ศูนย์อนามัยที่ 1 KM หน่วยงานต้นแบบ (ตอนที่ 3)


เราเริ่มทำ KM ด้วยคำถามที่ว่า ... ทำไมต้องทำ ? ... ทำเพื่ออะไร ? ... ใครได้อะไรจากการทำ ? ... ไม่ทำได้หรือไม่ ?

 

ได้แรงใจจากคนเข้ามาอ่านค่ะ เลยเกิดอารมณ์ฮึด ทั้งๆ ที่ในมือก็มีงานอีกหลายชิ้น ที่รอจะให้ทำอยู่ … และพอบันทึกไปเรื่อยๆ ก็คิด (เอาเอง) ว่า น่ารู้นะ ก็เลยได้เรื่อง มาสกัดเรื่องราวให้พวกเราได้รู้ดีกว่า เพราะว่า อาจนำไปตรึกตรอง และทำแผนส่งกรมต่อกันได้อย่างสอดรับกับยุทธศาสตร์กรมอนามัย

คุณเพ็ชรัตน์ คีรีวงก์วันนี้ มาฟังกัน ถึงเรื่องของการพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพ หรือ KM ในกลุ่มนักวิชาการ ของศูนย์อนามัยที่ 1 ... คุณเพ็ชรัตน์เล่าว่า ... เราเริ่มทำ KM ด้วยคำถามที่ว่า ... ทำไมต้องทำ ? ... ทำเพื่ออะไร ? ... ใครได้อะไรจากการทำ ? ... ไม่ทำได้หรือไม่ ? ... แล้วถึงจะลงท้ายว่า ... ทำอย่างไร ? กลุ่มเราคุยกันมากมาย พอเริ่มต้นที่จะรู้ว่า ... เราต้องทำอย่างไร ? ... เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่า KM นั้นมีประโยชน์ ... เราก็เริ่มประชุม อภิปราย ถกเถียง กันอย่างมาก คงรู้ ... style นักวิชาการ จบไม่ค่อยลง ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ ...ในกลุ่มก็เสนอว่า ถ้าอย่างนั้นเอาหนังสือไปอ่าน “มือใหม่หัดขับ” และใครมีสื่ออะไร หลายๆ อย่าง ก็เอาไปอ่าน แต่ละคนก็รับภารกิจไป และนัดประชุมกันเพื่อมา clear concept กัน ว่า เราไปอ่าน ไปดู ไปรู้ ไปเห็นอะไรมา ตกลงมันคืออะไรกันแน่ แล้วจะทำกันอย่างไร

และเมื่อเราเริ่มรู้ว่า KM คืออะไร และจะทำอย่างไร จากการเรียนรู้ตามหนังสือ จากคนอื่นเขาทำ เช่น ไปดูจากห้องคลอดว่า เขาทำอย่างไร ก็มาเล่าสู่กันฟัง หรือว่าใครไปประชุมข้างนอก เคยไปเห็นข้างนอก ก็มาเล่าสู่กันฟัง แต่ก็ยังงงๆ ... เราก็เริ่มมาทำกันตามทฤษฎีเดิม เนื่องจากเราเคยทำ SWOT ไว้ว่า สิ่งที่เป็นจุดอ่อน ที่ต้องพัฒนาของเราคืออะไร เราเคยทำ self assessment ของ TQA ไว้ เรามีสมรรถนะ จึงเอาทั้ง 3 อันนี้มากำหนดเป็นประเด็นเรียนรู้ร่วม ว่า ... แล้วในกลุ่มของเราที่จะเป็น CoP เราควรคุยกันในเรื่องอะไร ถกเถียง ทั้งวัน ก็ได้ผลลัพธ์ออกมาว่า ... เราควรคุยกันในเรื่องของการนิเทศงาน เรื่องของการสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่าย ว่า ถ้าเราไปนิเทศในกลุ่มของที่เป็นบุคลากรสาธารณสุขก็ดี อบต. ก็ดี หรือว่าเครือข่ายองค์กรอื่นๆ ก็ดี แต่ละคนได้ใช้ประสบการณ์ หรือความรู้ความสามารถตรงไหนมา กำหนด Fa 2 คน ผู้จดบันทึก 2 คน แล้วเราก็เริ่มทำ ... ลุย ลุย ลุย ... (แหะ แหะ ก็ลุยไปได้ 1 ครั้งแล้ว) และก็เกิดคำถามที่ว่า อย่างนี้ถูกทางหรือไม่ แต่เราก็มี schedule นะคะว่า ทุกวันที่ 15 ของเดือน ขอให้ทุกคนอยู่กันให้ครบ เรามี 9 คน นัดมาคุยกันในวันที่ 15 จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยส่งความรู้ในวาระการประชุมของกลุ่ม ใครที่ไปประชุม ไปรู้ ไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญมา มาแลกเปลี่ยนกัน เป็นการสะสมความรู้ด้านหนึ่ง

เราเคยทำสภากาแฟตอนเช้า ทำไปเรื่องหนึ่ง เรื่อง การลดความอ้วน มีสมาชิกสนใจเข้าร่วม 3-4 คน เราทำข้อสัญญาร่วมกันว่า จะกินอาหารกันอย่างไร ออกกำลังกายอย่างไร และไปออกกำลังกายอย่างไร มีเมนูอาหารอย่างไร ก็เอามาคุยกัน ... แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะว่า เรายังไม่มีการบันทึก ยังไม่มีทักษะ และยังไม่มีความสนุกกับการบันทึก มีแต่ความสนุกกับการ share มากกว่า

จากประสบการณ์ทั้งหลายที่เราได้ทำไปนี้ เราสรุปบทเรียนของเราได้ว่า
1. ทฤษฎีมีไว้อ้างอิง การเรียนรู้ที่แท้จริงต้องลงมือปฏิบัติ … เพราะว่า เราเสียเวลาไปกับการ clear concept ปนทฤษฎีกันมาก
2. การ ลปรร. ในแนวคิดของกระบวนการ KM ไม่จำเป็นต้องหาข้อยุติ ต้องเรียนไปรู้ไป เพราะคำตอบจะได้ในช่วงท้ายของบทสรุป ไม่ใช่ที่จุดเริ่มต้น … เราไม่จำเป็นจะต้องเสียเวลาว่า KM คืออะไร ทำอย่างไร พอเราได้ concept กว้างๆ แล้ว ลงมือทำได้เลย
3. KM ต้องเริ่มง่าย ถึงจะจูงใจให้คนหันมาสนใจ แต่ในขณะเดียวกันต้องอิงหลักการ … เพราะว่าสุดท้ายเราต้องได้อะไรจากการทำ KM เป็นเรื่องเป็นราว
4. ต้องเชื่อมั่นในกระบวนการ KM ว่ามีประโยชน์จริง ไม่ใช่ทำเพราะภาคบังคับ ... เชื่อมั่นการทำงาน KM จะเป็นผลในระยะยาว และเราจะเกิดความสนุกในการทำ KM
5. เมื่อคุณเอื้อของกลุ่มต้องอยู่ในบทบาทของผู้ร่วม ลปรร. บทบาทต้องชัดเจน … แต่บางที ลูกน้องเกิดความเกร็ง ก็จะเรียนรู้ตาม ไม่เกิดเรียนรู้ร่วม บางครั้งก็เลยไม่ค่อย share
6. Fa ในกลุ่มนักวิชาการที่จัดเจน ต้องเป็น Fa ที่เจนจัด
7. คุณลิขิตต้องเก่งต้องได้รับการพัฒนาทักษะ เพราะต้องทำความรู้ที่กระจัดกระจาย เป็นหมวดหมู่ให้ได้
8. สภากาแฟ สนุก น่าสนใจ แต่ไม่เกิดประโยชน์ระยะยาวถ้าไม่มีการบันทึก

คุณชูศรี ผลเพิ่มคุณชูศรี ได้เล่าเพิ่มเติมว่า เรามีการออกไปเพื่อปรึกษาหารืออาจารย์ หรือผู้มีประสบการณ์ข้างนอก แต่ไม่ค่อยมีการบันทึก ตอนหลังมีข้อตกลงร่วมกันว่า การออกไปแลกเปลี่ยนเช่นนี้  หรือไปห้องสมุด ให้กลับมาบันทึกลงใน Portfolio สักครึ่งหน้า ว่า ได้ไปเรียนรู้อะไรมา และเมื่อเวลาวาระการประชุมกลุ่ม ก็มา share กันว่า มีใครได้ไปเรียนรู้เรื่องอะไรกันบ้าง

พญ.นันทา ให้ข้อคิดเพิ่มเติมว่า ... KM ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เขาเอาองค์ความรู้ หรือวิธีการที่นำมาทำเป็นระบบมากขึ้น สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เหมือนกับคนรถ ความจริงเขาคุยกันเองอยู่แล้ว แต่ว่าคุยกันอย่างไม่ได้จดบันทึก ไม่ได้นำไปสู่การให้คนอื่นได้ใช้ประโยชน์ตรงนั้น หรือสร้างพลัง เพราะถ้าได้เอาเรื่องนี้มาเพื่อสร้างพลังให้แก่คนอื่น ก็จะได้รู้จักในส่วนที่ดีของแต่ละคน KM ก็จะนำไปสู่การสร้างมาตรฐานในการทำงาน สร้างค่านิยม เหมือนกับเป็นการพิสูจน์ทฤษฎีของพวกเราออกใหม่ และเพื่อประโยชน์ของการทำงานได้ด้วย

คุณชูศรี ... ภายใต้ความกังวลนิดๆ ... ถามว่า จากประสบการณ์เราเคยไปทำ AIC เมื่อกลับมา มักจะถูกขอกลับไปช่วยเขาทำงาน ช่วยจัดการ ไป lecture เรื่องของกระบวนการการดำเนินงาน เป็นสิ่งที่ทำให้มีความรู้สึกค่อนข้างเครียด เพราะเราถ้าเป็นเรื่องของ KM ความที่ควรจะเป็นในขั้นตอนของ KM จริงๆ นั้นคืออะไร ถ้าจังหวัดต้องการให้ให้เราไปช่วยเผยแพร่ บอกวิธีปฏิบัติ เราก็ควรจะได้มีสิ่งที่เชื่อถือได้ไปบอกเขา เพราะเวลาที่เรามาทดลองในกลุ่ม ก็ต้องการสิ่งที่เราจะเอาไปใช้ได้ข้างนอกได้ด้วย แต่เราก็ยังตอบไม่ได้ว่า มันควรจะเริ่ม 1 2 3 4 5 ไปอย่างไร หรือมันไม่มีเลย เพราะว่า KM ก็บอกว่าให้เราทำอย่างมีความสุข แต่สิ่งที่ กพร. ให้เราต้องส่ง ต้องบันทึก ต้องดำเนินการนั้น มันไม่ใช่เลย อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นข้อที่ทำให้เราไม่ค่อย Happy มากๆ

พญ.นันทา ... เสนอให้ข้อคิดว่า ... การทำ KM เมื่อเราอ่านตำรามาเยอะแล้ว ก็ลงมือทำได้เลย เมื่อทำไปแล้วก็สอนเขาได้อยู่แล้ว ตำราแต่ละเล่มอาจเขียนไม่เหมือนกัน แต่หลักการเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าถูกเชิญ เราเอาประสบการณ์ไปใช้ คนที่เขาอยากทำ คงไม่อยากทำตามตำรา จริงๆ แล้ว เขาอยากทำในสิ่งที่ทำแล้วทำได้ และก็ต้องสอดคล้องกับบริบทเขาด้วย เพียงแต่เราต้องเอาสิ่งที่เราทำไปถ่ายทอด ทำได้แล้วค่ะ

ในคำถามที่ว่า กพร. ให้แบบฟอร์มมาเยอะ เราก็ต้องทำความเข้าใจ กพร. เหมือนกัน ถามตัวเองโดยส่วนตัวว่า เห็นด้วยไหมที่ กพร. ให้เอกสารมาปึกหนึ่ง มีตารางเยอะแยะ แต่เขาก็มี Choice ให้เลือกนะว่า เราอาจใช้วิธีอื่นก็ได้ และเราก็ต้องเข้าใจ กพร. ว่า เป็นเพราะ กพร. ทำงานกับราชการตั้งเยอะ ตอนนี้เราเริ่มเรียนรู้ เราก็คิดว่าเราอยากทำในสไตล์ของเรา เนื่องจากว่าเขาทำหลายหน่วยงาน เขาก็มีกรอบวางไว้อันหนึ่ง ที่บังคับให้คนทำ แต่เขาก็มี choice เปิดว่า ถ้าคุณไม่ทำตามนี้ ก็ให้บอกว่า คุณทำอะไร และเราต้องสามารถพิสูจน์ว่า เราทำตรงนี้แล้วจะไปตอบตรงนั้นได้ ... ก็เหมือนกับที่เราทำงานกับจังหวัด จะเห็นว่า พอเราเอาสิ่งที่บอกตั้งแต่ว่า 1 2 3 4 5 ไปให้ทำ จังหวัดก็บอกว่า มาสั่งฉันทุกเรื่อง ไม่อยากทำ ... พออีกสไตล์หนึ่ง บอกว่า อยากได้อย่างนี้นะ ไม่ให้อะไรเลย ก็กลับมาบอกว่า ไม่เห็นบอกเลยว่า จะให้ทำอะไร ก็เลยไม่รู้จะทำอะไร เพราะฉะนั้น เมื่อเราเข้าใจ ก็อย่าไปเครียดมาก ทำเท่าที่เราทำได้ ทำแล้วได้ผลหรือไม่นั้น ถ้าได้ผล เราก็ได้ความรู้มากขึ้น เราได้ใช้ความรู้ที่เกิดขึ้น เราก็ได้ผลแล้ว

พญ.นันทา อ่วมกุล ผู้อำนวยการสำนักที่ปรึกษา กรมอนามัยพญ.นันทา ได้ฝากประเด็นสำคัญของกรมอนามัยว่า ... ปีนี้ กรมอนามัยทำแผน Blue Print of Change เน้นยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วม และการสร้างภาคีเครือข่าย ซึ่ง เป็นยุทธศาสตร์ที่เรามีความจำเป็น เพราะยังทำอะไรไม่ชัดเจน จึงน่าจะมีการสร้างประเด็นนี้ให้มากขึ้น ถ้าเราต้องการให้ทิศทางตรงกัน ... ก็เหมือนหัวปลาตะเพียน ถ้าเราอยากจะให้การจัดการความรู้สำเร็จ เราก็ต้องเลือกเรื่อง ขณะที่เรื่องอื่นๆ ก็ทำ แต่ว่าเรื่องใหญ่ที่คนทั้งกรมจะต้องมาทำ ก็ต้องมีเรื่องนี้ด้วย คือ การสร้างความมีส่วนร่วม และการสร้างภาคีเครือข่าย เพื่อเราจะได้นำมาแลกเปลี่ยนระหว่างศูนย์ / ส่วนกลางด้วยกัน หรือไปแลกเปลี่ยนกับคนนอกกรม ... อันนี้คงจะเป็นหัวปลาของกลุ่มที่ช่วยกันคิด ซึ่งอาจจะมีส่วนร่วมภาคีเครือข่ายภายนอก หรือภาคีเครือข่ายภายใน แล้วแต่ความเหมาะสม และเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรวม อย่าง TQM ได้มีการบูรณาการ และเดินไปในทิศทางเดียวกัน เพราะว่าการเดินกันคนละทาง รั้งกันไป สิ่งที่ทำอาจจะถูก แต่ว่ายังไม่ถึงเวลาที่เราจะทำตรงนั้นให้เกิดขึ้น

ข้อคิดท้ายสุด แต่ไม่สุดท้าย ของคุณหมอนันทา ... ถ้าเราได้ lesson learn มาแล้ว คงต้องไปปรับ จังหวัดเชิญมาก็ควรไปกระตุ้น เพราะว่า ถ้าเราได้ศึกษามา เห็นประโยชน์ในการจัดการความรู้ ว่า ทำให้งานเดินเร็วขึ้น เราก็ควรช่วยทำให้เกิดขึ้นในวงกว้าง ถ้าเรามั่นใจในกระบวนการนี้ ส่วนตัวแล้วคิดว่า การจัดการความรู้จะทำให้เกิดการพัฒนาทั้งคนทั้งงานได้ และก็ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ... ทำไปเลยค่ะ ลุย ลุย ลุย คนที่ไปทำแล้วเท่านั้นที่จะเป็นคนสร้างทฤษฎีใหม่ได้ และจะเห็นว่า เราเรียนจากตำรา เวลาที่ไปทำงานจริง เหมือนหมอ ไม่ใช่ว่า เรียนจากตำราแล้วทำได้ ก็ต้องเรียนจากตำรา แล้วเข้าไป apply ประยุกต์กับคนไข้ คนนี้อาจต้องใช้เทคนิคนี้ คนไข้คนอื่นอาจจะต้องใช้อีกเทคนิคหนึ่ง ... เหมือนกัน ... ลุยเลย สิ่งนี้จะสร้างประสบการณ์ให้เรา นำมา lesson learn ไว้ บันทึกไว้ แล้วเราก็จะได้ผลตามที่เราต้องการค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 12675เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2006 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ผมก็เป็นแฟนของคุณนนทลีครับ   เมื่อวานได้ชมกับหมอสมศักดิ์    ว่าคุณนนทลีเขียน บล็อก เก่ง   น่าอ่านมาก

วิจารณ์

ขอเพิ่มสรุปบทเรียน ข้อ ๙   เอาความสำเร็จเล็กๆ มา ลปรร กัน และช่วยกันตีความว่าความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นจากอะไร   เพราะมีความเชื่ออย่างไร  คิดอย่างไร  ทำอย่างไร  ฟันฝ่าอุปสรรคอย่างไร 

วิจารณ์

 

เรียน อาจารย์วิจารณ์

อาจารย์พูดเสียเขิน จะขอเรียนอาจารย์ว่า ที่เอามาเขียนมาเล่า ส่วนใหญ่จะเป็นสำนวนคนพูดในเรื่องราวทั้งหมดละค่ะ อาจารย์ ที่เขียนเองนั้น คงจะเป็น การเกริ่นนำ และตบท้ายมากกว่าละค่ะ

ขอสะสมประสบการณ์สักหน่อย แล้วคงจะเขียนได้คล่องกว่านี้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ เป็นการให้กำลังใจอย่างมากเลยค่ะ

 

ขอขอบพระคุณ อาจารณ์วิจารณ์ ที่กรุณาเพิ่มบทเรียนข้อที่ 9 ให้ ตอนนี้เรากำลังจะตั้งวงสภากาแฟ ลปรรเรื่องเทคนิกการสร้างพลังกลุ่มคะ คุยกันเรื่องเบาๆ ง่ายๆ ที่แต่ละคนถนัดในเรื่องนี้  ถ้าไม่ล่มก่อนจะเล่าความก้าวหน้าคะ
ร่วมแสดงความเห็นเพิ่มครับ "สิ่งที่บอกว่าเป็นความสำเร็จนั้น เป็นความสำเร็จของตัวกิจกรรมหรือผลของกิจกรรม เพะราะบางทีความสำเร็จของตัวกิจกรรมอาจไม่ใช่ความสำเร็จของผลของกิจกรรมก็ได้"

ขอบคุณ คุณหมอพิเชฐมากเลยนะคะ ที่มากระตุกต่อมความคิด ว่า เราคงต้องกันให้ลึกว่า กิจกรรม วิธีการที่เราสร้าง ที่จริงนั้นมันได้ผลลัพธ์อะไรหรือยัง ที่ทำให้ยั่งยืน

การที่ดิฉันเขียนถึง ศูนย์อนามัยที่ 1 และกล้าเขียนมากมาย (ซึ่งความจริงแล้วก็เอามาจากการถอดเทปนะคะ) เพราะมีความอยากเขี่ยน อยากเล่า เพราะว่าดิฉันเองเป็นอดีตคนที่เคยทำงานที่ศูนย์ 1 มีความรู้สึกว่า ศูนย์ 1 เป็นบ้าน ที่อยากให้คนอื่นได้รู้จัก (แอบใส่รูปผู้คนเข้าไปด้วยละค่ะ) อยากให้บ้านเป็นบ้านที่อบอุ่น (ซึ่งบุคลิกของคนที่ศูนย์ ก็เป็นเช่นนั้นอยู่เสมอ ดิฉันกลับไปหาครั้งไร ทุกคนจำได้ ทักทาย เสมอต้นเสมอปลาย ก็อิ่มใจทุกครั้งที่กลับไป) และเป็นบ้านที่มีบุคลากรที่มีคุณภาพ

ตอนนี้ ศูนย์ 1 มีการพัฒนาการก้าวหน้าขึ้นมามาก ยิ่งตอนมาทำ KM ส่วนหนึ่งคงมีพัฒนาการที่ถูกต้อง แต่ความมีคุณภาพนั้น คงต้องหาเพื่อนๆ ผู้รู้ในวงการมาช่วยกันวิเคราะห์

และเมื่อได้เข้ามาใน GotoKnow นั้น กว่าจะเข้าก็ละล้าละลังมาก ศึกษามานานแล้วค่ะ แต่รู้สึกว่า ยุ่งยาก ไม่มีเวลา ก็ละเลยไปพักหนึ่ง ก็ได้คุณหมอสมศักดิ์ละคะ พูดกระทบอยู่เรื่อยๆ (ขออภัยนะคะ พูดความจริงที่รู้สึก แต่ไม่ได้ต่อว่า) วันหนึ่งก็มีความฮึดขึ้นมา ลองดู หลังเลิกงานละค่ะ เป็นเวลาเหมาะสมของการทำงานต่อเนื่อง เริ่มศึกษาก็ดึกแล้ว จนได้ผลเอาประมาณใกล้เที่ยงคืน จึงได้เริ่มขั้นตอนการสมัคร gotoKnow และก็เขียนเรื่องเริ่มต้นต่อ กะว่า จะบอกคุณหมอสมศักดิ์ช่วงเช้านั้น เพราะจะเจอกันพอดี แต่ไม่ทันได้บอก คุณหมอก็ทักเสียแล้ว อารมณ์สนุกก็เริ่มเกิดค่ะ เพราะเพิ่มความมั่นใจว่า สืบค้นใน GotoKnow คงไม่ยาก

พอเข้ามาก็ติดใจค่ะ ตรงที่ เราได้มีอาจารย์ เพื่อนๆ เข้ามาให้ความเห็น (เรื่องนี้เป็นความต้องการมากมาแต่ไหนแต่ไร) และก็เรื่องที่มีสาระที่ต้องการเพื่อนร่วม share เป็นเหตุเมื่อมีอะไรที่อยู่ในมือ ก็อยากที่จะเล่าสู่กันฟัง ไม่ใช่เล่าเพราะคิดว่า สิ่งที่เล่านั้นดีแล้วนะคะ แต่เพื่อการเปิดมุมมองว่า แล้วที่ทำไปนั้นน่ะ ความจริงแล้ว ใช่ หรือ ไม่ใช่ และมีอะไรที่น่าจะเพิ่มคุณค่าขึ้นได้อีก

ศูนย์ 1 คงไม่ว่ากันนะคะ ที่เหมือนกันเอาศูนย์ 1 มาเป็นตุ๊กตา ในการนำเรื่องดีๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงนี้

ตอนนี้ก็เริ่มขั้นตอน cheer cheer หาผู้เข้าร่วมชุมชน จากกรมอนามัย และอื่นๆ ก็หวังว่าจะเป็นชุมชนหนึ่งที่เราสามารถนำความรู้ที่แลกเปลี่ยนมาปรับปรุงงานของเรากันได้ต่อละค่ะ

ดีใจ และขอบคุณค่ะ

 

ขอร่วมแชร์ด้วยนะคะ ว่าของศูนย์1 น่าจะเป็นผลของกิจกรรมที่เกิดจากการใช้กระบวนการ KM
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท