รหัสพันธุกรรมมนุษย์...ข้อมูลส่วนตัว หรือ ข้อมูลของใคร??


...เมื่อต้องเปิดเผยรหัสพันธุกรรมของคุณให้คนอื่นรับรู้...

เป็นเวลากว่าสิบปีนับจากการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้น นักวิทยาศาสตร์นำข้อมูลทางพันธุกรรมไปวิจัยและค้นพบสิ่งใหม่เกี่ยวกับมนุษย์เราเพิ่มมากขึ้นทุกวัน แต่ในทางกลับกัน การเปิดเผยรหัสพันธุกรรมของแต่ละคน ให้สังคมรับรู้ ยังเป็นข้อถกเถียงในหลายวงการว่าควรหรือไม่ควร และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงเมื่อไร 

รหัสพันธุกรรม ถือได้ว่าเป็นข้อมูลส่วนตัวที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละคน ว่าง่าย ๆ คือรหัสนี้ของคนสิบล้านหรือร้อยล้านคนจะไม่มีทางซ้ำกัน ฉะนั้น รหัสนี้จะบอกได้เลยว่า เจ้าของรหัสคือใครบนโลกใบนี้  

หลายคนคงสงสัยแล้วว่ารหัสพันธุกรรมของคนคนหนึ่ง รู้แล้วเอาไปทำอะไรได้บ้าง ที่คุ้น ๆ ตากันก็คงเป็นการตรวจหาพ่อแม่ลูก การตรวจพิสูจน์ศพ การสืบหาร่องรอยของคนร้าย ข่าวคราวเหล่านี้ได้เห็นกันตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือแม้แต่ในละครภาคค่ำ ดู ๆ แล้วก็ไม่เห็นมีอะไรเกี่ยวกับเราเท่าไหร่ แล้วคนเราจะเถียงเรื่องการเปิดเผยรหัสพันธุกรรมกันทำไมเป็นสิบปี 

ความวุ่นวายและข้อโต้เถียงเกิดขึ้นเมื่อมีเรื่องสิทธิเสรีภาพ สังคม การเมือง และเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง 

ถ้ารัฐบาลหรือหน่วยงานของโลกสักหน่วยงานหนึ่ง จัดทำฐานข้อมูลขึ้นมาเพื่อเก็บรหัสพันธุกรรมของคนทุกคนในประเทศ หรืออาจจะรวมถึงทุกคนในโลกไร้พรมแดนแห่งนี้ คนที่เข้าไปดูรหัสข้อมูลจะรู้ได้ทันทีว่า คุณคือใคร คุณมีโรคทางกรรมพันธุ์หรือไม่ คุณมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งมากน้อยแค่ไหน ลูกของคุณเกิดมาแล้วจะเป็นโรคอะไรบ้าง เด็กเพิ่งเกิดคนหนึ่งจะอ้วนผอมสูงขาวได้สักเท่าไหร่ ถ้าข้อมูลเหล่านี้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ก็คงดีหรอก แต่ถ้ามีคนนำมันไปใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวล่ะ 

ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่น คุณเดินเข้าไปขอทำประกันชีวิตกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง หากบริษัทไม่รู้ข้อมูลพันธุกรรมคุณ คุณอาจจะได้วงเงินประกันสักสิบล้านบาท แต่บังเอิญบริษัทเปิดรหัสพันธุกรรมของคุณดู แล้วพบว่า คุณมีโอกาสเป็นโรคความดันสูงมาก เบาหวานก็เป็นกรรมพันธุ์ติดตัวมากับคุณ หรือแม้แต่มะเร็งตัวดีก็เกิดกับคุณได้ง่ายกว่าชาวบ้าน นี่ยังไม่รวมโรคทางพันธุกรรมอื่นอีกสารพัด บริษัทเห็นแล้วจึงรีบเปลี่ยนใจจากสิบล้าน เหลือสักสามล้านห้าก็พอ เพราะอะไรหนะหรือ ก็เพราะบริษัทเห็นแล้วว่าคุณมีโอกาสเจ็บป่วย เข้าโรงพยาบาลรักษายกใหญ่ได้ง่ายมาก แล้วบริษัทจะยอมเสี่ยงเสียเงินสิบล้านได้ยังไง ความเสี่ยงที่จะป่วยสูงอย่างนี้ เงินประกันสามล้านห้าก็อาจยังมากไป นี่คือผลกระทบเมื่อรหัสพันธุกรรมถูกนำไปใช้ในทางเศรษฐกิจ 

เอาอีกสักตัวอย่างที่ดูใกล้ตัวมาอีกนิดก็เช่นการมีคู่ชีวิต ว่าแล้วมันเกี่ยวอะไรกัน เกี่ยวแน่นอน เพราะรหัสพันธุกรรมที่คุณมีนั้นถูกถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และบรรพบุรุษของคุณ ซึ่งหมายความว่า ลูกหลานเหลนโหลนของคุณจะได้รับรหัสส่วนหนึ่งของคุณไปเช่นกัน เกิดวันดีคืนดี คุณไปขอลูกสาวชาวบ้านแต่งงาน ว่าที่แม่ยายพ่อตาขอดูข้อมูลรหัสพันธุกรรมของคุณ จะไปขอลูกสาวเค้าทั้งที พ่อแม่เค้าขออะไรก็ต้องตามใจหน่อย หลังจากครอบครัวว่าที่เจ้าสาวเห็นรหัสของคุณก็รีบส่งคุณกลับบ้านปิดประตูทันที ก็คุณเล่นหอบหิ้วพันธุกรรมที่จะทำให้ลูกหลานคุณมีโอกาสเป็นสารพัดโรค แถมตัวคุณก็ป่วยไข้ได้ง่ายดาย ใครจะยอมยกลูกสาวให้คุณล่ะคราวนี้ ขืนแต่งงานกันไปแล้วลูกหลานเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ร้ายแรง หรือตัวคุณป่วยไข้เจ็บ ๆ ออด ๆ อยู่ตลอดเวลา ต้องให้ลูกสาวเค้าดูแลอยู่ฝ่ายเดียว ก็คงไม่สนุกแน่ จริงมั้ย 

นี่เพียงเหตุการณ์ง่าย ๆ ที่พอจะเห็นภาพกันชัด ๆ ยังไม่รวมถึงสิทธิส่วนบุคคลอีกสารพัด แถมอาจยังนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองได้อีกด้วย เช่น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนต้องถูกตรวจสอบรหัสพันธุกรรมก่อนเข้ารับตำแหน่ง อะไรทำนองนี้ อันนี้ว่าไปแบบเว่อร์นิด ๆ แต่อาจจะเกิดขึ้นจริงก็ได้ใครจะไปรู้ 

ไม่น่าแปลกใจเลยที่เกือบสิบปีแล้ว ทำไมการพูดคุยกันว่า ควร หรือ ไม่ควร เปิดเผยรหัสพันธุกรรมของแต่ละคนจึงยังไม่สิ้นสุดลง การศึกษาวิจัยทางสังคมจำเป็นต้องมีอย่างกว้างขวาง เพื่อหาข้อดีข้อเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา ก่อนที่จะสรุปกันได้ว่า เราควรจะยอมเปิดเผยรหัสประจำตัวที่มีมาแต่กำเนิดนี้หรือไม่ และเราจะได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพจากรหัสพันธุกรรมของเรามากน้อยแค่ไหนอย่างไร 

หมายเลขบันทึก: 126968เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2007 02:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 08:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ลองไปหาหนังสือเรื่อง Next ของ Michael Crichton มาอ่านดูนะครับ พูดถึงปัญหาข้อนี้ได้น่าคิดมาก

เขาบอกเป็นนัย ๆ ว่า ไม่ว่าคุณจะยอมหรือไม่ยอมให้ คนอื่นก็จะมาเอาจากคุณ

คุณณิช ทำไมเงียบไปเลย

ไม่ได้เห็นบันทึกมานานแล้วค่ะ อยากอ่านค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ genie

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจค่ะ ยังมีอยู่หลายเรื่องที่อยากจะเขียนเล่า แต่ยังไม่ได้ลงมือเขียนสักที *__*  คิดว่าคงจะได้เขียนเรื่องนึงเร็ว ๆ นี้ล่ะค่ะ :-D

เขียนให้ข้อคิดที่ดีมากกกกกกค่ะ

ถ้าอยากเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ลองดูหนังเรื่อง GATTACA ดูสิค่ะ

เป็นเรื่องทำนองนี้แหล่ะค่ะ มีการตรวจเลือด เพื่อดูรหัสพันธุกรรมว่าในอนาคตจะเป็นโรคอะไร กำหนดอาชีพและการเรียนตั้งแต่อยู่ในท้องเรียนว่าเด็กที่เกิดมาจะเป็นโรคประจำตัวอะไรหรือไม่ ควรทำงานประเภทไหนจึงจะเหมาะสม แต่เรื่องนี้ก็สอนให้รู้ว่า นอกจากพันธุกรรมที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดจะเป็นตัวกำหนดชีวิต การใช้ชีวิตในสังคม และการไม่ยอมแพ้กับชะตาชีวิตเป็นอย่างไร

ป.ล. หากสังเกตดีๆ ชื่อภาพยตน์เรื่องนี้ เป็นลำดับเบสเพื่อกำหนดรหัสพันธุกรรมเท่านั้นค่ะ

สวัสดีค่ะคุณรักษ์ชล

ขอบคุณที่แนะนำภาพยนต์มานะคะ ไว้มีโอกาสจะลองหามาดูค่ะ

คล้ายๆใน นส เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ เลย แต่เอามาเรียบเรียงให้เข้าใจง่ายขึ้นดีนะ

ยังไม่เคยอ่านหนังสือ เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ ภาคภาษาไทยหรือว่าอังกฤษค่ะ

น่าสนใจ น่าจะเป็นประโยชน์ มากโทษ มนุษย์ เราถ้าจะมีครอบครัว ต้องกันด้วยพันธุกรรม ไม่ใช่ดูแค่หน้าตา คงจะดีไม่น้อย มีรหัสพันธุกรรมแต่ละคน ประมาณค่าใช้จ่าย แต่ละคน ในห้องปฎิบัติการและการอ่าน ประมาณเท่าใด (ราคาทุน)

ไม่มีข้อมูล

มันน่าสนใจมากนะค่ะ แลวอยากทราบเรื่องมนุษย์ที่มีไอคิว200ค่ะ คืออยากทราบว่าเขายังทำการวิจัยเรื่องนี้อยู่หรือเปล่า

บทความนี้อาจจะนาน และผมเพิ่งเห็น ฮ่าๆๆๆ โดยส่วนตัวผมว่าดีนะครับ จะช่วยให้เราสามารถรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บของตัวเราเองทั้งหมด และนอกจากนี้ยังสามารถป้องกันรักษาก่อนมันจะเกิดได้อีกด้วย แต่หากมองในสังคมโดยรวม ด้วยเทคโนโลยีนี้ จะทำให้ปัญหาประชากรล้นโลก อาหารขาดแคลน บานปลาย จนอาจจะถึงขั้นแก้ไขไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี วิทยาศาสตร์ต้องพัฒนาเสมอ สุดยอดครับบทความนี้ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท