แลกเปลียนความรู้การบริหารการศึกษา


ผู้บริหารมืออาชีพ
การบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคล                5.1 ความหมายของนิติบุคคล                นิติบุคคล เป็นบุคคลที่กฎหมายสมมติขึ้นเพื่อให้มีสิทธิหน้าที่และสามารถทำกิจการอันเป็นการก่อนิติสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้ภายในขอบวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้                นิติบุคคล แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (กระทรวงศึกษาธิการ. 2546 : 7-8)                                1. นิติบุคคลในกฎหมายเอกชน หมายถึง นิติบุคคลที่เกิดขึ้นตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยจะเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มบุคคลธรรมร่วมกันทำกิจกรรมอันใดอันหนึ่งและเพื่อให้ดำเนินกิจการนั้น ๆ ได้นิติบุคคลจำเป็นที่จะต้องมีทรัพย์สินและสามารถทำนิติกรรมต่าง ๆ ได้ดังนั้น เพื่อความสะดวกในการดำเนินกิจการ กฎหมายจึงกำหนดให้บุคคลดังกล่าวจดทะเบียนเพื่อจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นตามกฎหมายและดำเนินกิจการภายใต้นิติบุคคลเพียงคนเดียว หรือในกรณีที่เป็นการรวมทรัพย์สินที่จัดสรรไว้เป็นกองทุนเพื่อดำเนินกิจการอันใดอันหนึ่ง เช่น เพื่อการศึกษา ศาสนาหรือเพื่อสาธารณะประโยชน์อย่างอื่น โดยมิได้มุ่งหาประโยชน์และเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมายแล้วย่อมเป็นนิติบุคคล เช่น สมาคม มูลนิธิ เป็นต้น                                นิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นนิติบุคคลที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของเอกชนและไม่มีการใช้อำนาจมหาชน                                2. นิติบุคลตามกฎหมายมหาชน หมายถึง นิติบุคคลที่เกิดขึ้นตามกฎหมายมหาชน กล่าวคือ มีพระราชบัญญัติหรือกฎหมายที่อาศัยอำนาจจากพระราชบัญญัติกำหนดให้ จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ                                นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน จึงดำเนินกิจกรรมที่เป็นบริการสาธารณะและมีการใช้อำนาจมหาชน เช่น กระทรวง ทบวง กรม องค์การมหาชนของรัฐ เทศบาล วัด เป็นต้น                 5.2 ความเป็นมาของสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคล                การปฏิรูปการศึกษามีความมุ่งหมายที่จะจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดีมีความสามารถและมีความสุข การดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีพลัง และมีประสิทธิภาพจำเป็นที่จะต้องมีการกระจายอำนาจ และให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และเป็นไปตามหลักการของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ซึ่งให้มีการจัดระบบโครงสร้างและกระบวนการจัดการศึกษาของไทยมีเอกภาพเชิงนโยบาย และมีความหลากหลายในทางปฏิบัติ มีการกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาดังปรากฏในบทบัญญัติมาตรา 39 ที่ว่า กำหนดให้กระทรวงกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาทั้งด้านวิชาการงบประมาณการบริการงานบุคคลและการบริหารทั่วไป ไปยังคณะกรรมการและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง (กระทรวงศึกษาธิการ. 2546 : 6-7)                การกระจายอำนาจดังกล่าวจะทำให้สถานศึกษามีความคล่องตัว มีอิสระ ในการบริหารจัดการเป็นไปตามหลักของการบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Based anagemant : SBM) ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานและความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพได้มาตรฐานและสามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่อง                จากแนวคิดดังกล่าวเพื่อให้สถานศึกษามีความคล่องตัว มีอิสระและมีความเข้มแข็ง รัฐจึงให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล โดยให้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ในมาตรา 35 ดังนี้                มาตรา 35 สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามมาตรา 34(2) เฉพาะที่เป็นโรงเรียนมีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อมีการยุบเลิกสถานศึกษาตามวรรคหนึ่งให้ความเป็นนิติบุคคลสิ้นสุดลง                จากบทบัญญัติดังกล่าว โรงเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงเป็นนิติบุคคลโดยมีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2546 ซึ่งการเป็นนิติบุคคลของโรงเรียนตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้จะไม่เหมือนกับการเป็นนิติบุคคลประเภทอื่น ๆ เช่น กระทรวง ทบวง กรม หรือมหาวิทยาลัยของรัฐ กล่าวในภาพกว้างจะแตกต่างจากนิติบุคคลทั่วไป ๆ ที่มีขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตนเอง ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารงานของนิติบุคคลเป็นไปตามรูปแบบ หลักหรือวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง ส่วนโรงเรียนที่เป็นนิติบุคคลยังจะต้องปฏิบัติตามนโยบายหรือการดำเนินการต่าง ๆ ในกรอบที่กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานมีนโยบายมอบหมายหรือมอบอำนาจให้ปฏิบัติ ซึ่งคล้ายกับนิติบุคคลของจังหวัด                แต่การเป็นนิติบุคคลของโรงเรียนก็นำมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ เช่นเดียวกันกับนิติบุคคลอื่นหรือบุคคลธรรมดา ตามนัยมาตรา 66 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บัญญัติว่า นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ ดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง เช่น สามารถทำนิติกรรมสัญญาด้วยตนเอง หรือการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่าง ๆ ที่มีผู้อุทิศหรือบรินาคให้หรือมีอำนาจปกครอง ดูแลบำรุงรักษา ใช้และจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้หรือบริจาคให้ รวมทั้งการดำเนินคดีในศาลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม (ศาลแพ่ง ศาลอาญา) ศาลปกครอง ศาลชำนาญพิเศษต่าง ๆ เช่น ศาลแรงงานเป็นต้น                สถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคล หมายถึง โรงเรียนในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาที่กฎหมายยอมรับให้สามารถกระทำกิจการต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองภายในขอบวัตถุประสงค์มีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอื่นซึ่งกำหนดสิทธิและหน้าที่ของสถานศึกษาไว้เป็นการเฉพาะ                จากแนวคิดดังกล่าวจึงมีความจำเป็นที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องใช้อำนาจตามมาตรา 8 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการบริหารจัดการและขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ สถานศึกษาขั้นพื้นที่การศึกษาเพื่อเป็นกรอบขอบเขตในการปฏิบัติหน้าที่และวางหลักเกณฑ์ในการดำเนินการต่าง ๆ ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นนิติบุคคลเหล่านั้น                 5.3 ขอบเขตการดำเนินการของสถานศึกษา (โรงเรียน) ที่เป็นนิติบุคคล                จากหลักการดังกล่าวข้างต้น การเป็นนิติบุคคลของโรงเรียนไม่ได้มีความหมายว่าเมื่อโรงเรียนเป็นนิติบุคคลแล้วจะมีความอิสระในการบริหารงานหรือมีอำนาจหน้าที่ของตนเองอย่างไม่มีขอบเขต และเนื่องจากตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ไม่มีหมวดใดที่ได้บัญญัติเกี่ยวกับขอบเขตหรืออำนาจการดำเนินการของโรงเรียนที่เป็นนิติบุคคลไว้ จึงมีปัญหาว่าขอบเขตที่โรงเรียนจะต้องปฏิบัติได้แก่เรื่องใดบ้าง                โดยที่ทราบแล้วว่าเมื่อพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มีผลบังคับใช้ หน่วยงานระดับภูมิภาคจะมีการยุบรวมกัน และมีการโอนสถานศึกษาที่ทั้งที่อยู่ในสังกัดกรมสามัญศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถานศึกษาต่าง ๆ จึงโอนมาอยู่ในสายบังคับบัญชาสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นผู้บังคับบัญชา ฉะนั้น หน้าที่ในการดำเนินการต่าง ๆ ของสถานศึกษาจึงขึ้นอยู่กับหน่วยงานต้นสังกัดจะมอบหมายหรือมอบอำนาจให้ปฏิบัติซึ่งอาจเป็นกรณีสถานศึกษาได้รับมอบอำนาจจากเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ปฏิบัติหน้าที่โดยตรง หรือจากราชการส่วนกลางหรืออาจเป็นกรณีที่มีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการบริหารการจัดการ หรือมีกฎหมายเฉพาะ ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของสถานศึกษาก็ได้ เช่น อำนาจของสถานศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการผ่อนผันให้เด็กเข้าเรียนก่อน หรือหลังอายุเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2542 หรือการมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานในเรื่องการบริหารงานทั่วไปของสถานศึกษา เป็นต้น ดังนั้น ขอบเขตภารกิจของสถานศึกษาจึงไม่ได้เกิดขึ้น โดยผลการเป็นนิติบุคคลของสถานศึกษา แต่ได้เกิดจากการมอบหมายหรือมอบอำนาจหรือที่กฎหมายกำหนดดังที่กล่าวนี้                สำหรับขอบข่ายภารกิจการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีรายละเอียดในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ (กระทรวงศึกษาธิการ. 2546 : 32)                                5.3.1 ด้านวิชาการ ได้แก่ เรื่อง                                                1) การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา                                                2) การพัฒนากระบวนการเรียนรู้                                                3) การวัดผล ประเมินผล และการเทียบโอนผลการเรียน                                                4) การประกันคุณภาพภายในและมาตรฐานการศึกษา                                                5) การพัฒนาและใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา                                                6) การพัฒนาและส่งเสริมให้มีแหล่งเรียนรู้                                                7) การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา                                                8) การส่งเสริมและสนับสนุนงานวิชาการแก่บุคคล ครอบครัว องค์กร หน่วยงาน และสถาบันอื่นที่จัดการศึกษา                                                9) การนิเทศการศึกษา                                                10) การแนะแนวการศึกษา                                                11) การส่งเสริม ความรู้ทางวิชาการแก่ชุมชน                                                12) การประสานความร่วมมือในการพัฒนาวิชาการกับสถานศึกษาอื่น ๆ                                5.3.2 ด้านงบประมาณ ได้แก่ เรื่อง                                                                 1) การจัดตั้งงบประมาณ                                                2) การจัดสรรงบประมาณ                                                3) การตรวจสอบ ติดตามและประเมินประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ                                                4) การระดมทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา                                                5) การบริหารการเงิน                                                6) การบริหารบัญชี                                                7) การบริหารพัสดุและสินทรัพย์                                5.3.3 ด้านบริหารงานบุคคล ได้แก่ เรื่อง                                                1) การวางแผนอัตรากำลัง                                                2) การกำหนดตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา                                                3) การเกลี่ยอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา                                                4) การสรรหาและบรรจุแต่งตั้ง                                                5) การย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา                                                6) การเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางวิชาชีพ                                                7) เงินเดือนและค่าตอบแทน                                                8) การเลื่อนขั้นเงินเดือน                                                9) การพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา                                                10) การลาศึกษาต่อ                                                11) การประเมินผลการปฏิบัติงาน                                                12) การส่งเสริมและยกย่องเชิดชูเกียรติ                                                13) มาตรฐานวินัยสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา                                                14) การดำเนินการทางวินัยและการลงโทษข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (รวมทั้งเรื่องการสั่งพักราชการและให้ออกจากราชการไว้ก่อน)                                                15) การรายงานการดำเนินการทางวินัยและการลงโทษ                                                16) การอุทธรณ์ การร้องทุกข์                                                17) การออกจากราชการ                                                18) การขอรบใบอนุญาตและการขอต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ                                                19) งานทะเบียนประวัติวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา                                                20) งานยกเว้นคุณสมบัติ                                5.3.4 งานด้านการบริหารทั่วไป ได้แก่ เรื่อง                                                1) งานเลขานุการคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน                                                2) การพัฒนาระบบและสารสนเทศ                                                3) การประสานงานและพัฒนาเครือข่ายการศึกษา                                                4) การวางแผนการศึกษา                                                5) งานวิจัยและพัฒนาเพื่อแผนการศึกษา                                                6) การจัดระบบการบริหารและพัฒนาองค์กร                                                7) การพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงาน                                                8) งานเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา                                                9) การดำเนินงานด้านธุรการ                                                10) การอำนวยการด้านบุคลากร                                                11) การดูแลอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อม                                                12) การจัดทำสำมโนผู้เรียน                                                13) การรับนักเรียน                                                14) การจัดตั้ง ยุบ รวม เลิก สถานศึกษา                                                15) การระดมทรัพยากรสถานศึกษา                                                16) การส่งเสริมกิจการนักเรียน                                                17) การประชาสัมพันธ์งานสถานศึกษา                                                18) การส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานการจัดการศึกษาของบุคคล ชุมชน องค์กร หน่วยงาน และสถาบันอื่นที่จัดการศึกษา                                                19) งานประสานราชการกับส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น เขตพื้นที่การศึกษา                                                20) งานติดต่อ ตรวจสอบ ประเมินผล และรายงานการพัฒนาการศึกษาของสถานศึกษา                                                21) การจัดระบบควบคุมภายในหน่วยงาน                                                22) การส่งเสริมสนับสนุนด้านวิชาการ ประมาณบุคลากรและบริหารทั่วไป                                                23) การส่งเสริมและประสานงานการศึกษาในระบบ นอกระบบและอัธยาศัย                                                24) การส่งเสริมสนับสนุนและประสานการศึกษาหาบุคลากร ชุมชน องค์กร หน่วยงานและสถาบันลำดับอื่นที่จัดการศึกษา                                                25) งานที่ไม่ระบุไว้ในงานอื่น                                อนึ่ง แม้ว่าการดำเนินงานของสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลจะต้องอาศยการมอบอำนาจจากเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือจากส่วนกลางอื่น แต่มีหลายเรื่องที่โรงเรียนจะสามารถดำเนินการได้เลย เช่น การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดข้อมูลให้เป็นระบบซึ่งได้แก่ข้อมูลด้านทรัพย์สิน ด้านบุคลากร หรือด้านทั่ว ๆ ไป เป็นต้น   
หมายเลขบันทึก: 126484เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2007 13:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 19:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ราเชนทร์ครับผมได้เปิดอ่านเรื่องที่คุณได้postเอาไว้นั้น  เนื้อหาดีมาก

                                       จาก pong

                                               ขอบคุณมาก

ขอขอบคุณวิทยากรท่ให้ความรู้เป็นอย่างดี  และเป็นกันเองเป็นอย่างมาก  หวังว่าผลงานของท่านคงจะปรากฏไว้ให้ได้อ่านอีกต่อๆไปนะครับ........

ยินดีต้อนรับ คณะครุโรงเรียนเขื่อนบางลางทุกท่าน ในการอบรม นวัตกรรมแห่งการเรียนรู้

ในวันที่ 16 ก.ค. 2551 ขอให้สนุกนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท