ประสบการณ์จัดอบรม “นพลักษณ์” 3: ความตั้งใจค้นหาตนเองของผู้เข้ารับการอบรม คือปัจจัยสำเร็จของการอบรม


เท่าที่สังเกตการจัดการอบรมนพลักษณ์ขั้นต้น ปัจจัยสำเร็จ หรือ key success factor ของการจัดการอบรมคือ “ความตั้งใจที่จะค้นหาตนเองของผู้เข้ารับการฝึกอบรม” ค่ะ

           จบไปแล้วนะคะ สำหรับข้อเขียนชุด ความเป็นผู้นำของคน 9 ลักษณ์ ทั้ง 10 ข้อเขียน

               ลืมบอกไปค่ะว่า ทั้ง 10 ข้อเขียนนั้นเคยตีพิมพ์แล้วในนิตยสารรายเดือนชื่อ MBA มาแล้ว แต่ดิฉันคิดว่าอยากนำมาบอกกล่าวในแวดวง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่นี่  แต่ก็ผิดคาดเหมือนกัน เพราะโยนลงไปแล้วก็เงียบเหงาพอสมควร

               คิดๆ ดู ก็อาจจะเป็นที่ตัวเองมั๊ง .... ด้วยสไตล์การเขียนแบบคนลักษณ์ 5 ที่ดูเหมือนกับปิดตัวเอง คือ เป็นข้อเขียนที่แค่ให้คนแวะมาอ่าน ไม่ได้ปลุกเร้าให้เกิดการแลกเปลี่ยนเท่าใดนัก  

           วันนี้เลยคั่นรายการก่อนที่จะนำข้อเขียนเกี่ยวกับ การเป็นนักกลยุทธ์ของคน 9 ลักษณ์ มาโพสต์ต่อ ด้วยเรื่องเล่าเร้าอารมณ์ (ไม่รู้ว่าจะเร้าอย่างที่ตั้งใจหรือเปล่า) ว่าด้วยประสบการณ์การจัดอบรมนพลักษณ์ ตอนที่ 3  

           สัปดาห์ก่อน (31 สิงหาคม 2 กันยายน 2550) ดิฉันได้ไปเป็นส่วนหนี่งของการจัดการอบรมหลักสูตร นพลักษณ์ขั้นต้น ให้กับนักศึกษามหิดล ที่ศาลายา มีความรู้สึกดีๆ มากมายในการอบรมครั้งนี้

             ก็อย่างที่เคยเล่าให้ฟังแล้วว่า ทุกครั้งที่ไปจัดการอบรมนพลักษณ์ ผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านก็คือ ครูนพลักษณ์ให้ดิฉัน ไม่ว่าจะแก่ จะหนุ่ม ไม่มีความแตกต่าง เพราะทุกคนล้วนนำความจริงของชีวิตตนเอง ออกมาบอกเล่า แลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิชาที่ยิ่งใหญ่ คือ วิชาว่าด้วยการรู้จักตนเอง ...... หรือ ชีวิต จิตใจ ของคนจริงๆ มาให้กระบวนกรฟัง   

               แต่การจัดกระบวนการอบรมให้กับเด็กนักศึกษา จะพบว่า การค้นหาตนเองของเด็กๆ จะง่ายและเป็นธรรมชาติมากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปมาก ประสบการณ์ในชีวิตก็มาก เปลือกหุ้มตัวตนก็เยอะ อัตตาก็สูง ความยึดมั่นถือมั่นบางอย่างก็สูง ปิดบังการเจาะทะลุทะลวงตัวเอง เพื่อไปสู่การค้นหาตัวตนที่แท้จริงที่เป็นกลไกทางจิตของตนเองลำบากมากหน่อย 

              แต่ที่กล่าวเช่นนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงวัยทุกท่าน จะไม่สามารถค้นหาตัวตนเพื่อระบุลักษณ์ของตนเองลำบากทุกท่านนะคะ  เท่าที่สังเกตการจัดการอบรมนพลักษณ์ขั้นต้น ปัจจัยสำเร็จ หรือ key success factor ของการจัดการอบรมคือ ความตั้งใจที่จะค้นหาตนเองของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ค่ะ ..... เพราะต่อให้เปลือกหนาเพียงใด ท่านที่ตั้งใจ ท่านเหล่านั้นก็ค่อยๆ ลอกเปลือกของตัวเองออก (ด้วยจิตใจที่กล้าหาญ.... เพราะยิ่งรู้จักตัวเอง ส่วนใหญ่ก็ยิ่งพบความเจ็บปวดอยู่เบื้องหลัง .... อันเป็นที่มาของการสร้างเกราะ หรือเปลือกทางพฤติกรรมที่ซับซ้อนในวัยผู้ใหญ่นั่นเอง)  

                แต่สำหรับเด็กๆ นักศึกษา ด้วยวัย ด้วยประสบการณ์ชีวิต เขาเหล่านั้นยัง ใส พอที่จะดูตัวเองง่ายกว่า โดยเปรียบเทียบ จึงทำให้กระบวนการอบรมสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ข้อสำคัญข้อแรกได้ไม่ยาก คือ การรู้จักตนเองของผู้เข้ารับการอบรมและระบุลักษณ์ให้ตนเองได้ ...... ก็มีบ้างเหมือนกันที่วัยเด็กที่ใสๆ นี้เป็นอุปสรรคของการฝึกอบรม คือ เล่นๆ ไม่ใส่ใจ ไม่ตั้งใจที่จะค้นหาตนเอง  

              ดิฉันจึงมีมุข (ไม่แน่ใจว่าสะกดด้วย ก ไก่ หรือ ข ไข่) บอกเด็กๆ ว่า การอบรมนี้พวกเธอเป็นพระเอก และนางเอก ของการอบรมนะ พวกพี่ๆ วิทยากร หรือพี่เลี้ยง จะไม่สำคัญเลย หากพระเอก นางเอก เล่นไม่สมบทบาท ที่ไม่ยอมเป็นตัวเอก หรือตัวเด่นของการอบรมครั้งนี้ .... ซึ่งก็มักจะได้ผลเสมอ 

             ว่าไปแล้วใช้คำว่า กระบวนกร น่าจะเหมาะสมกว่าคำว่า พี่เลี้ยง หรือ วิทยากร  เพราะพวกเราแค่ทำหน้าที่จัดฉาก เป็นคุณนายเอื้อ คุณเอื้อ ให้กับผู้เข้ารับการอบรมทำการ มองเข้าไปในชีวิต จิตใจ ของตนเอง เพื่อทำความเข้าใจ ทำความรู้จักตัวเอง เท่านั้นเอง  มันเป็นเรื่องง่าย หากกระบวนกรจะระบุลักษณ์ให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม (ซึ่งหลายคนเข้าใจผิด ว่าการอบรมนพลักษณ์คือ ให้วิทยากรระบุลักษณ์ให้) แต่เป็นเรื่องท้าทายที่พวกเราผู้ที่เรียนรู้นพลักษณ์มาก่อน จะเป็นเพียงผู้ที่ประคับประคองคนมาใหม่ ให้ทำความรู้จัก นพลักษณ์  แล้วทำความรู้จักตนเอง จนสามารถระบุลักษณ์ให้กับตนเองได้   

หมายเลขบันทึก: 126398เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2007 23:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 16:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท