนหนึ่งเปลี่ยนไปเป็นอีครู  ไม่ใช่เรื่องง่าย  ถ้าพิจารณาจากบทบาทที่กล่าวมาแล้ว  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?
      ในช่วงเวลาที่ผ่านมา  แม้จะยอมรับกันว่ากลไกสำคัญที่สุด ที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จคือครู   โดยจะต้องเปลี่ยนบทบาท จากผู้สอนไปเป็นผู้จัดการเรียนรู้   ปรับบทบาทจากครูเป็นศูนย์กลางไปสู่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  แต่ปรากฏว่าการพัฒนาครูเป็นไปค่อนข้างยากลำบาก  เพราะครูเคยชินกับการทำงานแบบเดิมเดิม  ไม่ยอมคิด ไม่ยอมเปลี่ยน  หรือเปลี่ยนแบบหุ่นยนต์คือ ทำเพราะถูกบังคับหรือทำตามคำสั่ง  ไม่ได้เกิดจากใจ  จากความคิดของตน  จึงทำให้การปฏิรูปการศึกษาไม่ได้ผลอย่างที่ควรจะเป็น
      การปรับบทบาทครูให้เป็นผู้จัดการเรียนรู้ก็นับว่าเป็นเรื่องยากอยู่แล้ว    การพัฒนาครูให้เป็นอีครู ก็น่าจะยากยิ่งกว่าเพราะต้องแสดงบทบาทถึงสองส่วนดังกล่าว

      ดังนั้นจึงน่าคิดว่า ครูคนเดียวจะสามารถแสดงบทบาททั้งสองส่วนอย่างมีประสิทธิภาพได้หรือ?  และจำเป็นไหมที่ครูคนเดียวจะต้องแสดงได้ทั้งสองบทบาทนั้น ?
      ครูคนไหนทำได้ ก็นับว่าประเสริฐยิ่ง  เป็นกลุ่มที่ไม่มีอะไรต้องห่วงใย  แต่จะมีสักกี่เปอร์เซนต์ของจำนวนครูทั่วประเทศ ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาที่เป็นได้ 
      การทำให้ครูเป็นอีครู  คงต้องมองในมุมใหม่  คือ อีครูไม่จำเป็นต้องหมายถึงครูคนเดียว แต่เป็นการร่วมกันทำงานระหว่างครู บุคลากรทางการศึกษา ช่างเทคนิค หรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ  

      เราต้องมองการจัดการเรียนการสอนแบบ e-learning ว่าเป็นระบบที่มีความซับซ้อนพอสมควร  การจัดให้ได้ดีต้องมีการบริหารจัดการที่ดี  ต้องอาศัยศักยภาพของบุคคลหลาย ๆ คนมาร่วมกันทำงานเป็นทีม  ทุกคนในทีมเป็นอีครูทั้งนั้น  เพียงแต่มีบทบาทความรับผิดชอบแตกต่างกันไป  อาทิ  อีครูทำหน้าที่ตอบคำถามทางอีเมล์  อีครูทำฐานข้อมูลที่จะเป็นแหล่งการเรียนรู้  อีครูออกแบบการเรียนรู้  อีครูวางระบบ  ฯลฯ 
      จำนวนอีครูในทีมจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขอบเขตของรายวิชาที่รับผิดชอบ  อย่างไรก็ตาม  เมื่อพิจารณาจากลักษณะของงานและความจำเป็น  ทีมที่มีสมาชิกอยู่ระหว่าง 2-4 คน ก็น่าจะสามารถจัดการเรียนการสอนแบบ e-learning ได้อย่างมีปะสิทธิภาพ   อีครูคนหนึ่งๆ จะเป็นสมาชิกในหลายๆทีมก็ได้  ขึ้นอยู่กับความสามารถและปริมาณงานของตน
      ในกรณีของการจัดการเรียนการสอนรายวิชาที่เป็นวิชาเดียว และมีผู้สอนหรือผู้จัดการเรียนรู้เพียงคนเดียว  แต่ขาดความรู้ความสามารถในบทบาทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ   สถาบันการศึกษานั้นจำเป็นจะต้องเติมเต็มบทบาทส่วนนี้ให้  ด้วยการบริหารจัดการให้มีอีครูด้านนี้มาเป็นทีมสนับสนุนอย่างพอเพียง  ไม่ใช่จัดอบรม e-learning ให้ครูเพื่อให้แต่ละคนไปดำเนินการต่อไปกันเอง    
      ดังนั้นการพัฒนาครูทั่วไปให้เป็นอีครูจึงควรกำหนดกลยุทธ์แยกกันเป็น 2 ส่วน  ส่วนหนึ่งคือ การพัฒนาอีครูแบบเบ็ดเสร็จ  เป็นการพัฒนาที่มีเป้าหมายให้ครู “แต่ละคน” สามารถทำได้ทุกบทบาทที่พึงมีในการจัดการเรียนรู้แบบ e-learning  การพัฒนาแบบนี้มักทำกันบนพื้นฐานที่เชื่อว่า ครูมีความสามารถในการออกแบบการเรียนรู้อยู่แล้ว    เพียงเติมเต็มในส่วนของเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีการสื่อสารเข้าไป   ก็เป็นอันว่าได้อีครูที่ต้องการ  จึงใช้วิธีการจัดฝึกอบรมเป็นส่วนใหญ่  และมักจะไม่ประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวัง  เพราะขาดการวิเคราะห์คุณสมบัติพื้นฐานของครูที่เข้าอบรมอย่างจริงจังเพื่อนำมาเป็นข้อมูลหลักในการออกแบบการฝึกอบรมให้เหมาะสม   ถ้าได้ครูที่มีคุณสมบัติพื้นฐานเหมาะสม  การพัฒนาในลักษณะนี้จะทำได้ไม่ยากและรวดเร็ว
      อีกส่วนคือ การพัฒนาอีครูแบบทีม   เป็นการพัฒนาที่มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีทำงานของครูมากกว่าการเพิ่มความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีให้ครู  การพัฒนาแบบนี้ต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ครูแต่ละคนว่าขาดบทบาทส่วนใดที่พึงมีในการจัดการเรียนรู้แบบ e-learning   แล้วดำเนินการเติมส่วนที่ขาดหายไปให้สมบูรณ์  โดยอาศัยศักยภาพของผู้อื่นมาร่วมกันทำ  พูดอย่างง่ายๆ คือจัดทีมทำงานให้ครู  ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดี
      

      โดยสรุป อีครูคือผู้ที่ทำหน้าที่จัดการเรียนรู้แบบ e-learning ให้แก่ผู้เรียน  ครูในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นครูการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือครูอุดมศึกษา  จำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้เป็นอีครู  เพราะรูปแบบการจัดการศึกษาที่กำลังปรับเปลี่ยนไปเนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีการสื่อสาร   ในการจัดการเรียนรู้แบบ e-learning  จะประกอบด้วยบทบาทและหน้าที่หลากหลายที่ครูจะต้องทำ  ซึ่งทั้งหมดนั้นอาจทำได้โดยครูเพียงคนเดียว  หรือต้องอาศัยครูและบุคลากรหลายคนมาช่วยกัน   ดังนั้นการพัฒนาครูให้เป็นอีครูจึงต้องมีการดำเนินงานอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการอีครูแบบเบ็ดเสร็จหรืออีครูแบบทีม

เอกสารอ้างอิง
     1. Canning-Wilson, Christine. “E-learning with E-teacher: Considerations for On-line Course Design”. One-Stop Education Center. The weekly column, Article 42, December 2000. http://www.eltnewletter.com/back/December2000/art422000.htm
     2. รสสุคนธ์ มกรมณี. “ครูคือใครในยุคสารนิเทศ”.  พวงชมพูปริทัศน์. วารสารครุศาสตร์สวนสุนันทา. 2532, หน้า 42-45.
     3. รสสุคนธ์ มกรมณี. “ครูกับทศวรรษของยุคสารสนเทศ”.  ครุปริทัศน์. วารสารวิชาการสถาบันราชภัฏสวนสุนันทา.  ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 (มิถุนายน 2543), หน้า 90-93. 

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 12723เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2006 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เห็นหัวข้อบันทึกก็รีบคลิ๊กเข้ามาอ่านทันทีคะ :)

ดิฉันคิดว่า ในส่วนหนึ่ง หากเราสามารถพัฒนาระบบ E-learningให้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน โดยสอบถามความต้องการของ "ครู" ในฐานะผู้ใช้ระบบตั้งแต่เริ่มแรกของการพัฒนาระบบ จะทำลด Technology resistance ไปได้เยอะนะคะ เพราะระบบที่ได้จะเป็นระบบที่ตรงใจทั้งรูปลักษณ์และความสามารถในการทำงาน

และเมื่อเรา Implement ระบบ ก็ต้องมีการ Training ให้ "ครู" อย่างเต็มที่คะ พร้อมกันนี้ องค์กรต้องให้ Reward ในการที่ครูเป็น "อีครู" เช่น คิดเป็น KPI เป็นต้นคะ

อาจารย์เห็นคิดอย่างไรบ้างคะ

ขอบคุณค่ะที่ช่วยคิด เคยทำแบบที่อาจารย์แนะค่ะ  บางส่วนทำได้ โดยเฉพาะกับผู้สอนที่มิได้จบมาทางสายสอน และทำได้ดีกับผู้สอนมือใหม่ (สอนน้อยกว่า 3 ปี) แต่สำหรับผู้สอนที่มีประสบการณ์และเทคนิคการสอนหลากหลาย ออกแบบการสอนซับซ้อน  เราพบว่าไม่สามารถสนองตอบความต้องการของบุคคลเหล่านี้ได้ ด้วยข้อจำกัดเรื่องเงิน คนและเวลา

KPI ก็เป็นความฝันของดิฉันค่ะ ผู้บริหารหน่วยงานของดิฉันพูดๆๆ เรื่องนี้มานาน เห็นแต่พูดยังไม่ทำสักที  อาจารย์มีคำแนะนำอะไรดีๆ มั๊ยคะ?

ปล. ถ้าดิฉันลงไปหาดใหญ่ จะมีเวลาไปกินแต่เตี๊ยมด้วยกันมั๊ยคะ?

ด้วยความยินดีแน่นอนคะ :) แต่เตี๊ยม-บะกุ้ดแต้ในหาดใหญ่ ต้องร้าน "เย็นจิตร" นะคะอาจารย์ อร่อยมากๆ แต่บางคนเขาก็ชอบทานร้าน "โชคดี" คะ

ไว้อาจารย์จะมาหาดใหญ่เมื่อไร อย่าลืม Email มาก่อนนะคะ ที่ jantawan (@) gmail.com คะ

 

ดิฉันก็กำลังทำใจกับการที่มีคนเรียกว่า  ว่า อีครูอ้อย

เพราะ  ชื่อ  อ้อย  และเป็นครูที่เห็นชอบกับจัดการเรียนการสอนออนไลน์   ต้องทำใจนะคะ

เมื่อก่อนนี้สัก ห้าปีที่ผ่านมา  มีการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้  และมี อีแอบ  ดิฉันจำไม่ได้แม่นว่าเรื่องอะไร  แต่เพื่อนก็ยังเรียนเราว่า  อีอ้อยเลยค่ะ

อ่านบันทึกของอาจารย์แล้วได้ความรู้มากเลยค่ะ 

ขอบคุณมากค่ะ

ส่วนแรกคืออีครูเป็นผู้จัดการเรียนรู้  ทำหน้าที่วางแผน   ออกแบบ และดำเนินการให้ผู้เรียนทำกิจกรรมที่หลากหลาย  จัดเตรียมแหล่งการเรียนรู้อย่างเพียงพอ  และจัดการประเมินผลอย่างชัดเจนได้มาตรฐาน  จนเกิดการเรียนรู้ตามที่ตั้งเป้ามายไว้  ส่วนที่สองคือ อีครูเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นสื่อในการจัดการเรียนรู้

เสียดายครับ เป็นผู้ชาย  แต่ก็อยากเป็น "อีครู" ด้วยเหมือนกัน .. ขอบคุณครับป้า.
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท